การใช้พลังงาน กับเศรษฐกิจไทยในช่วงสองทศวรรษ

คอลัมน์ ช่วยกันคิด

โดย พรายพล คุ้มทรัพย์

ปัจจุบันการใช้พลังงานกำลังเป็นประเด็นสำคัญมากของประเทศไทย ณ วันนี้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอยู่ที่ระดับ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลแล้ว ซึ่งเป็นราคาที่สูง มีหลายกระแสคาดการณ์เกี่ยวกับสาเหตุของราคาน้ำมันดิบที่แพงขึ้นในครั้งนี้ว่าเกิดขึ้นจากอะไร อย่างไรก็ตาม คงไม่กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก แต่ขอเน้นประเด็นเกี่ยวกับการใช้พลังงานในเศรษฐกิจไทยในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา

ช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบที่ประเทศไทยนำเข้าโดยตรง ได้เพิ่มขึ้น 80% จาก 24 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็น 44 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และคาดว่าแนวโน้มจะสูงขึ้นอีก และในระยะเวลาที่เหลืออยู่ของปีนี้อาจมีราคาที่สูงขึ้นไปเรื่อย ๆ มีนักวิเคราะห์ทางการเงินบางคนคาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันอาจสูงขึ้นอีก แต่ก็มีนักวิเคราะห์อีกคนหนึ่งที่คาดว่า ราคาน้ำมันอาจจะมีโอกาสลดฮวบฮาบลงอย่างรวดเร็วได้ในช่วงปลายปี โดยให้เหตุผลว่าขณะนี้ประเทศจีนกำลังชะลอการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ จึงอาจส่งผลให้ราคาน้ำมันลดตัวลงได้มาก

กล่าวโดยสรุป คือ ไม่มีใครที่สามารถคาดการณ์ความเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกได้อย่างแม่นยำ

ปัจจุบันประเทศไทยต้องใช้เงินตราต่างประเทศในการนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 80% จากมูลค่าเดิมประมาณ 3 แสนล้านบาทในแต่ละปี เป็นกว่า 5 แสนล้านบาทในปีนี้ ซึ่งคิดเป็นกว่า 10% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยขาดดุลการค้าและขาดดุลการชำระเงินในปีนี้ ดังนั้นความเข้าใจในลักษณะและแบบแผนการใช้พลังงานในประเทศไทยจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ และเป็นรากฐานที่ทุกคนจะต้องทำความเข้าใจ เพื่อที่จะตอบคำถาม เราควรทำอย่างไรเกี่ยวกับปัญหาพลังงาน

การใช้พลังงานมีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางเดียวกันกับการเปลี่ยนแปลงของ real GDP หรือการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉลี่ยแล้วในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา การใช้พลังงานโดยรวมเพิ่มขึ้นในอัตราปีละ 6-7% ซึ่งใกล้เคียงกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ถ้าดูตัวเลขอย่างละเอียดจะเห็นได้ว่า อัตราการขยายตัวของการใช้พลังงานจะสูงกว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่บ้างเล็กน้อย ซึ่งเป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดีนัก

แต่ที่น่าสนใจคือ จะมีช่วงที่การใช้พลังงานลดต่ำลง ในปี 2541 ทั้งนี้ เพราะวิกฤตทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปี 2540 ส่งผลกระทบในปีต่อมา ทำให้เศรษฐกิจในปี 2541 หดตัวลง 10% และการใช้พลังงานก็หดตัวประมาณ 10% เช่นเดียวกัน

การใช้พลังงาน หรือ energy intensity วัดในรูปของหน่วยความร้อนต่อล้านบาทของ GDP สำหรับประเทศไทย มี 2 รูปแบบ คือ primary energy intensity หรือพลังงานขั้นต้น ซึ่งเป็นพลังงานในรูปก่อนที่จะนำมาใช้ในขั้นสุดท้าย เช่น ก๊าซธรรมชาติและลิกไนต์ที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า เป็นต้น ส่วนอีกรูปแบบคือ final energy intensity พลังงานในรูปที่เราใช้ในขั้นสุดท้าย เช่น ไฟฟ้า และน้ำมันสำเร็จรูป เป็นต้น

ทั้ง 2 รูปแบบมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังปีที่เกิดวิกฤตปี 2540-2541 เป็นต้นมา ประสิทธิภาพในการใช้พลังงานมีแนวโน้มลดลงในระดับหนึ่ง เมื่อเทียบกับหลาย ๆ ประเทศ ปรากฏว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศกำลังพัฒนาหลาย ๆ ประเทศที่มี energy intensity เพิ่มขึ้นแนวโน้มนี้แตกต่างจากในประเทศที่พัฒนาแล้ว ในช่วง 15-20 ปีที่ผ่านมา ข้อมูลชี้ให้เห็นว่า energy intensity ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ส่วนใหญ่มีแนวโน้มลดลง แสดงว่าประสิทธิภาพของการใช้พลังงานของประเทศที่พัฒนาแล้วมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ในขณะที่ประเทศที่กำลังพัฒนากลับมีแนวโน้มในทิศทางตรงกันข้าม

