ผู้นำในบริบท ESG ขับเคลื่อนธุรกิจไทยสู่ความยั่งยืน

วสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์
วสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์

แนวคิดในการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม (environment) สังคม (social) และธรรมาภิบาล (governance) หรือที่รับรู้กันคือ “ESG” เป็นที่กล่าวถึงอย่างกว้างขวางทั่วโลกในปัจจุบัน

เนื่องจากการทำธุรกิจยุคใหม่จะมุ่งแต่แสวงหากำไรเพียงอย่างเดียวไม่ได้แล้ว แต่จะต้องคำนึงถึงบริบททางสังคมอย่างรอบด้านด้วย

ผลเช่นนี้จึงทำให้ “ประชาชาติธุรกิจ” จัดงานสัมมนา “ESG Forum จุดเปลี่ยนเศรษฐกิจไทย” เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2565 โดยมี “ผู้นำองค์กร” จากหลายภาคธุรกิจมาเป็นวิทยากรในหัวข้อ “ศักยภาพใหม่เศรษฐกิจไทย” อาทิ ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย, คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC, วสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน), ธนพล ศิริธนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (Country CEO) บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

ขัตติยา อินทรวิชัย
ขัตติยา อินทรวิชัย

ขณะที่ “เจมส์ ทีก” ประธาน บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด มาแลกเปลี่ยนมุมมองในหัวข้อ “เส้นทางใหม่ ไร้ขีดจำกัด” และสุดท้าย “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมาแลกเปลี่ยนมุมมองในหัวข้อ “สร้างศักยภาพใหม่ให้เป็นจริง”

เพียงแต่ในที่นี้ขออนุญาตหยิบยกมุมมองของแต่ละท่านลงในเซ็กชั่นต่าง ๆ ของหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนของเนื้อหา จนที่สุดจึงสรุปภาพความคิดของ 5 ผู้นำ จาก 5 หน่วยงาน อาทิ ธนาคารกสิกรไทย, PPPGC, แอสต้าเซนเนก้า, เฟรเซอร์สฯ และกรุงเทพมหานคร มาลงในที่นี้แต่พอสังเขป

แต่สำหรับชุดภาพความคิดที่เกี่ยวกับ “ESG” ของ “เบทาโกร” จะนำลงโดยละเอียดเพื่อให้ทุกคนเห็นภาพตรงกันว่า “เบทาโกร” มีความมุ่งมั่นอย่างมากในการยกระดับธุรกิจอาหารและเกษตรอุตสาหกรรม โดยใช้กรอบและแนวทางของ “ESG” เข้ามาผนวกในการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน

คงกระพัน อินทรแจ้ง
คงกระพัน อินทรแจ้ง

บริบท ESG ในมุมมองผู้นำ

เบื้องต้น “ขัตติยา” ถอดมุมมองในเรื่องของ ESG ก่อนว่า ESG จะมาเป็นจุดเปลี่ยนเศรษฐกิจไทย เพราะถ้าเราไม่ทำ จะสูญเสียความเชื่อมั่นทั้งลูกค้าและผู้ลงทุน รวมถึงโอกาสในการเติบโต เนื่องจาก ESG ไม่ใช่เรื่องของ CSR หรือการกุศล แต่เป็นเรื่องของธุรกิจล้วน ๆ ซึ่งหากใครไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ทัน หรือคว้าโอกาสไว้ ก็จะเหนื่อย และล้าหลัง เพราะการทำ ESG ทำไม่ง่าย และทำแล้วต้อง Balance ให้ดี

“คงกระพัน” กล่าวว่า ปัจจุบันความรับผิดชอบขององค์กรต่อสังคม สิ่งแวดล้อม คือบทบาทตั้งแต่คณะกรรมการบริษัทจนถึงผู้บริหารระดับสูง ยิ่งองค์กรใหญ่เรายิ่งต้องทำ ซึ่ง GC ก็ทำมาอย่างต่อเนื่องกว่า 30 ปี และมองว่า ESG ไม่ใช่ต้นทุน แต่คือการลงทุนที่มีรีเทิร์น ยิ่งเราลดการใช้พลังงาน ยิ่งลดต้นทุน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน

