นิติเศรษฐศาสตร์ของเหรียญ NFT นิยาม NFT สร้างกรรมสิทธิ์ได้อย่างไร (2)

ระดมสมอง
ดร.ณรัณ โพธิ์พัฒนชัย
นักกฎหมาย สนง.คณะกรรมการกฤษฎีกา

NFT ย่อมาจาก nonfungible token หรือเหรียญที่มีความเป็นเอกลักษณะไม่มีสิ่งใดเหมือน นอกจากนั้นยังไม่สามารถถูกแทนที่ด้วยทรัพย์สินประเภทเดียวกันได้ ซึ่งสอดคล้องกับคำศัพท์ทางกฎหมายไทย ได้แก่ อสังกมทรัพย์ หรือทรัพย์ซึ่งไม่อาจใช้ของอื่นที่เป็นประเภทและชนิดเดียวกัน มีปริมาณเท่ากันแทนกันได้ ตัวอย่างเช่น ภาพวาดสีน้ำมันเป็นอสังกมทรัพย์ (nonfungible) เพราะแต่ละงานมีเพียงชิ้นเดียวและไม่สามารถหางานชิ้นอื่นมาทดแทนได้อย่างสมบูรณ์

ในทางตรงกันข้าม เงินสด ไม่ว่าจะเป็นธนบัตรหรือเหรียญกษาปณ์โดยทั่วไปมีลักษณะเป็น สังกมทรัพย์ (fungible) เพราะสามารถใช้ธนบัตรหรือเหรียญที่มีมูลค่าเท่ากันแทนกันได้ แม้ว่าธนบัตรที่มีมูลค่าเท่ากันแต่ละใบจะมีเลขรหัสบ่งชี้ที่แตกต่างกันก็ตาม

อย่างไรก็ดี เหรียญ NFT เป็นเพียงเครื่องมือ (conduit) ที่ใช้สำหรับแก้ไขปัญหาการสร้างตลาด และการกำหนดความเป็นเจ้าของในสิ่งของดิจิทัล (digital things) เช่น จากงานศิลปะดิจิทัลหรือไฟล์ดิจิทัลทั่วไป ซึ่งไม่มีความเป็นเอกลักษณ์สามารถลอกเลียนด้วยการทำสำเนาจากต้นฉบับได้อย่างสมบูรณ์แบบ (copy) นอกจากนั้นยังสามารถส่งต่อไปให้ผู้รับได้ไม่จำกัดไม่ว่าผู้รับรายนั้นจะได้รับอนุญาตจากผู้สร้างสิ่งของดิจิทัลชิ้นนั้นหรือไม่ก็ตาม

การที่เหรียญ NFT ซึ่งเป็นสิ่งของไม่มีรูปร่างและคงอยู่เฉพาะในโลกดิจิทัลกลายเป็นทรัพย์ประเภทอสังกมทรัพย์ได้นั้น ต้องพึ่งระบบการยืนยันความถูกต้อง และความเป็นเจ้าของของเทคโนโลยีการเก็บข้อมูลแบบกระจายส่วน (distributed ledger technology) กล่าวคือ เหรียญ NFT ได้รับการพัฒนาในรูปแบบโทเคนดิจิทัล (digital token) บนระบบอีเธอเรียมบล็อกเชน (ethereum blockchain)

โดยเหรียญ NFT แต่ละเหรียญจะมีรหัสประจำตัวที่แสดงอยู่ในชุดข้อมูลที่เรียงร้อยกันเป็นทอด ๆ ในลักษณะโซ่ (หรือในภาษาอังกฤษคือ chain) ดังนั้น ผู้ที่เป็นเจ้าของเหรียญ NFT คือผู้ที่เป็นเจ้าของสายรหัสเฉพาะของแต่ละห่วงโซ่ของบล็อกเชนนั้น ๆ และมีการแสดงค่าผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัลที่เชื่อมโยงกับอีเธอเรียมบล็อกเชน

