ธุรกิจบิวตี้เพื่อความยั่งยืน ไบเออร์สด๊อรฟ ชูกลยุทธ์ C.A.R.E.+

ไบเออร์สด๊อรฟ

ตลาดผลิตภัณฑ์ความงามมีอัตราการเติบโตมากขึ้นทุกปี จนทำให้เกิดการแข่งขันกันมากขึ้น โดยช่วงหลายปีผ่านมาจะเห็นว่ากลุ่มธุรกิจความงามหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยกำลังสร้างเทรนด์ความงามยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งหมายถึงกลุ่มธุรกิจที่ผลิตสกินแคร์ เครื่องสำอางต่าง ๆ กำลังมุ่งใช้กลยุทธ์ความยั่งยืนเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และเพื่อบรรเทาผลกระทบอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เริ่มตั้งแต่กระบวนการผลิต ด้วยการหานวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ หรือการเปลี่ยนแปลงบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ตลอดจนการเปลี่ยนสูตรผสมของสกินแคร์ หรือเครื่องสำอางที่มีสารอาจก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม

เช่นเดียวกับ บริษัท ไบเออร์สด๊อรฟ (ประเทศไทย) ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ดูแลผิวระดับโลกอย่าง “นีเวีย” และ “ยูเซอริน” ที่ประกาศแผนกลยุทธ์ธุรกิจเพื่อความยั่งยืน C.A.R.E.+ (Care Beyond Skin) ดำเนินการผ่านโครงการหลากหลายที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นการดูแลรักษาสภาพภูมิอากาศ การใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า และมีการหมุนเวียน รวมทั้งการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับชุมชนต่าง ๆ

สเตฟานี แบร์โรล
สเตฟานี แบร์โรล

“สเตฟานี แบร์โรล” รองประธานกรรมการอาวุโส ภูมิภาคอาเซียน บริษัท ไบเออร์สด๊อรฟ กล่าวถึงภาพรวมของไบเออร์สด๊อรฟทั่วโลกว่า กลยุทธ์เพื่อความยั่งยืน C.A.R.E.+ (Care Beyond Skin) ดำเนินงานโดยคำนึงถึง 3 แกนหลักคือ ผู้บริโภค สังคม และสิ่งแวดล้อม

ซึ่งการทำธุรกิจของไบเออร์สด๊อรฟกำหนดให้ครอบคลุมด้านต่าง ๆ ประกอบด้วย การส่งมอบผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่มีคุณภาพ และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค, การรักษาสภาพอากาศที่ดีต่อไปสู่อนาคต, การใช้ทรัพยากรที่หมุนเวียนอย่างสมบูรณ์, การใช้ผืนดินอย่างรู้คุณค่าและยั่งยืน

การปรับคุณภาพสภาพแวดล้อมของน้ำ, การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน และการส่งเสริมสังคมที่เคารพ และยอมรับในความแตกต่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการพัฒนาศักยภาพ และบทบาทของสตรี เด็ก และเยาวชน ซึ่งไบเออร์สด๊อรฟทั่วโลกริเริ่มทำโครงการ ทั้งยังผนึกความร่วมมือกับพันธมิตรองค์กรโดยไม่แสวงหากำไร

ด้วยสถานการณ์โลกร้อนที่ถือเป็นวาระสำคัญที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ และนำมาเป็นประเด็นหลักในการวางแนวทางการดำเนินธุรกิจของทุกภาคส่วน รวมถึงการนำเสนอแนวทางเศรษฐกิจแบบองค์รวม BCG Economy ในการต่อยอดธุรกิจแห่งอนาคตนอกเหนือไปจากการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ความเป็นดิจิทัล ไบเออร์สด๊อรฟจึงมองเห็นถึงความสำคัญ และนำมาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทาน

ตั้งแต่แหล่งที่มาของวัตถุดิบที่จะต้องมีการปลูกและเก็บเกี่ยวโดยไม่ทำลายผืนดิน การรักษาผืนป่า และต้นน้ำ การจ้างงาน และพัฒนาชุมชนท้องถิ่นให้มีความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดี ตลอดจนในโรงงานผลิตก็เลือกใช้พลังงานที่สามารถทดแทนและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการเลือกวัสดุที่นำมาเป็นส่วนผสมผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์คุ้มค่าสูงสุดอีกด้วย

