กินได้ไม่ทิ้งกัน เพาะหนอนแมลงช่วยเกษตรกรยั่งยืน

โลตัส ผัก ซูเปอร์มาร์เกต ตลาด

“โลตัส” ริเริ่มโครงการบริจาคอาหารส่วนเกินที่จำหน่ายไม่หมด แต่ยังรับประทานได้ให้ผู้ยากไร้ ในโครงการ “กินได้ไม่ทิ้งกัน” มาตั้งแต่ปี 2560 โดยมีเป้าหมายเพื่อลดขยะอาหารเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2030 (Zero food waste to landfill by 2030) อันเนื่องมาจากขยะอาหาร หรืออาหารส่วนเกิน เป็นหนึ่งในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่ทั่วโลกให้ความสนใจ

จากการประเมินขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) พบว่ามีอาหารถูกทิ้งเป็นขยะอาหารประมาณ 1.6 พันล้านตันต่อปี การเน่าเสียของอาหารจะปล่อยก๊าซมีเทนที่มีศักยภาพเป็นก๊าซเรือนกระจก ส่งผลทำให้โลกร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 25 เท่า โดยแต่ละปีจะมีปริมาณขยะอาหารถูกฝังกลบประมาณ 1.3 พันล้านตัน ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษคิดเป็นร้อยละ 8 ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ

ในขณะที่ประเทศไทย ข้อมูลจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่ามีขยะอินทรีย์ที่เกิดขึ้นมากถึง 17.56 ล้านตันต่อปี คนไทยทิ้งขยะอาหารมากถึง 254 กิโลกรัมต่อคนต่อปี และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ผลเช่นนี้จึงทำให้โลตัสในฐานะห้างค้าปลีกที่มีการจำหน่ายอาหารด้วย ดำเนินโครงการ “กินได้ไม่ทิ้งกัน” อย่างต่อเนื่อง พร้อมขยายความร่วมมือกับพันธมิตรหลากหลายขึ้น โดยล่าสุดจับมือมหาวิทยาลัยขอนแก่น ด้วยการบริจาคอาหารที่จำหน่ายไม่หมด

อาทิ ผัก ผลไม้ จากโลตัส 30 สาขา ในจังหวัดขอนแก่น และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อใช้เป็นอาหารเลี้ยงแมลงโปรตีน (Black Soldier Fly-BSF) เป็นอาหารสัตว์เลี้ยง เพื่อหวังลดต้นทุนอาหารทางการเกษตร ด้วยการนำร่องสนับสนุนเครือข่ายเกษตรกรภาคอีสาน 24 ราย ทั้งยังเตรียมขยายผลสู่การสนับสนุนเกษตรกรทั่วไทย

“โลตัส” นำร่องบริจาคอาหาร

“บุญชัย ชีพอารนัย” ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจค้าปลีกภาคเหนือ บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (โลตัส) กล่าวว่า โลตัสเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตเจ้าแรกในประเทศไทยที่เริ่มบริจาคอาหารส่วนเกินที่จำหน่ายไม่หมดให้ผู้ยากไร้ โดยร่วมมือกับมูลนิธิ SOS ภายใต้โครงการ “กินได้ไม่ทิ้งกัน” ในปี พ.ศ. 2560

โดยอยู่ภายใต้กรอบการทำงาน Target, Measure, Act อีกทั้งยังเป็นธุรกิจแรกในประเทศไทย ที่เริ่มวัดและเปิดเผยปริมาณขยะอาหารภายในธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2562 โดยมีปริมาณขยะอาหาร (food waste absolute tonnage) ลดลงอย่างต่อเนื่องทุก ๆ ปี

โลตัสบริหารจัดการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ ในการลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร โดยต้นน้ำวางแผนการเพาะปลูกร่วมกับเกษตรกร ภายใต้โครงการรับซื้อผลผลิตตรง เพื่อให้เกษตรกรปลูกผักตามปริมาณที่ลูกค้าต้องการ เพื่อไม่ให้เหลืออาหารส่วนเกิน และลดปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาด อีกทั้งยังใช้รถควบคุมอุณหภูมิขนส่งผักและผลไม้จากแหล่งเพาะปลูกสู่ศูนย์กระจายสินค้าและสาขา ลดการสูญเสียอาหารในระหว่างการขนส่ง

ส่วนกลางน้ำ สินค้าป้ายเหลืองเป็นการลดราคาสินค้า เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ลูกค้าซื้อสินค้ากลับไปรับประทาน แทนการทิ้งให้เป็นขยะอาหาร และบริจาคอาหารส่วนเกินทั้งแบบที่ยังรับประทานได้ และแบบที่รับประทานไม่ได้แล้วให้กับมูลนิธิและหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ เพิ่มมูลค่า แทนการทิ้งให้เป็นขยะอาหาร

ขณะที่ปลายน้ำ เราร่วมงานกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน สร้างการตระหนักรู้ และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการลดขยะอาหาร ทั้งในธุรกิจและในครัวเรือน ตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน โลตัสบริจาคอาหารส่วนเกินที่ยังรับประทานได้ไปแล้วทั้งหมด 2.8 ล้านมื้อ ให้ผู้ยากไร้และมูลนิธิต่าง ๆ

เพาะเลี้ยงหนอนลดต้นทุน

“สลิลลา สีหพันธุ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านความยั่งยืน ธุรกิจโลตัส ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า สำหรับโครงการกินได้ไม่ทิ้งกัน ตลอดระยะเวลา 5 ปีผ่านมา โลตัสเดินหน้าขยายโครงการไปสู่พื้นที่อื่น ๆ รวมถึงร่วมมือกับพันธมิตรในการหาทางออกในการบริหารจัดการอาหารส่วนเกินที่ไม่สามารถรับประทานได้แล้ว