ด้วยเทคโนโลยีดังกล่าว ศิลปินผู้รังสรรค์งานศิลปะบนแพลตฟอร์มดิจิทัลสามารถขายงานของตนในโลกออนไลน์ โดยไม่ต้องกลัวว่าจะมีผู้นำงานของตนไปคัดลอกโดยไม่ได้รับอนุญาต กล่าวคือ งานศิลปะดิจิทัลที่ขายบนระบบอีเธอเรียมบล็อกเชนจะขายพร้อมกับเหรียญ NFT ซึ่งมีรหัสเฉพาะเป็นเอกลักษณ์สำหรับแต่ละเหรียญ

หากจะกล่าวให้ถูกคือ ศิลปินจะขายเหรียญ NFT ที่แนบงานศิลปะในรูปแบบของไฟล์ดิจิทัลให้แก่ผู้ซื้อ ผู้ซื้อหรือผู้ถือครองเหรียญสามารถพิสูจน์และตรวจสอบความเป็นเจ้าของได้จากการตรวจสอบความถูกต้องของรหัสเหรียญที่ตนถือครองกับข้อมูลที่เก็บอยู่บนโครงข่ายอีเธอเรียม

ยิ่งไปกว่านั้นผู้สร้าง NFT ยังสามารถกำหนดเงื่อนไข สิทธิประโยชน์ อำนาจหรือหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการถือครอง NFT ผ่านสัญญาอัจฉริยะ (smart contract) หรือชุดคำสั่งคอมพิวเตอร์บนเครือข่ายบล็อกเชน ที่มีกลไกการบังคับให้เป็นไปตามสัญญาทันทีที่เงื่อนไขหรือข้อกำหนดที่กำหนดไว้ก่อนหน้าเกิดขึ้น

เช่น อาจมีการกำหนดข้อตกลงให้ผู้ถือครองเหรียญ NFT จ่ายค่าสิทธิอัตโนมัติ (automatic loyalty payment) ให้แก่ผู้สร้างสิ่งของดิจิทัลทุกครั้ง เมื่อเกิดการซื้อขายเหรียญดังกล่าวให้แก่บุคคลที่สาม หรือกำหนดจำนวนสำเนาไฟล์สิ่งของดิจิทัลหรืองานศิลปะดิจิทัลที่ผู้ถือครองเหรียญได้รับอนุญาตให้สามารถทำซ้ำได้

ดังนั้น การกำหนดเงื่อนไขและข้อกำหนดใน smart contract เพื่อสร้างเหรียญ NFT จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ศิลปินและผู้ลงทุนในงานศิลปะดิจิทัลต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรก ๆ เพราะเป็นการกำหนดข้อตกลงระหว่างตนกับผู้ถือครองเหรียญคนต่อ ๆ ไปในสายลำดับการครอบครอง

ในบางกรณี ศิลปินผู้ผลิตผลงานอาจกำหนดไว้ใน smart contract ของเหรียญ NFT ของงานศิลปะดิจิทัลชิ้นนั้น ๆ ว่า ให้ทรัพย์สินทางปัญญาทั้งหมดยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของศิลปินคนนั้น ยกเว้นจะมีการตกลงไว้เป็นอย่างอื่นอย่างชัดแจ้ง ในกรณีอื่น ศิลปินอาจกำหนดให้ผู้ถือครองเหรียญ NFT เป็นเพียงผู้ได้รับอนุญาตหาประโยชน์จากงานศิลปะดิจิทัล (licensing right) แต่ไม่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิอื่นใดทางกฎหมาย

หากจะกล่าวให้เข้าใจง่าย อาจสรุปได้ว่าเทคโนโลยี NFT และระบบบล็อกเชนเปรียบเสมือนใบรับรองความถูกต้อง และความเป็นของแท้ของผลงานศิลปะดิจิทัล (certificate of authenticity) นั่นเอง

หมายเหตุ – บทความเป็นความเห็นทางวิชาการของผู้เขียนเท่านั้น