“แสนสิริ-โตโยต้า” โบนัสงาม ขึ้นเงินเดือนบวก “เงินพิเศษ”

Bonus

เตรียมเฮรับโบนัส ! ค่ายอสังหาฯ-รถยนต์ ควักจ่ายงาม “แสนสิริ-พฤกษา” แจกอู้ฟู่ “โตโยต้า-มิตซูบิชิ-ซูซูกิ” ใจป้ำบวกเงินพิเศษให้อีก ขณะที่ธุรกิจสตาร์ตอัพไม่น้อยหน้า 2-3 เดือน ไม่แน่ “โรเบิร์ต วอลเทอร์ส” แจงสำรวจเงินเดือน-แนวโน้มการจ้างงาน ชี้ตลาดแรงงานไทยแข่งแย่งคนดุเดือด ฟันธงคนที่มีทักษะเทคโนโลยีเป็นมนุษย์ทองคำ ขณะที่ 73% ของคนทำงานมองหางานใหม่ หากบริษัทเดิมขึ้นเงินเดือนต่ำกว่าเงินเฟ้อ

การฟื้นตัวของภาคธุรกิจต่าง ๆ ที่เริ่มมีความชัดเจนและมีแนวโน้มที่สดใสมากขึ้น จากสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลายลง และจากผลการดำเนินในช่วงที่ผ่านมาทั้งรายได้และกำไรที่เติบโตและอยู่ในช่วงขาขึ้น ทำให้เริ่มเห็นภาพความเคลื่อนไหวของบริษัทขนาดใหญ่หลาย ๆ แห่งในการพิจารณาการแจกโบนัสให้พนักงาน

แสนสิริลุ้นกำไรนิวไฮ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” สำรวจความเคลื่อนไหวการจ่ายโบนัสให้กับพนักงานประจำปี 2565 ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์พบว่าบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) โดยสร้างปรากฏการณ์ทำกำไรนิวไฮในรอบ 38 ปีของการก่อตั้งองค์กร จึงคาดว่ามีโอกาสเห็นการแจกโบนัสพนักงานแสนสิริอยู่ในระดับที่ดี

นายวิชาญ วิริยะภูษิต ประธานผู้บริหารสายงานการเงิน บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า ผลประกอบการในรอบ 9 เดือนแรกของปี 2565 มีกำไรสุทธิ 2,488 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 49% จากรอบเดียวกันของปี 2564 ที่มีกำไรสุทธิ 1,674 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาส 3/65 มีกำไรสุทธิ 1,268 ล้านบาท โตขึ้นถึง 102% จากช่วงเดียวกันของปี 2564 และโตขึ้น 38% เทียบกับไตรมาส 2/65 ส่วนอัตรากำไรสุทธิในไตรมาส 3/65 อยู่ที่ 14.3% ของรายได้รวมโตขึ้นจากไตรมาส 3/64 ที่มีกำไรสุทธิ 8.7%

“ดังนั้น แนวโน้มไตรมาส 4/65 แสนสิริเตรียมโอนคอนโดมิเนียมใหม่อีก 3 โครงการ ที่มีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ ได้แก่ XT พญาไท, เดอะ มูฟ เกษตร และเดอะ มูฟ ราม 22 จึงทำให้แสนสิริคาดว่าผลประกอบการในปี 2565 จะมีกำไรสุทธิทุบสถิติ new high ในรอบ 38 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท” นายวิชาญกล่าว

ผู้สื่อข่าวยังรายงานเพิ่มเติมว่า บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) มีผลประกอบการโดดเด่นในช่วง 9 เดือนแรก ทำกำไรสุทธิอยู่ในท็อป 10 คาดว่าจะมีการแจกโบนัสไม่ต่ำกว่าปี 2564 ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 2-3 เดือน

เช่นเดียวกับบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) ที่สามารถรักษาระดับการทำกำไรอยู่ในท็อป 10 ทั้งด้านรายได้ และกำไรสุทธิ จึงคาดว่าน่าจะมีการแจกโบนัสพนักงานไม่ต่ำกว่าปีที่แล้ว เฉลี่ยอยู่ที่ 1.5 เดือน โดยพนักงานมีความคาดหวังว่าอาจจะได้ลุ้นโบนัส 2-3 เดือนในปี 2565 นี้