“สเตฟานี แบร์โรล” กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังรวมถึงการกำจัด และบำบัดของเสียจากกระบวนการผลิตต่อเนื่องไปถึงการขนส่งที่จะต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นับแต่ปี พ.ศ. 2562 เป็นต้นมา ฐานการผลิตทั่วโลกของไบเออร์สด๊อรฟ รวมทั้งประเทศไทยเปลี่ยนมาใช้พลังงานสีเขียวอย่างเต็มรูปแบบ 100%

โดยเป้าหมายต่อไปคือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานลง 30% ภายในปี พ.ศ. 2567 และพร้อมเดินหน้ามุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2573

สุเรขา วันเพ็ญ
สุเรขา วันเพ็ญ

“สุเรขา วันเพ็ญ” Production Center Director บริษัท ไบเออร์สด๊อรฟ (ประเทศไทย) กล่าวเสริมว่า สำหรับฐานการผลิตของโรงงานไบเออร์สด๊อรฟ (ประเทศไทย) ตั้งอยู่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ถือเป็นโรงงานขนาดใหญ่ที่สุดที่อยู่นอกยุโรป โดยมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 300 ล้านชิ้นต่อปี

จำนวนนี้กว่า 99% เป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์นีเวีย ส่วนอีก 1% ที่เหลือเป็นยูเซอริน ซึ่งดูเหมือนว่าผลิตภัณฑ์ของยูเซอรินจะน้อย เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในกลุ่มเวชสำอาง ดังนั้น ในกระบวนการผลิตจึงต้องมีการตรวจสอบอย่างเข้มข้นก่อนที่จะออกไปสู่ตลาดได้ เพื่อให้เกิดความไว้วางใจต่อผู้บริโภค

สำหรับผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนีเวียที่ผลิตออกจากโรงงานของเรามากที่สุดคือประเภท personal care เช่น โรลออน คิดเป็นปริมาณ 62% ที่เหลืออีก 38% เป็นโลชั่น ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้า โฟมล้างหน้า ผลิตภัณฑ์เช็ดเครื่องสำอาง ฯลฯ

สำหรับส่วนของการผลิตที่ประเทศไทยมีการขานรับ และร่วมปฏิบัติให้เป็นไปตามแนวทางความยั่งยืนเดียวกันอย่างจริงจัง โดยแบ่งแนวทางดำเนินงานออกเป็น 3 ด้านหลัก ๆ ได้แก่

หนึ่ง product หรือผลิตภัณฑ์ มีการดีไซน์ใหม่ที่เริ่มจากบรรจุภัณฑ์ ซึ่งมีแนวคิดว่าจะต้องใช้วัสดุที่เป็นพลาสติก และแก้วให้น้อยที่สุด แต่คุณภาพยังเท่าเดิม เช่น โรลออน บรรจุภัณฑ์ที่ส่วนใหญ่เป็นแก้ว ซึ่งแก้วที่เรานำมาใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ เกิดจากกระบวนการรีไซเคิลนำมาเป็นส่วนผสม 31% ทำให้ 1 ปีเราสามารถลดปริมาณตัววัสดุที่เป็นแก้วลงไปได้ 98 ตัน เทียบกับช้าง 20 ตัว

ส่วนกระดาษที่เรานำมาใช้เป็นกล่องบรรจุผลิตภัณฑ์ เราใช้กระดาษ FSC 100% ซึ่งเป็นกระดาษที่มาจากป่าเชิงพาณิชย์ เพราะการซื้อมาจากป่าเชิงพาณิชย์ จะมีหน่วยงานดูแล และมีการปลูกต้นไม้ทดแทน เพื่อเป็นการลดการตัดไม้ที่มาจากป่าธรรมชาติ

