ท่าเทียบเรือสีเขียว ความมุ่งมั่นในธุรกิจของฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย

ท่าเทียบเรือ

“ท่าเทียบเรือ” เป็นหนึ่งในกิจการที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่น้อย เพราะมีการใช้พลังงานในการขนส่งสินค้า และบริการ จนก่อให้เกิดมลพิษทั้งทางน้ำและบนบก อีกทั้งยังก่อให้เกิดมลพิษทางเสียง ผลเช่นนี้จึงทำให้ บริษัท ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย (Hutchison Ports Thailand – HPT) ในฐานะผู้ดำเนินธุรกิจให้บริการด้านท่าเทียบเรือ และบริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมท่าเรือ

จึงประกาศจุดยืนการดำเนินธุรกิจด้วยการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งสู่การเป็นท่าเรือสีเขียว ด้วยการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้มากขึ้น

สำหรับ HPT ตั้งอยู่บริเวณท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นท่าเทียบเรือใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ทั้งยังเป็นบริษัทในกลุ่มฮัทชิสัน พอร์ท ที่มีเครือข่ายท่าเทียบเรือถึง 52 แห่ง กระจายอยู่ใน 26 ประเทศทั่วโลก ทั้งในเอเชีย, ตะวันออกกลาง, แอฟริกา, ยุโรป, อเมริกา และออสเตรเลีย เป็นต้น ปัจจุบันเปิดให้บริการในท่าเทียบเรือ A2, A3, C1, C2, D1 และกำลังอยู่ระหว่างพัฒนาส่วนที่เหลือของท่าเทียบเรือชุด D

อาณัติ มัชฌิมา
อาณัติ มัชฌิมา

“อาณัติ มัชฌิมา” ประธานบริหารงานทั่วไป บริษัท ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย เปิดเผยว่า HPT มีเป้าหมายการดำเนินงานเพื่อมุ่งไปสู่การเป็นท่าเทียบเรือสีเขียว และมีการเติบโตอย่างยั่งยืน แต่ทั้งนั้น ผู้ประกอบการท่าเรือต้องเผชิญความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม

เนื่องด้วยพื้นที่ในท่าเรือมีกิจกรรมมากมายที่มีส่วนในการสร้างก๊าซเรือนกระจก และอาจมีเสียงดัง รวมถึงเรือขนส่งหลายลำที่มาเทียบท่า ก็มีส่วนสร้างคราบน้ำมันในทะเล ทว่ากิจการท่าเทียบเรือไม่สามารถหยุดการดำเนินธุรกิจได้ เพราะมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นจำนวนมากต้องใช้บริการขนส่งทางเรือ

“ที่ผ่านมาเราพยายามเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เพื่อมุ่งสู่ท่าเทียบเรือสีเขียว เราพยายามลดใช้พลังงานลง และหาเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาใช้ ยกตัวอย่างเช่น ท่าเทียบเรือชุด A2, A3 และ C1, C2 ที่เปิดดำเนินการในปี 2545, 2549 และ 2550 ตามลำดับ

มีการพัฒนาหลายอย่างสำเร็จเรียบร้อย เช่น เครื่องมือยกขน และอุปกรณ์ต่าง ๆ นอกจากนั้น ยังมีการหันมาใช้หลอดไฟ LED ซึ่งจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายต่อปีถึง 65% ขณะที่ภายในลานวางตู้สินค้าก็เปลี่ยนมาใช้หลอด LED เช่นกัน ทำให้ประหยัดค่าไฟถึง 70%”

นอกจากนั้น ยังมีการใช้ระบบไฮบริด (Retrofit Hybrid System) กับปั้นจั่นยกตู้สินค้าภายในลานแบบล้อยาง ที่ไม่เพียงจะช่วยประหยัดการสิ้นเปลืองพลังงานเชื้อเพลิงมากกว่า 50% หากยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และมลภาวะทางเสียง

“อาณัติ” กล่าวต่อว่า สำหรับท่าเทียบเรือชุด D ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาด้วยงบประมาณรวมกว่า 580 ล้านเหรียญสหรัฐ ณ แอ่งจอดเรือที่ 2 (Basin 2) ความยาวหน้าท่าเฟสแรก 1,000 เมตร รองรับตู้สินค้าผ่านท่ามากถึง 3.5 ล้าน ETU โดยจะใช้ปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าควบคุมจากระยะไกลจำนวน 6 คัน และปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยางอีก 20 คัน เป็นระบบไฮบริดเช่นกัน

“การใช้ระบบไฮบริดจะทำให้เกิดเสียงรบกวนน้อยกว่าระบบเครื่องยนต์ดีเซล ทั้งยังควบคุมจากระยะไกลด้วยพลังงานไฟฟ้า ผลดีคืออัตราเฉลี่ยการประหยัดพลังงานไฟฟ้าอยู่ที่ 75% ของการใช้พลังงานเชื้อเพลิงทั้งหมด อีกทั้งยังทำให้สุขภาพและความเป็นอยู่ของผู้ปฏิบัติงานดีขึ้น และผ่อนคลายมากขึ้นด้วย”

นอกจากนี้ ท่าเทียบเรือชุด D ยังนำแพลตฟอร์มหน่วยงานจัดการหน้าท่าแบบดิจิทัล (Landside digital Platform) มาใช้งานที่เป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ การส่งข้อมูลการนำเข้าแบบอิเล็กทรอนิกส์ การชำระเงินแบบอีเพย์เมนต์ การวางบิล และการออกเอกสารกำกับภาษี

