12 สมรรถนะ ผู้นำโลกอนาคต

คอลัมน์ HR Corner

โดย พิชญ์พจี สายเชื้อ

วันนี้ขอเล่าเกี่ยวกับสมรรถนะผู้นำสำหรับโลกอนาคต โดยอ้างอิงจากบทความ “12 Critical Competencies for Leadership in the Future” ที่ตีพิมพ์ใน People Matters Magazine นะคะ

บทความเรื่องนี้พูดถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่เกิดขึ้นในโลกอนาคต ที่มักจะเรียกกันว่า “VUCA World” ซึ่งเป็นคำย่อของความผันผวน (volatility), ความไม่แน่นอน (uncertainty), ความสลับซับซ้อน (complexity) และความคลุมเครือ (ambiguity)

“VUCA World” เดิมเป็นคำที่ทางกองทัพสหรัฐอเมริกาใช้เรียกสถานการณ์ในสงครามที่แอฟริกาและอิรัก ต่อมานำมาใช้ในโลกธุรกิจเพราะการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมเศรษฐกิจในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และเป็นความท้าทายของผู้นำในองค์กรที่ต้องทำความเข้าใจและปรับตัวให้ทัน

ซึ่งผลกระทบจาก “VUCA World” ทำให้สมรรถนะผู้นำในอนาคตต้องปรับเปลี่ยนตาม โดยสมรรถนะผู้นำสำหรับโลกอนาคตจะประกอบด้วย 12 สมรรถนะหลัก ดังนี้ (ดูรูปประกอบ)

1) Develop an Adaptive Mindset หมายถึงการที่ผู้นำต้องสร้างความคุ้นชินกับการเผชิญกับสถานการณ์ใหม่ที่ไม่เคยพบมาก่อน หรือไม่มีแนวทางแก้ไขมาก่อน ในโลกอนาคตจะมีสิ่งใหม่เกิดขึ้นเสมอ ผู้นำจะเจอกับคำว่า “ครั้งแรก” มากกว่าปกติที่เคยเจอมา และต้องทำตัวให้ชินและแก้ปัญหาให้ผ่านไปให้ได้อย่างรวดเร็ว เพื่อรอรับสถานการณ์ครั้งใหม่ที่จะเป็นครั้งแรกอีกครั้ง

2) Have a Clear Vision หมายถึงผู้นำต้องมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนสำหรับอนาคต เพราะนั่นคือสิ่งที่พนักงานรุ่นใหม่มองหา เนื่องจากพนักงานนิวเจนมักเป็นคนที่เน้นผลสำเร็จเป็นหลัก พวกเขาต้องการรู้ว่าสิ่งที่เขาทำวันนี้ตอนจบ (บริษัท) จะเป็นอย่างไร ผลงานของเขาจะช่วยบริษัทอย่างไร

3) Embrace Abundance Mindset หมายถึงการที่ผู้นำต้องใจกว้าง เปิดรับและมองเห็นโอกาสไม่ใช่มองเห็นแต่ปัญหาตลอดเวลา โดยผู้นำต้องมองไปให้ไกลถึงอนาคต หาโอกาสสำหรับอนาคตที่คนอื่นมองไม่เห็น เพื่อนำมาวางแผนให้ดีที่สุด

4) Weave Ecosystems for Human Engagement ผลการวิจัยพบว่าความท้าทายหลักที่ CEO ประสบอยู่คือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริหารคนด้าน soft side ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสร้างวัฒนธรรมองค์กร การสร้างความผูกพันในองค์กร การสร้างภาวะผู้นำ และการพัฒนาผู้นำ ดังนั้น การเป็นผู้นำสำหรับโลกอนาคตจะต้องเป็นผู้นำที่สามารถสร้างศรัทธา (trust) เพื่อพัฒนา soft side พวกนี้ให้ได้ เพื่อให้พนักงานมีความผูกพันต่อองค์กรและสร้างให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงาน

5) Anticipate and Create Change หมายถึงการที่ผู้นำจะต้องมองเห็นความจำเป็นที่จะเปลี่ยนแปลง “ก่อน” (ผู้อื่น) และสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ได้ (ก่อนที่จะถูกบังคับให้เปลี่ยนจากสถานการณ์ภายนอกโดยไม่ได้วางแผนให้ดีพอ)

