ธุรกิจปรับตัวจ้างงานระยะสั้น เน้นพาร์ตไทม์ ลดภาระผูกพัน

พนักงานพาร์ทไทม์กำลังนั่งไปยังตึกด้านล่าง
ภาพ : Alex OGLE / AFP

“เทรนด์จ้างงานเปลี่ยน” บริษัทเอชอาร์ชี้องค์กรแห่ปรับตัวครั้งใหญ่ ธุรกิจ-อุตสาหกรรม-โรงแรม เร่งลดต้นทุน-ลดค่าใช้จ่ายประจำ เน้นจ้างงานระยะสั้น จ้างรายวัน ไม่ผูกพัน ยุคโควิด-19 เป็นตัวเร่ง ทำให้ตลาดเอาต์ซอร์ซ-ฟรีแลนซ์โตพรวด “ปั๊มน้ำมันพีที” ประกาศปีหน้าเวิร์กฟรอมโฮมถาวร 40% SCG เตรียมจ้างงานแบบระยะสั้นมาพักใหญ่แล้วก่อนไวรัสระบาด TU ลุยลงทุนโรบอต-ไอที

จากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลต่อเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ทำให้ธุรกิจต่างๆ ได้รับผลกระทบและเป็นแรงกระเพื่อมถึงรูปแบบการจ้างงานนับจากนี้

องค์กรรีดีไซน์

ดร.บวรนันท์ ทองกัลยา นายกสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า องค์กรในยุคปัจจุบันต้องปรับตัวครั้งใหญ่ หลังได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ทำให้องค์กรต้องออกแบบงานใหม่ (redesign) สร้างตำแหน่งงานที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัท เน้นใช้กำลังคนที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จากนโยบาย work from home ที่ผ่านมา ยิ่งทำให้องค์กรเห็นชัดว่า บางหน่วยงาน หรืองานบางแผนก อาจไม่จำเป็นต้องมีอีกต่อไป

“แนวโน้มการจ้างงานระยะสั้นและจ้างแรงงานนอกองค์กรจะมีเพิ่มขึ้น เนื่องจากองค์กรต้องการความคล่องตัวแบบ fluid manpower หรือการที่แรงงานในองค์กรไหลไปตามความจำเป็นในแต่ละช่วงเวลา”

ดูจากสถิติสหรัฐจะเห็นชัดว่า การหางานลดลงถึง 68% เพราะคนส่วนใหญ่จะทำงานระยะสั้น ๆ เพื่อแบ่งเวลาไปทำงานอย่างอื่นอีก 2-3 จ็อบ ซึ่งประเทศไทยก็จะมีแนวโน้มแบบนี้ แม้ปีหนึ่ง ๆ จะมีบัณฑิตจบใหม่ 5 แสนคน แล้วแรงงานเหล่านี้ก็ไม่อยากทำงานประจำแล้ว อยากทำฟรีแลนซ์ หรือเป็นสตาร์ตอัพในธุรกิจที่ตัวเองฝันมากกว่า

ตลาดฟรีแลนซ์โต

นางสาวพิชญ์พจี สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วีเฟล็คซ์ คอนซัลติ้ง จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลายบริษัทในประเทศไทยต่างสนใจเรื่อง future of work ที่ให้คนในองค์กรทำงานที่ไหนก็ได้

ที่สำคัญ โควิด-19 ยังเป็นตัวเร่งทำให้เกิดการจ้างงานแบบฟรีแลนซ์ หรือการจ้างงานคนนอกมาทำงานเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นวิธีบริหารจัดการองค์กรของตัวเองให้เล็กลงมากที่สุด แต่มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อประหยัดต้นทุน

ดังนั้น การจ้างงานแบบฟรีแลนซ์ จึงเป็น win-win game ทั้งองค์กร และคนทำงาน เพราะบริษัทได้ประหยัด fixed cost ทั้งเงินเดือน, ค่าล่วงเวลา, โบนัส และสวัสดิการ

