คริปโทเคอร์เรนซี ผลกระทบระบบชำระค่าสินค้า-บริการ

คริปโต
คอลัมน์ ดุลยธรรม

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ

ภาคธุรกิจหลายแห่งได้ปรับตัวด้วยการใช้ “คริปโทเคอร์เรนซี” (cryptocurrency) ในการชำระค่าสินค้าและบริการ หรือออกเหรียญดิจิทัลเองมากขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลและการเงินดิจิทัลซึ่งเป็นแนวโน้มแห่งอนาคต และสอดคล้องกับระบบการชำระเงินแบบใหม่

ขณะที่ภาคการเงินก็กำลังเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีทางการเงิน หรือ FinTech ก่อให้เกิดการเปลี่ยนรูปแบบของบริการทางการเงินในด้านต่าง ๆ โดยมีผู้เล่นใหม่ที่มิใช่สถาบันการเงินอย่างบริษัทเทคโนโลยีได้เข้ามาแข่งขันกับสถาบันการเงินอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา

โดยเฉพาะการเข้ามาเป็นผู้ให้บริการในระบบชำระเงินซึ่งมีรูปแบบของบริการซับซ้อนน้อยกว่าเมื่อเทียบกับบริการทางการเงินประเภทอื่น นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเงินสามารถแยกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่ 1.กลุ่มนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเงินแบบไม่กระทบกิจการธนาคารและสถาบันการเงินแบบเดิม และ 2.กลุ่มนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเงินที่กระทบต่อกิจการธนาคารและสถาบันการเงินแบบเดิม

ผลกระทบที่สำคัญจากนวัตกรรมทางการเงินแบบที่ไม่ไปกระทบต่อกิจการธนาคารแบบเดิมจะเพียงผลักดันระบบชำระเงินไปสู่โลกไร้เงินสด (cashless world) ได้เร็วขึ้น และเพิ่มบทบาทของ “ผู้เล่นใหม่” ที่มิใช่สถาบันการเงินซึ่งเข้ามาให้บริการ ณ จุดต่าง ๆ ของระบบชำระเงิน ทำให้ความไว้วางใจเดิมที่ลูกค้าเคยมีต่อสถาบันการเงินค่อย ๆ ถูกเปลี่ยนผ่านไปยังผู้เล่นใหม่เหล่านี้ ย่อมนำไปสู่การลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคารพาณิชย์ และส่วนแบ่งทางการตลาดในอนาคต

อย่างไรก็ตาม นวัตกรรมในกลุ่มนี้ยังไม่ได้ทดแทนหรือทำให้สถาบันการเงินหายไปจากวงจรการชำระเงิน สถาบันการเงินยังคงมีบทบาทอยู่ในส่วนใดส่วนหนึ่งของการชำระเงิน จึงกระทบต่อกลุ่มธนาคารและสถาบันการเงินแบบเดิมไม่รุนแรง ไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน

ส่วนนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเงินอีกกลุ่มหนึ่ง ถือเป็น disruptive innovation นวัตกรรมเหล่านี้เริ่มจากการให้บริการการโอนเงินและชำระเงินระหว่างประเทศ โดยช่วยลดขั้นตอนของการโอนเงินในปัจจุบันที่มีต้นทุนสูง และใช้เวลานาน เนื่องจากขั้นตอนมีความซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับหลายฝ่ายในระบบธนาคารพาณิชย์ภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ด้วยเทคโนโลยีทางการเงินแบบใหม่ทำให้ระบบชำระเงินไม่จำเป็นต้องอาศัยสถาบันการเงินเป็นตัวกลาง หรือตัวกลางทางการเงินบางประเภทหายไปจากวงจรการชำระเงิน

สิ่งนี้ได้ขยายมายังการจ่ายเงินซื้อสินค้าและบริการด้วย “คริปโทเคอร์เรนซี” ของผู้ประกอบการไทยหลายแห่งจากหลายกิจการ หากแพร่หลายแล้วจะทำให้บทบาทของ “เงิน” หรือ fiat money ที่กำกับดูแลโดยแบงก์ชาติลดความสำคัญอย่างรวดเร็ว และแบงก์ชาติอาจสูญเสียอำนาจในการควบคุมปริมาณเงินในระบบ นโยบายการเงินของแบงก์ชาติจะมีประสิทธิภาพน้อยลง

