ตักเตือนเรื่องผลงาน ไม่จ่ายค่าชดเชยได้ไหม ?

คอลัมน์ เอชอาร์ คอร์เนอร์ 
ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์ https://tamrongsakk.blogspot.com

เรื่องหนึ่งที่บริษัทมักจะยกมาอ้างเป็นสาเหตุการเลิกจ้างพนักงานคือเรื่องผลการปฏิบัติงานที่แย่มาก ๆไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ผลงานไม่ได้ตามKPIs พนักงานไม่ขยัน ไม่เอาใจใส่ในงาน ฯลฯ

พูดง่าย ๆ คือผลงานของพนักงานมีปัญหาก็เลยต้องเลิกจ้างนั่นแหละครับ

แถมผู้บริหารก็มักจะคิดว่าในเมื่อพนักงานผลงานไม่ดี ขี้เกียจ อู้งาน ทำงานมีปัญหาหนัก จนถึงกับต้องเลิกจ้างแล้ว ทำไมบริษัทยังต้องจ่ายค่าชดเชยให้เป็น pocket moneyติดกระเป๋าเป็นของแถมให้อีกล่ะ

อย่างนี้เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้พนักงานคนอื่นเอาอย่างสิ

เมื่อคิดได้อย่างนี้แล้วก็เลยมีการหาช่องทางในการเลิกจ้าง โดยบริษัทไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยจากกฎหมายแรงงานมาตรา 119 ข้อ 4 ที่บอกว่า “…ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว…”

บิงโก ! งั้นบริษัทก็ออกหนังสือตักเตือนพนักงานที่มีผลงานไม่ดีเสียก่อนสิ โดยระบุในหนังสือตักเตือนทำนองว่า “…เนื่องจากพนักงานเฉื่อยชาในการทำงานบริษัท จึงสั่งให้พนักงานขยันขันแข็งและรับผิดชอบทำผลงานให้ได้ตาม KPIs ที่ผู้บังคับบัญชาตั้งเป้าหมายไว้ หากพนักงานยังไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมายบริษัท จะถือว่าพนักงานขาดประสิทธิภาพในการทำงาน และจะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยใด ๆ ทั้งสิ้น…”

โดยถือว่าบริษัทได้ออกหนังสือตักเตือนสั่งให้พนักงานเร่งทำผลงานให้ดีขึ้นตามข้อ 4 ของมาตรา 119 ข้างต้นแล้ว ถ้าหากพนักงานยังไม่มีผลงานที่ดีขึ้นก็ถือว่าพนักงานฝ่าฝืนคำสั่งของบริษัทที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม ซึ่งได้ออกหนังสือตักเตือนเอาไว้แล้วนี่นา

ในเมื่อพนักงานฝ่าฝืนคำสั่งในหนังสือตักเตือน บริษัทสามารถเลิกจ้างพนักงานรายนี้ได้ โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยใด ๆ ทั้งสิ้น ถึงพนักงานไปฟ้องร้องอย่างไรก็ไม่ชนะ เพราะบริษัททำตามกฎหมาย

มีหลายบริษัทนิยมทำอย่างที่ผมบอกมานี้แหละครับ คือออกหนังสือตักเตือน และสั่งให้พนักงานปรับปรุงตัวให้มีผลงานที่ดีขึ้น ถ้ายังไม่ดีขึ้นก็ถือว่าขัดคำสั่ง และเลิกจ้างพนักงานโดยไม่จ่ายค่าชดเชย

คำถามคือบริษัทสามารถทำแบบนี้ได้ไหม และผิดกฎหมายแรงงานหรือไม่ ?

ตอบตรงนี้เลยว่า “ผิด” กฎหมายแรงงานครับ !

