จับตามองปัญหาแรงงานไทย เก็บเบอร์รี่สวีเดน-ฟินแลนด์ ไม่ได้ค่าจ้าง

wild berry
Photo: Jasmin Schreiber/unsplash

คนงานไทยไปเก็บผลไม้ป่าในฟินแลนด์-สวีเดนไม่ได้รับค่าจ้าง เข้าร้องเรียน รมว.แรงงาน เร่งประสานงานนำเงินประกันบริษัทนายหน้ามาช่วยเหลือ

วันที่ 17 ตุลาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีกลุ่มคนงานไทยที่ไปทำงานเก็บผลไม้ป่าในประเทศฟินแลนด์และสวีเดนประสบปัญหาไม่ได้รับเงินเดือน ซึ่งข่าวคราวเช่นเดียวกันนี้มีให้ได้ยินกันบ่อยครั้ง โดยก่อนหน้านี้ บีบีซีไทย รายงานว่า แรงงานไทยที่ไปเก็บเบอร์รี่ในประเทศสวีเดนหลายสิบคนไม่ได้รับเงินเดือนหลังจากมาทำงานเก็บเบอร์รี่ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 และมีหนี้สินติดตัวกลับบ้าน แรงงานกลุ่มนี้จึงติดต่อขอความช่วยเหลือผ่านทาง นางสาวจิตรา คชเดช นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิแรงงาน และผู้ประสานงานกลุ่มสหกรณ์คนงาน TRY ARM ซึ่งอาศัยอยู่ในสวีเดน

โดยนางสาวจิตราเล่าให้บีบีซีไทยฟังว่า แรงงานหลายสิบคนมีกำหนดเดินทางกลับไทยวันที่ 28 กันยายน 2565 แต่ยังไม่ได้รับความชัดเจนเรื่องค่าตอบแทนจากนายจ้าง ซึ่งตามสัญญาจ้างต้องได้รับเงินเดือนเดือนละ 23,183 โครนา (หรือกว่า 77,600 บาท) ไม่เกินวันที่ 25 ของแต่ละเดือน แต่พวกเขายังไม่ได้รับเงินเดือนสักเดือน

ทั้งนี้บริษัทนายหน้าหางานของแรงงานกลุ่มนี้ชี้แจงว่า ได้ทำทุกอย่างตามเงื่อนไข ขณะเดียวกันทางสหภาพแรงงานในสวีเดนได้พูดคุยกับบริษัทนายจ้างแล้ว และแรงงานไทยที่เห็นว่าตนไม่ได้รับค่าจ้างตามเงื่อนไขสามารถร้องเรียนกรมจัดหางานได้

ร้องกระทรวงแรงงาน ไม่ได้ค่าจ้าง

นอกจากนั้น เมื่อวันนี้ 12 ตุลาคม 2565 ตัวแทนที่พาคนงานเก็บเบอร์รี่ที่ฟินแลนด์ 22 คน และที่สวีเดน 27 คน รวมทั้งสิ้น 49 คน เข้ายื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อเรียกร้องให้กระทรวงแรงงานช่วยเหลือกรณีไม่ได้รับความเป็นธรรมเรื่องค่าจ้างและสวัสดิการ โดยแรงงานกลุ่มดังกล่าวยื่นข้อเรียกร้อง 3 ประเด็น คือ

1) ขอให้นำเงินกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ ออกมาจ่ายให้คนงานคนละ 30,000 บาท

2) เรียกร้องให้กรมการจัดหาควบคุมบริษัทนายหน้าไม่ให้หลอกลวงแรงงาน และควบคุมจำนวนแรงงานที่ส่งไปไม่ให้มากเกิน เพราะจะกระทบต่อรายได้

3) ติดตามค่าจ้างค้างจ่ายจากบริษัทอาร์กติก

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ไม่ได้นิ่งนอนใจและมีความห่วงใยแรงงานไทย โดยได้ตอบคำถามสำหรับประเด็นที่ร้องขอมาดังนี้