คาดปี’66 มากกว่า 7.5 เดือน

สำหรับค่ายรถยนต์ เป็นอีกหมวดธุรกิจหนึ่งที่แจกโบนัสเป็นกอบเป็นกำ ประเมินกันว่าปี 2566 น่าจะได้มากกว่าปี 2565 เนื่องจากยอดขายกลับมาใกล้เคียงกับช่วงโควิด-19 โดยก่อนหน้าค่ายโตโยต้าพิจารณาแจกโบนัสประจำปี 2565 จำนวน 7.5 เดือน ให้กับพนักงานออฟฟิศ และพนักงานโรงงาน โดยแบ่งเป็น 2 งวด งวดแรกในเดือนมิถุนายน จำนวน 3.5 เดือน งวดสุดท้ายในเดือนธันวาคม จำนวน 4 เดือน

นอกจากนี้ยังบวกเงินอีก 34,000 บาท และเนื่องในโอกาสฉลองปีพิเศษ ครบรอบ 60 ปีของโตโยต้า ประเทศไทย บริษัทจึงบวกเงินพิเศษให้กับพนักงานทุกคนเพิ่มอีก 16,000 บาท นั่นหมายความว่า โตโยต้าแจกโบนัสพนักงาน 7.5 เดือน บวกเงินพิเศษอีก 2 ต่อ รวม 50,000 บาท

ขณะที่บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด มีการพิจารณาเงินโบนัสจบไปเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนผ่านมา โดยบริษัทมีมติมอบเงินโบนัสให้กับพนักงานเป็นจำนวน 4.5 เดือน บวกเงินพิเศษ 14,500 บาท และแจกอีกคนละ 2,000 บาท เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ นอกจากนี้ยังพิจารณาปรับขึ้นเงินเดือนสำหรับพนักงานตามการประเมินอีก

ก่อนหน้านี้ “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานผลการเจรจาเพื่อพิจารณาโบนัสประจำปี 2565 ของบริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคมผ่านมา จนได้ข้อยุติที่ 5.5 เดือน สำหรับพนักงานประจำ พร้อมเงินพิเศษ 30,000 บาท ทั้งยังขึ้นเงินเดือนให้ 4% และเงินบวกเพิ่มอีกเดือนละ 50 บาท ส่วนพนักงานสัญญาจ้างได้รับโบนัส 3.3 เดือน บวกเงินพิเศษ 18,000 บาท คิดเป็น 60% ของพนักงานประจำ

สตาร์ตอัพโบนัส 2-3 เดือน

นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ TARAD.com และนักลงทุนในสตาร์ตอัพ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทที่เขาดูแลมีเป็นจำนวนมาก การพิจารณาโบนัสจะประเมินจากผลการดำเนินการเป็นรายบริษัทไป แม้ในปีที่ผ่านมาจะค่อนข้างยากลำบาก แต่โดยรวมบริษัทส่วนใหญ่เติบโตขึ้นจึงจะต้องมีการจ่ายโบนัสอยู่แล้ว แต่ยังไม่สรุปว่าจะเป็นเท่าไร แต่ปีที่ผ่านมาจะให้เฉลี่ย 2-3 เดือน

ด้านนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท วี ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและทำการตลาดผลิตภัณฑ์อาหาร และเครื่องดื่ม ภายใต้แบรนด์ “วีคอร์น” กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เคยจ่ายโบนัสราว 1 เดือน แต่จากสถานการณ์โควิดทำให้รูปแบบการทำงานเปลี่ยนไป รวมถึงรูปแบบการจ้างงานทำให้มีพนักงานสัญญาจ้างระยะสั้นมากขึ้น

ขณะที่พนักงานที่มีความสามารถก็ต้องการทำงานสั้นลง จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนระบบในการบริหารจัดการใหม่ ซึ่งการคำนวณโบนัสโดยพิจารณาผลประกอบการเป็นรายปีอาจไม่เหมาะสมกับการทำงานในปัจจุบัน จึงจะมีการเปลี่ยนเป็นระบบ “incentive” (การให้รางวัลหรือผลตอบแทน) คิดจากเป้าหมาย ทั้งในระดับทีมและระดับบุคคล จึงอาจรีวิวผลงานปีละหลายสิบครั้งเพื่อคำนวณการจ่าย แต่ยังไม่ได้ดำเนินการในปีนี้

