แนวโน้มปี’66 คนหางานใหม่ 73% ชิงคนเก่งดุเดือด-บริษัทยอมจ่ายเพิ่ม 30%

ปุณยนุช ศิริสวัสดิ์วัฒนา
ปุณยนุช ศิริสวัสดิ์วัฒนา

โรเบิร์ต วอลเทอร์ส สำรวจเงินเดือนและแนวโน้มการจ้างงานปี 2566 ระบุตลาดแรงงานไทยจะแข่งขันแย่งชิงคนเก่งดุเดือดมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่มีทักษะเทคโนโลยี ขณะที่ 73% ของคนทำงานจะมองหางานใหม่หากบริษัทเดิมขึ้นเงินเดือนต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ ส่วนทางแก้คือ นายจ้างต้องปรับค่าตอบแทนเพื่อรักษาคน ซึ่งคนที่มีทักษะพร้อมใช้จะได้รับเงินเดือนเพิ่มประมาณ 30%

นางปุณยนุช ศิริสวัสดิ์วัฒนา ผู้จัดการโรเบิร์ต วอลเทอร์ส ประจำประเทศไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า รายงานผลสำรวจเงินเดือนทั่วโลกประจำปี 2566 ฉบับที่ 24 นำเสนอการวิเคราะห์แนวโน้มเงินเดือน และให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการสรรหาบุคลากรในประเทศไทยในปี 2565 และสิ่งที่คาดหวังในปี 2566 โดยสำรวจข้อมูลจากกลุ่มนายจ้างและคนทำงานเมื่อเดือนกันยายน 2565 จำนวน 460 ราย ใน 8 กลุ่มอุตสาหกรรมหลักในกรุงเทพฯและเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

คนพร้อมทำงาน อาจได้เงินเพิ่ม 30%

“ตลาดงานของไทยในปี 2565 มีการแข่งขันสูง เนื่องจากความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน เพราะแรงงานชาวต่างชาติที่มีทักษะสูงจำนวนมากเดินทางออกจากไทยช่วงที่โควิด-19 ระบาด ทำให้ความต้องการทาเลนต์ในปี 2564 และ 2565 เกิดการสะสม ขณะที่ขนาดของกลุ่มทาเลนต์ในไทยยังคงเท่าเดิม นอกจากนี้ ภาคธุรกิจให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้น และบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งได้สร้างแผนกใหม่ ๆ โดยที่เน้นแนวทางปฏิบัติ ESG (สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล)”

สำหรับแนวโน้มการขึ้นเงินเดือนปี 2566 ตำแหน่งที่มีความเชี่ยวชาญสามารถคาดหวังการขึ้นเงินเดือนสูงถึง 30% ขณะที่พนักงานที่อยู่ต่อที่เดิมมีแนวโน้มจะได้เพิ่ม 2-5% ส่วนคนที่เลื่อนตำแหน่งจะได้เพิ่มไม่เกิน 15% และคนที่ย้ายงานที่มีชุดทักษะแบบ pug-and-play (พร้อมทำงาน) สามารถคาดหวังเงินเพิ่มถึง 30%

ทั้งนี้ เกือบ 57% ของผู้ตอบแบบสอบกล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยและค่าครองชีพที่สูงขึ้น ไม่เป็นอุปสรรคต่อการลาออก แม้ว่าอาจจะต้องเจอกับความเสี่ยงด้านความมั่นคงในหน้าที่การงาน

73% จะหางานใหม่ หากขึ้นเงินเดือนต่ำ

นางปุณยนุชกล่าวต่อว่า อัตราเงินเฟ้อสร้างแรงกดดันในการตัดสินใจขึ้นค่าจ้างในปี 2566 ของนายจ้าง โดยพนักงานกว่า 82% คาดหวังว่านายจ้างจะพิจารณาต้นทุนค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นในการประเมินเพิ่มค่าจ้างและโบนัส นอกจากนั้น พนักงานเกือบ 73% จะหางานใหม่หากบริษัทขึ้นเงินเดือนให้ต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ

ในภาพรวมพบว่า นายจ้างกว่า 92% ที่ทำแบบสำรวจมีแนวโน้มที่จะให้เงินเดือนเพิ่ม โดยเฉพาะพนักงานตำแหน่งระดับกลางและระดับผู้จัดการ คาดว่าการเพิ่มจะอยู่ระหว่าง 1-5% ทั้งนี้ ความต้องการของนายจ้างในการปรับขึ้นเงินเดือน หากแบ่งตามสายงานเป็นดังนี้ นายจ้าง 95% ต้องการขึ้นเงินเดือนให้กับสายงานซัพพลายเชนและจัดซื้อจัดจ้าง, 93% สายงานการขายและการตลาด และวิศวกรรมและการผลิต, 90% สายงานบัญชีและการเงิน, 85% สายงานเทคโนโลยีสารสนเทศ, 87% สายงานทรัพยากรบุคคล, 86% สายงานการเงินและการธนาคาร และ 75% สายงานกฎหมาย

แย่งชิงคนเก่งดุเดือดมากขึ้น

การรักษาและดึงดูดคนที่เป็นทาเลนต์จะทวีความรุนแรงมากขึ้นในปี 2566 เนื่องจากคนรุ่นใหม่จำนวนมากต้องการทำธุรกิจของตนเองมากกว่าเป็นลูกจ้าง และมักลาออกก่อนที่จะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บริหารระดับกลาง โดยบริษัทกว่า 84% กังวลเกี่ยวกับการขาดแคลนคนที่มีทักษะและความสามารถพิเศษ, บริษัทมากกว่า 77% เห็นว่าการขาดแคลนคนที่มีทักษะจะอยู่ในตำแหน่งระดับอาวุโส หัวหน้าทีม และระดับผู้จัดการ

การสำรวจยังแสดงให้เห็นว่า 9 ใน 10 บริษัทกำลังปรับปรุงทักษะของพนักงานเดิม (upskill และ reskill) และมากกว่า 79% ริเริ่มที่จะรักษาพนักงานด้วยวิธีการส่งเสริมการเรียนรู้และการพัฒนาที่ดีขึ้น, มีนโยบายการทำงานแบบผสมผสาน (hybrid), เพิ่มผลประโยชน์เพิ่มขึ้น, และสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้พนักงาน

คาดหวังในเงินเดือนสูงเกิน

อุปสรรค์ที่ใหญ่ที่สุดในการจัดหาพนักงานของบริษัทกว่า 62% คือ ความคาดหวังในเงินเดือนที่สูงเกินของผู้สมัครงาน ส่วนอุปสรรคอื่น ๆ ได้แก่ การขาดประสบการณ์ทำงาน ขาดความสามารถพิเศษ และคุณสมบัติทางเทคโนโลยี เพราะเมื่อมองไปในอนาคต บริษัทต่าง ๆ จะให้ความสำคัญกับทักษะด้านเทคโนโลยี เช่น ความปลอดภัยทางไซเบอร์และดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นมากขึ้น


นางปุณยานุชเน้นย้ำว่า นายจ้างจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการรักษาพนักงานไว้ เนื่องจากความต้องการบุคลากรจะเกินอุปทานเสมอ และการสรรหาบุคลากรใหม่นั้นมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการรักษาพนักงานที่มีอยู่ ดังนั้น ตรวจสอบให้แน่ใจว่าพนักงานรู้สึกมีค่าและมีแรงจูงใจมากขึ้นที่จะอยู่ต่อ