การออกใช้สกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (retail CBDC) ถือเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาไว้ซึ่งสมดุลระหว่าง fiat money และสกุลเงินดิจิทัลทางเลือก อันจะช่วยบรรเทาผลกระทบต่ออธิปไตยทางการเงิน คือ การเพิ่มประสิทธิภาพและรูปแบบของ public money ให้สอดคล้องกับพัฒนาการของภูมิทัศน์ทางการเงินที่เปลี่ยนไป ให้มีโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีทางการเงินที่สามารถรองรับและเชื่อมโยงกับสกุลเงินทางเลือกใหม่ ๆ รวมถึงผู้เล่นใหม่ ๆ ในระบบเศรษฐกิจการเงินที่จะมาต่อยอดตอบโจทย์โลกยุคดิจิทัลในวันข้างหน้าได้

อย่างไรก็ตาม การที่ราคาคริปโทเคอร์เรนซีเข้าสู่ขาลงรอบใหม่และผันผวน บิตคอยน์ปรับลง 17% อิโทเรียมปรับลง 16% ภายในวันเดียวช่วง 1-2 สัปดาห์ก่อน และตลาดหุ้นอาจมีการปรับฐานใหญ่ ชี้ให้เห็นว่า คริปโทเคอร์เรนซีไม่เหมาะสมเป็น “เงินตราดิจิทัล” เพราะมีความผันผวนสูง เป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยนที่ไม่มีเสถียรภาพนัก ไม่สามารถวัดมูลค่าหรือสะสมค่าได้อย่างมีประสิทธิภาพนัก เป็นสินทรัพย์เพื่อการลงทุนได้ แต่อาจจะไม่สามารถเป็น “เงินตรา” ในการแลกเปลี่ยนเพื่อซื้อสินค้าบริการได้ดี หรือมีประสิทธิภาพ

แต่แบงก์ชาติควรปล่อยให้ “เอกชน” ตัดสินใจเลือกเองว่า ใครจะนำ “คริปโทเคอร์เรนซี” มาใช้ในการชำระสินค้าและบริการ เพราะขณะนี้หลายบริษัทประกาศให้ลูกค้าชำระค่าสินค้าด้วยคริปโท เช่น กลุ่มอสังหาฯทั้ง บมจ.แสนสิริ บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ บมจ.ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ ยังมีกลุ่มค้าปลีก อย่างเช่น เดอะมอลล์ กรุ๊ป ร่วมมือกับ “Bitkub” “ร้านกาแฟอินทนิล” ของ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น ขณะที่ บมจ.เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น ให้ลูกค้าซื้อบ้านและคอนโดฯ โดยใช้เงินดิจิทัล 5 สกุล เป็นต้น

สิ่งที่แบงก์ชาติต้องดำเนินการ คือ วางระบบบริหารความเสี่ยงในการใช้ “คริปโทเคอร์เรนซี” ในการชำระสินค้าและบริการ และเอกชนต้องรับความเสี่ยงจากการดำเนินการดังกล่าวเอง แม้ ธปท.ไม่ได้ห้ามให้ทำธุรกรรมดังกล่าว แต่ก็ประกาศไม่สนับสนุนให้ใช้สินทรัพย์ดิจิทัลมาชำระค่าสินค้าและบริการ เนื่องจากมองว่ามีความผันผวนสูง เสี่ยงที่จะถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ และอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือในการฟอกเงิน

