แรงงานเถื่อนทะลักรับนิรโทษ ตรึงชายแดน-ยึดทรัพย์นายหน้า

แรงงานในจังหวัดสมุทรสาคร
REUTERS/Athit Perawongmetha

หวั่นต่างด้าวทะลักเข้าไทย มท.1 สั่งตรึงพื้นที่ชายแดนสกัดด่วน หลังรัฐประกาศนิรโทษกรรมแรงงานเถื่อน ผ่อนผันให้กลุ่มเข้าประเทศผิดกฎหมายทำงานต่อได้ชั่วคราวไม่เกิน 2 ปี ต้อนจดทะเบียนเข้าอยู่ในระบบแลกไม่ถูกดำเนินคดี ตั้งเงื่อนไขเข้มไม่มีใครรับเป็นนายจ้างส่งกลับประเทศต้นทาง พร้อมงัดกฎหมายฟอกเงินยึดทรัพย์ขบวนการค้าแรงงานข้ามชาติ ภาคเอกชนทั้งหอการค้า-สภาอุตฯ ประสานเสียงหนุน รมว.แรงงาน ชู 5 แนวทางจัดระเบียบแรงงาน-แก้วิกฤตโควิด

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยโดยผิดกฎหมาย โดยเชิญทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานมาหารือร่วมกันตามนโยบายแก้ไขปัญหาแรงงานเถื่อนของรัฐบาล และมาตรการผ่อนปรนที่จะนิรโทษกรรมแรงงานผิดกฎหมาย พร้อม ๆ กับแก้ปัญหาเร่งด่วนการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นรุนแรงในกลุ่มแรงงานชาวเมียนมาใน จ.สมุทรสาคร ทำให้โควิดกลับมาระบาดรอบใหม่ในประเทศไทย และกระจายไปหลายจังหวัด

ประเมินว่า จ.สมุทรสาคร มีแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และไม่มีใบอนุญาตทำงานในประเทศไทยราว 300,000 ราย ในจำนวนนี้กระทรวงแรงงานต้องการให้นายจ้างแจ้งรายละเอียดจำนวนแรงงานที่ไม่ถูกกฎหมายทั้งหมด เพื่อตรวจคัดกรองแยกผู้ติดเชื้อออกจากผู้ไม่ติดเชื้อ หยุดการระบาดของโรคให้ได้ก่อน ปัญหาที่ขณะนี้คือไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการ เพราะกังวลจะถูกดำเนินคดี ฉะนั้นเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการแก้ไขปัญหาแรงงานเถื่อนไปพร้อม ๆ กัน จึงได้วางแนวทางดำเนินการ 5 แนวทาง ดังนี้

ผ่อนผันตีทะเบียนแรงงานเถื่อน

1) ผู้ประกอบการหรือนายจ้างที่ให้ความร่วมมือ จะให้ว่าจ้างแรงงานต่อเป็นการ “ชั่วคราว” รวมระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี โดยในช่วงดังกล่าว นายจ้างต้องนำแรงงานเถื่อนมาขึ้นทะเบียนเพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมาย ตามหลักการพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 มาตรา 14 ที่ระบุว่า ในกรณีพิเศษเฉพาะเรื่องที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคง หรือเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะอนุญาตให้คนต่างด้าวเข้ามาทำงานในราชอาณาจักรภายใต้เงื่อนไขใด ๆ หรือจะยกเว้นไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามพระราชกำหนดนี้ในกรณีใด ๆ ก็ได้

เถื่อนไม่มีนายจ้างส่งกลับประเทศ

2) หากในการตรวจคัดกรองโรคพบว่าแรงงานเถื่อนติดเชื้อโควิด-19 นายจ้างจะต้องเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมด ประกอบด้วย ค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายในการกักตัว 14 วันก่อนเข้าทำงานตามปกติ

3) การขึ้นทะเบียนแรงงานจะต้องมีการจับคู่ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ในกรณีแรงงานต่างด้าวรายใดไม่มีนายจ้าง จะถูก “ส่งตัวกลับ” ประเทศต้นทางทันที