เจมส์ ทีก
เจมส์ ทีก

“เจมส์ ทีก” มองว่า ยุทธศาสตร์ ESG ไม่ใช่สิ่งที่สร้างภาระให้กับธุรกิจ ในทางตรงกันข้าม กลับช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง เช่น การปรับรูปแบบการประชุมที่มุ่งให้พนักงานเดินทางน้อยที่สุด หรือประชุมออนไลน์แทน ตรงนี้ไม่เพียงจะลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ยังช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

ธนพล ศิริธนชัย
ธนพล ศิริธนชัย

“ธนพล” กล่าวว่า ความท้าทายในโลกปัจจุบันและอนาคตยังไม่หมด จะต้องเตรียมพร้อมรับมือ และการพัฒนาธุรกิจในทุกกระบวนการ ถ้าเราให้ความสำคัญกับความยั่งยืน เราต้องไม่ทำให้คนรุ่นหลังเดือดร้อน หรืออีกนัยหนึ่งคือ เราเป็นบริษัทที่เติบโตอย่างยั่งยืน สร้างผลกำไรให้แก่ผู้ถือหุ้น และไม่เบียดเบียนสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่นทั้งปัจจุบันและอนาคต

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

“ชัชชาติ” มองว่า ESG จะนำมาสู่จุดเปลี่ยน กทม.ให้ทัดเทียมมหานครอื่นในโลก การพัฒนาศักยภาพให้กรุงเทพฯมีศักยภาพทัดเทียมมหานครอื่นของโลก ต้องเริ่มจากการให้ประชาชนมีส่วนร่วม และใช้ความคิดสร้างสรรค์ของพวกเขามาเป็นคำตอบในการพัฒนาเมือง ถึงจะช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งทั้งหมดจะทำให้ประเทศเราพัฒนาอย่างยั่งยืน

55 ปีเบทาโกรในธุรกิจอาหาร

“วสิษฐ” กล่าวว่า ธุรกิจอาหาร โดยเฉพาะเรื่อง food security หรือความมั่นคงทางอาหารเป็นประเด็นที่สำคัญ ในขณะที่โลกกำลังเกิดความผันแปร มีการแข่งขันกันเรื่องของแหล่งอาหาร (food supply) รวมถึงภาวะราคาอาหารที่แพงสูงขึ้น (food inflation)

ขณะเดียวกันก็มีการคาดการณ์ว่าจากนี้ไปจนถึงปี ค.ศ. 2050 หรืออีก 28 ปีข้างหน้า ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นจาก 7.5 พันล้านคน เป็นเกือบหมื่นล้านคน แล้วลองคิดดูว่าอาหารที่เราผลิตในปัจจุบันอาจมีสัดส่วนแค่ 56% ของความต้องการของคนในอนาคต

ดังนั้นบทบาทของธุรกิจอาหารจะทำอย่างไรให้อาหารมีปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของโลก โดยเฉพาะประเทศกึ่งพัฒนาและกำลังพัฒนาจะเป็นประเทศที่มีความต้องการอาหารสูงกว่าประเทศพัฒนาแล้ว เพราะจะมีการเปิดเศรษฐกิจในอนาคต หรือการท่องเที่ยวฟื้นกลับมาเต็มตัว ตรงนี้จะทำให้ดีมานด์ต้องการอาหารสูงขึ้นแน่นอน

สำหรับเบทาโกร เรามีบทบาทสำคัญต่อเรื่องนี้ เพราะอยู่ในอุตสาหกรรมอาหารมาตลอด 55 ปี ปัจจุบันมีสัดส่วนซัพพลายอาหาร หรือว่าโปรตีนเข้าไปในระบบการบริโภคของประเทศไทยอยู่ที่ระดับประมาณ 15% วัตถุประสงค์ของเราจะเน้นย้ำในเรื่องของสุขภาพคนเป็นอย่างมาก

เพราะเรามีแนวคิดอยากให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี เข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพ ปลอดภัยสูง และราคาที่เป็นธรรม เพราะเราเชื่อว่าทุกคนต้องมีทางเลือกของการเข้าถึงอาหาร และบนความเชื่อนี้ เบทาโกรจึงให้ความสำคัญในการทำงานอย่างหนักเพื่อเราจะได้เป็นส่วนหนึ่งของการส่งมอบอาหารที่ดี ปลอดภัยให้กับชุมชน และสังคมของเราได้