รวมถึงเอกสารรับตู้สินค้าขาเข้า ใบกำกับตู้สินค้า ใบตรวจรับสภาพตู้สินค้า หรือใบชั่งน้ำหนัก และประตูเข้า-ออกแบบอัตโนมัติ ซึ่งช่วยประหยัดทั้งค่าใช้จ่ายและเวลาให้กับลูกค้าอีกด้วย ที่สำคัญ ยังมีการนำรถบรรทุกระบบอัตโนมัติ และรถบรรทุกระบบไฟฟ้ามาใช้งานในระบบท่าเทียบเรือของ HPT

ส่วนท่าเทียบเรือ A และ C มีการใช้รถหัวลากที่เป็นน้ำมัน และเครื่องมือบางส่วนที่ไม่สามารถเปลี่ยนได้ คาดว่าน่าจะเหลือราว 25% ด้วยพื้นที่ในการวางระบบไฟฟ้าที่ยังไม่เอื้อ ตรงนี้จึงต้องพยายามปรับเปลี่ยนต่อไป

“การพัฒนาและปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีของ HPT จะทำให้เกิดประสิทธิภาพ และประสิทธิผลกับงานมากขึ้น รวมถึงลูกค้าจะได้ประโยชน์ในการใช้บริการสะดวกสบายมากขึ้น ผมคิดว่าการลงทุนกับนวัตกรรม หรือเทคโนโลยีสู่ธุรกิจสีเขียว ถ้าทำได้ก็ทำ

เพราะจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางธุรกิจ คู่ค้าจะเลือกจากความสามารถด้านบริการที่ตอบโจทย์ธุรกิจของเขา ว่าเทคโนโลยีดีไหม ปกป้องสินค้าของเขาได้ดีแค่ไหน เรือมาตรงเวลาไหม ทำให้เขาสามารถส่งสินค้าให้ลูกค้าได้ตามกำหนดหรือเปล่า หากตอบโจทย์เหล่านี้ได้ เขาก็พร้อมที่จะเลือกใช้บริการ”

“อาณัติ” กล่าวด้วยว่า สำหรับ HPT ถือว่าได้รับการตอบรับอย่างดีจากคู่ค้ามาเสมอ ตั้งแต่ปี 2564 ผ่านมา เพราะเราเติบโต 10% ขณะที่ครึ่งปีผ่านมาเติบโตเกิน 5% ด้วยสัดส่วนลูกค้าที่หลากหลาย ทำให้ธุรกิจของบริษัทสามารถผ่านพ้นวิกฤตมาได้

ไม่ว่าจะเป็นค่าระวางเรือที่สูงขึ้น ภาวะเงินเฟ้อ สงครามรัสเซีย-ยูเครน หรือโควิด-19 ซึ่งผมเชื่อว่าแนวทางการบริหาร รวมทั้งการปรับเปลี่ยนองค์กรสู่ธุรกิจสีเขียวจะทำให้ HPT เดินหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืนแน่นอน

อย่างไรก็ตาม นอกจากการนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการธุรกิจแล้ว HPT ยังให้ความสำคัญกับการจัดการขยะ นโยบายของ HPT จะไม่อนุญาตให้เรือสินค้าใด ๆ ที่จุดจอดเรือปล่อยทิ้งสิ่งปฏิกูล สี หรือผลิตภัณฑ์ซักล้างลงมา รวมถึงเรามีการคัดแยกขยะอย่างสม่ำเสมอ

ด้วยหลักการ 3R คือ ลดปริมาณ, นำกลับมาใช้ใหม่ และรีไซเคิล (Reduce, Reuse และ Recycle) อีกทั้งในท่าเทียบเรือยังมีโรงบำบัดน้ำเสีย ที่จะช่วยจัดการน้ำเสียทั้งหมดเพื่อลดปริมาณน้ำเสียอีกด้วย

“ที่สำคัญ ในปี 2565 HPT จัดทำแคมเปญหลัก ๆ 2 โครงการคือ โครงการ “Go Green” เป็นการส่งเสริมแนวความคิดเกี่ยวกับจากขยะสู่ทรัพยากร โดยบริษัทมีการรวบรวมขยะสะอาดจากท่าเทียบเรือและพื้นที่ใกล้เคียงมาเป็นผลิตภัณฑ์รีไซเคิล พร้อมกับบริจาคให้กับประชาชนในชุมชน

ส่วนอีกโครงการคือ โครงการ “Dock School” เป็นการสนับสนุนให้โรงเรียนริเริ่มจัดกิจกรรม “โรงเรียนสีเขียว” (Green Dock School) ของตนเอง ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มการรับรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมให้กับนักเรียน และพัฒนาศักยภาพในด้านสิ่งแวดล้อม โดย HPT จัดโครงการ Dock School เป็นประจำทุกปี”

สำหรับปลายปี 2565 บริษัทมีแผนจัดกิจกรรม Green Dock School ด้วยการปลูกต้นไม้ และจัดกิจกรรมรีไซเคิล สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการให้ความรู้ และช่วยปกป้องสิ่งแวดล้อมได้ในระยะยาว อีกทั้งยังร่วมกับคณะพาณิชยนาวีนานาชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา จัดทำโครงการ Go Green และ Green Education ด้วยการปลูกต้นไม้ และคืนชีวิตให้กับขยะเหลือใช้ หรือการรีไซเคิลอีกด้วย