ตรึงชายแดน-ยึดทรัพย์นายจ้าง

4) ในการตรวจสอบหากพบว่ามีการลักลอบนำเข้า หรือขนแรงงานเถื่อนเข้าประเทศ จะดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ ด้วยโทษสูงสุดคือ “ยึดทรัพย์” ทันที และ 5) ประสานความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ยังคงตรึงกำลังเจ้าหน้าที่ในการป้องกันสกัดการทะลักเข้าประเทศของแรงงานต่างด้าว ที่อาจสวมรอยเข้ามาตามตะเข็บชายแดน ช่วงที่มีการผ่อนปรนให้แรงนต่างด้าวในจังงานต่างด้าวผิดกฎหมายยื่นขอจดทะเบียนเข้าระบบ

ชี้นายจ้างไม่ให้ความร่วมมือ

“ปัญหาตอนนี้คือนายจ้างที่มีแรงงานเถื่อน และป่วยโควิด-19 กลัวความผิด และการถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย จึงไม่แจ้ง สนง.แรงงานจังหวัด ทำให้โควิด-19 ระบาดอย่างรวดเร็ว ยิ่งนายจ้างให้ความร่วมมือรวดเร็ว เจ้าหน้าที่จะสกัดการแพร่ระบาดของโรคได้เร็วขึ้น

ฟันธงแรงงานเถื่อนมหาศาล

แหล่งข่าวจากแวดวงธุรกิจจัดหาแรงงานเปิดเผยว่า ภาพรวมของแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในไทยแบบผิดกฎหมายมีอยู่ราว 500,000 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่สมุทรสาคร ปัญหาแรงงานเถื่อนหมักหมมมานานและยากจะแก้ไข สำหรับ จ.สมุทรสาคร ถือเป็นศูนย์กลางการซื้อ-ขายอาหารทะเล ราคา “ถูกที่สุด” ทำให้ผู้ประกอบการคุมต้นทุนได้ ทำให้มีการขยายโรงงานมากขึ้น ต้องจ้างแรงงานเพิ่มทุกปี เมื่อโควิดระบาดในกลุ่มแรงงานจึงเหมือน “ฝีแตก” ต้องรีบแก้ไขโดยเร็ว

แนะตั้งสหภาพแรงงานต่างด้าว

นายสุเทพ อู่อ้น ประธานกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ระบุถึงการแก้ปัญหาแรงงานเถื่อนว่า มีความซับซ้อนหลายระบบ และส่งผลต่อการจัดการด้านแรงงานในอนาคต คือ 1) แรงงานข้ามชาติกลุ่มบัตรสีชมพูใหม่ กำลังต่ออายุการทำงานตามขั้นตอน คือ การตรวจสุขภาพ ขอวีซ่าให้เรียบร้อยภายใน 31 ม.ค. 2564 ราว 240,000 ราย และกลุ่มที่ต้องต่อวีซ่าอีก 1.5 ล้านราย ทั้ง 2 กลุ่มนี้ต้องไปรอตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาล และต่อวีซ่าจำนวนมาก อาจยุ่งยากในการควบคุมการแพร่ระบาดวิกฤตโควิดครั้งนี้ รัฐจึงต้องให้ความสำคัญกับแรงงานข้ามชาติ นำแรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบให้ถูกต้อง

  1. ออกมาตรการจูงใจให้แรงงานเถื่อนเข้าสู่ระบบมากที่สุด เช่น ให้สวัสดิการ
  2. สนับสนุนการรวมตัวในรูปสหภาพแรงงาน
  3. ยกเลิกค่าธรรมเนียมการลงทะเบียน และมาตรการเร่งด่วนคือหยุดไล่ล่าจับกุม ออกนโยบายดึงแรงงานมาเข้าระบบ เช่น ละเว้นโทษผู้หลบหนีเข้าเมืองหากยอมเข้าสู่ระบบ ลดขั้นตอนการต่อทะเบียนที่ยุ่งยาก เป็นต้น ถึงเวลาแล้วที่รัฐต้องทบทวนการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติทั้งระบบ

