เส้นทางสู่อาชีพข้าราชการ รวมแหล่งหางาน และการเตรียมตัวสอบ

สอบข้าราชการ

งานราชการเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่หลายคนใฝ่ฝัน เพราะให้ทั้งความมั่นคง สวัสดิการดี ดูแลค่ารักษาพยาบาลทั้งพ่อแม่และครอบครัว และยังมีตำแหน่งมากมายให้ได้เลือกสมัครได้อย่างเหมาะสมกับความสนใจและความสามารถของแต่ละคน

แต่การจะก้าวเข้าสู่เส้นทางอาชีพข้าราชการก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีขั้นตอนทั้งการสอบสัมภาษณ์และสอบข้อเขียนหลายครั้ง ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นจุดที่แตกต่างจากการสมัครงานบริษัทเอกชนทั่วไป ทำให้ต้องมีการเตรียมตัวเป็นอย่างดี ถ้าใครยังสับสนอยู่ว่าต้องทำยังไงถึงจะเป็นข้าราชการได้

ด้วยเหตุนี้ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด (JobsDB) จึงไขข้อข้องใจในประเด็น กว่าจะได้เป็น “ข้าราชการ” ต้องทำอย่างไรบ้าง โดยรวบรวมข้อมูลมาจาก www.ocsc.go.th

สอบ ก.พ. คืออะไร

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับสำนักงาน ก.พ. ซึ่งเป็นตัวละครสำคัญในเรื่องนี้กันก่อน สำนักงาน ก.พ. หรือคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เป็นหน่วยงานกลางของรัฐที่มีหน้าที่สำคัญในการบริหารทรัพยากรบุคคลในราชการพลเรือน รวมไปถึงการจัดหาคนเข้ามาทำงานในหน่วยงานราชการต่าง ๆ หรือการเปิดรับสมัครงานราชการ และการคัดเลือกคนเข้ามาทำงานในหน่วยงานราชการต่าง ๆ ด้วย

แม้ว่าการหางานข้าราชการจะต้องคอยดูว่ามีการเปิดรับสมัครงานในตำแหน่งไหนบ้างเหมือนกับบริษัทเอกชนทั่วไป แต่สิ่งที่ต่างออกไปคือ ถ้าอยากสมัครเข้ารับราชการ นอกจากวุฒิการศึกษาและคุณสมบัติตรงตามที่หน่วยงานต้องการแล้ว จะต้องผ่านการสอบของสำนักงาน ก.พ.ก่อนด้วย โดยแบ่งประเภทการสอบออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้

1) สอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไป (ภาค ก.) เป็นประตูด่านแรกที่ผู้สมัครสอบเข้ารับราชการทุกคนต้องสอบ ซึ่งจะจัดสอบโดยสำนักงาน ก.พ. โดยเนื้อหาจะแบ่งออกเป็น 3 วิชา คือ

  • ความรู้ความสามารถทั่วไปด้านการคิดและวิเคราะห์ (คณิตศาสตร์และภาษาไทย)
  • ภาษาอังกฤษ
  • ความรู้และลักษณะการเป็นข้าราชการที่ดี (ตามกฎหมาย ก.พ.)

สามารถสมัครสอบได้ที่เว็บไซต์ https://job.ocsc.go.th

ข้อสอบในภาค ก. จะมีทั้งหมด 100 ข้อ และมีเวลาให้ทำข้อสอบทั้งหมด 3 ชั่วโมง

2) สอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง (ภาค ข.) เป็นการสอบที่เน้นวัดความรู้เฉพาะตามตำแหน่งที่เข้าสมัคร เช่น ตำแหน่งนักวิเคราะห์นโยบายและแผนปฏิบัติการ นิติกร เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เป็นต้น

ซึ่งการสอบภาค ข.นี้ จะถูกจัดขึ้นโดยหน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่มีการเปิดรับสมัครบุคลากรอยู่ โดยข้อสอบจะเป็นข้อเขียน และที่สำคัญคนที่เข้ามาสอบภาค ข.ได้ต้องสอบภาค ก.ให้ผ่านก่อน เพราะต้องนำหนังสือรับรองการสอบผ่านภาค ก.มายืนยันก่อนที่จะสมัครเข้าสอบภาค ข.ได้

3) สอบเพื่อวัดความเหมาะสมกับตำแหน่ง (ภาค ค.) คือ การสอบสัมภาษณ์ ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการสอบคัดเลือกเข้ารับราชการ เป็นการคัดเลือกรอบสุดท้ายเพื่อดูความเหมาะสมผ่านการพูดคุยแบบตัวต่อตัว ซึ่งจะจัดโดยหน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่เปิดรับสมัคร นอกจากการสอบสัมภาษณ์แล้ว อาจจะมีการทดสอบอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น การทดสอบร่างกาย หรือการทดสอบจิตวิทยา เป็นต้น และแน่นอนว่าคนที่จะผ่านเข้ามาสอบภาค ค.ได้จะต้องผ่านการสอบคัดเลือกในภาค ก.และภาค ข.มาก่อน

สมัครสอบ 3 รอบ เมื่อไหร่บ้าง ?