การพึ่งพาพลังงานนำเข้า ในช่วงปี 2527-2531 อัตราการพึ่งพาลดต่ำลง โดย primary energy ลดลงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 40% ในช่วงนั้น แต่หลังจากนั้นกลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นระดับ 57% และลดลงในช่วง 2-3 ปีหลังวิกฤตเศรษฐกิจ แต่เพิ่มขึ้นอีกในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ส่วนตัวเลข final energy มีระดับสูงถึง 90% ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าในรูปของน้ำมันดิบ ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาที่ต้องให้ความสำคัญอย่างมาก

ส่วนประเภทพลังงานขั้นต้นที่ใช้ในส่วนต่าง ๆ ของภาคเศรษฐกิจ ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ชัดว่า พลังงานที่สำคัญที่สุด คือ น้ำมันปิโตรเลียม ซึ่งสัดส่วนโดยเฉลี่ยประมาณ 45% ของทั้งหมด รองลงไปคือ ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งส่วนใหญ่ได้จากแหล่งผลิตในอ่าวไทย แต่ในระยะหลัง ๆ เมื่อมีการใช้มากขึ้น จึงต้องมีการนำเข้าจากพม่าด้วย การใช้ก๊าซธรรมชาติมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นโดยตลอด การใช้ถ่านหินมีสัดส่วนโดยเฉลี่ยประมาณ 10% ของพลังงานทั้งหมด โดยในช่วงแรกมีการใช้ถ่านหินลิกไนต์ที่มีอยู่มากในประเทศ แต่ต่อมาได้มีการนำเข้าถ่านหินที่มีคุณภาพดีกว่ามาใช้มากขึ้น ส่วนพลังงานหมุนเวียนนั้น ในช่วงแรก ๆ มีการใช้มากในรูปของถ่าน ฟืน และแกลบ โดยใช้มากในครัวเรือนชนบท และอุตสาหกรรมบางประเภท แต่สัดส่วนนี้มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าน่าจะมีสัดส่วนลดลงต่อไป

การใช้พลังงานในสาขาเศรษฐกิจต่าง ๆ เห็นได้ชัดว่า กว่า 70% ของพลังงานถูกใช้ไปใน 2 สาขา คือ สาขาอุตสาหกรรม และสาขาการขนส่ง โดยทั้งสองสาขามีแนวโน้มที่จะใช้พลังงานในสัดส่วนที่สูงมาโดยตลอด

สัดส่วนการใช้พลังงานในสาขาอุตสาหกรรมมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากประมาณ 30% ในช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจมาเป็นประมาณ 35% ในปี 2545-2546 การใช้พลังงานในสาขาอุตสาหกรรมจำแนกตามประเภทของพลังงาน โดยรวมจะเห็นได้ว่า สาขาอุตสาหกรรม ใช้พลังงานค่อนข้างกระจายในแง่ของประเภทเชื้อเพลิงคือใช้ถ่านหิน น้ำมัน ไฟฟ้า และพลังงานหมุนเวียนในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน

การใช้ก๊าซธรรมชาติมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สาขาอุตสาหกรรมหันมาใช้ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติมากขึ้น เพื่อทดแทนน้ำมันและพลังงานหมุนเวียน สัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนรวมทั้งน้ำมันมีแนวโน้มลดลง การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวแสดงว่า สาขาอุตสาหกรรมสามารถปรับตัวได้ค่อนข้างมากในช่วง 15-20 ปีที่ผ่านมา โดยหันมาใช้ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหินเพื่อทดแทนน้ำมันซึ่งมีราคาแพงขึ้น

การใช้พลังงานในอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ อาหารและเครื่องดื่ม เป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการผลิต (และมูลค่าเพิ่ม) ที่สูงที่สุด จึงเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานมากที่สุดด้วย แต่มีสัดส่วนการใช้พลังงานที่ลดลงมาโดยตลอด จากกว่า 40% ในปี 2531-2535 มาเป็น 30% ในปี 2542-2546 สาขาที่ใช้พลังงานมากที่สุดรองลงไปคือ อโลหะ ซึ่งได้แก่ อุตสาหกรรมที่ผลิตปูนซีเมนต์ คอนกรีต แก้วและกระจก รวมทั้งเซรามิก