มท.จ่อออกแนวปฏิบัติทั้งประเทศ

ขณะเดียวกัน รายงานข่าวจากกระทรวงมหาดไทยแจ้งว่า ภายหลังการประชุมของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ชุดใหญ่ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธาน และมีมติแบ่งโซนพื้นที่ตามสถานการณ์โควิด-19 ออกเป็น 4 โซน ทางกระทรวงมหาดไทยเตรียมออกหนังสือที่เป็นข้อสั่งการไปยังทุกจังหวัดทั่วประเทศเป็นแนวปฏิบัติให้เป็นไปตามที่ ศบค.กำหนด

มท.1 ห้ามเคลื่อนย้ายแรงงาน

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวชั่วคราวว่า การขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวมีหลายส่วนเกี่ยวข้อง มีทั้งการทำเพื่อให้สามารถอยู่ในประเทศไทยได้ สามารถทำงานได้ แต่ต้องมีมาตรการตรวจโรค โดยข้อสรุปต่าง ๆ กระทรวงแรงงานจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีสัปดาห์หน้า เพื่อกำหนดหน้าที่ให้หน่วยงานต่าง ๆ ทำอะไรบ้าง เช่น ให้มหาดไทยดำเนินการทำบัตรสีชมพูแรงงานต่างด้าว กระทรวงแรงงานมีหน้าที่กำหนดให้ใบอนุญาตการทำงาน และอายุการทำงาน กระทรวงสาธารณสุขจะทำหน้าที่ในขั้นตอนตรวจร่างกาย

โดยย้ำว่า ขอให้อย่าเคลื่อนย้ายแรงงาน ให้รอการแก้ปัญหา กำชับให้ผู้ประกอบการสำรวจแรงงานว่ามีมากน้อยเท่าไหร่ จะใช้เป็นฐานข้อมูล ขออย่าตื่นตระหนก หากโรงงานหรือผู้ประกอบการที่มีแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีบัตรสีชมพู หากเจ้าหน้าที่รัฐตรวจพบก็จะเอาผิดได้”

ส.อ.ท.หนุนจัดระเบียบใหม่

ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย และเปิดขึ้นทะเบียน จะทำให้ควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดได้ แต่ระยะยาวรัฐต้องแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ซึ่ง ส.อ.ท.พร้อมเป็นหน่วยงานกลางประสานงานร่วมกับกรมการจัดหางาน อาจตั้งศูนย์บริหารจัดการนำเข้าแรงงานเบ็ดเสร็จ วางระบบดูแลการนำเข้าโดยเฉพาะแรงงานเอ็มโอยูจากประเทศต่าง ๆ ทั้งเมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา ฯลฯ

“ศูนย์นี้จะทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลจากฝั่งนายจ้างว่าต้องการใช้แรงงานจำนวนเท่าไร จากนั้นรัฐและเอกชนร่วมกันจัดหานำเข้าแรงงานเข้ามา ช่วยค่าธรรมเนียมขนส่ง ลดขั้นตอนนายหน้าจัดหางาน ทำให้ต้นทุนการนำเข้าแรงงานต่างด้าวต่ำลง จากปกติที่เฉลี่ย 15,000-30,000 บาท/คน และช่วยให้สามารถตรวจสอบที่มาที่ไปของแรงงาน”

เพราะไทยจำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าว หากส่งออกกลับมาฟื้น จากปัจจุบันไทยมีแรงงานต่างด้าวประมาณ 2.5 ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ในภาคบริการ โรงแรม ธุรกิจร้านอาหาร ส่วนภาคอุตสาหกรรมรองลงมา นอกนั้นมีอุตสาหกรรมอาหาร และประมง

ขณะที่นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวเป็นไปตามที่เอกชนเสนอ ซึ่งหลังจากมีการคัดกรองตรวจสอบให้ลงทะเบียน หรือนิรโทษกรรมเสร็จสิ้นแล้ว รัฐบาลควรแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายอย่างเข้มข้น ป้องกันไม่ให้มีการลักลอบนำเข้ามาอีก

