MQDC ประกาศพันธกิจ ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นลบในปี 2050

MQDC ประกาศพันธกิจ ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นลบในปี 2050

MQDC ประกาศพันธกิจ ตั้งเป้าสร้างผลบวกต่อธรรมชาติและปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นลบในปี 2050 ผุดโครงการ นวัตกรรมใหม่ ๆ แก้ไขวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

วันที่ 30 มีนาคม 2566 นายวิสิษฐ์ มาลัยศิริรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น (MQDC) เปิดเผยว่า ในฐานะที่เป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำที่พัฒนาโครงการโดยให้ความสำคัญกับการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับทุกชีวิต หรือ For All Well-Being ซึ่งไม่ใช่เพียงลูกบ้าน แต่รวมถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยรวมมาตลอด 30 ปีของการดำเนินธุรกิจ 

ทางบริษัทตระหนักถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของทุกสรรพสิ่งอย่างรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงปัญหาการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Loss)

ประกาศพันธกิจใหม่

ดังนั้น ทาง MQDC จึงเดินหน้าเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการกู้วิกฤตโลก โดยประกาศพันธกิจใหม่ที่จะอยู่ร่วมกับทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน สร้างผลเชิงบวกต่อธรรมชาติและลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นค่าติดลบ หรือ Nature Positive & Carbon Negative ภายในปี พ.ศ. 2593 หรือ ค.ศ. 2050

“จากการที่ MQDC ทุ่มเทให้กับการคิดค้นและวิจัยนวัตกรรมต่าง ๆ ก็ล้วนเพื่อให้โครงการของเราบรรลุพันธกิจที่เรายึดมั่นเป็นแกนหลักในการดำเนินงานมาตลอด 30 ปีที่ผ่านมา นั่นก็คือการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับทุกสรรพสิ่งอย่างยั่งยืน หรือ For All Well-Being

เราตระหนักว่า ปัญหาการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและปัญหาโลกรวน เป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของทั้งโลก ดังนั้นเราจึงเห็นว่าเราสามารถนำนวัตกรรมและสิ่งที่เราคิดค้นทั้งในอดีตและงานวิจัยใหม่ ๆ ที่กำลังทำมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขวิกฤติสิ่งแวดล้อมของโลกได้อย่างเป็นรูปธรรม”

นายวิสิษฐ์กล่าวต่อว่า โครงการของ MQDC ทั้งที่สร้างเสร็จแล้วและที่อยู่ระหว่างการพัฒนาได้มีการนำหลากหลายนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน หรือ Sustainnovation เข้ามาใช้เป็นแกนในการก่อสร้างโครงการ โดยโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และเป็นต้นแบบของการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในการช่วยลดภาวะโลกร้อนได้อย่างเป็นที่ประจักษ์ คือ โครงการ The Forestias ซึ่งมีพื้นที่ป่าขนาดใหญ่ในโครงการโดยอาศัยการทำวิจัยอย่างเข้มข้น เพื่อให้โครงการสามารถส่งเสริมสภาพแวดล้อมทางชีวภาพและระบบนิเวศของพื้นที่เดิมไว้ได้

รวมถึงโครงการ 101 ทรู ดิจิทัล พาร์ค ที่มีการสนับสนุนกิจกรรมลดการปล่อยก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์อย่างต่อเนื่อง และได้รับการรับรองในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ได้ 576.449 ตัน เทียบเท่ากับต้นไม้จำนวน 60,678.84 ต้น ภายในระยะเวลา 30 เดือนอีกด้วย

ทั้งนี้เพื่อให้ไปถึงพันธกิจดังกล่าวได้สำเร็จ ศูนย์วิจัย RISC by MQDC ซึ่งเป็นหนึ่งใน 6 ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมในด้านต่าง ๆ ของ MQDC เป็นแกนหลักในการวางแผนกลยุทธ์และคิดค้นนวัตกรรมมาสนับสนุนการดำเนินงาน เพื่อให้พันธกิจดังกล่าวประสบผลสำเร็จ

ผู้บริหาร MQDC
นายวิสิษฐ์ มาลัยศิริรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร MQDC และ รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษา RISC

รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษา ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC by MQDC) ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญในการเดินหน้าพันธกิจ Nature Positive & Carbon Negative 2050 กล่าวว่าพันธกิจครั้งนี้ นับว่าเป็นความท้าทายครั้งสำคัญของ MQDC ดังจะเห็นได้ว่าประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกตั้งเป้าหมายร่วมกันที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero carbon) ในปี 2050

แต่สำหรับ MQDC ตั้งเป้าหมายไปถึงระดับสุทธิเป็นลบ (Carbon negative) ในปีเดียวกัน โดยทาง MQDC เลือกที่จะเดินหน้าสู่พันธกิจที่ท้าทายอย่างมาก เนื่องจากโลกกำลังอยู่ในภาวะวิกฤต จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนช่วยลงมือแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน อีกทั้งการร่วมรับมือกับความท้าทายของปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพันธกิจหลักของ RISC by MQDC ที่ต้องทุ่มเททำการวิจัยเพื่อเสริมศักยภาพขององค์กรที่ดำเนินธุรกิจโดยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ของทุกสรรพสิ่งมาโดยตลอด

รศ.ดร.สิงห์กล่าวต่อว่า ทาง RISC มีความเชื่อมั่นว่าจะสามารถเดินหน้าไปสู่พันธกิจอันยิ่งใหญ่นี้ได้ตามเป้าหมาย โดยอาศัยการดำเนินกลยุทธภายใต้แนวคิดตลอดวัฏจักรชีวิต (Life Cycle Thinking) และนำการประเมินวัฏจักรชีวิต (Life Cycle Assessment) มาใช้

และปัจจุบัน MQDC กำลังอยู่ระหว่างเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อจัดทำคาร์บอนฟุตพรินต์ของ MQDC และบริษัททั้งหมดที่อยู่ภายใต้กลุ่มบริษัท ดีทีจีโอ คอร์ปอเรชั่น (DTGO) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ MQDC โดยครอบคลุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งทางตรงและทางอ้อมในทุกประเภท

theforestias
theforestias

โดยกลยุทธ์ดังกล่าวจะดำเนินงานต่อเนื่องไป กำหนดเป็นระยะสั้น กลางและยาวไปจนถึงปี 2050 เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย Nature Positive & Carbon Negative 2050 ทาง MQDC มีการวางแผนเพื่อดำเนินงานตามกลยุทธ์ ดังนี้

Net Zero Energy Ready Building

สร้างอาคารที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและประหยัดพลังงาน มุ่งสู่เป้าหมายอาคารที่ใช้พลังงานเป็นศูนย์ โดย MQDC ได้เริ่มนำมาตรฐานการออกแบบจากองค์ความรู้ทั่วโลกในด้าน Smart & Energy Efficient Building มาออกแบบอาคารประหยัดพลังงาน และในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดี เช่น การออกแบบอาคารให้สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมเพื่อลดการใช้พลังงาน (Passive design) การออกแบบระบบเติมอากาศบริสุทธิ์ (Fresh air) ที่มีการแลกเปลี่ยนความร้อน เพื่อสุขภาวะที่ดีของผู้อยู่อาศัยโดยไม่เพิ่มภาระแก่ระบบปรับอากาศ

ระบบทำความเย็นรวมศูนย์ (District Cooling System) และอาคารสาธารณูปโภคส่วนกลาง (CUP) รวมถึงเพิ่มศักยภาพการผลิตและใช้พลังงานหมุนเวียนในโครงการ ติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดให้กับโครงการ ตลอดจนการติดตั้ง EV Charger เพื่ออำนวยความสะดวกและสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าแทนรถยนต์เครื่องยนต์สันดาป

Reduce Construction Impacts and Employ Circular Economy

การเลือกใช้วัสดุที่ช่วยลดผลกระทบจากการก่อสร้างและสอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบเพื่อเลือกใช้วัสดุที่มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น วัสดุคาร์บอนต่ำหรือวัสดุที่มีส่วนผสมของวัสดุรีไซเคิล เช่น กรีนคอนกรีตหรือผลิตภัณฑ์จากไม้ การออกแบบอย่างเหมาะสมช่วยลดปัญหาเศษวัสดุก่อสร้างและลดขยะที่เกิดขึ้นในงานก่อสร้าง