ประกาศล่าสุดของ ธปท.ที่ไม่สนับสนุนการใช้ “คริปโทเคอร์เรนซี” นั้น แม้ไม่ได้เป็นการห้ามทำธุรกรรม แต่น่าจะส่งผลกระทบต่อธุรกรรมการซื้อสินค้าและบริการผ่าน “คริปโทเคอร์เรนซี” แน่นอน อย่าง JMARTและ BTS จะได้รับผลกระทบจากยอดขายและการใช้บริการในกลุ่มลดลง เพราะมีแผนนำเหรียญ JFin Coin ใช้ชำระสินค้าในกลุ่ม CRC ที่เตรียมเปิดรับเหรียญในการซื้อสินค้าและบริการ หรือที่กลุ่มอสังหาฯ ORI, ANAN ให้ซื้อบ้านด้วย BTC, ETH และ USDT

ประกาศของ ธปท.จึงส่งผลกระทบเชิงลบต่อบริษัทจดทะเบียนอยู่บ้าง โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจประเภท ICO portal เนื่องจากจะเป็นอุปสรรคในการออกโทเค็น

แต่ประกาศดังกล่าวอาจมีความจำเป็นต่อการป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนสูง เสี่ยงที่จะถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ และอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือในการฟอกเงินตามที่ ธปท.ส่งสัญญาณเตือน ส่วนกลุ่มที่รับชำระค่าสินค้าและบริการน่าจะไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากจำนวนผู้บริโภคที่จะใช้โทเค็นซื้อขายสินค้าและบริการยังจำกัดมาก

ด้านธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) อาจได้รับผลกระทบจากธุรกรรมของ Bitkub ที่อาจต่ำกว่าเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็น stable coin แบงก์ชาติควรสนับสนุนให้นำมาใช้ชำระค่าสินค้าและบริการได้ ทางแก้คือ แบงก์ชาติควรเร่งออก “เงินดิจิทัล” เอง เพื่อประชาชนและธุรกิจทั่วไปจะได้ใช้บริการ

เพราะเวลานี้ mobile money ได้เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติในสังคมแล้ว การโอนเงินผ่านโทรศัพท์มือถือผ่านผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ อาจเป็นการโอนเงินระหว่างผู้ใช้บริการภายในเครือข่ายโทรศัพท์ด้วยกัน หรือการโอนเงินไปยังผู้รับปลายทางที่อยู่นอกเครือข่าย

โดยอาศัยการส่ง SMS และรหัสลับ (PIN) ให้กับผู้รับเงิน เพื่อนำไปเบิกเงินกับร้านค้าที่เป็นตัวแทน หรือ ATM ซึ่งพบทั้งในการโอนเงินในประเทศและการโอนเงินระหว่างประเทศ ตัวอย่างเช่น M-Pesa ใช้ในอินเดีย หรือ Wing ของกัมพูชา เป็นต้น

P2P cross-border money transfer หรือการโอนเงินระหว่างประเทศผ่านบัญชีผู้ใช้งานซึ่งให้บริการโดย nonbanks ระบบจะตรวจสอบความต้องการโอนเงินในแต่ละประเทศด้วย algorithm เพื่อจับคู่ความต้องการโอนเงินที่ตรงกัน ซึ่งระบบนี้ใช้กันในละตินอเมริกา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เป็นต้น

เวลานี้เอง distributed ledger technology (DLT) หรือ เทคโนโลยีการลงบัญชีแบบกระจายตัว หรือ blockchain การโอนเงินอาจเกิดขึ้นได้โดยอาศัยสัญญาอัจฉริยะ หรือ smart contract ที่มีเทคโนโลยีนี้เป็นพื้นฐาน ข้อตกลงจะบันทึกไว้ด้วยรหัสคอมพิวเตอร์ให้เกิดการทำตามเงื่อนไขที่ตกลงไว้อัตโนมัติ เมื่อมีเหตุการณ์ตามที่ระบุไว้ในสัญญา

เช่น การจ่ายเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยเมื่อครบระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาอัตโนมัติ และไม่จำเป็นต้องอาศัยตัวกลางทางการเงินที่เป็นธนาคารตัวแทนต่างประเทศ หรือเครือข่าย SWIFT เหมือนการโอนเงินรูปแบบเดิม

