วานา เวลเนส รีสอร์ท กรีนโฮเทล เหรียญทองแห่งหนองคาย

จังหวัดหนองคายได้ชื่อว่าเป็นจังหวัด “น่าอยู่” ติดอันดับโลก ระยะหนึ่งเคยเป็นจังหวัดที่นักท่องเที่ยวญี่ปุ่นแห่กันมาท่องเที่ยวและใช้ชีวิตอยู่นานเป็นเดือน ๆ แต่ปัจจุบัน บรรยากาศการท่องเที่ยวเปลี่ยนแปลงไป นักท่องเที่ยวมีหลายชาติหลายภาษา แต่ความน่าอยู่ของหนองคายยังคงไม่เปลี่ยนแปลง

ยิ่งเมื่อมี “วานา เวลเนส รีสอร์ท” โรงแรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การันตีโดยรางวัลระดับดีเยี่ยม “กรีน โฮเทล” หรือ “G ทอง” ประจำปี 2561 จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นโรงแรมแห่งเดียวในภาคอีสานที่ได้รางวัลระดับเหรียญทอง และยังเป็นแห่งแรกของจังหวัดหนองคาย


“วานา เวลเนสฯ” มี “ชินวัฒน์ สกุลตั้งไพศาล” ทายาทคนโตของครอบครัว “สกุลตั้งไพศาล” เจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในหนองคาย เป็นเจ้าของและดูแล เขาเล่าว่า แรกเริ่มทีเดียวความตั้งใจทำธุรกิจโรงแรมไม่ได้มุ่งจะเป็น “กรีน โฮเทล” แค่เพียงอยากทำโรงแรมที่มีความแตกต่างจากโรงแรมอื่น ๆ ในหนองคาย ที่สำคัญ ต้องเป็นโรงแรมเพื่อสุขภาพ ซึ่งเป็นเทรนด์ที่มาแรงในยุคนี้

เมื่อความอยากบวกกับความต้องการของผู้เป็นแม่ที่อยากให้ลูกชายทำธุรกิจโรงแรม จึงเทกโอเวอร์โรงแรมแห่งนี้จากเจ้าของเดิมที่เป็นอดีตนายกเทศมนตรีเมืองหนองคาย “ชินวัฒน์” พบว่า โรงแรมมีพื้นที่สีเขียวอยู่มาก ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการของตัวเองอย่างลงตัว ที่อยากเน้นทำโรงแรมเพื่อการพักผ่อน และเพื่อสุขภาพ อย่างไรก็ตาม เมื่อเริ่มลงมือจริงจัง หลายครั้งที่เจ้าตัวแอบถอดใจ เพราะการจะทำธุรกิจโรงแรมในลักษณะนี้ได้ สิ่งสำคัญคือการเอาใจใส่ทุกรายละเอียด

ความเป็น “กรีน โฮเทล” ของวานา เวลเนส รีสอร์ท เริ่มตั้งแต่เรื่องของตัวอาคารที่มีการออกแบบให้ประหยัดพลังงาน โดยมีช่องแสง ช่องอากาศ ตลอดระเบียงทางเดิน สามารถให้แสงสว่างในเวลากลางวันได้โดยไม่ต้องเปิดไฟแม้แต่ดวงเดียว และมีระบบเทคโนโลยีที่เอื้อต่อการประหยัดพลังงานด้วย เช่น ตัวเซ็นเซอร์ที่ประตูเข้า-ออกห้องไปสู่สระว่ายน้ำ หรือสวน ใช้สำหรับผ่อนแอร์ให้ทำงานเบาลงถ้าแขกเปิดประตูทิ้งไว้ เป็นต้น ตามมาด้วยเรื่องของสิ่งแวดล้อม

“นอกจากปลูกต้นไม้ใหญ่สร้างความร่มรื่นแล้ว ทางโรงแรมยังใช้พื้นที่ว่างทุกตารางทำเป็นแปลงผัก ปลูกพืชสวนครัว บางครั้งดูเหมือนเป็นสวนไม้ประดับของโรงแรมเลยทีเดียว ผักที่ปลูกไม่ใช้สารเคมี เป็นผักออร์แกนิก มีตั้งแต่พริก, ผักชี, สะระแหน่, ต้นหอม, ผักกาดหอม, คะน้า, กระเทียม, ใบผักแป้น, พริกไทย ฯลฯ ผักเหล่านี้นำมาทำอาหารให้กับแขกที่มาพักรับประทาน ซึ่งมีปริมาณเพียงพอในแต่ละวัน แต่ถ้าวันไหนมีกรุ๊ปทัวร์ทางโรงแรมจะสั่งซื้อผักและวัตถุดิบเพิ่มเติมจากชุมชนที่อยู่ใกล้ ๆ เพื่อช่วยเหลือเพิ่มรายได้ให้กับชาวบ้านในชุมชน นอกจากนี้ ในช่วงเทศกาลต่าง ๆ หากมีแขกมาพักจำนวนมาก และพนักงานประจำไม่เพียงพอในการให้บริการ ทางโรงแรมจะเรียกคนในชุมชนมาทำงานโดยให้ค่าจ้างตามกฎหมายแรงงาน และค่าโอทีชั่วโมงละ 40 บาท เป็นการสร้างงานให้กับคนในชุมชนอีกทาง”

