โนเกีย ซ่อมเองได้ เบื้องหลังแนวคิดความยั่งยืนสไตล์ Nokia

Nokia G22 โนเกีย
Nokia G22 (REUTERS/Albert Gea)

HMD Global เปิดมือถือแบรนด์โนเกียใหม่ Nokia G22 สมาร์ทโฟนซ่อมเองได้ อายุใช้งาน 5 ปี ตามนโยบายผลิตสินค้าลดการปล่อยคาร์บอน ส่งเสริมสิทธิในการซ่อม คาดเข้าไทยไตรมาส 2/2566 พร้อมย้ำ แบรนด์อุปกรณ์มือถือยังคงใช้โลโก้เดิม

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า บริษัท เอชเอ็มดี โกลบอล สตาร์ตอัพสัญชาติฟินแลนด์ที่ได้สิทธิ์การออกแบบและจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่แบรนด์ Nokia มาตั้งแต่ปี 2559 มีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ Nokia G22 ซึ่งเป็นสมาร์ทโฟนที่ชูจุดเด่นเรื่องการ “ซ่อมเองได้” โดย เอชเอ็มดี ได้ร่วมมือกับ Ifixit เว็บไซต์เผยแพร่วิธีการซ่อมอุปกรณ์ไอทีและจำหน่ายเครื่องมือซ่อมเพื่อจัดทำคู่มือซ่อม พร้อมรับประกันผลิตชิ้นส่วนอะไหล่นาน 5 ปี

นายอดัม เฟอร์กูสัน หัวหน้าฝ่ายผลิตภัณฑ์การตลาดของ HMD Global กล่าวว่า Nokia G22 ถูกพัฒนาขึ้นภายใต้แนวคิดเรื่องความยั่งยืน โดยเฉพาะในยุโรปที่มีการพูดถึง “สิทธิในการซ่อม” บริษัทผู้ผลิตมือถือนอกจากต้องให้ความสำคัญกับการผลิตสินค้าที่ลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ลดปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ แล้วจะต้องคำนึงการใช้งานที่ยาวนานโดยผู้ใช้สามารถซ่อมแซมได้ต่อเนื่อง

“กระบวนการซ่อมด้วยตัวเองช่วยให้ต้นทุนของผู้ใช้ลดลง 30% เมื่อเทียบกับการเปลี่ยนโทรศัพท์เครื่องเก่าด้วยเครื่องใหม่” นายเฟอร์กูสันกล่าว 

นอกจากนี้ “สิทธิในการซ่อม” ยังเป็นการเคลื่อนไหวในหมู่นักรณรงค์ด้านสิทธิผู้บริโภค เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถซ่อมแซมอุปกรณ์ของตนได้ง่ายขึ้น และสิทธิดังกล่าวได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางในยุโรป ทั้งระดับประชาชนและระดับนโยบายของสภาพยุโรปเองด้วย

ก่อนหน้านี้ HMD ได้ทยอยเปิดตัวสมาร์ทโฟน และแท็บเลตหลายรุ่นภายใต้แนวคิด Play the Long Game ที่ให้ความสนใจกับการใช้วัสดุรีไซเคิลเพื่อผลิต และการดูแลด้านซอฟต์แวร์นานถึง 3 ปี อย่างเช่น รุ่น Nokia X30 ที่เปิดตัวไปไม่นานนี้


และยังมีบริการ “เช่า” ด้วยบริการ Circular บริการเช่ามือถือโนเกียรุ่นมือถือใหม่จ่ายตามที่ใช้จริง ที่เริ่มใช้ในสหราชอาณาจักรและเยอรมนีตั้งแต่กลางปี 2565 ที่ผ่านมา

แหล่งข่าวจาก เอชเอ็มดี ประเทศไทย เปิดเผยว่า Nokia G22 ยังไม่มีสินค้าในประเทศไทย แต่คาดว่าจะมีการนำเข้ามาทำตลาดช่วงไตรมาสที่ 2/2566 ทั้งนี้ เอชเอ็มดีจะยังไม่มีการเปลี่ยนโลโก้แบรนด์ Nokia ตามบริษัทแม่เจ้าของลิขสิทธิ์ เนื่องจาก Nokia ดำเนินธุรกิจหลายขา ซึ่งฝั่งการผลิตดีไวซ์ สมาร์ทโฟน หรือแกดเจ็ตที่เอชเอ็มดีได้มาจะยังเป็นโลโก้ Nokia แบบเก่าทั้งหมด