อาทิ โครงการบริจาคอาหารส่วนเกินให้กับสวนสัตว์ โครงการทำปุ๋ยชีวภาพจากเศษอาหาร รวมถึงการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ครั้งนี้ เรานำอาหารส่วนเกิน อาทิ ผัก ผลไม้ และอาหารสดประเภทอื่น ๆ จากโลตัส 30 สาขา ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือบริจาคให้กับเกษตรกรในเครือข่ายของมหาวิทยาลัย

“เพื่อนำไปใช้เป็นอาหารในการเพาะเลี้ยงแมลงโปรตีน ซึ่งเป็นแมลงที่ปลอดภัยต่อพืชและชุมชน ทั้งยังไม่เป็นพาหะนำโรค ที่สำคัญตัวหนอนยังมีคุณค่าทางอาหารสูง ทั้งโปรตีน โอเมก้า วิตามิน และแร่ธาตุ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้ตลอดวัฏจักรหนอน-ดักแด้-แมลง”

“สลิลลา” กล่าวต่อว่า ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โลตัสบริจาคอาหารส่วนเกินเพื่อนำไปเลี้ยงแมลงโปรตีนแล้วกว่า 10,000 กิโลกรัม คิดอัตราการเปลี่ยนอาหารเป็นน้ำหนักเนื้อหนอน (อัตราแลกเนื้อ) เท่ากับกว่า 3,400 กิโลกรัม ซึ่งเกษตรกรสามารถนำหนอนเหล่านี้เสริมในอาหารสัตว์ ช่วยลดต้นทุนอาหารสัตว์ไปได้มากกว่า 50%

นอกจากนี้ ยังได้ปุ๋ยจากมูลหนอนอีกกว่า 2,200 กิโลกรัม และซากแมลงโปรตีน ที่เกษตรกรสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ด้วยเช่นกัน ความตั้งใจของเราคือ การขยายผลโครงการแมลงโปรตีนไปสู่กลุ่มเกษตรกรอื่น ๆ เพื่อนำแมลงโปรตีนและผลพลอยได้ไปใช้ในการเกษตร รวมถึงศึกษาแนวทางต่อยอดการใช้ประโยชน์จากแมลงโปรตีนทางการเกษตรเพิ่มเติมต่อไป

จากงานวิจัยขยายผลสู่ชุมชน

“ศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ” รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่าโครงการแมลงโปรตีน เกิดจากงานวิจัยของคณาจารย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย “ศ.ดร.ยุพา หาญบุญทรง” อาจารย์สาขาวิชากีฏวิทยาและโรคพืชวิทยา คณะเกษตรศาสตร์ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงแมลงสำหรับผลิตโปรตีนทางเลือกให้กับชุมชนเป็นอาชีพ และพึ่งพาตนเอง โดยช่วยลดต้นทุนค่าอาหารสัตว์

ดังที่ทราบ ต้นทุนการผลิตสัตว์บกและสัตว์น้ำประมาณ 70% ของปัจจัยการผลิตทั้งหมด เป็นค่าอาหารเลี้ยง โดยปลาป่น ถูกใช้เป็นวัตถุดิบหลักของแหล่งโปรตีนสำคัญในการผลิตอาหารสัตว์ แต่ความต้องการมีจำนวนมากขึ้นทุกปี

ประกอบกับวิกฤตการณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทำให้ปลาป่นมีปริมาณไม่เพียงพอ ทั้งยังมีราคาสูง ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์ ดังนั้น การใช้โปรตีนจากแมลงเป็นวัตถุดิบโปรตีน ทางเลือกในการผลิตอาหารสัตว์จึงได้รับความนิยม

“ปัจจุบันมีโรงเรือนต้นแบบการวิจัยและการผลิตแมลงอุตสาหกรรมแบบครบวงจร ที่หมวดแมลงอุตสาหกรรม ของคณะเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นต้นแบบของการผลิตแมลงโปรตีนเพียงแห่งเดียวในขณะนี้”

สร้างเกษตรกรรายใหม่อย่างยั่งยืน

“ศ.ดร.ธิดารัตน์” กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาเราจัดอบรมเกษตรกรเพื่อเข้าร่วมเป็นเครือข่าย โดยได้รับงบประมาณในการสนับสนุนกว่า 10 ล้านบาทจากรัฐบาล ในโครงการแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจ สังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563

จากผลการดำเนินงานในระยะที่ผ่านมา มีเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ และปลาที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นและพื้นที่ใกล้เคียงกว่า 300 ราย จนสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ (startup) จำนวน 3 ราย ทั้งยังพัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์อาหารต้นแบบสำหรับไก่และปลากว่า 25 สูตร

“ความร่วมมือกับโลตัสครั้งนี้ จะช่วยขับเคลื่อนประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางความยั่งยืน โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นจะประสานและคัดเลือกเกษตรกรในเครือข่ายที่เลี้ยงหนอนแมลงโปรตีน

ห้พื้นที่ต่าง ๆ ในการรับบริจาคและจัดสรรอาหารที่เหลือจากการจำหน่ายจากสาขาของโลตัส ทั้งยังช่วยให้คำแนะนำเกษตรกรด้านวิชาการและเทคนิคของกระบวนการเลี้ยงหนอนแมลงโปรตีน รวมถึงการร่วมมือกับโลตัสในการขยายผลของโครงการต่อไป”

นับว่าน่าสนใจจริง ๆ