ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ SMEs ควรทำยังไง ?

ค่าแรง
คอลัมน์ : เอชอาร์คอร์เนอร์
ผู้เขียน : ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์ https://tamrongsakk.blogspot.com

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2565 มีรายงานข่าวเกี่ยวกับการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 21 (ไตรภาคี) พิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งคาดว่าจะให้มีผล 1 ตุลาคม 2565 (เราปรับค่าจ้างขั้นต่ำครั้งล่าสุดคือ 1 มกราคม 2563 มี 10 อัตรา) โดยมีผลการปรับค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ 9 อัตรา ซึ่งผมได้ทำตารางเปรียบเทียบเปอร์เซ็นต์การปรับค่าจ้างขั้นต่ำสูงสุด-ต่ำสุด-กรุงเทพฯและปริมณฑลไว้ดังนี้ครับ

ถ้าจะถามว่า “บริษัทต่าง ๆ โดยเฉพาะ SME ควรทำอะไรบ้าง ?

คำตอบดังนี้ครับ

1.กำหนดอัตรากำลัง (Manpower Planning) สำหรับการรับคนเข้าใหม่ ที่จะต้องจ่ายตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ ตั้งแต่ 1 ต.ค. 65 เป็นต้นไปว่ามีกี่อัตราแล้วคูณค่าจ้างขั้นต่ำที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้น เช่น สมมติบริษัทของท่านอยู่ในกทม.และปริมณฑล มีแผนว่าจะรับคนงานใหม่ 5 คน

ท่านจะมีต้นทุนในการจ้างเพิ่มขึ้นต่อคนวันละ 22 บาท (เดิมวันละ 331 บาท อัตราใหม่วันละ 353 บาท) ถ้าท่านวางแผนจ้าง 5 คนจะต้องมีต้นทุนการจ้างเพิ่มขึ้นวันละ 5 x 22 = 110 บาท เดือนละ 110 x 26 = 2,860 บาท (สมมติทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน)

2.ลิสต์รายชื่อและเงินเดือนพนักงานเก่า ที่บริษัทรับเข้ามาด้วยอัตราค่าจ้างเดิม (เมื่อ 1 ม.ค. 63) แล้วดูว่าปัจจุบันมีใครบ้างที่จะได้รับผลกระทบจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ ที่จะถูกคนเข้ามาใหม่มีค่าจ้างจี้ติดหลังมาก ๆ บริษัทมีความจำเป็นที่จะต้องปรับค่าจ้างให้คนเก่าคนไหนบ้าง เพื่อหนีผลกระทบจากคนใหม่ และควรจะใช้วิธีไหน (หรือสูตรใด) ในการปรับค่าจ้างคนเก่า เพื่อหนีผลกระทบจากคนใหม่

3.ทบทวนดูว่าบริษัทจำเป็นต้องปรับอัตราเริ่มต้นตามคุณวุฒิ ปวช., ปวส., ปริญญาตรี, ปริญญาโท, ปริญญาเอก (ถ้ามี) เพื่อหนีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่จะปรับเพิ่มขึ้นในครั้งนี้หรือไม่ ผมมีตัวอย่างภาพจำลองการปรับอัตราเริ่มต้นตามคุณวุฒิ เพื่อหนีผลกระทบค่าจ้างขั้นต่ำ ให้ดูตามตารางข้างล่างนี้ครับ

จากตารางข้างต้น ผมปรับอัตราเริ่มต้นตามคุณวุฒิหนีค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ โดยการใช้เปอร์เซ็นต์ที่ปรับเพิ่มขึ้นของค่าจ้างขั้นต่ำตามตัวอย่างนี้คือ 6.65% คูณอัตราเริ่มต้นตามคุณวุฒิเดิมเข้าไป ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งในหลาย ๆ วิธีที่ใช้ปรับเงินเดือน แต่ไม่ใช่สูตรตายตัวนะครับ ในแต่ละบริษัทอาจจะคิดหาวิธีปรับที่แตกต่างไปจากนี้ได้ครับ

4.กำหนดอัตรากำลัง (Manpower Planning) สำหรับการรับคนเข้าใหม่ตามคุณวุฒิต่าง ๆ ว่ามีกี่อัตรา แล้วคูณเงินเดือนที่จะต้องจ่ายเพิ่มขึ้นในแต่ละคุณวุฒิที่จะรับคนจบใหม่ ส่วนนี้คือต้นทุนในเรื่องเงินเดือนที่บริษัทต้องจ่ายเพิ่มขึ้น

เช่น สมมติบริษัทต้องการรับปริญญาตรีเข้าใหม่ 1 อัตรา แล้วบริษัทตัดสินใจจะปรับเงินเดือนปริญญาตรีจบใหม่จาก 16,000 บาท เป็น 17,000 บาท (ตามตารางข้างต้น) บริษัทจะมีต้นทุนเงินเดือนต่อคนเพิ่มขึ้นเดือนละ 1,000 บาท

5.ลิสต์รายชื่อและเงินเดือนพนักงานเก่าที่บริษัทรับเข้ามาด้วยอัตราเริ่มต้นตามคุณวุฒิเดิม (แต่ละคุณวุฒิ) ว่ามีใครบ้างที่ควรจะได้รับผลกระทบจากการถูกคนเข้าใหม่มีเงินเดือนจี้ติดหลัง เพราะถ้าไม่ปรับหนีคนใหม่ก็อาจจะทำให้คนเก่าที่มีผลงานดี มีศักยภาพอาจจะลาออก

ซึ่งตรงนี้ ต้องคำนวณออกมา ว่ารวมแล้วเป็นเงินเท่าไหร่ที่จะต้องปรับให้ ส่วนจะใช้สูตรหรือวิธีใดในการปรับนี่ก็เป็นเรื่องที่ต้องคุยกันยาวครับ เพราะไม่มีสูตรหรือกฎเหล็กตายตัว จะขึ้นอยู่กับบริบทและขีดความสามารถในการจ่ายของแต่ละบริษัทประกอบกัน

6.บริษัทที่มีโครงสร้างเงินเดือนอยู่แล้ว ก็อาจจะต้องมาทบทวนดูว่าโครงสร้างเงินเดือนของเราได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้หรือไม่ ถ้าได้รับผลกระทบก็จำเป็นต้องปรับโครงสร้างเงินเดือนด้วยนะครับ

ทั้งหมดที่ผมเล่ามานี้ เชื่อว่าจะทำให้ท่านที่เป็น HR หรือเป็นฝ่ายบริหารเกิดไอเดียในการรับมือกับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้แล้วนะครับ