ทะเลเพื่อชีวิต พัฒนานวัตกรรมเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อม

การอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญ และเยาวชนก็คือกำลังสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้เกิดความสำเร็จ โดยหนึ่งในโครงการภายใต้การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. คือ “โครงการ PTTEP Teenergy”

ซึ่งเป็นโครงการที่ปลูกฝังเยาวชนให้ตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ โดยเปิดโอกาสให้เยาวชนเรียนรู้และสัมผัสธรรมชาติ ตลอดจนมีส่วนร่วมในการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม

“ชยงค์ บริสุทธิ์สวัสดิ์” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานทรัพยากรบุคคล กิจการองค์กร และกำกับดูแล ปตท.สผ. และประธานคณะกรรมการโครงการ PTTEP Teenergy ปีที่ 8 กล่าวว่า ปตท.สผ. จัดโครงการ PTTEP Teenergy ปีที่ 8

ชยงค์ บริสุทธิ์สวัสดิ์
ชยงค์ บริสุทธิ์สวัสดิ์

เชิญชวนนิสิต นักศึกษา ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับ ปวส. และระดับปริญญาตรีทั่วประเทศ ร่วมส่งผลงานสร้างสรรค์ในกิจกรรมการประกวดนวัตกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ครั้งที่ 2 (The 2nd Young Ocean for Life Innovation Challenge) ภายใต้แนวคิด “ทะเลเพื่อชีวิต” (Ocean for Life)

วัตถุประสงค์เพื่อให้เยาวชนไทยตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล พร้อมก้าวสู่การเป็นนักอนุรักษ์รุ่นเยาว์ ทั้งยังเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรท้องทะเลไทย สำหรับกิจกรรมการประกวดนวัตกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ครั้งที่ 2 จัดในรูปแบบการประกวดประเภททีม (ทีมละ 3-5 คน) โดยแบ่งหัวข้อการประกวดเป็น 3 หัวข้อ ได้แก่

หนึ่ง protect : การปกป้องท้องทะเล จากภัยคุกคามต่าง ๆ โดยเฉพาะวิกฤตระดับโลก 3 ด้าน ได้แก่ มลภาวะจากขยะและน้ำเสีย, การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

สอง preserve : การอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยเฉพาะระบบนิเวศชายฝั่งที่มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน ให้สามารถคงอยู่ได้อย่างยั่งยืน

สาม provide : การสร้างโอกาสเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน เพื่อให้ชุมชนในพื้นที่ชายฝั่งทะเลรอบอ่าวไทยมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ดีขึ้น ตามรูปแบบเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) และ BCG Economy หรือเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) ซึ่งเป็นโมเดลเศรษฐกิจเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน

สำหรับผู้ที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรกจำนวน 15 ทีม จะได้สัมผัสกับประสบการณ์การเข้าร่วมกิจกรรมเวิร์กช็อป ในรูปแบบไฮบริด เพื่อเพิ่มพูนความรู้ พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะ เพื่อมาต่อยอดผลงานจากนักวิชาการและวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ

ทั้งนี้ ทีมที่ชนะเลิศในแต่ละหัวข้อจะได้รับเงินรางวัลทีมละ 130,000 บาท และเงินรางวัลพิเศษสำหรับนำผลงานนวัตกรรมไปพัฒนาต่อยอดอีกทีมละ 40,000 บาท พร้อมโล่และประกาศนียบัตร

ส่วนรองชนะเลิศอันดับ 1 รับเงินรางวัลทีมละ 70,000 บาท พร้อมโล่และประกาศนียบัตร, รองชนะเลิศอันดับ 2 รับเงินรางวัลทีมละ 40,000 บาท พร้อมโล่และประกาศนียบัตร และรางวัลชมเชย จำนวน 2 รางวัล รับเงินรางวัลทีมละ 10,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตร รวมมูลค่าเงินรางวัลทั้งสิ้น 900,000 บาท

ผู้สนใจสามารถสมัครพร้อมส่งผลงานเข้าร่วมประกวดจนถึง 15 กันยายน 2565 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและติดตามข่าวสารได้ที่ www.facebook.com/pttepcsr

“ชยงค์” บอกด้วยว่า โครงการ “PTTEP Teenergy” ภายใต้แนวคิด “ทะเลเพื่อชีวิต” เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความยั่งยืน ซึ่งเป็นแนวทางของ ปตท.สผ. ในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล และการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดี และเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน 17 จังหวัดรอบอ่าวไทย