อุตสาหกรรมอโลหะ มีสัดส่วนการใช้พลังงานที่ผันผวนอยู่ระหว่าง 23% และ 30% อุตสาหกรรมที่เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานอย่างรวดเร็ว ได้แก่ อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ และอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะ ส่วนอุตสาหกรรมสิ่งทอ มีสัดส่วนการใช้พลังงานที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง การเปลี่ยนแปลงสัดส่วนเหล่านี้น่าจะสะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตในสาขาอุตสาหกรรมได้ในระดับหนึ่ง อุตสาหกรรมอโลหะ เป็นอุตสาหกรรมที่มีการใช้พลังงานอย่างเข้มข้นมากที่สุด โดยเฉลี่ยแล้วการผลิตผลิตภัณฑ์อโลหะที่มีมูลค่าเพิ่ม 1 ล้านบาท ต้องใช้พลังงานเทียบเท่าประมาณ 90 ตันน้ำมันดิบ เทียบกับค่าเฉลี่ยของทุกอุตสาหกรรมโดยรวมที่ระดับประมาณ 15 ตันน้ำมันดิบ

อุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานอย่างเข้มข้นมากที่สุด รองลงไปคือ อุตสาหกรรมโลหะขั้นมูลฐาน โดยมีการผลิตเหล็กและเหล็กกล้า ซึ่งโดยปกติเป็นกิจกรรมที่ใช้ไฟฟ้าอย่างเข้มข้นมากอยู่แล้ว ข้อมูลชี้ให้เห็นด้วยว่าอุตสาหกรรมนี้มีการขยายตัวในลักษณะที่ใช้พลังงานเข้มข้นมากขึ้น อย่างไรก็ดี ความเข้มข้นของการใช้พลังงานในสาขาอุตสาหกรรมโดยรวมแล้ว มีแนวโน้มลดลงเล็กน้อย แสดงว่าอุตสาหกรรมของไทยมีประสิทธิภาพในการใช้พลังงานดีขึ้นเล็กน้อย

อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เป็นอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในแง่มูลค่าการผลิตและการจ้างงาน มีการใช้พลังงานหมุนเวียนค่อนข้างมาก ทั้งนี้ เพราะส่วนใหญ่จะใช้วัสดุเหลือใช้จากการเกษตรค่อนข้างมาก เช่น โรงสีข้าว ใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิงในการสีข้าว และโรงงานหีบอ้อยใช้ชานอ้อยเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตน้ำตาล อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำมันมากที่สุดด้วย

อุตสาหกรรมอโลหะ ซึ่งมีการใช้พลังงานอย่างเข้มข้นมากที่สุด ได้หันมาใช้ถ่านหินทดแทนเชื้อเพลิงอื่น ๆ จนทำให้ถ่านหินกลายเป็นพลังงานหลักของอุตสาหกรรมนี้ จะเห็นได้ว่าโรงงานปูนซีเมนต์ และโรงงานผลิตคอนกรีตส่วนใหญ่หันมาใช้ทั้งลิกไนต์ที่หาได้ในประเทศ และถ่านหินที่นำเข้าจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมอโลหะก็ยังมีแนวโน้มในการใช้ก๊าซธรรมชาติในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นด้วย

ช่วง 15 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมเคมีได้เปลี่ยนไปใช้ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติมากขึ้น เพื่อทดแทนพลังงานหมุนเวียน ไฟฟ้า และน้ำมัน ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะก็หันมาใช้ก๊าซธรรมชาติมากขึ้น เพื่อทดแทนน้ำมันและไฟฟ้า แต่ก็ยังต้องอาศัยไฟฟ้ามากถึงกว่า 60% ของพลังงานทุกประเภท

สาขาเศรษฐกิจที่ใช้พลังงานมากที่สุด คือ สาขาขนส่ง โดยกว่า 60% ของผลิตภัณฑ์น้ำมันถูกใช้ไปในสาขาการขนส่ง และสัดส่วนนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยตลอด กว่าครึ่งหนึ่งของพลังงานที่ใช้ในการขนส่งอยู่ในรูปของน้ำมันดีเซล ส่วนน้ำมันเบนซินมีความสำคัญรองลงมา และมีการใช้มากเป็น 25% ของพลังงานที่ใช้ทั้งหมด

เป็นที่น่าสังเกตว่าปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลได้เริ่มลดต่ำลงตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา จนปี 2547 จึงกลับเพิ่มขึ้นอีก ปริมาณการใช้ทดแทนกันระหว่างน้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซินมีผลจากราคาเปรียบเทียบของน้ำมันทั้งสองชนิดนี้ โดยในช่วงปี 2541-2546 ผลิตภัณฑ์ทั้งสองมีราคาใกล้เคียงกัน ทำให้การใช้น้ำมันดีเซลเพื่อทดแทนน้ำมันเบนซินมีแนวโน้มลดลง แต่ในปี 2547 รัฐบาลตรึงราคาน้ำมัน ทำให้ราคาขายปลีกของน้ำมันดีเซลอยู่ต่ำกว่าของน้ำมันเบนซินมากถึงลิตรละ 3-4 บาท เป็นแรงจูงใจให้คนหันมาใช้น้ำมันดีเซลมากขึ้นอีก อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา เริ่มมีการใช้เชื้อเพลิงด้านขนส่งประเภทใหม่ ๆ คือ ก๊าซธรรมชาติ และแก๊สโซฮอล์ คาดว่าการส่งเสริมโดยภาครัฐจะทำให้การใช้เชื้อเพลิงเหล่านี้ในพาหนะชนิดต่าง ๆ มีความสำคัญมากขึ้น

