เครือข่ายแรงงานขอ ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 712 บาททั่วประเทศ จากเดิม 492 บาท

เครือข่ายแรงงาน ค่าแรงขั้นต่ำ 712 บาท

เครือข่ายแรงงานเรียกร้องเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 712 บาท เท่ากันทั่วประเทศ เพื่อมีรายได้เพียงพอเลี้ยงดูครอบครัวได้ และขอรัฐลดค่าใช้จ่าย ควบคุมราคาสินค้า

วันที่ 2 พฤษภาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และสหภาพแรงงานกลุ่มต่าง ๆ พร้อมด้วยแรงงานข้ามชาติ รวมกว่า 1,000 คน ร่วมจัดกิจกรรม “1 พฤษภาคมวันกรรมกรสากล” เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2566 เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนินกลาง

โดยมีการตั้งขบวนเคลื่อนไปยังทำเนียบรัฐบาล บริเวณประตู 5 เพื่อยื่นข้อเรียกร้องเพิ่ม 2 ข้อถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จากข้อเรียกร้องเดิมอีก 13 ข้อ นำโดยนายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธาน สสรท. และนายชาลี ลอยสูง ที่ปรึกษาคณะกรรมการสมานฉันแรงงานไทย (คสรท.) เป็นต้น โดยมีนายมงคลชัย สมอุดร รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และนายสมพาศ นิลพันธุ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนมารับหนังสือ ก่อนจะนำเรื่องเสนอให้นายกรัฐมนตรีต่อไป

เรียกค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มเป็น 712 บาท

ข้อเรียกร้องเร่งด่วนที่เครือข่ายแรงงานต้องการให้รัฐบาลจัดการแก้ไขทันทีคือ

1.ต้องการให้เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 712 บาท เท่ากันทั่วประเทศ เพื่อให้มีรายได้เพียงพอในการเลี้ยงดูครอบครัวได้ ตามหลักขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)

2.รัฐต้องลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชน ทั้งการควบคุมราคาสินค้า ลดค่าน้ำมัน แก๊ซ ค่าขนส่ง และค่าอื่น ๆ โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า เพราะมองว่าเกิดจากการบริหารงานที่ผิดพลาด ทำให้ปริมาณไฟฟ้าสำรองเกินความต้องการ ประชาชนทุกภาคส่วนต้องรับภาระจากที่รัฐทำสัญญาซื้อขายกับบริษัทผลิตไฟฟ้าเอกชน แม้ไม่ผลิตไฟฟ้า แต่ประชาชนจะต้องจ่าย ที่เรียกว่า “ค่าพร้อมจ่าย”

สสรท.ระบุว่า ควรจัดวางระบบการบริหารจัดการระบบไฟฟ้าใหม่ เลิกสัญญาทาสที่รัฐทำกับกลุ่มทุนผลิตไฟฟ้าเอกชน โดยมีประชาชนเป็นตัวประกัน และเพื่อเพิ่มกำลังซื้อ ควรเพิ่มรายได้โดยเฉพาะภาคแรงงาน เพื่อให้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานล่างในภาพรวมได้อย่างแท้จริง รวมถึงติดตามข้อเรียกร้องเดิมมาหลายปี เป็นสิบข้อที่รัฐยังไม่ลงมือปฏิบัติอย่างจริงใจ

นอกจากนั้น ยังมีประเด็นติดตามทวงถามถึงข้อเรียกร้องเดิมที่เรียกร้องกันมาทุกปี แต่ยังไม่ได้ คือการขอให้รัฐเข้าไปรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 ฉบับที่ 98 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม และสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง

และฉบับที่ 183 เกี่ยวกับสิทธิสตรีและเด็ก เช่น การลาคลอด การให้นมบุตรต่าง ๆ โดยได้รับค่าตอบแทน ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องตั้งแต่รัฐบาลยังไม่มีการแก้ไข พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ให้สอดคล้องกัน จนกระทั่งมีการดำเนินการแก้ไข แต่ก็ปรับไปปรับมาจนตอนนี้ก็ยังไม่แล้วเสร็จ