รวมถึงการใช้เทคโนโลยีการก่อสร้างสมัยใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG หรือ Bio-Circular-Green Economy เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว ถูกนำมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

รวมถึงการปรับมุมมองว่าอาคารนั้นเป็นเสมือนธนาคารรับฝากวัสดุก่อสร้างประเภทต่าง ๆ (The Building as a Material Bank) เมื่อมีการใช้งานเสร็จแล้วก็สามารถถอดเอาวัสดุต่าง ๆ เหล่านี้ไปประกอบขึ้นเป็นอาคารใหม่ได้ ทดแทนแนวคิดเดิมที่หากอาคารไม่เป็นที่ต้องการแล้วต้องมีการทุบทำลายก่อให้เกิดขยะปริมาณมหาศาล

Nature-based Solution and Enhance Biodiversity

เพื่อพิสูจน์จุดยืนตามแนวคิดการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับทุกชีวิต MQDC มุ่งสร้างพื้นที่สีเขียวที่เป็นมากกว่าเพียงต้นไม้ประดับภูมิทัศน์ แต่ยังช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจกจากบรรยากาศ และเพิ่มอากาศบริสุทธิ์ให้กับผู้อยู่อาศัย รวมไปถึงการแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน มุ่งสร้างระบบนิเวศสำหรับสิ่งมีชีวิตอยู่ได้จริง ช่วยทดแทนการสูญเสียพื้นที่สีเขียวในพื้นที่เมือง โดยนำพืชพันธุ์ท้องถิ่นมาปลูก ช่วยลดความต้องการปุ๋ยและน้ำ และยังทนต่อสภาพแวดล้อมได้ดีกว่าไม้ต่างถิ่น

ClimateTech & Innovation

ลงทุนและวิจัยในเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่เพื่อช่วยลดก๊าซเรือนกระจก เช่น นวัตกรรม Direct Air Capture (DAC) สำหรับดึงเอาคาร์บอนไดออกไซด์มากักเก็บและแปรสภาพเพื่อใช้ในเชิงอุตสาหกรรม หรือวัสดุที่สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ (Carbon absorption material) เพื่อช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศโลก

“ที่ผ่านมา ทางศูนย์เองได้มีการวิจัยและคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่นำมาใช้ได้จริง ซึ่งจะเห็นได้จากโครงการ The Forestias ซึ่งถือเป็นโครงการต้นแบบของการสร้างพื้นที่ป่าร่วมกับโครงการอสังหาริมทรัพย์ ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ผ่านการใช้พลังงานหมุนเวียน ระบบพลังงานประสิทธิภาพสูง และระบบนิเวศที่สมบูรณ์ของผืนป่าภายในโครงการ รวมถึงนำระบบทำความเย็นรวมศูนย์ (district cooling system) และอาคารสาธารณูปโภคส่วนกลาง (CUP) มาใช้

นอกจากนี้ RISC by MQDC ยังได้กำหนดมาตรฐาน Sustainability Framework เพื่อให้ทุกโครงการของ MQDC และบริษัทในเครือดำเนินงานภายใต้กรอบมาตรฐานดังกล่าว เพื่อการพัฒนาโครงการอย่างยั่งยืน”

theforestias
theforestias

รศ.ดร.สิงห์กล่าวอีกว่า ไม่ใช่แค่โครงการใหญ่อย่าง The Forestias เท่านั้น แต่ยังรวมถึงโครงการอื่น ๆ อาทิ โครงการ Whizdom โครงการ Mulberry Grove และโครงการอื่น ๆ ในอนาคต เราได้นำนวัตกรรมเข้ามาพัฒนาเพื่อให้เป็นไปตามพันธกิจของเรา เช่น ระบบทำความเย็นรวมศูนย์ (District cooling system) หรืออาคารสาธารณูปโภคส่วนกลาง (CUP) การพัฒนาหลังคาเขียว (Green roof) สำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของพืชและแมลง ฯลฯ


การออกแบบสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนใช้หลัก Sustainnovation เพื่อบรรลุเป้าหมายสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของทุกสรรพสิ่ง หรือ For All Well-Being ซึ่งเราประสบความสำเร็จมาโดยตลอด