ทั้งนี้ กรมศุลกากรรายงานว่า การส่งออกสินค้ากุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ช่วง 11 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-พ.ย. 2563) มีมูลค่า 18,049 ล้านบาท ลดลง 13.03% ตลาดหลัก 5 อันดับแรก คือ สหรัฐ มูลค่า 5,741 ล้านบาท ลดลง 4.19% จีน 3,860 ล้านบาท ลดลง 20.24% ญี่ปุ่น 3,059 ล้านบาท ลดลง 24.66% ไต้หวัน 1,025 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.81% เกาหลีใต้ 747 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.62% ส่วนลาวนำเข้าเป็นอันดับ 20 มูลค่า 17.88 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.92%

ไม่ห่วง “จีน” ตรวจสอบเข้ม

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยทำนองเดียวกันว่า การแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย รัฐบาลควรทำให้ถูกต้องและดึงมาอยู่ในระบบ ประเด็นหนึ่งที่อาจมีผลต่อการใช้แรงงานผิดกฎหมาย คือ ค่าใช้จ่ายสูง เช่น การนำเข้าแรงงาน 1 คน ตั้งแต่ขั้นตอนนายหน้าจัดหางาน การทำเวิร์กเพอร์มิต ตรวจสุขภาพออกวีซ่า การสำรองเงินค่าเดินทางและที่พัก คนละไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท เมื่อจ้างแล้วก็ต้องให้สวัสดิการเดียวกับแรงงานไทย ค่าแรงต่างด้าวจึงไม่ได้ถูกกว่า

“สำหรับอุตสาหกรรมอาหารมีการใช้แรงงานต่างด้าวประมาณ 60-70% ส่วนใหญ่จะเป็นชาวกัมพูชา และเมียนมา แต่มั่นใจว่าผู้ผลิตอาหารเพื่อการส่งออกใช้แรงงานที่ถูกกฎหมาย เพราะหากฝ่าฝืนจะได้รับโทษรุนแรง ส่วนที่กังวลว่าหลังโควิดระบาดรอบใหม่ ประเทศคู่ค้าอย่างจีนจะตรวจสอบอาหารทะเล และอาหารจากไทยเข้มข้นขึ้นนั้น ยืนยันว่าจีนตรวจสอบเข้มตั้งแต่โควิดระบาดใหม่ ๆ และผู้ส่งออกไทยก็พยายามรักษามาตรฐานและให้ความมั่นใจกับผู้นำเข้า”

เครื่องนุ่งห่ม-สวนยางไม่กระทบ

ส่วนนายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม ส.อ.ท. เปิดเผยว่า อุตฯเครื่องนุ่งห่มจ้างแรงงานต่างด้าวประมาณ 1 แสนคน จากภาพรวมทั้งหมดใช้แรงงาน 3 แสนคน สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นยังไม่กระทบต่ออุตสาหกรรม

เช่นเดียวกันที่ นายหลักชัย กิตติพล นายกกิตติมศักดิ์สมาคมยางพาราไทยระบุว่า ไม่กระทบต่อสวนยางเช่นเดียวกัน ปัจจุบันภาคเกษตรโดยเฉพาะอุตสาหกรรมยาง ใช้แรงงานต่างด้าว 25-30% โดยภาคใต้ใช้แรงงานต่างด้าวจากเมียนมาสูงสุด 40-50% ตอนนี้ประสบปัญหาจากโควิดทำให้แรงงานต่างด้าวไม่สามารถเดินทางมาได้


ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันไทยมีการจ้างแรงงานทั้งระบบ 38.5 ล้านคน แบ่งเป็น ภาคเกษตร 27.3% ประมาณ 10.51 ล้านคน ภาคบริการค้าปลีก 17.2% หรือ 6.65 ล้านคน ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร 8.1% หรือ 3.15 ล้านคน ภาคการผลิต 16.9% หรือ 6.50 ล้านคน จำนวนแรงงานต่างด้าวในประเทศ ณ เดือน พ.ค. 2563 มี 2.53 ล้านคน เป็นแรงงานตามมาตรา 59 ประมาณ 2.41 ล้านคน โดยเฉพาะแรงงาน MOU มี 1.02 ล้านคน และการนำเข้าตาม name list อีก 1.26 ล้านคน (หน้า 1, 9)