เปิด 14 ข้อเรียกร้องวันแรงงานปี’65 จ่ายค่าจ้างเป็นธรรม-คุมราคาสินค้า

กลุ่มแรงงานเดินขบวนยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา 14 ข้อ ตั้งแต่เรื่องค่าแรงไปจนถึงการควบคุมราคาสินค้า และปฏิรูปการประกันสังคม

วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายวรรณรัตน์ ศรีสุขใส รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เป็นตัวแทนรัฐบาล รับหนังสือข้อเรียกร้องเนื่องในวันแรงงานแห่งชาติประจำปี 2565 จากคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ (สรส.) นำโดยนายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธาน คสรท. เป็นผู้ยื่นข้อเรียกร้อง ณ บริเวณด้านหน้าทำเนียบรัฐบาล

นายวรรณรัตน์กล่าวว่า เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ ทุกปีจะมีการจัดกิจกรรมของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน รวมทั้งมีการยื่นข้อเรียกร้องมายังรัฐบาล ในวันนี้ท่านสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงได้มอบหมายให้ผมในนามตัวแทนรัฐบาลมารับหนังสือข้อเรียกร้องจากผู้นำแรงงาน

ซึ่งท่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน และนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ให้ความสำคัญกับการมุ่งยกระดับศักยภาพและดูแลคุณภาพชีวิตของพี่น้องผู้ใช้แรงงานทุกมิติ ซึ่งล้วนเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนาความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

สำหรับข้อเรียกร้องเนื่องในวันแรงงานแห่งชาติประจำปี 2565 ของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ (สรส.) มีจำนวน 14 ข้อ ได้แก่

1) กำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน

2) ควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะราคาน้ำมัน เพื่อเพิ่มรายได้และกำลังซื้อให้กับประชาชน โดยเฉพาะผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ จะได้สามารถขับเคลื่อนกิจกรรมเศรษฐกิจฐานล่างในภาพรวมได้อย่างแท้จริง

3) หยุดการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในทุกรูปแบบ และให้มีการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพในการให้บริการที่ดี มีคุณภาพ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน

4) ปรับปรุงโครงสร้างทางภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำสร้างเป็นธรรมให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน เพิ่มศักยภาพการจัดเก็บภาษีเพื่อนำมาใช้เป็นงบประมาณแผ่นดินในการพัฒนาประเทศยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนทุกมติทุกคนอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม ด้วยการปรับปรุงการจัดเก็บภาษีน้ำมันที่ซ้ำซ้อน รวมถึงกำหนดการงดเก็บ หรือเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันให้มีความเหมาะสม รวมถึงยกเลิกการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ กำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าอย่างจริงจัง การจัดเก็บภาษีการซื้อขายหุ้นในอัตราที่ไม่น้อยจนเกินไป ภาษีที่ดิน ภาษีมรดกให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว

5) ปฏิรูปการประกันสังคม

6) ต้องจัดสวัสดิการถ้วนหน้าที่มีคุณภาพให้แก่ประชาชนทุกคนได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียม โดยไม่เลือกปฏิบัติ

7) รัฐบาลต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)

8) ยกเลิกนโยบายการจำกัดอัตรากำลังบุคลากรภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และยกเลิกนโยบายการลดสิทธิประโยชน์ สวัสดิการของพนักงานและครอบครัว

9) กำหนดให้ลูกจ้างภาครัฐในหน่วยงานราชการต่าง ๆ ทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นรับค่าจ้างจากงบประมาณแผ่นดิน และต้องบรรจุเป็นข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างประจำ

10) ดูแลให้มีการปฏิบัติและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด กรณีที่นายจ้างเลิกจ้างคนงานโดยไม่จ่ายค่าชดเชย หรือจ่ายไม่ครบที่กฎหมายกำหนด เช่น การปิดกิจการ หรือการยุบเลิกกิจการในทุกรูปแบบ (ตามรัฐธรรมนูญ หมวด 5 มาตรา 53)

11) จัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุน โดยให้นายจ้างจ่ายเงินเข้ากองทุนเพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิของคนงาน เมื่อมีการเลิกจ้างหรือปิดกิจการ โดยนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย คนงานต้องได้สิทธิรับเงินจากกองทุนนี้ พร้อมทั้งการสนับสนุนค่าดำเนินการทางคดีระหว่างผู้ประกอบการกับคนงาน หรือรัฐกับผู้ประกอบการที่ทำผิดกฎหมาย

12) พัฒนากลไกเข้าถึงสิทธิและการบังคับใช้กฎหมายความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน อย่างจริงจัง รัฐจะต้องจัดสรรงบประมาณ ให้แก่สถาบันความปลอดภัยฯ ให้เพียงพอ สำหรับการบริหารจัดการเรื่องความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพ และสร้างกลไก กติกา ภายใต้การมีส่วนร่วมของคนงานทุกภาคส่วน และยกเลิกการใช้แร่ใยหินทุกรูปแบบ

13) ต้องยกเลิกการจ้างงานที่ไม่มั่นคง เช่น การจ้างงานแบบชั่วคราว รายวัน รายชั่วโมง เหมาค่าแรง เหมางาน เหมาบริการ และการจ้างงานบางช่วงเวลา ทั้งภาครัฐและเอกชน

14) ข้อเสนอเพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ

ทั้งนี้ โฆษกกระทรวงแรงงานกล่าวว่า กระทรวงแรงงานจะเร่งดำเนินการตามข้อเรียกร้องและจะรายงานผลการดำเนินให้ทราบต่อไป