ประเด็นที่ 1 กรมการจัดหางานไม่สามารถนำเงินกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศมาจ่ายให้กับคนงานได้ เนื่องจากผิดวัตถุประสงค์ของกองทุน แต่ในการจัดส่งแรงงานไปฟินแลนด์ บริษัทผู้ประสานงานในประเทศไทยต้องมีการวางเงินประกันรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายให้คนงานไทยคนละ 30,240 บาท โดยวางหลักประกันการเดินทาง (bank guarantee) ไว้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งเงินจำนวนนี้สามารถนำมาจ่ายให้กับคนงานที่มีรายได้ไม่ถึงจำนวนเงินประกันรายได้

ประเด็นที่ 2 เรื่องที่บริษัทได้โควตาคนงานเดินทางไปเป็นจำนวนมากนั้น เรื่องนี้มีการประชุมร่วมกัน 3 ฝ่าย คือ ประเทศปลายทาง กรมการจัดหางาน และกรมการกงสุล ถึงจำนวนแรงงานที่ต้องจัดส่ง โดยในปีนี้ ประเทศต้นทางมีการร้องขอให้ไทยจัดส่งแรงงานมากขึ้น ด้วยเหตุที่ปีนี้ไม่มีแรงงานจากยูเครนเข้าไปเก็บผลไม้ป่า

ประเด็นที่ 3 เรื่องค่าจ้างค้างจ่าย ขณะนี้ทางสถานทูตที่ฟินแลนด์กำลังติดตามอยู่ และกรมการจัดหางานก็ได้ติดตามบริษัทผู้ประสานงานฝ่ายไทยที่ส่งแรงงานไปทำงานในต่างประเทศนี้ด้วยอีกทางหนึ่ง

กลุ่มนายหน้าในไทยร่วมชี้แจง

วันที่ 17 ตุลาคม 2565 กลุ่มตัวแทนบริษัทผู้ประสานงานในประเทศไทย เข้าหารือกระทรวงแรงงาน กรณีคนงานเก็บผลไม้ป่าในประเทศฟินแลนด์และสวีเดนไม่ได้รับความเป็นธรรมเรื่องค่าจ้างและสวัสดิการ โดยนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายนายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เป็นตัวแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเจรจา โดยมีนายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน และนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน ร่วมเจรจากับผู้แทนจากบริษัท เฟรนด์เบอร์รี่ จำกัด, บริษัท Great Berry Co., Ltd. และบริษัท ฟีนิกซ์ มิซ จำกัด ณ ห้องประชุมประสงค์ รณะนันท์ ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน

โดยนายสุชาติกล่าวว่า การพูดคุยในวันนี้เกิดจากกระทรวงแรงงาน และผู้แทนจากบริษัททั้ง 3 แห่ง ซึ่งต่างเป็นบริษัทที่ปฏิบัติตามมาตรการและจัดส่งแรงงานไทยไปเก็บผลไม้ป่าด้วยดี ไม่เคยพบกรณีร้องเรียนจากคนงานมาก่อน มีความห่วงใยภาพลักษณ์การจัดส่งคนหางานของประเทศไทยในสายตาต่างชาติ จึงมาร่วมเจรจาเพื่อหาวิธีป้องกันปัญหา และแลกเปลี่ยนแนวทางการทำงานที่จะทำให้เกิดความพอใจกันทุกฝ่าย

ซึ่งจากการพูดคุยพบว่า คนงานที่มีรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายต่ำกว่าเกณฑ์ ส่วนใหญ่เป็นแรงงานหน้าใหม่ที่ไม่เคยไปทำงานเก็บผลไม้ป่ามาก่อน และปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากการสื่อสารระหว่างบริษัทนายจ้าง/ผู้ประสาน และคนงาน รวมทั้งการบริหารจัดการ ซึ่งบริษัทที่เกิดปัญหาเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น

