จุฬาฯเปิดหลักสูตร “เวฬา” สร้างบุคลากรการแพทย์ป้อนเมดิคัล ฮับ

ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์

เมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดตัวหลักสูตร Lifelong Learning ด้านสุขภาพ และการแพทย์ ชื่อหลักสูตร “เวฬา” หรือ “Vitality Enhancement & Longevity Academy(VELA)” สำหรับบุคลากรสาธารณสุข และภาคธุรกิจที่เกี่ยวกับสุขภาพ และการแพทย์ทุกระดับ โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับมาตรฐานวิชาชีพบุคลากรในอุตสาหกรรมการแพทย์ของไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ

“ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์” อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง 2 องค์กรครั้งนี้เกิดจากวิสัยทัศน์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ที่สอดคล้องกัน โดยเล็งเห็นถึงความสำคัญของวิทยาการความก้าวหน้าทางด้านการแพทย์ และสาธารณสุข ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดในระดับโลก

อีกทั้งประเทศไทยยังมีเป้าหมายขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยอุตสาหกรรมการแพทย์ จึงจำเป็นต้องพัฒนาบุคลากรในด้านการธุรกิจและบริการด้านสุขภาพรองรับการเติบโต โดยเน้นรูปแบบการเรียนรู้ที่ครอบคลุมทุกช่วงวัย มีความยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ หรือที่เราเรียกว่าการเรียนรู้ตลอดชีวิต (lifelong learning)

การเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นแพลตฟอร์มใหญ่ที่จะทำให้คนในสังคมได้รับองค์ความรู้อย่างเปิดกว้างมากขึ้น ไม่ใช่เรียนรู้เฉพาะอยู่ในระบบ ซึ่งหมายความว่านิสิตต้องได้รับความรู้จากข้างนอก ส่วนคนข้างนอกต้องได้ความรู้จากข้างในรั้วมหาวิทยาลัยเช่นกัน ขณะเดียวกัน สถาบันการศึกษาก็ต้องเชื่อมโยงกับสังคมภายนอกมากขึ้น

“อีกความหมายหนึ่งคือ องค์ความรู้ทุกวันนี้ค่อนข้างมีความหลากหลายให้คนไทยเลือกเข้าไปเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเทคโนโลยี, Fintech (ฟินเทค) หรือเรื่องการลงทุนต่าง ๆ และอีกหลาย ๆ เรื่องที่ทำกันทุกสถาบัน แต่ผมคิดว่าสิ่งที่เป็นเรื่องใกล้ตัวคนมากที่สุดวันนี้คือเรื่องการแพทย์และสุขภาพ โดยเฉพาะเรื่องการกินดีอยู่ดี helth and well being

เพราะประเทศไทยตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าต้องการผลักดันประเทศสู่การเป็นเมดิคัล ฮับ (Medical Hub) อย่างเต็มรูปแบบ นอกจากจะช่วยดึงเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศแล้ว ยังเพิ่มการจ้างงาน และเชื่อมโยงไปยังธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้อีกมากมาย ดังนั้น เรื่องนี้จึงสำคัญ และจุฬาฯอยากเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้เกิดความสำเร็จ”

ถามว่าจะช่วยให้เกิดความสำเร็จได้อย่างไร ?

“ศ.ดร.บัณฑิตย์” กล่าวว่า เนื่องจากประเทศไทยมีข้อดีอยู่แล้ว คือมีเครือข่ายสุขภาพที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ทั้งกรมอนามัย อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กว่า 1.9 ล้านคน ดังนั้น หลักสูตรเวฬาที่เราพัฒนาขึ้นร่วมกับกรม สบส.จึงมีเป้าหมายอยากกระจายองค์ความรู้ไปสู่เครือข่ายสุขภาพ และเพื่อช่วยกระจายองค์ความรู้สู่สังคมและชุมชนต่อไป

เพราะกลุ่มผู้เรียนกลุ่มแรกที่เราเปิดรับ คือกลุ่มคนที่ดูแลเรื่องสุขภาพ ดูแลอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ ดูแลสังคมสูงวัย หรือบุคลากรแพทย์ รวมถึงกลุ่มผู้ดูแลเรื่องค่าใช้จ่าย เพราะเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวโยงกับเรื่องการเจ็บป่วยอย่างเดียว แต่เป็น well being มีเรื่องไลฟ์สไตล์ การใช้ชีวิต การกินอาหารแบบไหน ออมเงินยังไงด้วย เป็นต้น

ส่วนเนื้อหาในหลักสูตรจะค่อนข้างแตกต่างจากโรงเรียนแพทย์ทั่วไป ผมเรียกว่าเป็นหลักสูตรแนวขวาง ไม่ใช่แนวลึก เน้นการเอาไปใช้งาน ปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา สมมติเรียนเรื่องสังคมสูงวัย ก็อาจจะดูว่าความต้องการของกลุ่มผู้สูงวัยคืออะไร เพราะเนื้อหาของหลักสูตรประกอบด้วย

1.อัพเดตเทรนด์การแพทย์ และสุขภาพที่เชื่อมโยงกับสังคม นโยบาย และเศรษฐกิจ 2.มีสุขภาวะที่ดีจากการออกกําลังกาย การแพทย์แม่นยํา และความก้าวหน้าของ OMICs หมายถึงการศึกษาสิ่งมีชีวิตแบบองค์รวม หรือการศึกษาสิ่งมีชีวิตแบบทั้งระบบ 3.รู้จักเวชศาสตร์ฟื้นฟูสภาวะเสื่อม ด้วยงานวิจัยทางการแพทย์จากทั่วโลก

