MQDC Design สร้างสรรค์เมืองน่าอยู่ด้วยคนรุ่นใหม่

บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) ร่วมกับสภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (CDAST) จัดโครงการประกวดผลงานออกแบบพื้นที่สาธารณะในหัวข้อ “MQDC Design Competition 2023-RE-imagining Thai Social Space : City Festival as Design Intervention”

เพื่อเฟ้นหาสุดยอดผลงานออกแบบพื้นที่สาธารณะ และพื้นที่กึ่งสาธารณะของเมืองให้สามารถรองรับกิจกรรมทางสังคม ด้วยสถาปัตยกรรมที่ตอบโจทย์การใช้งานจริงในการสร้างสรรค์เมืองแห่งงานเทศกาล หรือการจัดการกิจกรรมชั่วคราว พร้อมขับเคลื่อนเมืองให้น่าอยู่อาศัยมากขึ้นสำหรับทุกคน

นอกจากนี้ MQDC และ CDAST ยังเปิดเวทีการออกแบบอย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนนักออกแบบรุ่นใหม่ของไทยให้มีส่วนร่วมในการสร้างนวัตกรรมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อันสอดคล้องกับกลยุทธ์หลักของ MQDC ภายใต้แนวคิด “For All Well-Being” ที่มุ่งมั่นสร้างสรรค์ความเป็นอยู่ที่ดี และยั่งยืนให้แก่ทุกชีวิตบนโลกใบนี้

“ผศ.ดร.รัฐพงษ์ อังกสิทธิ์” ผู้แทนประธานสภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (CDAST) กล่าวว่าปัจจุบันเทรนด์ของการออกแบบเมืองทั่วโลกมุ่งให้ความสำคัญกับ inclusive place for city festival หรือพื้นที่สาธารณะ และพื้นที่กึ่งสาธารณะที่ช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนเมือง พร้อมเปิดพื้นที่ให้คนทุกเพศทุกวัยสามารถเข้าถึงสถานที่จัดงานกิจกรรมได้อย่างเท่าเทียม

สำหรับโจทย์ที่มอบให้นักออกแบบประชันไอเดียตามแนวคิด RE-imagining Thai Social Space : City Festival as Design Intervention มีดังนี้

หนึ่ง การออกแบบสถาปัตยกรรม หรือการออกแบบองค์ประกอบใหม่ของพื้นที่ให้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อม และพฤติกรรมของชุมชน (design intervention)

สอง การออกแบบกิจกรรม/งานเทศกาลชั่วคราวตามบริบทของพื้นที่

สาม การออกแบบที่สะท้อนเอกลักษณ์ และความร่วมมือของพื้นที่

สี่ การออกแบบที่สร้างบรรยากาศที่สร้างแรงบันดาลใจ สร้างความมีชีวิตชีวา และสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับเมือง สำหรับความต้องการด้านพื้นที่

ซึ่งแต่ละทีมต้องออกแบบผลงานที่ประกอบด้วย 3 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่จัดกิจกรรม พื้นที่เชิงพาณิชย์ และพื้นที่บริการ ในสัดส่วนที่สามารถกำหนดตามความเหมาะสม โดยแต่ละทีมที่ผ่านเข้ารอบ 20 ทีมสุดท้ายได้แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ของเขาสามารถต่อยอดเป็นสถาปัตยกรรมที่ตอบโจทย์สังคม และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คนอย่างเป็นรูปธรรม

“ไชยยง รัตนอังกูร” หัวหน้าคณะที่ปรึกษา Creative Lab by MQDC ในฐานะผู้จัดทำการประกวดแบบ กล่าวว่า โครงการประกวดในปีนี้ ยังคงรักษาไว้ซึ่งเป้าหมายในการยกระดับพื้นที่ส่วนกลาง ทั้งพื้นที่สาธารณะ และกึ่งสาธารณะของเมืองให้สามารถรองรับการจัดงานเทศกาลที่กระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางสังคม และตอบโจทย์การใช้พื้นที่เมืองในอนาคต

ทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย ให้มีความพร้อมก้าวสู่มาตรฐานสากล โดยพื้นที่ออกแบบจะต้องมีศักยภาพในการดึงการมีส่วนร่วมของผู้คนในชุมชน เพื่อนำไปสู่การสร้างกิจกรรมเมืองรูปแบบใหม่ที่ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ

สำหรับจุดเด่นของการประกวดแบบครั้งนี้คือการหวังผลให้นำแบบมาใช้ได้ในพื้นที่จริง ดังนั้น โจทย์ในการออกแบบจึงมีสเกลจากพื้นที่ต้นแบบจริง ซึ่งมีให้เลือก 2 กลุ่มคือผู้เข้าประกวดที่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล จะใช้พื้นที่ในย่านสุขุมวิทตอนใต้ ได้แก่ 1.สำนักงานเขตพระโขนง 2.เพลินพระโขนง 3.ลานหน้าโรงเรียนวัดธรรมมงคล 4.101 True Digital Park 5.Cloud 11 และ 6.Bitec Buri