สำหรับการสอบคัดเลือกภาค ก. สำนักงาน ก.พ. จะมีการจัดสอบทุกปี โดยจะเปิดเป็นรอบ ๆ และใน 1 ปี จะมีเปิดให้สอบหลายรอบด้วยกัน สำหรับปี 2566 นี้ สำนักงาน ก.พ. มีกำหนดการเปิดรับสมัครและสอบคัดเลือกภาค ก. ดังนี้

รอบที่ 1

  • สมัครสอบ วันที่ 16-21 มกราคม 2566
  • ประกาศรายชื่อผู้สมัครสอบ วันที่ 31 มกราคม 2566
  • ประกาศกำหนดวัน เวลา สถานที่สอบ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566
  • วันสอบ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2566
  • ประกาศผลสอบ วันที่ 14 มีนาคม 2566

รอบที่ 2

  • สมัครสอบ วันที่ 18-24 เมษายน 2566
  • ประกาศรายชื่อผู้สมัครสอบ วันที่ 5 พฤษภาคม 2566
  • ประกาศกำหนดวัน เวลา สถานที่สอบ วันที่ 12 พฤษภาคม 2566
  • วันสอบ วันที่ 21 พฤษภาคม 2566
  • ประกาศผลสอบ วันที่ 16 มิถุนายน 2566

รอบที่ 3

  • สมัครสอบ วันที่ 10-14 กรกฎาคม 2566
  • ประกาศรายชื่อผู้สมัครสอบ วันที่ 31 กรกฎาคม 2566
  • ประกาศกำหนดวัน เวลา สถานที่สอบ วันที่ 9 สิงหาคม 2566
  • วันสอบ วันที่ 20 สิงหาคม 2566
  • ประกาศผลสอบ วันที่ 15 กันยายน 2566

หมายเหตุ : กำหนดการอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม

แหล่งหางานราชการ

ส่วนใหญ่แล้วสามารถเข้าไปหางานราชการ

ตามเว็บไซต์ต่าง ๆ ของหน่วยงานราชการแต่ละหน่วยงาน

เว็บไซต์ของสำนักงาน ก.พ. (https://job.ocsc.go.th/SearchJob.aspx) จะมีตำแหน่งงานของทุกหน่วยงานราชการที่แจ้งความจำนงต้องการรับบุคลากรมาที่สำนักงาน ก.พ.

เว็บไซต์และแอปพลิเคชั่นที่รวบรวมงานราชการ thaijobsgov.com

ขั้นตอนการเตรียมตัวสอบเข้ารับราชการ

  • ค้นหาตำแหน่งงานราชการที่สนใจ
  • ศึกษาคุณสมบัติที่จำเป็น กฎเกณฑ์ในการสมัคร และกำหนดการรับสมัคร
  • เตรียมเอกสารเพื่อใช้สมัครให้พร้อม
  • เลือกหนังสือทั้งที่เป็นเนื้อหาโดยละเอียด เนื้อหาสรุป และมีแบบฝึกหัด โดยเลือกหนังสือจากผู้เขียนที่เชื่อถือได้หลาย ๆ คน เพื่อให้ได้เนื้อหาที่ครอบคลุมและครบถ้วน
  • ฝึกทำแบบฝึกหัดข้อสอบให้มากที่สุด เพื่อเป็นการทดสอบความรู้และหัดทำข้อสอบให้ชิน เพราะในภาค ก. มีเวลาสอบที่จำกัด ทำให้ต้องฝึกทำข้อสอบให้เร็ว และการฝึกทำข้อสอบอยู่เรื่อย ๆ จะทำให้สามารถทำข้อสอบได้เร็วขึ้นได้
  • สำหรับการสอบข้อเขียนในหัวข้อเฉพาะภาค ข. และการสัมภาษณ์ในภาค ค. ให้เตรียมเก็งข้อสอบที่อาจจะถูกถาม และฝึกเขียน ฝึกพูด เพื่อเป็นการเตรียมคำตอบเบื้องต้นไปก่อน
  • เมื่อใกล้ถึงวันสอบให้เตรียมร่างกายให้พร้อม และอย่าลืมตรวจเช็กเอกสารที่ต้องเอาไปในวันสอบให้เรียบร้อย

หวังว่าทุกคนจะเข้าใจขั้นตอนการสมัครเข้ารับราชการ รวมไปถึงการหางานราชการและการเตรียมตัวสอบในขั้นตอนต่าง ๆ มากขึ้นจากบทความนี้ และใครที่กำลังเตรียมตัวก้าวเข้าสู่สายอาชีพนี้อยู่ ก็ขอให้โชคดีในการสอบทุกคน

ที่มา: www.ocsc.go.th