แบงก์ชาติจี้รัฐกู้เพิ่ม 1 ล้านล้าน ถม “หลุมดำ” รายได้ครัวเรือน-ธุรกิจ

Photo by Mladen ANTONOV / AFP

เศรษฐกิจไทยปี 2564 ผ่านครึ่งทางมาแล้ว สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า ครึ่งปีแรกเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 2% ต่อปี โดยไตรมาส 2 ขยายตัวได้ถึง 7.5% ต่อปี เพราะฐานที่ต่ำในช่วงไตรมาส 2 ปีที่แล้ว ขณะที่ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยหดตัวมากถึง -12.2%

“ดนุชา พิชยนันท์” เลขาธิการ สศช. กล่าวว่า หากดูการขยายตัวของเศรษฐกิจไตรมาสต่อไตรมาสยังไม่ได้เข้าสู่ภาวะถดถอย แต่เริ่มมีสัญญาณหดตัวลงในบางเซ็กเตอร์ที่ลดลงจากผลกระทบของการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอก 3 ตั้งแต่ช่วงเดือน เม.ย. 2564 เป็นต้นมา

 

“บริโภค-ลงทุนรัฐ” ทรุดฉุดจีดีพี

โดยสภาพัฒน์ประเมินแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปี 2564 อยู่ที่ระดับ 0.7-1.2% (ค่ากลางที่ 1%) จากการบริโภคภาคเอกชนที่ปรับตัวลดลงมาขยายตัวได้เพียง 1.1% การบริโภคภาครัฐลดลงอยู่ที่ 4.3% การลงทุนภาครัฐปรับตัวลดลงเล็กน้อย

ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากการส่งออกที่ยังคงอยู่ในระดับดี ซึ่งคาดว่ามูลค่าส่งออกทั้งปีจะขยายตัว 16.3% ขณะที่ภาคท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นโดยคาดว่ารายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ 1.2 แสนล้านบาท จากคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวเข้าประเทศลดเหลือ 1.5 แสนคน จากเดิม 5 แสนคน

“สศช.ประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ ภายใต้สมมุติฐานวิกฤตโควิดยังคงมีความไม่แน่นอนสูง โดยการแพร่ระบาดน่าจะผ่านจุดสูงสุดและควบคุมได้ในวงจำกัดตั้งแต่ปลายเดือน ส.ค.นี้ และจำนวนผู้ติดเชื้อจะเริ่มมีจำนวนลดลงอย่างช้า ๆ ในเดือน ก.ย. และสามารถเริ่มเปิดให้ผ่อนคลายมาตรการ เปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้เพิ่มขึ้นเป็นลำดับในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้”

ลั่นถ้า Q3 คุมไม่อยู่ ศก.ไทยดิ่งต่อ

เลขาธิการ สศช.ระบุว่า หากไม่สามารถควบคุมการระบาดภายในประเทศได้ในช่วงไตรมาส 3 และยังไม่สามารถผ่อนคลายมาตรการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ในไตรมาส 4

รวมถึงการระบาดในต่างประเทศมีความรุนแรงขึ้น ก็มีแนวโน้มที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้อาจจะเติบโตต่ำกว่า 0.7%

“เศรษฐกิจไทยยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ประกอบด้วย 1.การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโควิดที่มีความรุนแรงและมีความไม่แน่นอนสูง 2.ข้อจำกัดด้านการเงินของภาคครัวเรือนและธุรกิจ ท่ามกลางการว่างงานที่สูง

3.ภาคการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการระบาดในพื้นที่การผลิต รวมทั้งข้อจำกัดในห่วงโซ่การผลิตและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ และ 4.ความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก”

สภาพัฒน์ชง 7 มาตรการบริหาร ศก.

สำหรับการบริหารเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี เลขาธิการ สศช.ชี้ว่า ควรให้ความสำคัญกับ 1.การควบคุมการระบาด เพิ่มประสิทธิผลในการลดการแพร่เชื้อในครัวเรือน ชุมชน และกลุ่มแรงงาน การเร่งรัดจัดหาและกระจายวัคซีนอย่างเพียงพอและทั่วถึง

2.การช่วยเหลือเยียวยาประชาชน แรงงาน และภาคธุรกิจ โดยเร่งรัดมาตรการที่ทำไปแล้วควบคู่กับการดำเนินมาตรการเพิ่มเติมให้เข้าถึงเป้าหมาย รวมทั้งมาตรการรักษาการจ้างงานควบคู่ไปกับการสร้างงานใหม่ และการช่วยเหลือเพิ่มเติมแบบเฉพาะเจาะจงให้ผู้ประกอบการในสาขาที่ได้รับผลกระทบรุนแรง

3.มาตรการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเมื่อสถานการณ์ระบาดผ่อนคลาย โดยให้ความสำคัญกับการกระตุ้นการใช้จ่ายและการท่องเที่ยวในประเทศ

4.การขับเคลื่อนการส่งออก ควบคุมการระบาดในฐานการผลิตสำคัญ เร่งแก้ปัญหาที่เป็นอุปสรรคในการขนส่งสินค้า และการเร่งเจรจาความตกลงการค้าเสรีใหม่ ๆ

5.รักษาแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ

6.การส่งเสริมการลงทุนเอกชน เร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนให้เกิด “การลงทุนจริง” แก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจ การดำเนินมาตรการส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกเพื่อดึงดูดนักลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษต่าง ๆ และ

7.การรักษาบรรยากาศทางการเมืองและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

รายได้ครัวเรือนสูญ 2.6 ล้านล้าน

“ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ได้รับผลกระทบรุนแรง พบว่ามี 4 อาการ ได้แก่ 1.รายได้ถูกกระทบจนเป็น “หลุมรายได้” ขนาดใหญ่

โดยในปี 2563-2564 รายได้ครัวเรือนหายไป 1.8 ล้านล้านบาท เป็นของนายจ้างและอาชีพอิสระ 1.1 ล้านล้านบาท และลูกจ้าง 7 แสนล้านบาท ในปี 2565 คาดว่ารายได้จะหายไปอีก 8 แสนล้านบาท รวม 3 ปีหลุมรายได้จะมีขนาดใหญ่ 2.6 ล้านล้านบาท

2.การจ้างงานถูกกระทบรุนแรง โดยเฉพาะในภาคบริการ จากข้อมูลไตรมาส 2 ปีนี้ มีผู้ว่างงานและเสมือนว่างงานอยู่ที่ 3 ล้านคน และคาดว่าสิ้นปีจะเพิ่มเป็น 3.4 ล้านคน

เศรษฐกิจไทยทรุดยาว 3 ปี

3.การฟื้นตัวมีความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียม (K-shaped) แม้ว่าการส่งออกจะฟื้นตัวเกินก่อนโควิด-19 ถึงเกือบ 20% แต่ภาคการส่งออกจ้างงานเพียง 8% เทียบกับภาคบริการที่จ้างงานถึง 52% และ 4.ไทยฟื้นช้ากว่าเพื่อนบ้านและถูกผลกระทบจากโควิดหนักกว่า เนื่องจากพึ่งพาการท่องเที่ยว 11-12% หรือ 2-3 เท่าของเพื่อนบ้าน และคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะใช้เวลา 3 ปีในการกลับสู่ระดับก่อนโควิด

โดย ธปท.ได้ปรับจีดีพีปีนี้เหลือ 0.7% แต่มองว่าโอกาสถดถอยน้อย จากเดิมที่มองว่ามีโอกาสน้อยมาก ๆ ขณะที่โจทย์หลักคือการคุมโควิด ส่วนโจทย์อื่นเป็น “การซื้อเวลา”