“ฟรีแลนซ์ในไทยจะเติบโตสูงขึ้นในปีีต่อ ๆ ไป เหมือนสหรัฐที่มีแนวโน้มจะจ้างฟรีแลนซ์มาแทนพนักงานประจำ 10-15% และจะมากขึ้นอีกใน 3-5 ปีข้างหน้า”

ผสม 4 รูปแบบ

นายอภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา กรรมการบริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท สลิงชอท กรุ๊ป จํากัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วง work from home ทำให้หลายองค์กรเริ่มตระหนักแล้วว่า ไม่จำเป็นต้องมีพนักงานมากเหมือนก่อน

ทั้งเห็นว่าบางหน่วยงานไม่จำเป็นต้องมีพนักงานก็ได้ เพราะตั้งแต่เกิดโควิด-19 ผู้นำหลายแห่งต่างพยายามลดขนาดองค์กรของตัวเองให้เล็กลง เพื่อลดต้นทุน และลดค่าใช้จ่าย

ซึ่งการจ้างงานนับจากนี้จะมี 4 รูปแบบคือ 1.ฟรีแลนซ์ การจ้างงานคนนอกองค์กรที่ไม่ได้จ้างเป็นประจำ ซึ่งเป็นคนที่เก่งด้านใดด้านหนึ่ง ลักษณะงานจะเป็นงานเฉพาะด้าน, งานไม่ต่อเนื่อง และงานทั่วไปที่ไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูลในองค์กรที่เป็นความลับ

2.gig workforce การจ้างคนนอกองค์กรที่มีความสามารถ เป็นคนคุ้นเคยที่รับงานของบริษัทไปทำบ่อย ๆ ไม่ใช่พนักงานประจำ หรืออาจป็นพนักงานเก่าที่ออกไปแล้ว แต่เข้าใจระบบการทำงานขององค์กร บางครั้งรับงานเป็นจ็อบ ลักษณะงาน อาทิ การจัดข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้า, การทำรายงานของบริษัท ฯลฯ

3.outsource การจ้างงานคนนอกองค์กรที่ทำงานตามระยะเวลาในสัญญา ลักษณะงานคือ งานประจำที่ทำบ่อย ๆ, งานที่บริษัทไม่อยากบริหาร เช่น แม่บ้าน, รปภ., คอลเซ็นเตอร์ และ HRD (human resource development) ที่ดูแลงานฝึกอบรม, สัมมนา เป็นต้น

4.insource การจ้างงานที่เป็นฟรีแลนซ์ หรือ gig workforce มาก่อน เพื่อองค์กรจะดึงตัวมาเป็นพนักงานประจำ ส่วนใหญ่เป็นงานที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน, งานที่หาคนทำยากและมีความถี่ในการทำงาน บริษัทจะพยายามดึงมาเป็นพนักงานประจำ มีผลตอบแทนสูง

โรงแรมชะลอจ้างยาว

แหล่งข่าวจากสมาคมโรงแรมไทยกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า งานโรงแรมส่วนใหญ่จะจ้างแบบไม่ประจำในสัดส่วน 50% อยู่แล้ว ดังนั้น โรงแรมที่กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งจึงไม่มีปัญหา โดยพนักงานที่จ้างประจำจะถูกเรียกมาทำงานก่อนเป็นลอตแรก ๆ ส่วนที่ไม่ได้จ้างประจำจะถูกเรียกกลับมาทำงานอีกครั้งตามประเภทของงานที่เหมาะสม