4.รวมเรื่องสุขภาพเพศ ทั้งการแก้ไขและรักษาความผิดปกติ รวมทั้งผลิตภัณฑ์ และบริการสุขภาพทางเพศ 5.ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพ รวมทั้งการดูแลสุขภาพสมอง และความจำ 6.อัพเดตเทรนด์สุขภาวะ โภชนาการ และการควบคุมนํ้าหนัก 7.เจาะลึกการแพทย์ทางเลือก ทั้งแผนไทย จีน และอื่น ๆ ทั้งในและต่างประเทศ 8.ดูแลสุขภาพกายและจิตด้วย “ศิลปะบำบัด” ที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับ

9.แก้ไขและรักษาความผิดปกติเรื่องการนอนหลับ และปัญหาสุขภาพจิต 10.สูงวัยแบบอุ่นใจ ด้วยความรู้การจัดการเงิน จากผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินสำหรับผู้สูงวัย 11.ดูแลผู้ป่วยสูงวัยระยะสุดท้ายให้อยู่ดีมีสุข เพื่อการจากไปอย่างสุขสงบ และ 12. ลงพื้นที่จริงทำกิจกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม พร้อมดูงานทั้งในและต่างประเทศ (เยอรมนี) โดยที่ค่าเล่าเรียนอยู่ที่ 189,000 บาท (ไม่รวม VAT) เริ่มเรียนเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม 2566

“จะเห็นว่าเนื้อหาทั้งหมดเป็นเรื่องเกี่ยวกับการรักษาสุขภาพตนเองเบื้องต้น จุฬาฯและกรม สบส.เล็งเห็นว่าเป็นองค์ความรู้ที่คนทั่วไปสามารถนำไปใช้ได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์ที่สถานพยาบาลเสมอไป เป็นการลดความแออัดในสถานพยาบาลด้วย

นอกจากนี้ ยังคาดหวังว่าหลักสูตรจะช่วยให้อะไรที่เดิมทำไม่ได้ คิดไม่ออก อาจจะช่วยให้คิดออกและทำได้ เพราะผู้ที่เข้าเรียนหลักสูตรนี้จะได้เครือข่าย คอนเน็กชั่น ยกตัวอย่างปัญหาและอุปสรรคเดิมของอุตสาหกรรมแพทย์ เช่น คนขายเครื่องมือแพทย์ ก็ขายให้แต่โรงพยาบาล คนใช้ก็มีแต่แพทย์”

“แต่ผมเชื่อว่ามันมีเครื่องมือแพทย์ที่สามารถเอาไปใช้ประโยชน์ได้อีกมาก และประชาชนสามารถเข้าถึงได้เอง เช่น นาฬิกาวัดสุขภาพ เครื่องมือวัดความดัน ออกซิเจน ซึ่งต่อไปนี้อยากจะใช้เครื่องมือตรวจ ประเมินสุขภาพเบื้องต้น ก็ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปพบแพทย์ ที่สำคัญอาจจะเกิดการสร้างศูนย์สุขภาพในสถานที่ต่าง ๆ ที่เป็นพื้นที่สาธารณะให้คนไทยเข้าถึงการรักษา ดูแลสุขภาพง่ายขึ้น”

“ศ.ดร.บัณฑิตย์” กล่าวต่อว่า บทบาทจุฬาฯเป็นแพลตฟอร์มความรู้ และผู้เชื่อมโยงเครือข่าย เพื่อช่วยแก้ปัญหาประเทศ ดูแลบ้านเมือง เรามีการทำหลายเรื่อง ต่อไปนี้บริบทของภาคการศึกษาอาจจะเปลี่ยนไป นอกจากเป็นมหาวิทยาลัยการเรียนรู้ตลอดชีวิต อนาคตหลักสูตรปริญญาตรีอาจไม่จำเป็นต้องเรียนยาวถึง 4 ปี แต่อาจจะเป็นหลักสูตรที่เป็นหัวข้อ ๆ ไป เป็นรูปแบบใหม่ ๆ สับย่อยรายวิชาที่สามารถเอาความรู้ไปใช้งานได้เร็วขึ้น ร่วมมือกับภายนอกมากขึ้น

“สมัยก่อนเวลาเราเรียนอะไรก็ตามที่เป็นวิชายาว ๆ คนเรียนก็เรียนอย่างเดียว แต่ไม่รู้ว่าข้างนอกมีเครื่องมืออะไร กว่าจะได้องค์ความรู้เพียงพอก็แก่ตัว ไม่ทันได้นำเอาองค์ความรู้ไปใช้ แต่วันนี้ทุกอย่างเปลี่ยน ข้างนอกมีเครื่องมือเต็มไปหมด สังคมมีความพร้อมหลายด้าน

ดังนั้น จุฬาฯ เองก็ยังทำหน้าที่ของตนเองอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านผลิตบัณฑิตและการบริการสังคม โดยการนำเอาองค์ความรู้ที่มีอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยมาใช้ ขณะเดียวกัน ก็ต้องร่วมมือกับภายนอก สร้างเครือข่าย เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยง และเกิดความเข้มแข็งในทุกด้าน”

ถึงจะทำให้ “หลักสูตรเวฬา” ประสบความสำเร็จ