พลังงานหลักที่ใช้ในที่อยู่อาศัย อยู่ในสองรูปแบบคือ ก๊าซหุงต้ม (LPG) และไฟฟ้า ระหว่างปี 2532-2546 โดยเฉลี่ยแล้ว บ้านอยู่อาศัยใช้ไฟฟ้าเป็นปริมาณร้อยละ 65 ของพลังงานทั้งหมด ที่เหลืออีกร้อยละ 35 อยู่ในรูปของก๊าซหุงต้ม ปริมาณการใช้พลังงานในที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ตั้งแต่ปี 2532 แต่กลับลดลงอย่างเห็นได้ชัดในปี 2541 อันเป็นผลจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 และเริ่มเพิ่มขึ้นอีกครั้งหนึ่งในปี 2545

โครงสร้างการใช้น้ำมันโดยรวมของประเทศไทยในช่วงปี 2525-2546 จะเห็นได้ว่ากว่าครึ่งหนึ่งของน้ำมันใช้ไปในการขนส่ง และสัดส่วนการใช้น้ำมันก็มีแนวโน้มสูงขึ้นด้วย สาขาการผลิตที่ใช้น้ำมันมากรองลงมาคือ อุตสาหกรรม (ประมาณ 13%) และเกษตรกรรม (ประมาณ 10%) ส่วนการใช้น้ำมันเพื่อผลิตไฟฟ้ามีปริมาณและสัดส่วนที่ลดลงมาก เพราะการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้ามีปริมาณเพิ่มขึ้นและทดแทนน้ำมันเป็นส่วนใหญ่ ปริมาณการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นทุกปีจนกระทั่งปี 2539 หลังจากนั้นก็ลดลง เพราะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 และลดลงต่อจากนั้นอีก 3-4 ปี แต่กลับมาอยู่ในระดับเดียวกันในปี 2545 ผลกระทบที่เกิดจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนั้นส่งผลต่อการใช้น้ำมันอยู่หลายปี

โครงสร้างการใช้ไฟฟ้าในช่วงปี 2524-2546 จะเห็นได้ว่าไฟฟ้าเกือบทั้งหมดถูกใช้ไปใน 3 สาขา คือ โรงงานอุตสาหกรรม ธุรกิจ (ซึ่งรวมถึงอาคารพาณิชย์และสถานที่ราชการด้วย) และบ้านเรือนที่อยู่อาศัย โดยประมาณ 45% ของไฟฟ้าถูกใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม 30% ใช้ไปในด้านธุรกิจ และอีก 20% ใช้ในบ้านอยู่อาศัย ปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นโดยตลอดทุกปีในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ยกเว้นในปี 2541 เท่านั้นที่ลดลง เนื่องจากผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ

การวิเคราะห์รูปแบบการใช้พลังงานข้างต้น ชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญซึ่งอาจถือเป็นบทเรียนได้ 2 ข้อ คือ ประเด็นแรก การใช้พลังงานในเกือบทุกกลุ่มผู้ใช้มีความยืดหยุ่นหรือการตอบสนองค่อนข้างสูงต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งของราคาและของรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ใช้ประเภทอุตสาหกรรม การเปลี่ยนแปลงราคาของเชื้อเพลิงในชนิดต่าง ๆ ทำให้อุตสาหกรรมมีการปรับตัวและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาค่อนข้างมาก

สาขาขนส่ง ก็มีการปรับเปลี่ยนการใช้ทดแทนกันระหว่างน้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซินอย่างรวดเร็ว โดยเป็นการตอบสนองต่อความแตกต่างระหว่างราคาของน้ำมันทั้งสองชนิดนี้บทเรียนดังกล่าวนี้น่าจะชี้ให้เห็นว่า นโยบายเกี่ยวกับภาษีและราคาพลังงานที่ผู้ใช้จะต้องจ่ายเป็นเรื่องสำคัญ กลไกการตลาดและระดับราคาน่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการส่งเสริมการประหยัดพลังงานและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ประเด็นที่สอง ในปัจจุบันพลังงานที่มีราคาแพงคือ น้ำมัน หากเป้าหมายหลักคือการลดการใช้น้ำมัน ก็ควรจะใช้มาตรการที่มุ่งไปในสาขาที่มีการใช้น้ำมันมาก ๆ ซึ่งก็คือ สาขาขนส่ง