ธปท.หนุนกู้เพิ่ม 1 ล้านล้าน-ไม่กลัวหนี้สาธารณะ

ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า แนวทางการแก้ปัญหาทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน ซึ่งปัญหาต้นตอคือสาธารณสุข ซึ่ง “วัคซีน” จะต้องเป็นตัวเอก จำเป็นต้องเร่งฉีดให้มากขึ้น ขณะที่ปัญหาเรื่องรายได้และการจ้างงานจะต้องทำผ่าน “นโยบายการคลัง” จะตรงจุดที่สุด

ส่วนมาตรการหลังจากคุมโรคได้ และแก้เรื่องรายได้แล้ว ก็จะมาถึงฝั่งนโยบายการเงินที่จะต้องมาดูเรื่องภาระหนี้และสภาพคล่องสินเชื่อ

“ภาครัฐจะเป็นตัวสร้างภูมิคุ้มกันรายได้ของประชาชนที่หายไปช่วง 2 ปีกว่า 1.8 ล้านล้านบาท หรือมากกว่า 10% ของจีดีพี ซึ่งไม่มีอะไรสามารถทดแทนหลุมรายได้ที่หายไปได้ ส่งออกก็ไม่พอเพราะการจ้างงานมีเพียง 8%

ดังนั้น ภาครัฐจะเป็นตัวพยุงเศรษฐกิจและจำเป็นต้องทำมากกว่านี้ และต้องรีบทำในขนาดที่เพียงพอ และเป็นมาตรการที่ให้ผลทวีคูณต่อเศรษฐกิจสูง”

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า อาจต้องเติมเม็ดเงินท็อปอัพจากเดิมอีกอย่างน้อย 1 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 7% ของจีดีพี แม้ว่าจะส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะวิ่งไปที่ 70% ของจีดีพีในปี 2567 ซึ่งหลังจากนั้นจะทยอยลดลงตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ และการจัดเก็บรายได้ของรัฐที่จะกลับมาฟื้นตัว

“กู้ตอนนี้ใส่เม็ดเงินเข้าไปเพิ่ม จะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะในอีก 10 ปีข้างหน้าต่ำกว่าไม่ได้กู้ เพราะกู้ตอนนี้เป็นการช่วยเรื่องเศรษฐกิจ ดีกว่ากู้ตอนหลังที่ทุกอย่างชะลอตัว และความเสี่ยงกรณีไม่ทำจะมีมากกว่าทำ

และแม้หนี้สาธารณะจะวิ่งขึ้นไป 70% ก็ยังรองรับได้ไม่ได้น่ากังวล เสถียรภาพยังดีอยู่ ทั้งหนี้ต่างประเทศและทุนสำรองระหว่างประเทศ จึงมองว่าภาครัฐเป็นยาที่จำเป็นเหมาะสมกับภาวะ”

แก้โจทย์ “พักชำระหนี้” ไม่ตรงอาการ

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า ส่วนนโยบายการเงินภายใต้สถานการณ์ที่ยืดเยื้อกว่าที่คาด ทำให้แนวทาง “พักชำระหนี้” อาจไม่ตรงอาการ จึงต้องปรับให้ช่วยเหลือลูกหนี้ โดยการปรับภาระการจ่ายหนี้ให้ต่ำให้สอดคล้องกับรายได้

และผลักดันให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ให้ครอบคลุมแบบมองยาว ทำกว้าง ตรงจุด รอดด้วยกัน และไม่สร้างแรงจูงใจที่ผิดเพี้ยน (moral hazard) ซึ่งจะก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อระบบตามมา

“ธปท.จะออกมาตรการจูงใจให้ธนาคารปรับโครงสร้างหนี้ ด้วยการให้ความยืดหยุ่นเรื่องเกณฑ์การจัดชั้นหนี้และกันเงินสำรองโดยอยู่ระหว่างพูดคุย ธปท.อยากเห็นทุกคนช่วยกันออกแรง ช่วยกันแก้ปัญหา เพราะจะให้ภาครัฐออกแรงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน”


สุดท้ายดูเหมือนทุกอย่างจะวนกลับไปที่ “วัคซีน” ถ้ายิ่งฉีดได้น้อย เศรษฐกิจไทยก็ยิ่งเสียโอกาสมากขึ้น