“แต่การจะไปถึงจุดนั้นได้ต้องสนับสนุน ecosystem ในอุตสาหกรรมของเรา โดยพัฒนาร่วมกับคู่ค้าตลอดห่วงโซ่อาหาร เช่น เกษตรกร ซึ่งเราทำงานกับเกษตรกรทั้งประเทศ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านด้วย เพราะพวกเขาคือส่วนหนึ่งในอุตสาหกรรม เขาต้องได้องค์ความรู้ใหม่ ๆ เทคโนโลยีใหม่ ๆ ด้วย รวมถึงผู้ประกอบการด้านอาหารทั้งรายเล็ก รายกลาง รายใหญ่ต้องพัฒนาไปด้วยกันเพื่อส่งอาหารคุณภาพสู่มือของผู้บริโภค”

วสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์
วสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์

บทเริ่มต้นจาก SDGs สู่ ESG

“วสิษฐ” กล่าวต่อว่า อดีตผ่านมา เราทำงานหลายด้าน จนได้เรียนรู้เรื่องของ SDGs ซึ่งมี 17 ข้อ แต่ในบริบทที่ธุรกิจดำเนินการอยู่มองว่าจะโฟกัสที่การมุ่งขจัดความอดอยาก สร้างความมั่นคงทางอาหาร ส่งเสริมสุขภาพความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคน เดินหน้าการผลิตที่ได้มาตรฐานระดับโลก ด้วยรูปแบบการผลิต การบริโภคอย่างยั่งยืน และการแสวงหาความร่วมมือเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งนำกรอบของ ESG (สิ่งแวดล้อม, สังคม และธรรมาภิบาล) เข้ามาในการดำเนินธุรกิจด้วย

สำหรับบริบทในเรื่องสิ่งแวดล้อม เราให้ความสำคัญกับเรื่อง climate change เป็นอันดับต้น ๆ รวมถึงเรื่องการจัดการของเสีย ทำอย่างไรจะจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะว่าเราเป็นโรงงานที่เป็นฐานการผลิตขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ซึ่งเราต้องมองว่าจะจัดการอย่างไรเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

ขณะเดียวกันก็มีเรื่องของการจัดการน้ำ เพราะอุตสาหกรรมมีการใช้น้ำปริมาณมาก ตั้งแต่การเลี้ยงปศุสัตว์ การปลูกพืช จนถึงการแปรรูปต่าง ๆ ก็ต้องมีทิศทางในการลด หรือเปลี่ยนเทคโนโลยีที่ทำให้ระบบการทำงานมีประสิทธิภาพ

ยกตัวอย่างเช่น ปัจจุบันเรามีการใช้พลังงานหลายรูปแบบ มีการจัดการเรื่องคาร์บอนฟุตพรินต์ และมีโรดแมปเพื่อไปสู่ carbon neutrality และ net zero ในอนาคต ตอนนี้มีการนำเอาโซลาร์รูฟเข้าไปใช้ในโรงงาน 35 ไซต์ ซึ่งสามารถเปลี่ยนเป็นพลังงานได้ถึง 40 เมกะวัตต์ สามารถลดคาร์บอนฟุตพรินต์ได้ถึง 22,000 ตัน

จนสามารถพึ่งพาพลังงานสะอาดได้ถึงประมาณ 8% ของภาคไฟฟ้าที่ต้องใช้ในอดีต จะเห็นว่าตัวอย่างโรงงานของเราหลายโรงงาน เช่น โรงงานอาหารสดขนาดใหญ่เราผลิตอาหารสัตว์ถึง 52,000 ตันต่อเดือน ซึ่งเป็นโรงงานที่เรามีโซลาร์รูฟ ในช่วงกลางวัน ตรงนี้ไม่ต้องพึ่งพาไฟฟ้าจากข้างนอกเลยด้วยซ้ำ