นอกจากนั้น ยังมีการจัดสรรพื้นที่ออกเป็นฐานต่าง ๆ อาทิ ฐานคัดแยกขยะ, ฐานทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ, บ้านใบไม้, การเพาะชำไม้ประดับ, บอนไซ ฯลฯ จนทำให้รีสอร์ตแห่งนี้กลายเป็นสถานที่ให้คนมาดูงานในเรื่องของสิ่งแวดล้อม การกำจัดขยะ และการคัดแยกขยะ รวมถึงการมีส่วนร่วมกับชุมชนด้วย

“ในห้องพักรวมถึงในโรงแรมไม่ใช้ขวดน้ำพลาสติก แก้วพลาสติก เป็นการลดปัญหาโลกร้อน ส่วนขยะที่เป็นเศษอาหารก็ไม่มีการทิ้ง แต่จะนำไปเลี้ยงสัตว์ หรือใช้ทำปุ๋ยชีวภาพ และที่บ้านพนักงานจะเลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ เราก็ให้เขานำเศษอาหารกลับบ้าน หรือให้คนในชุมชนไปทำประโยชน์อย่างอื่น ดังนั้น แต่ละวันจึงแทบไม่มีเศษอาหารเหลือเลย”

“ชินวัฒน์” บอกว่า เรื่องที่ “ยากลำบากที่สุด” ต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการทำโรงแรมสีเขียว เป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงความคิดของคน หรือการปรับเปลี่ยน “mindset” เพราะโรงแรมของเรามีทั้งพนักงานเดิม และพนักงานที่รับเข้ามาใหม่ เราจึงต้องสร้างความเข้าใจเรื่องกรีนโฮเทลกันใหม่ทั้งหมด

“ต้องคอยอธิบายว่ากรีน โฮเทลคืออะไร ทำไมต้องทำ แรก ๆ ก็ยากหน่อย ฟังบ้างไม่ฟังบ้าง ไม่เข้าใจ ไม่อินกับเรื่องแบบนี้ เราต้องไปหาวิทยากรมาพูด มาอบรม ช่วงแรก ๆ ประชุมกันบ่อยมาก แทบจะทุกสัปดาห์ สุดท้ายเลยใช้ทั้งการอบรมและใช้กฎระเบียบควบคุม เพราะเราเองอยากให้การทำงานมีมาตรฐานและต้องเสมอต้นเสมอปลาย ทำอย่างต่อเนื่อง กว่าพนักงานจะเริ่มเป็นรูปร่างในแนวเดียวกันใช้เวลานาน 3-4 เดือน จนพบว่าวิธีดีที่สุดคือการให้เขาเข้ามามีส่วนร่วมในงานที่ทำ ยกตัวอย่างคนดูแลสวน เขาคิดทำมะพร้าวบอนไซออกมา ดูสวยงาม มีคนชมเขาก็ภูมิใจ อยากทำอยากพัฒนา ซึ่งเป็นประโยชน์กับโรงแรมและกับตัวเขาเองด้วย”

สำหรับแผนต่อไปในอนาคต “ชินวัฒน์” บอกว่านอกจากรีโนเวตห้องพักให้ดูสบาย และสะอาดตาในสไตล์กรีนแล้ว เราจะขยายพื้นที่ปลูกผักเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันใช้อยู่ 20% ก็จะเพิ่มเป็น 70% ส่วนการรีโนเวตภายในห้องพัก ตอนนี้เริ่มทยอยทำบ้างแล้ว ดังนั้น ถ้าใครเคยมาพักที่วานา เวลเนสฯ จะรู้ว่าห้องพักที่นี่นอนหลับสบายดีจริงๆ

“ผมบอกเลยว่าที่นอน ผ้าปู ผ้าห่ม ปลอกหมอน เทียบเท่าโรงแรม 5 ดาว และขอบอกก่อนว่าคอนเซ็ปต์ของผมไม่ใช่ทำโรงแรมให้ดูหรูหรา แต่เป็นการทำแล้วให้สะอาด ดูแล้วสบายตา สบายใจ ส่วนความเป็นกรีน โฮเทล เรายังต้องรักษาไว้อย่างต่อเนื่อง เหรียญทองไม่ใช่ว่าได้แล้วได้เลย แต่เขาจะมีเจ้าหน้าที่มาประเมิน มาตรวจสอบด้วยว่าเรายังรักษามาตรฐานไว้ได้ไหม เพราะมีโอกาสที่จะลงมาอยู่เหรียญเงิน ทองแดง หรือโดนริบเหรียญคืนก็มี”

เพราะเทรนด์ของความใส่ใจในธรรมชาติ และรักสุขภาพ ทำให้ธุรกิจหลายอย่างต้องหันมาปรับเปลี่ยนตัวเองขณะที่คนที่ชอบแนวนี้ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ที่สำคัญผู้ประกอบการ หรือคนทำธุรกิจต้องเข้าใจความหมายของคำว่า “กรีน” ให้ได้เสียก่อน

อันเป็นคำตอบของ “ชัยวัฒน์ สกุลตั้งไพศาล”


คลิกอ่านเพิ่มเติม… ผู้จัดการสาวมืออาชีพ ทิพยา บัวพิจิตร