เพราะการที่พนักงานไม่สามารถปฏิบัติงานให้มีผลงานได้ตามที่ตกลงกันนั้น ไม่ใช่ความผิดทางวินัยร้ายแรง การที่บริษัทอ้างว่าพนักงานฝ่าฝืนคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม (คือหนังสือตักเตือน) ของบริษัทนั้นเป็นการอ้างผิดประเภทครับ

ความหมายของข้อ 4 ในมาตรา 119 ต้องเป็นความผิดทางวินัย เช่น พนักงานมาสายบ่อย ซึ่งบริษัทก็ออกหนังสือตักเตือนแล้ว จนถึงครั้งสุดท้ายในหนังสือตักเตือนระบุว่า ถ้าหากครั้งต่อไปพนักงานยังมาสายอีก บริษัทจะเลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยใด ๆ และค่าบอกกล่าวล่วงหน้าใด ๆ ทั้งสิ้น แล้วถ้าพนักงานยังประพฤติผิดเรื่องมาสายอีกอย่างนี้แหละครับถึงจะเข้าข่ายข้อ 4 ของมาตรา 119 ข้างต้น

ถ้าบริษัทยังเลิกจ้างเนื่องจากพนักงานมีผลการปฏิบัติงานไม่ดีโดยไม่จ่ายค่าชดเชยผลจะเป็นอย่างไร ?

ผลคือ

1.เมื่อพนักงานไปฟ้องศาลแรงงานบริษัทก็จะแพ้คดีและต้องจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยตามที่ศาลสั่ง

2.หากบริษัทไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนและมีน้ำหนักเพียงพอว่าพนักงานผลงานไม่ดีแค่ไหน อย่างไรก็อาจถือว่าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมอาจถูกศาลสั่งให้รับพนักงานกลับเข้าทำงานหรือชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยให้กับพนักงาน

3.บริษัทเสียชื่อเสียง และมีผลต่อความคิดเห็นและความรู้สึกด้านลบของพนักงานอื่นที่ยังทำงานอยู่ในบริษัทว่าบริษัทมีการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมกับพนักงาน

จึงสรุปตรงนี้ว่า

1.บริษัทควรจะต้องมีระบบการประเมินผลการปฏิบัติงานที่ชัดเจน มีหลักฐานที่อ้างอิงได้ว่าพนักงานที่ทำงานไม่ดีมีปัญหานั้น ทำงานไม่ดีอย่างไร มีปัญหามากน้อยแค่ไหนกับบริษัท จนถึงขั้นจะต้องเลิกจ้าง

2.บริษัทควรมีการทำหนังสือตักเตือนพนักงานเรื่องผลการปฏิบัติงานที่มีปัญหา ให้โอกาสพนักงานปรับปรุงแก้ไขและติดตามผลงานอย่างใกล้ชิด

3.หลังจากทำตามข้อ 1 และ 2 แล้ว ถ้าบริษัทยังยืนยันว่าจำเป็นจะต้องเลิกจ้างกันจริง ๆ ก็ต้องจ่ายค่าชดเชย, ค่าบอกกล่าวล่วงหน้าให้ถูกต้องตามกฎหมายครับ จะโมเมไม่จ่ายเหมือนที่ผมบอกไปข้างต้นไม่ได้นะครับ และต้องแน่ใจว่าไม่ใช่การกลั่นแกล้งรังแกกัน

4.พนักงานยังสามารถนำเรื่องนี้ไปฟ้องศาลแรงงานในประเด็นการถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรมได้ ถ้าบริษัทไหนไม่มีการเตรียมข้อมูลหลักฐานที่ดีและชัดเจนตามข้อ 1 และ 2 ข้างต้นก็อาจจะแพ้คดีได้

5.ถ้าบริษัทมีหลักฐานชัดเจนตามข้อ 1และ 2 ไปพิสูจน์ให้ศาลท่านเห็นคล้อยตามได้ก็ยังดีกว่าไม่มีหลักฐานอะไรไปแสดง

6.ควรมีการพูดคุยทำความเข้าใจกับพนักงานที่จะเลิกจ้างอย่างตรงไปตรงมาด้วยเหตุด้วยผล ไม่ใช้อารมณ์ให้จบได้ด้วยดีเพื่อลดความเสี่ยงที่พนักงานจะไปฟ้องร้อง

มาถึงตรงนี้ก็หวังว่าคงจะทำให้ทั้งผู้บริหารและพนักงานเข้าใจตรงกันเรื่องของการเลิกจ้าง เนื่องจากผลงานไม่ดี และมีการปฏิบัติในเรื่องนี้ได้อย่างถูกต้องแล้วนะครับ

ถ้าใครอยากรับฟังทางเสียง ก็สามารถฟังเรื่องนี้ทางพอดแคสต์ https://tamrongs.podbean.com เพิ่มเติมได้นะครับ