6 ทิศทาง CSR ปี’64 “ไทยพัฒน์” แนะสร้างองค์กรพร้อมผัน-สู่วิถีปกติใหม่

สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประกาศแนวโน้ม CSR ปี 64 ใน 6 ทิศทางสำคัญ พร้อมแนะธุรกิจปรับตัวเข้าสู่วิถีปกติใหม่ ด้วยการสร้างองค์กรพร้อมผัน (Resilient Enterprise) สอดรับกับสถานการณ์โลกยุคหลังโควิด ก่อให้เกิดเป็นความยั่งยืนตลอดทั้งห่วงโซ่ธุรกิจ

“ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ” ประธานสถาบันไทยพัฒน์ได้กล่าวในงานแถลงทิศทาง CSR ปี 2564 ที่จัดขึ้นวันนี้ (24 กุมภาพันธ์ 2564) ว่าสถานการณ์โควิดสร้างความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ต่อการดำเนินธุรกิจ โดยได้ทิ้งร่องรอยความเสียหาย และผลตกค้างหลายเรื่องเป็นการถาวร รวมถึงพฤติกรรมการดำรงชีวิตที่จำต้องปรับเปลี่ยนจากปรากฏการณ์โควิด (COVID Effect) ใน 3 เรื่องหลัก ได้แก่ Work from Home (การปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง), Roam Online (การเที่ยวเตร่ในโลกออนไลน์) และ Buy from App (การซื้อสินค้าผ่านแอปพลิเคชั่น)

แม้ปรากฏการณ์โควิดจะเป็นภัยคุกคามต่อการทำธุรกิจ แต่ในอีกด้านหนึ่งกลับสร้างช่องทาง และโอกาสใหม่แก่ธุรกิจในหลายสาขา การปรับรูปแบบการทำธุรกิจให้รองรับกับพฤติกรรมของลูกค้า และผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงจากปรากฏการณ์โควิด จึงเป็นสิ่งที่ทุกธุรกิจทั้งที่ได้รับ และไม่ได้รับผลกระทบหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ

สำหรับปีนี้ สถาบันไทยพัฒน์ ทำการประเมินทิศทางความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR ภายใต้รายงานที่มีชื่อว่า “6 ทิศทาง CSR ปี 2564 : Building Resilient Enterprise” เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับหน่วยงานและองค์กรธุรกิจในการใช้เป็นแนวทางการปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืนภายใต้วิถีปกติใหม่

ในงานแถลงทิศทาง CSR ปีนี้ สถาบันไทยพัฒน์ ยังจัดให้มีการเสวนาเรื่อง “กลยุทธ์หลังโควิด : จาก ‘ฟื้นฟู’ สู่ ‘พร้อมผัน’ (Post-COVID Strategies: From ‘Recovery’ to ‘Resilience’) เพื่อแนะนำแนวทางสำหรับภาคธุรกิจในการนำประเด็นความยั่งยืนที่เป็นปัจจัยสำหรับการขับเคลื่อนธุรกิจวิถีปกติใหม่ ผนวกเข้าไว้ในกลยุทธ์องค์กร เพื่อกำหนดเส้นทางการพัฒนาใหม่ ๆ จากผลพวงของโควิด ที่ธุรกิจจะต้องดำเนินต่อไปจากนี้

“วรณัฐ เพียรธรรม” ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวว่าปรากฏการณ์โควิดทำให้ประเด็นเรื่องสุขภาพองค์กร กลายเป็นประเด็นสาระสำคัญเพื่อการพัฒนาสู่ความยั่งยืนของกิจการในระยะยาว องค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล หรือ Global Reporting Initiative (GRI) แนะนำให้องค์กรธุรกิจหยิบยกขึ้นมาพิจารณาในกระบวนการวิเคราะห์สารัตถภาพ (Materiality Analysis) โดยมีการเผยแพร่เป็น ข้อปฏิบัติทางธุรกิจด้านวัฒนธรรมสุขภาพ (Culture of Health Business Practice : COHBP) สำหรับให้กิจการผนวกประเด็นด้านสุขภาพ เข้ากับกลยุทธ์องค์กร เพื่อใช้ดำเนินงานหลังสถานการณ์โควิด

“กรอบวัฒนธรรมสุขภาพสำหรับธุรกิจ ประกอบด้วยด้านกลยุทธ์, ด้านนโยบายและสวัสดิการ, ด้านแรงงานและสถานประกอบการ และด้านชุมชน โดยมีข้อปฏิบัติทางธุรกิจที่รวมถึงเรื่องอาชีวอนามัย และความปลอดภัย สภาพแวดล้อมทางกายภาพ ข้อปฏิบัติทางการตลาดที่ต้องรับผิดชอบ การประกันสุขภาพ ความมั่นคงในตำแหน่งงาน ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมชุมชน เป็นต้น”

“ฌานสิทธิ์ ยอดพฤติการณ์” กรรมการสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวเสริมว่าเพื่อช่วยภาคธุรกิจในการปรับตัวเข้าสู่วิถีปกติใหม่ สถาบันไทยพัฒน์ริเริ่ม Business Resilience Program โดยนำกรอบวัฒนธรรมสุขภาพสำหรับธุรกิจมาเป็นปัจจัยนำเข้าในการวิเคราะห์สารัตถภาพ เพื่อใช้กำหนดประเด็นสาระสำคัญด้านวัฒนธรรมสุขภาพ (COH Material Topics) ที่องค์กรควรดำเนินการ ผนวกไว้ในกลยุทธ์องค์กร สำหรับรองรับการขับเคลื่อนธุรกิจวิถีปกติใหม่ และการเป็นองค์กรพร้อมผัน (Resilient Enterprise) ในทุก ๆ สถานการณ์


นับว่าน่าสนใจทีเดียว