“ผมเข้าใจทั้งผู้ประสานและคนหางานที่ต้องการไปทำงานต่างประเทศเพื่อหารายได้ ผมได้สั่งการกรมการจัดหางาน และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ให้ตรวจสอบสัญญาจ้างให้มีการดูแลคนหางานอย่างครอบคลุม เพราะถึงแม้คนงานจะเป็นคนงานหน้าใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์ต้องการไปลองผิดลองถูกแต่ก็ไม่ควรไปทำงานแล้วเกิดหนี้” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าว

กรมการจัดหางานเช็กข้อเท็จจริง

ด้านนายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กรมการจัดหางานได้ประสาน ธ.ก.ส. เพื่อนำเงินที่ทางบริษัทผู้ประสานงานวางเป็นหลักประกันไว้ มาช่วยเหลือคนงานเก็บเบอร์รี่ฟินแลนด์ที่รายได้ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ ให้กับแรงงานแต่ละคน ตามข้อมูลหลักฐานข้อเท็จจริง

โดยจะโอนเข้าบัญชีให้แรงงานภายในสัปดาห์นี้ นอกจากนี้กรมการจัดหางานและกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จะร่วมกันตรวจสอบสัญญาจ้างในปีหน้าให้ครอบคลุมการดูแลคนงานที่เจ็บป่วย หรือมีค่าใช้จ่ายจากการรักษาพยาบาลให้เข้มงวดยิ่งขึ้น

คนงานเก็บผลไม้ป่าประเทศฟินแลนด์ฤดูกาล ปี 2565 มีทั้งสิ้น 3,622 คน เป็นคนงานเก่า 2,301 คน มีรายได้ต่ำกว่า 30,240 บาท จำนวน 40 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 1.74 และเป็นคนงานใหม่ 1,361 คน มีรายได้ต่ำกว่า 30,240 บาท จำนวน 176 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 12.93

นอกจากนี้กรมการจัดหางานยังมีการสำรวจรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายพบว่า มีแรงงานที่รับรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย 100,000 บาทขึ้นไป ร้อยละ 10.38 รายได้หลังหักค่าใช้จ่าย 50,001-99,999 บาท ร้อยละ 40.56 รายได้หลังหักค่าใช้จ่าย 30,000-50,000 บาท ร้อยละ 45.81 และรับรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายต่ำกว่า 30,000 บาท ร้อยละ 3.25

เกิดจากปัญหาการสื่อสาร ?

นายรัฐธรรมนูญ มีระหันนอก ผู้แทนบริษัท เฟรนด์เบอร์รี่ จำกัด กล่าวว่า ตนเป็นผู้หนึ่งที่เริ่มจากการเป็นคนเก็บผลไม้ป่ามาก่อน ก่อนที่จะผันตัวมาเป็นผู้ประกอบการ ต้องยอมรับว่าปัญหาส่วนใหญ่มักมาจากการสื่อสารที่ไม่เพียงพอระหว่างบริษัทนายจ้าง/ผู้ประสาน และคนงานเก็บผลไม้ป่า

“ในปีที่ผ่านมาบริษัทมีการส่งคนงานไปจำนวน 85 คน และส่งคนหางาน จำนวน 1,800 คน ซึ่งไม่มีแรงงานติดปัญหา หรือมาร้องเรียนแต่อย่างใด จากประสบการณ์คนงานจะไปเก็บผลไม้ป่า กลุ่มละ 6-7 คนโดยมีคนเก่าที่รู้ป่า และมีความชำนาญเป็นหัวหน้ากลุ่ม ใน 1 กลุ่ม ควรจะมีคนเก่ารวมอยู่ 4 -5 คน เพื่อคอยแนะนำดูแลคนงานใหม่

นอกจากนี้สิ่งที่พบเสมอคือ แต่ละปีผลผลิตจะไม่เท่ากัน เนื่องจากการเก็บผลไม้ป่าสวีเดนและฟินแลนด์ เป็นการเก็บผลไม้ตามธรรมชาติ ในบางแคมป์ บางโซนก็อาจได้ผลผลิตต่างกันด้วย ซึ่งในวันนี้รู้สึกยินดีอย่างมากที่กระทรวงแรงงาน เชิญมาร่วมกันหาทางออก และแลกเปลี่ยนความรู้”