“CPF” เปิดหลักสูตร “TRIZ” พัฒนา “คน” สู่องค์กรนวัตกรรม

ต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่า “นวัตกรรม” เป็นหนึ่งในหัวใจของการขับเคลื่อนสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ยิ่งในยุคปัจจุบันที่ต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ ๆ อันมาจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่รวดเร็ว องค์กรของไทยจึงต้องปรับตัวเพื่อให้เข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ผลเช่นนี้ จึงทำให้นวัตกรรมกลายเป็นยาขมของหลายองค์กร เพราะต้องพยายามผลักดันพนักงาน และองค์กรเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายดั่งที่ต้องการ

“วิโรจน์ คัมภีระ” รองกรรมการผู้จัดการบริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์จำกัด (มหาชน)-ซีพีเอฟ ในฐานะประธานคณะกรรมการนวัตกรรมของซีพีเอฟ กล่าวว่า เรามองซัมซุงเป็นอีกหนึ่งองค์กรต้นแบบที่ประสบความสำเร็จ ในการนำนวัตกรรมมาผลักดันจนทำให้บริษัทก้าวขึ้นแท่นเบอร์หนึ่งของโลกอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับซีพีเอฟ ที่สร้างกระบวนการผลิตอาหารที่สะอาดปลอดภัย เป็นมิตรต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม เพื่อก้าวสู่วิสัยทัศน์ครัวของโลก

“วันนี้เรามีบุคลากรที่เป็นนวัตกรที่ได้รับการฝึกอบรมตามหลักสูตร TRIZ 610 คน นับว่ามากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ทั้งในแต่ละปี ยังส่งเสริมให้พนักงานผลิตนวัตกรรมประมาณ 4,000 เรื่อง ที่สำคัญ งาน SET AWARDS 2017 ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยผ่านมายังมีการมอบรางวัล Best Innovative Company Awards ให้กับซีพีเอฟ จากการคิดผลิตภัณฑ์อกไก่นุ่มสุขภาพ (tender chicken breast) เพื่อให้เนื้อหน้าอกไก่มีความนุ่มพิเศษ ทั้งยังเปลี่ยนพฤติกรรมชาวญี่ปุ่นที่ไม่ชอบทานอกไก่สู่การเป็นอาหารยอดนิยมของชาวญี่ปุ่นผู้รักสุขภาพ จนทำรายได้นับ 1,000 ล้านบาทต่อปี”

“นอกจากนั้น ยังมีนวัตกรรมอีกหลายผลิตภัณฑ์ที่ทุกคนคุ้นเคย อาทิ นมเมจิไฮโปรตีน เวย์ สำหรับคนต้องการเสริมสร้างกล้ามเนื้อ ข้าวปลาทอดผัดพริก เป็นอาหารสำเร็จรูปแช่เย็นที่ยังคงความนุ่มของปลาทอดได้เหมือนกับทานอาหารที่เพิ่งปรุงเสร็จใหม่ ยังไม่รวมอุปกรณ์ทางการเกษตรที่นำไปสู่ห่วงโซ่การผลิตอาหารที่สะอาดปลอดภัย ในโภชนาการที่เหมาะสมแก่ผู้บริโภคทุกเพศ ทุกวัย”

“วิโรจน์” บอกว่า แนวทางการสร้างองค์กรนวัตกรรม ประกอบด้วยหัวใจหลัก 3 ประการคือ บรรยากาศการทำงาน, บุคลากร และมาตรฐาน สำหรับหัวใจประการแรก เรามีการปรับสิ่งแวดล้อมการทำงานเพื่อกระตุ้นให้ทุกคน ทุกระดับ ตั้งแต่คนงานในไลน์การผลิต ไปจนถึงวิศวกรเกิดความคิดสร้างสรรค์ และพัฒนานวัตกรรม โดยมีการแบ่งระดับของนวัตกรรม 3 ระดับ คือ I1 (ไอ 1) หรือ improvement คือความคิดสร้างสรรค์ที่ช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน ซึ่งเปิดโอกาสให้คนงานและพนักงานทุกคนสามารถส่งผลงานได้

“I2 (ไอ 2) หรือ invention เป็นผลงานที่คิด และพัฒนาขึ้นใหม่ ที่นักวิชาการ สัตวแพทย์ นักวิทยาศาสตร์สามารถส่งความคิดมาได้ และ I3 (ไอ 3) คือ innovation เป็นผลงานนวัตกรรมที่สร้างผลลัพธ์ต่อธุรกิจ ตั้งแต่การลดต้นทุน การเพิ่มรายได้ให้แก่บริษัท โดยเราจะจัดกิจกรรมประกวด CPF CEO Awards ทุกปี เพื่อมอบรางวัลให้แก่นวัตกรรมของพนักงานที่โดดเด่น และเป็นเวทีเผยแพร่นวัตกรรมเพื่อจุดประกายให้เพื่อนพนักงานคนอื่นนำไปต่อยอด และพัฒนานวัตกรรมต่อไป”

“สำหรับหัวใจประการที่ 2 การพัฒนาบุคลากร เรามองว่าพวกเขาเป็นกระดูกสันหลังสำคัญของการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมายการเติบโตที่ยั่งยืน โดยซีพีเอฟนำหลักสูตร TRIZ หนึ่งในหลักสูตรการพัฒนานวัตกรชั้นนำของโลก โดยให้พนักงานมีการคิด ต่อยอดสู่นวัตกรรมอย่างเป็นระบบ ซึ่งแต่ละหน่วยธุรกิจจะส่งบุคลากรมาเรียนหนังสือกับอาจารย์ด้าน TRIZ เพื่อพัฒนาเป็นนวัตกร ผู้จะเป็นแกนหลักในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อบริษัท สังคม และสิ่งแวดล้อม”

ปัจจุบันซีพีเอฟมีพนักงานเป็นนวัตกรอยู่แล้ว 610 คน เทียบกับปี 2556 ซีพีเอฟมีนวัตกรเพียง 148 คน ตั้งเป้าภายในสิ้นปี 2561 ซีพีเอฟจะมีนวัตกรถึง 1,000 คน ดังนั้น การมีนวัตกรจำนวนมากจะมีส่วนช่วยให้องค์กรมีนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง เพราะนวัตกรของซีพีเอฟจะถูกมอบหมายให้คิด และนำเสนอผลงานนวัตกรรมทุกปี อย่างน้อยปีละ 1 ผลงาน ทั้งยังเปิดโอกาสให้นวัตกรที่ได้รับรางวัล CPF CEO Awards แต่ละปีเดินทางไปเรียนรู้การพัฒนานวัตกรรมของบริษัทอื่นในประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย

“ส่วนหัวใจประการสุดท้ายคือ การส่งเสริมให้องค์กรมีการดำเนินการพัฒนานวัตกรรมตามมาตรฐานสากล บริษัทจึงนำมาตรฐานการบริหารจัดการนวัตกรรมของยุโรป CEN 16555 มาใช้ เพื่อผลักดันให้ทั่วทั้งองค์กรมีกลยุทธ์การสร้างนวัตกรรม การประเมินผล วัดผลได้ และสร้างความเชื่อมั่นให้องค์กรมีการพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ในอนาคตซีพีเอฟไม่เน้นการสร้างนวัตกรรมที่ตอบสนองเป้าหมายธุรกิจองค์กรเพียงประการเดียว แต่จะเน้นถึงนวัตกรรมที่มีส่วนสร้างการเติบโตที่สมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมโดยรวม”

เพื่อให้ซีพีเอฟเป็นองค์กรแห่งนวัตกรรมต่อไป