ต้มยำกุ้งของศรีลังกา ?

ศรีลังกา เศรษฐกิจ ประท้วง
Photo by Ishara S. KODIKARA / AFP
คอลัมน์ : นั่งคุยกับห้องค้า
ผู้เขียน : ภาณี กิตติภัทรกุล,กอบสิทธิ์ ศิลปชัย, CFA ธนาคารกสิกรไทย

เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2022 ศรีลังกาประกาศระงับชำระหนี้ต่างประเทศกว่า 51,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงภาระผูกพันทางการเงินในหลายภาคส่วนและเงินกู้ยืมจากรัฐบาลต่างประเทศ และประกาศเดินหน้าขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) หลายคนจึงสงสัยว่าจากประเทศที่เคยกำลังสดใส เกิดอะไรขึ้นกับประเทศศรีลังกา ?

ศรีลังกา กำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุด ปัญหาหนักจากการขาดสกุลเงินต่างประเทศอย่างฉับพลัน จากการประมาณของกระทรวงการคลังของศรีลังกาแสดงให้เห็นว่า ศรีลังกาต้องใช้เงินกว่า 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

เพื่อชำระหนี้ในปีนี้ขณะที่เงินสำรองต่างประเทศคงเหลือเพียง 1,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตอนสิ้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยมี อินเดีย จีน และญี่ปุ่น เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่การขาดแคลนเงินทุนสำรองนำมาซึ่งปัญหาการขาดแคลนอาหาร ยา และเชื้อเพลิง

ประกอบกับไฟฟ้าดับที่ยาวนานในแต่ละวัน บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ทั้ง Fitch Ratings, Moody’s และ S&P Global Ratings จึงได้ลดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินของศรีลังกา เนื่องจากมีความเป็นไปได้สูงที่จะชำระหนี้ไม่ได้

ปัญหาของศรีลังกาเริ่มจากการกู้ต่างชาติที่เพิ่มมากในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา จากปี 2005 ถึง 2020 หนี้ต่างชาติของศรีลังกาเพิ่มขึ้นจาก 11.3 พันล้านสหรัฐ ไปอยู่ที่ 56.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซ้ำหนักนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลทำให้ปัญหาทางการเงินของประเทศเพิ่มขึ้น

โดยรัฐบาลศรีลังกาตอนปลายปี 2019 ได้ประกาศตัดและลดภาษีในหลายประเภท อาทิ ลดภาษีธุรกิจ ลดภาษี VAT ซึ่งทำให้รายได้ของรัฐบาลหายไป และในปี 2021รัฐบาลได้ประกาศยกเลิกการใช้ปุ๋ยเคมีในประเทศ

และให้ชาวนาและชาวสวนใช้แค่ปุ๋ยอินทรีย์ ทำให้ผลผลิตหายจากตลาดและเกิดภาวะขาดแคลนอาหาร ผู้คนเริ่มกักตุนอาหารทำให้ราคาต่าง ๆปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และทำให้ประเทศจำเป็นต้องนำเข้าจากต่างชาติเพิ่มขึ้นอีก

นอกจากนี้ ศรีลังกายังเป็นประเทศที่พึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยว หลังจากโดนระเบิดช่วงอีสเตอร์ในปี 2019 และการระบาดของโควิด-19 ทำให้รายได้จากนักท่องเที่ยวของศรีลังกาหายไป

ล่าสุดสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนทำให้ราคาต่าง ๆ ในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้น ยิ่งซ้ำเติมราคาสินค้าในศรีลังกาให้เพิ่มขึ้นสูง ประกอบกับค่าเงินที่อ่อนค่าอย่างมาก ทำให้ราคาต่าง ๆ ยิ่งแพงขึ้น ส่งผลให้เงินเฟ้อปรับขึ้นต่อเนื่อง

ล่าสุดเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 18.7% YOY ในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารกลางศรีลังกาจึงจำเป็นต้องปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย โดยล่าสุดปรับเพิ่ม 700 bps ไปอยู่ที่ 14.5% เมื่อต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งสถานการณ์ของศรีลังกายังหาทางออกไม่ได้

เหตุการณ์ของศรีลังกาเป็นบทเรียนที่ดีให้ประเทศไทย ไทยเคยเจอปัญหาทางการเงินที่หนักเมื่อปี 1997 มาแล้ว ทั้งทางด้านหนี้ต่างชาติและค่าเงิน

นอกจากนี้ ประเทศไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวสูง หากรัฐบาลใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ไม่มีความรับผิดชอบ หรือใช้มาตรการประชานิยมโดยไม่คำนึงถึงอนาคต เราอาจเกิดสถานการณ์แบบปี 1997 หรือแบบศรีลังกาก็เป็นได้ไทยจึงจำเป็นต้องมองการณ์ไกล เพื่อป้องกันไม่ให้สถานการณ์อย่างศรีลังกาเกิดขึ้น