ส่วนกลุ่มพลาสติกส่วนใหญ่อยู่ในผลิตภัณฑ์ที่เป็นขวด มีการนำ recycle plastic เข้ามาใช้แล้ว 100% ทั้งกลุ่มผลิตภัณฑ์นีเวียและยูเซอริน ทำให้ลดปริมาณพลาสติกลงได้ถึง 57 ตัน ขณะที่กลุ่มผลิตภัณฑ์สเปรย์ กระป๋องต่าง ๆ เดิมทำจากอะลูมิเนียม ตอนนี้เรานำวัสดุใหม่ ๆ มาใช้แทน โดยลดการใช้อะลูมิเนียมลงไปแล้ว 31 ตัน

นอกเหนือจากตัวบรรจุภัณฑ์ ในส่วนของสูตรผลิตภัณฑ์ก็จะมุ่งเน้นไปที่สารที่ไม่เป็นอันตรายต่อธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งครีมกันแดด การันตีว่าครีมกันแดดในผลิตภัณฑ์ของยูเซอริน นีเวียไม่ทำลายระบบนิเวศทั้งทางบกและทางน้ำ 100%

สอง process กระบวนการผลิต หลัก ๆ เป็นเรื่องของพลังงาน น้ำ ไฟ โรงงานในประเทศไทยมีส่วนที่เป็นอาคารเก่า กับอาคารใหม่ ซึ่งอาคารใหม่จะมีการลงทุนประเภทเทคโนโลยีที่มีคุณภาพสูง มีความปลอดภัย และได้มาตรฐานเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยทั้งสองอาคารของโรงงาน เรามีการติดตั้งโซลาร์เซลล์ในทุก ๆ ตำแหน่งที่วางได้ โดยมีเป้าหมายว่าจะต้องติดให้ได้ 40% ภายในเร็ว ๆ นี้

ส่วนการใช้น้ำ เรามีระบบการใช้ซ้ำในส่วนของการล้างเครื่องจักรบางส่วน และมีการนำน้ำออกไปใช้ภายนอกอาคาร เช่น รดน้ำต้นไม้ ที่สำคัญของเสียเราไม่ปล่อยออกนอกโรงงาน แต่ต้องมีการกำจัดอย่างถูกวิธี อันไหนขายได้สร้างมูลค่าได้ก็ทำ เช่น ตะกอนมีการนำไปแปรรูป หรือแม้แต่การขนส่ง จากเมื่อก่อนใช้รถน้ำมัน ตอนนี้เปลี่ยนเป็นรถแก๊ส และกำลังพิจารณาใช้รถพลังงานไฟฟ้าคอยรับส่งพนักงานต่อไป

สาม people เราอยากให้พนักงานเกิดความภาคภูมิใจว่าบริษัทใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ผลตรงนี้ จึงอยากให้พนักงานสื่อสารกับคนรอบตัวให้ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ เรามีการรณรงค์ส่งเสริมให้ความรู้ และเชิญชวนพนักงานร่วมกิจกรรมที่จะเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกในการเป็นธุรกิจเพื่อความยั่งยืนอย่างโครงการคัดแยกขยะ การปลูกป่า และการประกวดโครงงานรักษ์โลกต่าง ๆ อีกด้วย

“สุเรขา” กล่าวต่อว่า กว่าทศวรรษนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 เป็นต้นมา ไบเออร์สด๊อรฟทำโครงการ และกิจกรรม CSR แบบบูรณาการภายใต้กลยุทธ์ C.A.R.E.+ (Care Beyond Skin) มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลายโครงการถือเป็นจุดเริ่มต้น และสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีไม่ว่าจะเป็นการใช้พลังงานทดแทน บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การพัฒนาคุณภาพ และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และผืนป่าในแหล่งวัตถุดิบ โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการศึกษาให้กับสตรีและเยาวชนในชุมชนท้องถิ่นต่าง ๆ ที่เป็นแหล่งวัตถุดิบและการผลิตทั่วโลก

โดยล่าสุดมีโครงการปรับปรุงห้องสมุดของโรงเรียนที่ยากไร้ 11 แห่งทั่วประเทศไทยเพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งเสริมสร้างทักษะและเรียนรู้ตลอดชีวิต นอกจากนั้น ยังมีการบริจาคเงินกว่า 50 ล้านยูโร และสิ่งของจำเป็นทางการแพทย์เพื่อช่วยเหลือองค์กรด้านสาธารณสุขและการแพทย์ในช่วงวิกฤตโควิด-19 อีกด้วย