ส่วนเรื่องจัดการของเสีย ถ้ามาจากสัตว์ ก็มีการทำพลังงานหมุนเวียน ส่วนแพ็กเกจจิ้ง เราทำงานกับคู่ค้าต่อเนื่อง อย่างสินค้าแบรนด์เอสเพียว (S-Pure) ที่เป็นเนื้อสดเพื่อบริโภค ตอนนี้เปลี่ยนไปใช้ถาดกระดาษแล้ว และเปลี่ยนไปใช้ฟิล์มเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ขณะที่เรื่องสังคม เราให้ความสำคัญกับ stakeholder engagement อย่างมาก เพราะอย่างที่บอกแต่แรกว่า เราทำงานกับ ecosystem เพื่อจะเติบโตไปด้วยกัน เราต้องทำให้ ecosystem ของเราแข็งแรง และต้องไม่ลืมว่าจะเข้าไปพัฒนาชุมชนรอบ ๆ ตัวเราให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างไร ผลตรงนี้จึงทำให้มีการทำงานร่วมกับชุมชนหลายส่วนในประเทศไทย ซึ่งดูหลายด้านไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ การปรับปรุงเกษตรกรรม การศึกษา แล้วก็เงินออม เป็นต้น

ส่วนเรื่องของธรรมาภิบาล การจัดการองค์กรของเรามีความโปร่งใส ชัดเจน ที่สำคัญ เรามองว่าความสะอาดเป็นเรื่องใหญ่ มีการเสนอระบบ Betagro E-traceability ซึ่งทำให้เราสามารถตรวจสอบย้อนกลับตลอดผลิตภัณฑ์ของเครือได้ แต่ระบบนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่ระบบที่ทำให้ลูกค้าเกิดความเชื่อมั่น แต่เป็นเครื่องมือที่เรานำมาพัฒนา และปรับปรุงให้คุณภาพการจัดการของเราดีอย่างต่อเนื่อง แล้วสามารถลดต้นทุนได้อย่างต่อเนื่องด้วย

Powering Change เพื่ออนาคต

“วสิษฐ” กล่าวย้ำในตอนท้ายว่า เบทาโกรใส่ใจเรื่อง good health and well being ดังนั้นเราจึงมีการนำเทคโนโลยีมากมายเข้ามาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งเบทาโกร
มีศูนย์วิจัย 4 แห่ง ที่จะนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมมาพัฒนาใช้กับผลิตภัณฑ์ เช่น การไม่ใช้ยาปฏิชีวนะในสินค้าเลย เรามีนวัตกรรมการช่วยลดยาปฏิชีวนะในวงจรการผลิตปศุสัตว์ทั้งหมดอย่างต่อเนื่อง โดยทำงานร่วมกับโรงพยาบาลและกระทรวงสาธารณสุข

“ผมคิดว่าในบริบทของเบทาโกร วันนี้เราจะนำเรื่องของ ESG มาปฏิบัติอย่างไรก็ตาม ต้องเป็นวิธีการทำให้องค์กรของเรามีประสิทธิภาพมากขึ้น เติบโต และมีความสามารถในการส่งมอบให้มากขึ้นด้วย ที่สำคัญ เบทาโกรตั้งคำถามอยู่ตลอดว่า ทำอย่างไรถึงจะเติบโตแบบยั่งยืน จึงมีการใช้คำว่า powering change หรือรวมกันเพื่อเอาพลังมาสร้างการเปลี่ยนแปลง

เรากำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัล โดยเริ่มจากคนของเราหลายหมื่นคนที่จะต้องรู้และเข้าใจเทคโนโลยี เพื่อเขาจะมีบทบาทในการเสริมสร้างประสิทธิภาพให้กับธุรกิจในเครือของเรา และเพื่อทำให้เรามีความสามารถในการต่อสู้กับความท้าทายต่าง ๆ”

“เพราะอย่าลืมว่าวันนี้ประเทศไทยเผชิญหลายด้าน ไม่ใช่แค่การค้า นอกจากโรคระบาดในคน ยังมีโรคระบาดในสัตว์ ซึ่งโรคระบาดสัตว์จะเข้ามามีผลต่อระบบซัพพลายอาหาร เบทาโกรจึงมีการปรับโดยนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อป้องกันไม่ให้ซัพพลายเชนเกิดความสูญเสีย หรือสูญเสียน้อยที่สุด เช่น African Swine Fever (ASF) ที่ระบาดในสุกรช่วงหลายปีผ่านมา”

“ที่สำคัญ เรามีอัตราการเพิ่มของสุกรมากขึ้นทุกปี เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมที่มีความสูญเสีย ฉะนั้นเราต้องทำงานต่อไป อีกทั้งยังต้องมองหาธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อรองรับการเติบโตของโปรตีนในอนาคต ที่จะต้องใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มโอกาสในการส่งมอบอาหารที่ดี เพื่อเป็นทางเลือกผู้บริโภค”