ลดส่งเงินสมทบประกันสังคม ม.33-ม.39 เริ่ม ต.ค.นี้ เหลือเท่าไหร่ เช็กที่นี่

ครม. อนุมัติลดอัตราส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคม มาตรา 33 และมาตรา 39 แล้ว ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ระยะเวลา 3 เดือน มีผลบังคับใช้เดือนตุลาคม-ธันวาคม 2565 นี้ ชี้ช่วยแบ่งเบาภาระนายจ้างจากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 5% ด้วย

วันที่ 20 กันยายน 2565 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงแรงงานการส่งเงินสมทบประกันสังคม พ.ศ. … ลดอัตราเงินสมทบสำหรับนายจ้างและลูกจ้างผู้ประกันตนต้องจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคม เป็นระยะเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39

เหตุผลส่วนหนึ่งของการปรับลดอัตราการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมครั้งนี้มาจาก จะมีปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เริ่ม 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป เป็นการเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ย 5.02% ซึ่งกระทรวงแรงงานเล็งเห็นถึงความสำคัญของการช่วยเหลือแบ่งเบาภาระนายจ้าง ที่จะต้องปรับตัวรับมือค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น จึงมีการประชุมบอร์ดประกันสังคมเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2565 และมีมติเห็นชอบปรับลดเงินสมทบทั้งนายจ้างและลูกจ้าง และนำเรื่องนี้เข้า ครม. ในวันนี้

ลดเงินสมทบเหลือเท่าไหร่ ?

1) มาตรา 33

สถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป กฎหมายกำหนดให้นายจ้างและลูกจ้างต้องนำส่งเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน โดยอัตราปกติ นายจ้างส่งเงินสมทบในอัตรา 5% ของค่าจ้างลูกจ้างแต่ละเดือน ขณะที่ลูกจ้างส่งเงินสมทบในอัตรา 5% ของค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับแต่ละเดือน โดยคำนวณจากฐานค่าจ้างต่ำสุดเดือนละ 1,650 บาท และสูงสุดไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท เท่ากับว่า อัตราเงินสมทบขั้นต่ำสูงอยู่ที่เดือนละ 83 บาท แต่ไม่เกินเดือนละ 750 บาท ทั้งนี้ รัฐบาลจะออกเงินสมทบเข้ากองทุนอีกส่วนหนึ่ง

การลดอัตราเงินสมทบเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2565 สำหรับนายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ

ส่วนที่ 1 นายจ้าง ลดลงจากเดิม 5% เหลือ 3%

ส่วนที่ 2 ผู้ประกันตน (ลูกจ้าง) ลดลงจากเดิม 5% เหลือ 3%

ส่วนที่ 3 รัฐบาลจ่ายเงินสมทบอัตรา 2.75% คงเดิม

2) มาตรา 39

เป็นการประกันตนภาคสมัครใจ สำหรับบุคคลที่เคยทำงานในบริษัทและอยู่ในมาตรา 33 มาก่อน แล้วภายหลังได้ลาออกจากงาน แต่ไม่เกิน 6 เดือน หรืออยู่ในสภาวะว่างงาน ทั้งเคยส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 12 เดือนขึ้นไป แล้วยังต้องการรับสิทธิประโยชน์จากประกันสังคมอยู่ จึงยื่นขอต่อประกันสังคมเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และต้องนำส่งเงินสมทบเท่ากับ 432 บาท/เดือน

การลดอัตราเงินสมทบเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2565 สำหรับมาตรา 39 จากเดิม 432 บาทต่อเดือน เหลือนำส่งเงินสมทบเท่ากับ 240 บาท/เดือน

เพิ่มสภาพคล่องให้นายจ้างกว่า 7.9 พันล้านบาท

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า มาตรการลดเงินสมทบเพื่อช่วยเหลือพี่น้องผู้ประกันตนในสถานการณ์ดังกล่าว จะส่งผลให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินสมทบที่ลดลง 576-900 บาทต่อคน รวมเป็นเงินที่ลดลงประมาณ 9,080 ล้านบาท ไปใช้ในการเพิ่มสภาพคล่องมากขึ้น รวมถึงการแก้ปัญหาทางการเงินของผู้ประกันตนทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

นอกจากนั้นแล้วยังเป็นการช่วยแบ่งเบาลดภาระต้นทุนที่สูงขึ้นและเพิ่มสภาพคล่องให้กับนายจ้าง เป็นจำนวนเงินกว่า 7,964 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้สถานประกอบการสามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้อย่างต่อเนื่องในระบบเศรษฐกิจ ทั้งนี้ เงินสมทบที่ลดลงมากกว่า 17,044 ล้านบาท จะกลายเป็นเม็ดเงินที่นำมาใช้จ่ายช่วยหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศ

“สำหรับขั้นตอนต่อจากนี้ กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคมจะได้เร่งดำเนินการเพื่อให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ทันภายในกำหนด จึงขอให้นายจ้างและผู้ประกันตนมั่นใจในการดำเนินงานของกระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคมภายใต้นโยบายของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาการนายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญในการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาของผู้ประกันตนให้ตรงจุดและทันท่วงที เนื่องจากปัญหาเรื่องความเป็นอยู่ปากท้องของพี่น้อง ผู้ใช้แรงงานเป็นเรื่องสำคัญ และจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างแน่นอน”