STT GDC Thailand มอบโอกาส “ทุกเพศ” เติบโตสายไอที

บุศรินทร์ ประดิษฐยนต์
บุศรินทร์ ประดิษฐยนต์ ผู้จัดการทั่วไปเอสที เทเลมีเดีย โกลบอล ดาต้าเซ็นเตอร์ (ประเทศไทย) หรือ STT GDC Thailand

เอสที เทเลมีเดีย โกลบอล ดาต้าเซ็นเตอร์ (ประเทศไทย) หรือ STT GDC Thailand ผู้ให้บริการจัดเก็บข้อมูล (data center) ระดับไฮเปอร์สเกลแห่งแรกในประเทศไทย นำทัพโดย “บุศรินทร์ ประดิษฐยนต์” ผู้จัดการทั่วไปที่รับหน้าที่ในการบริหารจัดการดาต้าเซ็นเตอร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ ควบคู่ไปกับการพัฒนาทีมงานให้มีคุณภาพ และศักยภาพสูงสุด

พร้อมสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจในประเทศไทยปัจจุบันที่มีความต้องการใช้งานด้านดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น

“บุศรินทร์” กล่าวว่า เอสที เทเลมีเดีย โกลบอล ดาต้าเซ็นเตอร์ (ประเทศไทย) เป็นบริษัทร่วมทุนภายใต้ความร่วมมือระหว่างบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการสมาร์ทแพลตฟอร์มด้านอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร

และเอสที เทเลมีเดีย โกลบอล ดาต้าเซ็นเตอร์ ผู้นำด้านการให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ระดับโลกจากประเทศสิงคโปร์ มุ่งเน้นพัฒนาจุดเด่นด้านการให้บริการที่มีความต่อเนื่องด้วย zero downtime เพื่อเป็นการสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของลูกค้าที่พึ่งพาการรับส่งข้อมูลจำนวนมากตลอดเวลา ทำให้แตกต่างจากผู้ให้บริการรายอื่น

“ดิฉันได้นำประสบการณ์ในธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์กว่า 20 ปี มาผลักดัน STT GDC Thailand สู่การเป็นผู้นำของประเทศในด้านระบบสาธารณูปโภคดิจิทัล (digital infrastructure) ผ่านการให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ที่สามารถเชื่อมต่อได้กับทุกผู้ให้บริการโทรคมนาคม ด้วยการเชื่อมต่ออย่างเป็นกลาง (carrier-neutral)”

“เราได้สร้างดาต้าเซ็นเตอร์ระดับไฮเปอร์สเกลเฟสแรกที่หัวหมาก กทม.ที่มีพื้นที่รวม 30,000 ตารางเมตร ซึ่งเสร็จไปเมื่อต้นปี 2564 หลังจากนั้น เราเดินหน้าทำเฟสสอง และเมื่อแคมปัสแห่งนี้เสร็จสมบูรณ์ทั้งหมดแล้ว มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 75,000 ตารางเมตร (15 ไร่) เพื่อรองรับการเติบโตและการขยายตัวของธุรกิจดิจิทัลในประเทศไทย”

“บริษัทสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่เพราะเรายังเห็นดีมานด์ในระดับประเทศ และภูมิภาคที่ต้องการใช้งานดาต้าเซ็นเตอร์ระดับไฮเปอร์สเกลที่มีประสิทธิภาพ แนวโน้มการใช้เทคโนโลยีของประเทศไทยขององค์กรจำนวนมากเริ่มหันมาประยุกต์ใช้เทคโนโลยีด้านปัญญาประดิษฐ์, แมชีนเลิร์นนิ่ง, คลาวด์ และ 5G ซึ่งสอดคล้องกับรูปแบบเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นด้านดิจิทัลตามนโยบายเศรษฐกิจ 4.0 และการปฏิรูปสู่ระบบดิจิทัลของภาคธุรกิจในปัจจุบัน”

“โดยจากสถิติการสร้างข้อมูลด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลพบว่ามีการสร้างข้อมูลดิจิทัลจำนวนมาก 2.5 quintillion bytes ต่อคนต่อวัน โดยมีประชากรทั่วโลกใช้อินเทอร์เน็ตกว่า 4.6 พันล้านคน และใช้เวลาบนโลกออนไลน์เฉลี่ยเกือบ 7 ชั่วโมงต่อวัน”

นอกจากนี้ การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ อาทิ internet of behavior (IOB) ซึ่งจะมีการใช้เทคโนโลยีเพื่อเก็บข้อมูลของผู้คนมากขึ้น ทั้งในเชิงธุรกิจและภาครัฐ เช่น การจดจำใบหน้าหรือการติดตามพิกัด ทำให้สามารถเข้าใจพฤติกรรมผู้คนได้มากขึ้น และ intelligent composable business ซึ่งเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีที่สามารถหยิบใช้ข้อมูลต่าง ๆ มาวิเคราะห์เชิงลึกแบบอัตโนมัติได้