“บุษบรรณ จีนเจริญ” ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายกิจกรรมเพื่อสังคม ปตท.สผ. กล่าวเสริมว่า โครงการ PTTEP Teenergy เริ่มมาตั้งแต่ปี 2557 อย่างต่อเนื่อง ได้สร้างเครือข่ายเยาวชน PTTEP Teenergy รวม 7 รุ่น มีสมาชิกกว่าพันคนทั่วประเทศ และสร้างโครงการต่อยอดในชุมชนกว่า 100 โครงการ

โครงการ PTTEP Teenergy ปีที่ 8 ในปีนี้เป็นปีที่ 2 ที่เราปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมใหม่ โดยจัดประกวดผลงานเยาวชนในระดับที่โตขึ้นคือ ปวส. ถึงปริญญาตรี แทนระดับมัธยมปลายและ ปวช. แต่ยังคงวัตถุประสงค์ของโครงการ ที่มุ่งเน้นให้เยาวชนกล้าคิด กล้าทำ กล้ามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมก้าวสู่การเป็นนักอนุรักษ์รุ่นเยาว์

“มีน้อง ๆ หลายคนที่เคยเข้าร่วมโครงการแล้วนำผลงานไปต่อยอดใช้จริงในสังคม และอีกหลาย ๆ คนใช้ผลงานเป็น portfolio เพื่อสมัครงาน ทำให้ได้รับความสนใจจากนายจ้างจำนวนมาก รวมทั้งยังได้รับโอกาสทำงานจริงกับ ปตท.สผ.อีกด้วย”

“ปาริฉัตร เศียรอินทร์” นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ตัวแทนทีม Scraber ที่ชนะเลิศในการประกวด PTTEP Teenergy จากปีที่ 7 ในหัวข้อ “provide” กล่าวว่า ผลงานที่ได้รับรางวัลคือ The automatic warning of carb molting detection by application

แนวคิดเกิดจากการเห็นปัญหา ว่าการทำฟาร์มปูนิ่มจำเป็นต้องอาศัยแรงงานคนที่มีความชำนาญ ส่วนใหญ่เป็นผู้ตรวจดูการลอกคราบของปูด้วยตาเปล่าในช่วงกลางคืน ซึ่งอาจเกิดความผิดพลาดได้ ทางทีมจึงออกแบบระบบการตรวจจับการลอกคราบปูแบบอัตโนมัติผ่านแอปพลิเคชั่น ที่อาศัยการตรวจจับเปรียบเทียบเม็ดสีขาว และสีดำจากกล้อง CCTV ซึ่งจะเป็นการตรวจจับแบบเรียลไทม์

ภายในแอปพลิเคชั่นจะระบุข้อมูลทั่วไปของฟาร์ม ภาพกล่องเก็บปูนิ่มแบบเรียลไทม์ และแสดงอัตราการลอกคราบของปูนิ่มในแต่ละสัปดาห์ เพื่อให้เกษตรกรทราบถึงแนวโน้มของผลผลิต และบริหารจัดการฟาร์มต่อไปได้สะดวกยิ่งขึ้น

“อัครพันธ์ ทวีศักดิ์” นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาวิศวกรรมโยธา หลักสูตรนานาชาติ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ตัวแทนทีม Green Grove ที่ได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 การประกวด PTTEP Teenergy ปีที่ 7 ในหัวข้อ “preserve” กล่าวว่า ผลงานที่ได้รับรางวัลคือ IMPOT ชุดปลูกต้นโกงกางอัจฉริยะ เพื่อการจัดการป่าชายเลนอย่างมีระบบ

แนวคิดเกิดจากการที่ผู้คนหันมาสนใจฟื้นฟูป่าชายเลนมากขึ้นในปัจจุบัน แล้วนิยมเพาะชำต้นโกงกางใบใหญ่ลงในถุงเพาะปลูกพลาสติก แต่ประสบปัญหาการนำต้นกล้าออกจากถุงค่อนข้างยาก จึงทำให้ต้นกล้ามีอัตราการรอดชีวิตต่ำ และถุงเหล่านั้นจะกลายเป็นขยะในภายหลัง ทีม Green Grove จึงประดิษฐ์ชุดปลูกต้นโกงกางอัจฉริยะ ภายใต้ซื่อว่า IMPOT เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปลูกป่าชายเลนด้วยต้นโกงกางใบใหญ่ และลดปริมาณขยะจากถุงพลาสติก

โดยเลือกใช้วัสดุที่หาได้ง่าย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อย่างวัสดุที่เหลือใช้ทางการเกษตร และเปลือกหอยมาผลิตเป็นกระถางสำหรับบรรจุดิน หรือต้นกล้า

นับว่าเป็นการพัฒนาศักยภาพเยาวชนให้มีโอกาสเรียนรู้นอกห้องเรียนเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นการปลุกจิตสำนึกและสร้างนักอนุรักษ์ที่ดีต่อไป