“ภาพรวมปีนี้บริษัทเติบโตประมาณ 20% แต่บริษัทยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และเล็กอยู่ ปีหน้าจะยังคงโฟกัสวัฒนธรรมองค์กร เราต้องการดึงคนที่มีความสามารถไว้ให้ได้ แต่ไม่ได้อยากดึงคนไว้ด้วยการจ่ายเงิน แต่อยากสร้างเป็นความรู้สึกดีและความท้าทายที่ได้ทำงานที่นี่” นายอภิรักษ์กล่าว

ตลาดแรงงานไทยแข่งแย่งตัวดุ

นางปุณยนุช ศิริสวัสดิ์วัฒนา ผู้จัดการโรเบิร์ต วอลเทอร์ส ประจำประเทศไทย กล่าวว่า จากรายงานผลสำรวจเงินเดือนทั่วโลกประจำปี 2566 ฉบับที่ 24 นำเสนอการวิเคราะห์แนวโน้มเงินเดือน และให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการสรรหาบุคลากรในประเทศไทยในปี 2565 และสิ่งที่คาดหวังในปี 2566 โดยสำรวจข้อมูลจากกลุ่มนายจ้างและคนทำงาน เมื่อเดือนกันยายน 2565 จำนวน 460 ราย ใน 8 กลุ่มอุตสาหกรรมหลักในกรุงเทพฯ และเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

แนวโน้มการขึ้นเงินเดือนปี 2566 ตำแหน่งที่มีความเชี่ยวชาญคาดหวังการขึ้นเงินเดือนสูงถึง 30% ขณะที่พนักงานที่อยู่ต่อมีแนวโน้มจะได้เพิ่ม 2-5% ส่วนคนที่เลื่อนตำแหน่งได้เพิ่มไม่เกิน 15% คนที่ย้ายงานที่มีชุดทักษะแบบ plug-and-play (พร้อมทำงาน) สามารถคาดหวังเงินเพิ่มถึง 30% ทั้งนี้ เกือบ 57% ของผู้ตอบแบบสอบถามตอบว่าค่าครองชีพที่สูงขึ้น ไม่เป็นอุปสรรคต่อการลาออก แม้ว่าอาจจะต้องเจอกับความเสี่ยงด้านความมั่นคงในหน้าที่การงาน

“ตลาดงานของไทยในปี 2565 มีการแข่งขันสูง เนื่องจากความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน เพราะแรงงานชาวต่างชาติที่มีทักษะสูงจำนวนมากเดินทางออกจากไทยช่วงที่โควิด-19 ระบาด จึงทำให้ความต้องการทาเลนต์ในปี 2564 และ 2565 เกิดการสะสม ขณะที่ขนาดของกลุ่มทาเลนต์ในไทยยังคงเท่าเดิม นอกจากนี้ ภาคธุรกิจให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้น และบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งได้สร้างแผนกใหม่ ๆ โดยที่เน้นแนวทางปฏิบัติ ESG (สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล)”

นางปุณยนุชกล่าวต่อว่า อัตราเงินเฟ้อสร้างแรงกดดันในการตัดสินใจขึ้นค่าจ้างในปี 2566 ของนายจ้าง โดยพนักงานกว่า 82% คาดหวังว่านายจ้างจะพิจารณาต้นทุนค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นในการประเมินเพิ่มค่าจ้าง และโบนัส นอกจากนั้น พนักงานเกือบ 73% จะหางานใหม่หากบริษัทขึ้นเงินเดือนให้ต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ นอกจากนั้นในภาพรวมยังพบว่า นายจ้างกว่า 92% ที่ทำแบบสำรวจมีแนวโน้มที่จะให้เงินเดือนเพิ่ม โดยเฉพาะพนักงานตำแหน่งระดับกลาง และระดับผู้จัดการ คาดว่าการเพิ่มเงินเดือนจะอยู่ระหว่าง 1-5%


ทั้งนี้ ความต้องการของนายจ้างในการปรับขึ้นเงินเดือน หากแบ่งตามสายงานเป็นดังนี้ นายจ้าง 95% ต้องการขึ้นเงินเดือนให้กับสายงานซัพพลายเชน และจัดซื้อจัดจ้าง, 93% สายงานการขายและการตลาด และวิศวกรรมและการผลิต, 90% สายงานบัญชีและการเงิน, 85% สายงานเทคโนโลยีสารสนเทศ, 87% สายงานทรัพยากรบุคคล, 86% สายงานการเงินและการธนาคาร และ 75% สายงานกฎหมาย