จึงทำให้ความต้องการใช้งานสาธารณูปโภคดิจิทัลพื้นฐานที่รองรับการจัดเก็บข้อมูลเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ซึ่งดาต้าเซ็นเตอร์ในระดับไฮเปอร์สเกลจะสามารถรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้ได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ STT GDC Thailand เป็นดาต้าเซ็นเตอร์แห่งแรกในประเทศไทยได้รับการรับรองมาตรฐานด้านการออกแบบดาต้าเซ็นเตอร์ในระดับ TIA-942 Certification Rated-3 และ Uptime Institute Tier III Certification ซึ่งเป็นมาตรฐานจากองค์กร The Telecommunications Industry Association (TIA) และ Uptime Institute ตามลำดับ

“บุศรินทร์” อธิบายต่อว่า ที่ผ่านมาธุรกิจไอทีจะถูกมองว่าเป็นงานของผู้ชาย แต่ตนเองมองว่าบทบาทและความรับผิดชอบสายงานไอทีไม่ควรถูกจำกัดด้วยสถานภาพทางเพศ และทุกคนควรได้รับความเท่าเทียมกันด้านโอกาสในการสร้างความสำเร็จให้แก่ตนเองและองค์กร

“อีกเหตุผลหนึ่งที่ผู้หญิงทำงานในสายไอทีน้อยกว่าผู้ชาย เพราะสายงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมักจะมีสัดส่วนผู้ร่วมงานเป็นผู้ชายมากกว่า อาจทำให้ผู้หญิงรู้สึกโดดเดี่ยวในการทำงาน ทำให้ผู้หญิงในสาขาอาชีพนี้ไม่มีต้นแบบ ไม่มีคู่หู หรือไม่มีที่ปรึกษาที่เข้าใจ STT GDC Thailand จึงพยายามให้พนักงานทุกคนมองข้ามเรื่องความแตกต่างด้านเพศ

ผู้ชายสามารถปรึกษาเรื่องงานด้านไอทีผู้หญิงได้เช่นกัน และน้อง ๆ ทุกคนสามารถมาพูดคุยกับฝ่ายบุคคล หรือผู้บริหารระดับสูงอย่างดิฉันซึ่งเป็นผู้หญิงได้เสมอ ทำให้พนักงานรู้สึกว่า พวกเขามีเพื่อนตลอด และเราเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเติบโตในองค์กรได้เท่ากับผู้ชาย”

“นอกจากนั้น เราพยายามเสริมทักษะให้พนักงานของเรามีความโดดเด่นจากที่อื่นน้อง ๆ จะได้เรียนภาษาจีน เพราะเป็นภาษาที่มีความสำคัญไม่แพ้ภาษาอังกฤษ และลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของเราคือ บริษัทข้ามชาติ และตอนนี้จีนมาทำธุรกิจในไทยมากขึ้น

แต่ในส่วนของพนักงานวิศวกรที่จะมาทำด้านดาต้าเซ็นเตอร์ค่อนข้างหายาก เพราะในประเทศไทยยังไม่มีสอนด้านนี้โดยตรง ส่วนใหญ่เป็นวิศวะเครื่องกลหรือไฟฟ้า ดังนั้น เราจึงเริ่มปูทางทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย ในการร่วมอบรมความรู้ด้านศูนย์เก็บข้อมูล”

“ตอนนี้เรามีพนักงานประมาณ 50 คน เป็นวิศวกร 60% ส่วนใหญ่เป็นคนเจเนอเรชั่น Y และ Z หลายคนอาจมองว่าคนรุ่นใหม่ไม่อดทนกับงาน ส่วนดิฉันเชื่อว่าพวกเขามีความอดทน แต่ชอบทำงานกับคนที่เปิดโอกาสให้เป็นตัวของตัวเอง ได้แสดงความคิดเห็น และได้รับการยอมรับด้านไอเดีย”

“ที่สำคัญ สภาพแวดล้อมการทำงานสำคัญมาก เราต้องทำให้สำนักงานน่าอยู่ ให้เขารู้สึกอยากมาทำงาน นี่คือสิ่งที่คนรุ่นใหม่ชอบ โดยเฉพาะงานด้านดาต้าเซ็นเตอร์ที่เวลาทำงานมักแตกต่างจากงานอื่น ๆ คือเราทำงานหลังบริษัทลูกค้าเลิกงานแล้ว รวมถึงการทำงานกับระบบเครื่องจักรกลตลอดเวลา อาจสร้างความเครียด เราจึงต้องดูแลสภาพการเป็นอยู่ของพวกเขาในที่ทำงานให้ดีที่สุด”

บริษัทต้องการพัฒนาทีมงานให้มีคุณภาพและศักยภาพ เพื่อให้บริการแบบ end-to-end ที่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าในทุกกระบวนการ พร้อมที่จะสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจในปัจจุบันที่มีความต้องการใช้งานด้านดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น


ทั้งนี้ บริษัทด้านไอทีในไทยจึงควรให้ความสำคัญกับผู้หญิงมีสัดส่วนมากขึ้นในองค์กร ฉะนั้น ในระยะยาวจะเกิดการขาดความหลากหลายทางชีวภาพ และส่งผลต่อประสิทธิภาพขององค์กร