มองจากมุม ไทยพัฒน์ ESG ตัวช่วยองค์กรธุรกิจยั่งยืน

ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ

“ปัจจุบันประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ESG (environmental, social and governance) เข้ามามีอิทธิพลต่อภาคธุรกิจอย่างเข้มข้น และได้กลายเป็นประเด็นที่ถูกบรรจุเป็นหลักเกณฑ์ในการขอสินเชื่อของธนาคาร กระทั่งกลายเป็นปัจจัยใหม่ในการตัดสินใจจับจ่ายของลูกค้า ไม่เพียงเท่านั้น ESG ไม่ได้เข้ามามีบทบาทในแง่ของความเสี่ยงที่กระทบกับธุรกิจ

หรือถูกมองว่าเป็นภาระค่าใช้จ่ายเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นผลกระทบที่ก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจ ทั้งยังถูกมองว่าเป็นเรื่องที่ช่วยเพิ่มยอดขาย และลดต้นทุนของกิจการ ซึ่งหากธุรกิจสามารถจับกระแสในเรื่องนี้ แล้วแปลงเป็นโจทย์ทางธุรกิจ ก็จะทำให้ได้ประโยชน์จากเรื่อง ESG ไม่มากก็น้อย”

คำกล่าวเบื้องต้นคือสาระสำคัญจากงานแถลงข่าว “6 ทิศทาง CSR ปี 2566 LEAN CLEAN GREEN” ที่จัดขึ้นโดยสถาบันไทยพัฒน์ โดยประเมินทิศทางความรับผิดชอบต่อสังคม และการพัฒนาความยั่งยืนของกิจการ ประจำปี 2566

“ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ” ประธานสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวว่า ปีนี้สถาบันประมวลแนวโน้มการขับเคลื่อน ESG ของภาคธุรกิจไทย 3 ธีมสำคัญ ได้แก่

หนึ่ง LEAN การรับมือกับเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย จากปัจจัยทั้งภายในและภายนอก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ การเมือง อัตราเงินเฟ้อ ความผันผวน ค่าเงิน อัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นผลทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว แม้ประเทศไทยจะได้รับอานิสงส์จากการท่องเที่ยวก็ตาม แต่การจับจ่ายของนักท่องเที่ยวก็ไม่ได้ทั่วถึงทุกอุตสาหกรรม

ฉะนั้น สิ่งที่หลายองค์กรจะต้องทำวันนี้คือการกระชับ หรือรีดไขมันส่วนเกินออกจากองค์กรทั้งในแง่ของทรัพยากร การจัดการของเสีย รวมถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ เพื่อลดค่าใช้จ่าย และให้การทำงานมีประสิทธิภาพสูงสุด

สอง CLEAN เนื่องจากตอนนี้สังคมไทยมีประเด็นเรื่องการทุจริตเกิดขึ้นในทุกภาคส่วน เช่น กลุ่มทุนจีนสีเทา การฉ้อโกงกรณีแชร์ลูกโซ่ การปั่นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ไม่เว้นแม้แต่ในภาคราชการในเรื่องของการเรียกเงินวิ่งเต้นขอตำแหน่งโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ฯลฯ

ซึ่งจากข้อมูลขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติจัดอันดับให้ไทยอยู่ที่ 101 จากการจัดอันดับทั้งหมด 180 ประเทศ ในดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นปีล่าสุด โดยได้ 36 คะแนนจาก 100 คะแนน ทั้งยังตกจากอันดับดีสุดที่ 76 ในปี 2558

“ในส่วนของภาคเอกชนมูลค่าการทุจริตที่เกิดระหว่างองค์กรธุรกิจด้วยกันเองอาจจะสูงกว่ายอดทุจริตที่ให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐหลายเท่า แต่มีความยากต่อการตรวจสอบ เช่น กรณีที่เกิดขึ้นกับหน่วยงานรัฐ ทำให้ไม่สามารถเก็บตัวเลขได้แน่ชัด ยิ่งตัวเลขดังกล่าวสูงเท่าไหร่ ต้นทุนการทุจริตจะถูกผลักเป็นภาระแฝงในค่าสินค้าและบริการที่ทั้งเจ้าของกิจการ ผู้ถือหุ้น ผู้บริหาร และพนักงาน ซึ่งต่างเป็นผู้บริโภคในระบบ ต้องรับภาระต้นทุนที่เกิดจากการทุจริตกันอย่างถ้วนหน้า