ทั้งนี้ กลุ่มนวัตกรรมการเงินที่กล่าวมาข้างต้น เป็น disruptive innovation ที่จะกระทบระบบการชำระเงินและระบบธนาคารแบบดั้งเดิมมาก สามารถแบ่งได้เป็น 2 ระดับ คือ

ระดับที่หนึ่ง การเสริมบริการชำระเงินของสถาบันการเงิน ปัจจุบันบริการโอนเงินผ่านมือถือ และการโอนเงินบุคคลต่อบุคคลโดยไม่ผ่านตัวกลางทางการเงิน ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของบริการทางการเงินในประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมาก และทำให้เกิดบริการการเงินที่ทั่วถึงมากขึ้น ซึ่งช่วยเสริมบริการทางการเงินและทดแทนบริการของธนาคารพาณิชย์ในเวลาเดียวกัน

ดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ คือ อัตราการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี (เช่น อินเทอร์เน็ต และโทรศัพท์เคลื่อนที่) อย่างไรก็ดี สำหรับพื้นที่หรือประเทศที่มีโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินพร้อมและพัฒนาเป็นอย่างดี การชำระเงินผ่านสถาบันการเงินยังคงเป็นทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับผู้บริโภค

ระดับที่สอง การทดแทนบริการทางการเงินหลักของสถาบันการเงิน เทคโนโลยีการลงบัญชีแบบกระจายตัว หรือ distributed ledger มีศักยภาพในการทดแทนการโอนเงินระหว่างประเทศในรูปแบบเดิม จากคุณสมบัติเฉพาะหลายประการ โปร่งใส ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ ต้นทุนต่ำ ลดขั้นตอน และรวดเร็วกว่า

อย่างไรก็ตาม การพัฒนา distributed ledger เพื่อใช้ในระบบการชำระเงินขนาดใหญ่ที่มีปริมาณธุรกรรมจำนวนมาก และเชื่อมโยงธุรกรรมระหว่างประเทศทั่วโลกทดแทนระบบชำระเงินผ่านสถาบันการเงินแบบเดิมยังต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5-10 ปี ในเวลานี้ สถาบันการเงินที่มีรายได้จากการโอนเงินระหว่างประเทศจึงต้องรีบเร่งในการปรับตัวหารายได้อย่างอื่นมาทดแทน เนื่องจาก distributed ledger จะเพิ่มผู้เล่นรายใหม่ในธุรกิจบริการทางการเงินมากขึ้น

สถานการณ์ขณะนี้ ธปท.จึงไม่ควรวิตกกังวลผลกระทบของเทคโนโลยีทางการเงินและ “คริปโทเคอร์เรนซี” มากเกินไป จนกระทั่งไปออกระเบียบหรือมาตรการใด ๆ ที่ไปชะลอหรือเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาระบบการชำระเงิน หรือระบบการเงินภายใต้เทคโนโลยีแบบใหม่

แม้ธนาคารกลางของทุกประเทศมีหน้าที่กำกับดูแลให้เกิดระบบการเงินและระบบการชำระเงินที่มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ แต่ความมั่นคงและเสถียรภาพอย่างแท้จริงนั้นต้องเกิดจากการปรับตัวของระบบธนาคาร และสถาบันการเงินแบบดั้งเดิมที่เกิดขึ้นมาในศตวรรษที่ 17 ภายใต้พลวัตของเทคโนโลยีทางการเงินในศตวรรษที่ 21 ด้วย

การรักษาความสมดุลระหว่างการส่งเสริมให้เกิดการใช้ระบบการเงินและระบบชำระเงินด้วยเทคโนโลยีทางการเงินใหม่ ๆ รวมทั้งการใช้ “คริปโทเคอร์เรนซี” กับการประคับประคอง “ระบบการเงินและสถาบันการเงินแบบดั้งเดิม” ให้สามารถดำเนินการต่อไปได้ในระยะเปลี่ยนผ่าน เพื่อไม่ให้เกิดการความเสี่ยงในเชิงระบบ จึงสำคัญอย่างยิ่ง