ส่วนผู้เข้าประกวดที่อยู่นอกเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล ให้ใช้พื้นที่สาธารณะของเมือง เช่น ลานโล่งหน้าอาคารสำคัญ หรือพื้นที่ย่านเมืองเก่า เป็นต้น โดยทั้งหมดจะต้องมีการศึกษาข้อมูล และนำเสนอตามหลักการออกแบบ

เพราะการจัดงานในพื้นที่สาธารณะเป็นเรื่องซับซ้อนที่ต้องมีการวางแผนบริหารจัดการจากทั้งนักออกแบบ ภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนในพื้นที่ เราจึงนำมาเป็นโจทย์ว่าในฐานะนักออกแบบคิดว่างานเทศกาลจะสร้างการเปลี่ยนแปลงกับเมืองและประเทศของเราอย่างไร

“การจัดโครงการในปีนี้เป็นการต่อยอดความสำเร็จจากปีก่อน ซึ่งในปีนี้มีนักออกแบบเข้าร่วมมากถึง 1,222 คน ถือเป็นโครงการประกวดแบบที่มีผู้สมัครเข้าร่วมมากที่สุดในประเทศไทย โดย MQDC และ CDAST พร้อมเดินหน้าโครงการเพื่อยกระดับพื้นที่จัดงานสู่มาตรฐานสากลในอนาคต”

รางวัลการประกวดแบ่งออกเป็นประเภทนิสิตนักศึกษา และประเภทบุคคลทั่วไป ประเภทละ 4 รางวัล คือ รางวัลชนะเลิศ (Gold) รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 (Silver) และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 (Bronze) และรางวัลชมเชยประเภทละ 3 รางวัล โดยจะได้รับเงินรางวัลรวมกว่า 2,000,000 บาท พร้อมใบประกาศเกียรติคุณ และผู้ชนะเลิศระดับ Gold จะได้รางวัลเดินทางดูงานต่างประเทศ

ส่วนประเภทนิสิต/นักศึกษานำเสนอผลงานต่อคณะกรรมการในวันที่ 27 เมษายน 2566 โดยรางวัลชนะเลิศ และรองชนะเลิศ มีดังนี้ รางวัลชนะเลิศ (Gold) ได้แก่ ทีม A222 ผลงาน “ลานละคร” ของ ชยพล สิทธิกรวรกุล, จิรายุส วงศ์เจริญสถิตย์, วศิน เซี่ยงจันทร์ และปภัสสร นพไพบูลย์รัตน์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 (Silver) ได้แก่ ทีม A265 ผลงาน “อัสดงร่วมกัน” ของ ตะวัน ตันธนะสาร จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 (Bronze) ได้แก่ ทีม A112 ผลงาน “ไทย-มู(ง)” ของ วีรวัฒน์ อันทะเกต, รัตนาพร คนคม และภพพลอย สิมเมือง จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สำหรับประเภทบุคคลทั่วไปนำเสนอผลงานต่อคณะกรรมการในวันที่ 28 เมษายน 2566 โดยรางวัลชนะเลิศ และรองชนะเลิศ มีดังนี้ รางวัลชนะเลิศ (Gold) ได้แก่ ทีม B124 ผลงาน “อ้อ-มา-กา-เสะ” ของ ศักดิธัช พิทักษ์กชกร, สิตานัน ธีรเจริญชัย, ธรรม์ดา ฤกษ์ไพศาล และภัทรชนน วรานุกูลศักดิ์

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 (Silver) ได้แก่ ทีม B152 ผลงาน “รัก ล่อง หน” ของ วิภพ มโนปัญจสิริ และณัทน์ธัญ อธิศธันยวัศ ส่วน รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 (Bronze) ได้แก่ ทีม B106 ผลงาน “Lamphun Art and Craft Festival ศิลปะ ทอ เมือง” ของ อัญมณี มาตยาบุญ, ศศิวิมล บุญเต็งชาญ และภัคพล เจนพาณิชย์ ทั้งนี้ รางวัล Popular Vote 1 รางวัล จะประกาศผลในวันที่ 2 มิถุนายน 2566

นับว่า MQDC Design Competition 2023 ตอบโจทย์ต่อการใช้พื้นที่เมืองในอนาคตของคนเมืองยุคใหม่ เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ กระตุ้นการท่องเที่ยว เสริมสร้างภาพลักษณ์ของเมือง จนทำให้เกิดการพัฒนาย่านต่าง ๆ ด้วยสถาปัตยกรรมที่ตอบโจทย์การใช้งานจริง เพื่อสร้างสรรค์เป็นเมืองแห่งงานเทศกาล หรือการจัดการกิจกรรมชั่วคราว พร้อมขับเคลื่อนเมืองให้น่าอยู่อาศัยมากขึ้นสำหรับทุกคน