ขอค่าจ้างขั้นต่ำ เพียงพอเลี้ยงดูครอบครัว

ปี 2565 ที่ผ่านมา คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สรส.) เรียกร้องการปรับค่าแรงขั้นต่ำที่ 492 บาท โดยได้ใช้ข้อมูลการสำรวจค่าใช้จ่ายของคนงานทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เมื่อเดือนกันยายน 2560 มาสรุป คือ

ค่าใช้จ่ายรายวัน (ค่าเดินทาง ค่าอาหาร) 219.92 บาท ตกเป็นเดือนละ 6,581.40 บาท

ค่าใช้จ่ายรายเดือน (เช่น ค่าน้ำประปา ไฟฟ้า ค่าเช่าบ้าน ผ่อนบ้าน ค่าโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต การศึกษาบุตร ดูแลบุพการี ค่าใช้จ่ายสิ่งของเครื่องใช้ในบ้าน) เดือนละ 14,771.52 บาท

หากนำค่าใช้จ่ายรายวันและรายเดือนมารวมกันจะอยู่ที่ 21,382.92 ดังนั้น ค่าจ้างที่พอเลี้ยงครอบครัวได้อยู่ที่วันละ 712 บาท

แต่ตอนนั้น คสรท.และ สรส.ได้ประชุมร่วมกันและมีมติเสนอตัวเลขในการปรับค่าจ้างเชิงประนีประนอม โดยคำนวณเฉพาะค่าใช้จ่ายรายเดือนมาเฉลี่ยด้วย 30 วัน ดังนั้น ตัวเลขที่เสนอปรับค่าจ้างในครั้งนี้จึงอยู่ที่วันละ 492 บาท และขอให้ปรับขึ้นในอัตราเท่ากันทั้งประเทศ

ย้อนรอยการปรับค่าจ้างของรัฐบาล

ค่าจ้างขั้นต่ำมีการปรับเพิ่มล่าสุด มีผลบังคับใช้ 1 ตุลาคม 2565 โดยการปรับขึ้นแบ่งเป็น 9 อัตรา ได้แก่

1) ค่าจ้าง 354 บาท มี 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และภูเก็ต

2) ค่าจ้าง 353 บาท มี 6 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร

3) ค่าจ้าง 345 บาท มี 1 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา

4) ค่าจ้าง 343 บาท มี 1 จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา

5) ค่าจ้าง 340 บาท มี 14 จังหวัด คือ ปราจีนบุรี หนองคาย อุบลราชธานี พังงา กระบี่ ตราด ขอนแก่น เชียงใหม่ สุพรรณบุรี สงขลา สุราษฎร์ธานี นครราชสีมา ลพบุรี และสระบุรี

6) ค่าจ้าง 338 บาท มี 6 จังหวัด คือ มุกดาหาร กาฬสินธุ์ สกลนคร สมุทรสงคราม จันทบุรี และนครนายก

7) ค่าจ้าง 335 บาท มี 19 จังหวัด คือ เพชรบูรณ์ กาญจนบุรี บึงกาฬ ชัยนาท นครพนม พะเยา สุรินทร์ ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย พัทลุง อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ ประจวบคีรีขันธ์ พิษณุโลก อ่างทอง สระแก้ว บุรีรัมย์ และเพชรบุรี

8) ค่าจ้าง 332 บาท มี 22 จังหวัด คือ อำนาจเจริญ แม่ฮ่องสอน เชียงราย ตรัง ศรีสะเกษ หนองบัวลำภู อุทัยธานี ลำปาง ลำพูน ชุมพร มหาสารคาม สิงห์บุรี สตูล แพร่ สุโขทัย กำแพงเพชร ราชบุรี ตาก นครศรีธรรมราช ชัยภูมิ ระนอง และพิจิตร

9) ค่าจ้าง 328 บาท มี 5 จังหวัด คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส น่าน และอุดรธานี

และย้อนไปก่อนหน้านั้น การปรับค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศไทยเกิดขึ้นเมื่อ 1 มกราคม 2563 อัตราค่าจ้างขั้นต่ำได้ถูกแบ่งออกเป็น 10 ราคา ตามเขตพื้นที่ คือ 313 บาท, 315 บาท, 320 บาท, 323 บาท, 324 บาท, 325 บาท, 330 บาท, 331 บาท, 335 บาท และ 336 บาท