ทั้งยังบั่นทอนขีดความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจด้วย ดังนั้น ถ้าเรามองในมิติสังคม โจทย์ใหญ่ของการขับเคลื่อนกรอบ ESG ของประเทศ คงหนีไม่พ้นเรื่องการต่อต้านทุจริต ภาคเอกชนจำเป็นต้องเป็นผู้ริเริ่มลงมือดำเนินการอย่างเอาจริงเอาจังด้วยตนเอง มากกว่าการบอกให้ผู้อื่นดำเนินการ เพื่อให้เป็นแบบอย่างกับผู้อื่นปฏิบัติตาม”

สาม GREEN เรื่องใหญ่ที่เกิดขึ้นวันนี้คือการปล่อยมลพิษ ของเสีย หลาย ๆ องค์กรกำลังลงมือเรื่องนี้อย่างเข้มข้น อีกทั้งทั่วโลกกำลังพยายามลดเพดานไม่ให้อุณหภูมิของโลกเกิน 1.5 องศาเซลเซียส การที่ประเทศไทยในฐานะรัฐภาคีสมาชิกสหประชาชาติ ที่เข้าร่วมในความตกลงปารีส ได้ประกาศเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 40 ภายในปี ค.ศ. 2030

พร้อมกับวางเป้าหมายการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 รวมทั้งการบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065 ดังนั้น ทุกฝ่ายต้องร่วมลงมือปฏิบัติกันอย่างจริงจังมากกว่าการให้คำมั่นสัญญาที่เป็นเพียงแค่เจตนารมณ์

ขณะที่ทิศทางของความยั่งยืนปี 2566 “ไทยพัฒน์” คาดการณ์ไว้ 6 ทิศทาง ที่หน่วยงาน และองค์กรธุรกิจจะใช้ ESG เป็นกรอบในการขับเคลื่อนดังต่อไปนี้

หนึ่ง ESG as an Enabler ไม่มีกิจการใดที่ปฏิเสธว่า ESG เป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้บริหารจัดการความเสี่ยงต่อประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล แต่มีกิจการไม่มากรายที่มองเห็นว่า ESG ยังสามารถใช้เป็นใบเบิกทางไปสู่โอกาสทางธุรกิจที่มีต่อการพัฒนา และนำเสนอผลิตภัณฑ์ และบริการที่มีส่วนสัมพันธ์เชื่อมโยงโดยตรงกับผลได้ หรือกำไรที่เป็นบรรทัดสุดท้ายของกิจการ ยกตัวอย่างที่เห็นภาพชัดคือธุรกิจ EV, solar rooftop ฯลฯ ซึ่งเป็นธุรกิจที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

สอง Industry-specific Taxonomy ในปี 2566 หน่วยงานกำกับดูแลในประเทศไทย เริ่มจัดทำแนวทาง และการแบ่งหมวดหมู่ ประเด็นด้าน ESG จำเพาะรายอุตสาหกรรมที่ตนเองกำกับดูแล ทั้งในภาคธนาคาร ภาคตลาดทุน ภาคประกันภัย ภาคพลังงาน ภาคโทรคมนาคม ฯลฯ ตามความพร้อม และแรงผลักดันจากตลาดที่มีความต้องการนำเรื่อง ESG มาขับเคลื่อนในอุตสาหกรรมนั้น ๆ

ยกตัวอย่าง ภาคอสังหาริมทรัพย์จะเกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์ที่ดิน ภาคอุตสาหกรรม โดยจะทำเรื่องการจัดการของเสียอันตราย ในภาคการแพทย์และสุขภาพ ประเด็นการเข้าถึงบริการ ฯลฯ ตรงนี้จะเป็นประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับลักษณะธุรกิจที่มีความแตกต่างกันในแต่ละสาขา

สาม Double Materiality หลักการทวิสารัตถภาพคือการระบุประเด็นสาระสำคัญที่นำเกณฑ์ผลกระทบทางการเงินที่เกิดจากปัจจัยความยั่งยืนที่มีต่อการสร้างคุณค่ากิจการมาพิจารณาร่วมกับเกณฑ์ผลกระทบที่เกิดจากการกระทำขององค์กรที่มีต่อเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม

โดยปี 2566 กิจการที่ต้องการภาพลักษณ์ด้านความยั่งยืนให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ต้องแสดงให้เห็นถึงความตระหนักในความคาดหวังของผู้ลงทุนที่มีต่อการสร้างคุณค่ากิจการ ด้วยสารัตถภาพเชิงการเงิน (financial materiality) รวมทั้งความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีต่อการสร้างผลบวกทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ด้วยสารัตถภาพเชิงผลกระทบ (impact materiality) ควบคู่กัน