6) Be Self-aware หมายถึงผู้นำต้องมีความตระหนักรู้ในจุดแข็งและจุดอ่อนของตนเองก่อน เพื่อที่จะปรับใช้สไตล์การบริหารที่เหมาะสมกับทั้งตนเองและองค์กร เพื่อไปสู่จุดหมายที่ต้องการได้

7) Be an Agile Learner หมายถึงผู้นำสำหรับโลกอนาคตต้องเป็นคนที่เป็นน้ำที่ไม่เต็มแก้วตลอดเวลา คือต้องตื่นตัวเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ (learning new thing) ตลอดเวลา และต้องรู้จักเลิกความเชื่อหรือยึดติดกับความคิดเก่า ๆ (unlearn old thing) ที่เคยทำได้ผลมาแล้วด้วย

ดิฉันเห็น CEO บริษัทชั้นนำในเมืองไทยหลายท่านนำพาองค์กรฝ่าฟันการเปลี่ยนแปลงไปได้ในโลก VUCA เพราะท่านมีคุณสมบัติเด่นเรื่องนี้ เป็น CEO ใหญ่โตแต่ใฝ่เรียนรู้ตลอดเวลา ไม่รู้ก็ถามไม่อายด้วยค่ะ

8) Network and Collaboration หมายถึงผู้นำต้องรู้จักสร้างพันธมิตรธุรกิจผ่านเน็ตเวิร์กต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกองค์กร และองค์กรแห่งโลกอนาคตอยู่เดี่ยวไม่ได้ค่ะ

9) Relentlessly Focus on Customer หมายถึงเรื่องการให้ความสำคัญต่อลูกค้า คงไม่ต้องพูดมาก เอาเป็นว่าผู้นำต้องไม่เหน็ดเหนื่อยที่จะดูแลและให้ความสนใจต่อความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก

10) Develop People สำคัญที่สุดสำหรับผู้นำในโลกอนาคต คือ การสร้างผู้นำรุ่นถัดไป โดยตัวเองเป็นต้นแบบที่ผู้นำองค์กรต้องการ องค์กรจะเติบโตสู่อนาคตไม่ได้ถ้าไม่มีผู้นำที่ดีรองรับอนาคต

11) Design for the Future หมายถึงผู้นำสำหรับอนาคต ต้องเป็นผู้ออกแบบอนาคตสำหรับองค์กรในเรื่องต่าง ๆ เช่น วัฒนธรรม, ระบบงาน, โครงสร้างการทำงาน เป็นต้น

12) Constantly Clarify and Communicate ในโลกอนาคตเครื่องมือสื่อสารมีพร้อมและรวดเร็วมาก ดังนั้น ผู้นำต้องรู้จักใช้เครื่องมือพวกนี้ในการสร้างความชัดเจน (ในเรื่องความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอด) และสื่อสารให้พนักงานทราบตลอดเวลา

ก่อนจบดิฉันขอ highlight ในเรื่องสมรรถนะที่ดิฉันคิดว่าสำคัญมากเป็นพิเศษจากประสบการณ์จริงในเมืองไทย คือเรื่องการเป็นผู้นำต้องใฝ่เรียนรู้ตลอดเวลา เพราะโลกเปลี่ยนตลอด ซึ่งจะทำให้มองเห็นความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยน “ก่อน” คนอื่น เมื่อตระหนักแล้วก็ต้อง “กล้า” ที่จะเปลี่ยนด้วย

นอกจากนี้ ต้องมีเน็ตเวิร์กที่ดี (เพราะสังคมไทยเป็นสังคมอุปถัมภ์) และต้องสื่อสารในองค์กรให้ชัดเจนตลอดเวลา (เพราะองค์กรจะเปลี่ยนตลอด พนักงานก็อยากรู้ว่าทำไมเปลี่ยน) และที่สำคัญที่สุดคือเรื่องการบริหารคน ทั้งการเป็นต้นแบบเพื่อสร้างศรัทธาแก่พนักงาน ซึ่งนำไปสู่ความผูกพันในองค์กร การพัฒนาและสร้างผู้นำรุ่นใหม่รองรับอนาคตไกล ๆ

ถ้าทำได้ตามนี้ ความสำเร็จในโลกอนาคตก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินกำลังค่ะ