ปัจจุบันโรงแรมที่กลับมาเปิดให้บริการนั้น ส่วนใหญ่เป็นบริการในส่วนของห้องอาหารเป็นหลัก และในจำนวนที่เปิดให้บริการนั้นยังไม่ใช่บริการของห้องพัก โดยเฉพาะโรงแรมขนาดใหญ่ในเมืองท่องเที่ยว ซึ่งต้องพึ่งตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก อาทิ ภูเก็ต, สมุย เป็นต้น ทั้งยังประเมินว่าการจ้างงานในภาคธุรกิจโรงแรมจะยังคงชะลอตัวยาวไปถึงต้นปี 2564 หรืออาจจะถึงไตรมาสสุดท้ายของปีหน้า

“โรงแรมเป็นธุรกิจที่ใช้พนักงานจำนวนมาก ผู้ประกอบการไม่สามารถแบกรับการจ้างงานแบบประจำได้ทั้งหมด หลายแผนกจึงใช้เอาต์ซอร์ซ และอีกหลายแห่งใช้พนักงานแบบจ้างรายวัน โดยเรียกใช้งานตามปริมาณงานที่มี” แหล่งข่าวกล่าว

PT ทำงานที่บ้านถาวร

นายพิทักษ์ รัชกิจประการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.พีทีจี เอ็นเนอร์ยี เปิดเผยว่า มีนโยบายจะให้พนักงานประจำทำงานจากที่บ้านถาวร 40-50% ในปี 2564

“ผมมองว่า การพัฒนางานของบริษัทสามารถทำจากที่ไหนก็ได้ โดยช่วยให้การทำงานสะดวกขึ้น และจาก work from home ก่อนหน้านี้ ส่งผลดีต่อผลประกอบการบริษัทในช่วงครึ่งปีแรกด้วย”

ปัจจุบันบริษัทมีการจ้างงานทั้งหมด 17,000 คน แยกเป็น พนักงานประจำ 7,000-8,000 คน ส่วนพนักงานประจำสถานีบริการยังไม่สามารถใช้ระบบนี้ได้ เพราะมีเรื่องการทำงานนอกเวลาและการคำนวณค่าจ้างโอที

อย่างไรก็ตาม บริษัททยอยปรับแนวทางปฏิบัติการทำงานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ยกเลิกระบบสแกนนิ้ว และปรับระบบเวลาเข้า-ออก เช่น 8 หรือ 9 โมงเช้าก็ได้ เมื่อครบ 8 ชม. ก็กลับบ้านได้

SCG พร้อมจ้างระยะสั้น

นายยุทธนา เจียมตระการ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การบริหารกลาง เอสซีจี เปิดเผยว่า รูปแบบการจ้างงานระยะสั้นเป็นแนวโน้มที่หลายบริษัทเริ่มเตรียมแผนรองรับไว้ แม้จะไม่มีสถานการณ์โควิด-19

“เมื่อสถานการณ์ปัจจุบันเป็นเช่นนี้ การจ้างงานในระยะสั้น ยิ่งเป็นมาตรการที่จำเป็นและต้องปรับใช้อย่างเร่งด่วน”

TU ลุยลงทุนโรบอต

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป หรือ TU เปิดเผยว่า บริษัทไม่ได้ปรับเปลี่ยนระบบการจ้างงานรายชั่วโมง แต่ได้พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) เพิ่มขึ้น เช่น ช่วงที่โควิด-19 ระบาด ทุกคนไม่สามารถเดินทางได้ ก็ใช้ระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยลงทุนในไอทีมาก พอ ๆ กับนวัตกรรมพัฒนาสินค้า เพื่อให้พนักงานหนึ่งคนทำงานมีประสิทธิมากขึ้น ส่วนกระบวนการทำงานที่ซ้ำซากก็ใช้โรบอตแทน

“ขณะนี้เรามีการจ้างงานทั่วโลก 44,000 คน ลดไป 1,000 คนก่อนหน้านี้ คิดว่าอินโนเวชั่นและไอทีมีความสำคัญที่ผ่านมาทียูลงทุนเรื่องเหล่านี้มาก ซึ่งโบรอตและไอทีเป็นสิ่งที่ต้องมี”