สี่ Climate Action ขณะนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมมีการปรับบทบาทกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมเป็นกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ผ่านมาคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแล้วเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2565 เพื่อเร่งรัดเตรียมการดำเนินงานตามภารกิจเพื่อบรรลุเป้าหมายประเทศเรื่องการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกดังที่กล่าวมา

ตอนนี้อยู่ระหว่างผลักดันร่างพระราชบัญญัติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นกฎหมายฉบับแรกของไทย ที่จะยกระดับการทำงานจากภาคสมัครใจ เป็นภาคบังคับ เพื่อให้สอดคล้องสถานการณ์ปัจจุบัน

ดังนั้น ภาคเอกชนไทยจะต้องเริ่มวางเป้าหมายให้ชัดเจนว่าจะมีส่วนช่วยอย่างไร เพราะต่อไปนี้จะต้องถูกบังคับให้ทำเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทไทย กว่า 24 แห่ง ท่ามกลางบริษัท 2,000 แห่งทั่วโลกที่ไปกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยศาสตร์ทางภูมิอากาศกับหน่วยงานชื่อ SBTi (Science Based Targets initiative)

จึงคิดว่าเร็ว ๆ นี้อาจมีองค์กรไทยเพิ่มเติมหลายแห่งอาจจะยุ่งมากที่ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานจากสมัครใจเป็นข้อบังคับมากขึ้น

ห้า Lean Operation ธุรกิจเดิมที่ยึดหลักด้วยการแสวงหาความเป็นเลิศในทุกด้าน แต่ต่อไปนี้จะหันมาเตรียมรับภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นสูง โดยใช้หลักการทำน้อย แต่ได้มาก กระชับองค์กรพร้อมกับประเมินความเสี่ยงต่อการถูกดิสรัปชั่นจากเทคโนโลยีดิจิทัล และปัญญาประดิษฐ์

ยกตัวอย่าง การเกิดขึ้นของ ChatGPT ซึ่งเป็นเอไอที่รู้ทุกเรื่อง สามารถเขียนบทความ ร่างเนื้อหากฎหมาย ด้วยคำสั่งคอมพิวเตอร์ ทั้งยังจดบันทึกการประชุมได้ด้วย ตอนนี้บริษัทใหญ่ทั่วโลกกำลังปรับตัว โดยเฉพาะบริษัทเทคโนโลยี เริ่มตื่นตัวกับกระแสนี้ หรือแม้แต่ในอุตสาหกรรมการเงินไทย

อาทิ แบงก์ชาติตอนนี้มีการประกาศหลักเกณฑ์อนุญาตให้จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (virtual bank) เพื่อให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ดิจิทัลเสนอบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ผ่านช่องทางดิจิทัล เพราะช่วยลดต้นทุนพนักงาน อาคาร และสถานที่

“โดยพร้อมรับคำขอจัดตั้งได้ในปีนี้ และในประเด็นดังกล่าว ผมมองว่าอนาคตอาจเกิดการเปรียบเทียบ และอาจเกิดการแข่งขันระหว่างธนาคารยุคเก่ากับธนาคารยุคใหม่ ดังนั้น ทุกองค์กรคงต้องเตรียมรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งการถูกดิสรัปชั่นจากปัจจัยรอบด้าน เพื่อให้เกิดการกระชับองค์กร และลดต้นทุนต่าง ๆ ด้วย”

หก Proof of Governance เรื่องของธรรมาภิบาล จากข้อมูลดัชนีการปริวรรตเบอร์เทลสแมนน์ 137 ประเทศ ซึ่งจัดทำทุก 2 ปี รายงานว่าในปี 2565 ประเทศไทยมีคะแนนด้านธรรมาภิบาลอยู่ที่ 4.02 จาก 10 คะแนน โดยดัชนีธรรมาภิบาลของไทยอยู่อันดับ 92

ขณะที่การสำรวจสถานภาพความยั่งยืนของกิจการประจำปี 2565 โดยสถาบันไทยพัฒน์พบว่า คะแนนด้านธรรมาภิบาลของกิจการที่ทำการสำรวจ 854 แห่งอยู่ที่ 3.92 คะแนน จาก 10 คะแนน ดังนั้น ในปี 2566 องค์กรธุรกิจต้องแสดงให้เห็นถึงภาระความรับผิดชอบในระดับคณะกรรมการที่เหนือกว่าความรับผิดชอบในระดับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ตามบทบาทฐานะของผู้นำ หรือผู้รับผิดชอบสูงสุดขององค์กร

ที่สำคัญ จะต้องสร้างความเชื่อมั่น มีความโปร่งใส และพร้อมรับผิดชอบต่อผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดจากนโยบาย และการตัดสินใจต่าง ๆ ด้วย