“กองทุนมิตรผล-บ้านปู” รวมใจช่วยไทยสู้มหันตภัยโควิด-19

หอผู้ป่วยวิกฤตระบบการหายใจบ้านปู
หอผู้ป่วยวิกฤตระบบการหายใจบ้านปู

ครบรอบ 1 ปีของการก่อตั้งกองทุนมิตรผล-บ้านปู รวมใจช่วยไทยสู้ภัยโควิด-19 ระหว่างกลุ่ม มิตรผล และบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ที่มีเป้าหมายเพื่อช่วยสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ และสาธารณสุขที่จำเป็นในการป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย ด้วยเงินตั้งต้นมูลค่า 500 ล้านบาท

โดยล่าสุดกลุ่มมิตรผล และบ้านปูมีการจัดแถลงข่าวออนไลน์สรุปผลดำเนินงานที่ผ่านมา รวมถึงเป้าหมายต่อไปของกองทุนท่ามกลางสถานการณ์การระบาดระลอก 3 ที่กำลังรุนแรงขณะนี้

“ชนินท์ ว่องกุศลกิจ” ประธานกรรมการ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ทั้ง 2 บริษัทร่วมกันจัดตั้งกองทุนมิตรผล-บ้านปู “รวมใจช่วยไทยสู้ภัยโควิด-19” มูลค่า 500 ล้านบาท ด้วยการระดมทุนบริษัทละ 250 ล้านบาท ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 โดยมีวัตถุประสงค์หลักอยู่ 3 ข้อ ได้แก่

ชนินท์ ว่องกุศลกิจ
ชนินท์ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)

หนึ่ง ต้องการช่วยอุปกรณ์ทางการแพทย์ และอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับช่วยรักษาผู้ป่วย

สอง อุปกรณ์ช่วยป้องกันโควิด-19 สำหรับแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ รวมถึงการทำประกันชีวิตให้แพทย์พยาบาล

สาม สร้างแรงบันดาลใจให้หน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเอกชน ประชาชน ประชาสังคม ในการร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งเพื่อต่อสู้กับวิกฤตไวรัส

“หัวใจหลักของกองทุนนี้คือต้องเร็วและไม่ซับซ้อน กระจายอย่างทั่วถึง หมายความว่าความช่วยเหลือของเราจะต้องไม่ไปซ้ำซ้อนกับคนอื่น เน้นสิ่งของที่จำเป็น ฉะนั้น วิธีทำงานคือจะต้องเข้าไปสอบถามแต่ละโรงพยาบาล หรือหน่วยงานว่ายังขาดเหลืออะไร ต้องการอะไร แล้วเราจะจัดสรรงบฯหรือหาอุปกรณ์ให้”

“อย่างช่วงแรก ๆ เราเข้าไปสนับสนุนโรงพยาบาลหลัก ๆ ในกรุงเทพฯ เช่น โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ, โรงพยาบาลศิริราช, โรงพยาบาลรามาธิบดี, โรงพยาบาลราชวิถี ฯลฯ ที่ต้องใช้เงินซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็นในการตรวจ และรักษาผู้ป่วย”

“รวมถึงเครื่องเอกซเรย์เคลื่อนที่ระบบดิจิทัล, เครื่องช่วยหายใจ, ชุด PPE เราจึงจัดสรรงบประมาณให้ ซึ่งแต่ละแห่งจะได้เม็ดเงินไม่เท่ากัน อย่างบางแห่งให้ 30-40 ล้านบาท หรืออย่างช่วงแรก ๆ ตอนที่ธรรมศาสตร์เปลี่ยนหอพยาบาลมาเป็นโรงพยาบาลสนาม กองทุนก็ได้เข้าไปสนับสนุนจำนวนเงินส่วนหนึ่งเพื่อจัดตั้ง จากนั้นจึงขยายความช่วยเหลือไปยังโรงพยาบาลอื่น ๆ ทั่วประเทศ”

“บรรเทิง ว่องกุศลกิจ” ประธานกรรมการ กลุ่มมิตรผล กล่าวเสริมว่าทั้ง 2 บริษัทแยกกันดำเนินงาน เพื่อไม่ให้ความช่วยเหลือซ้ำซ้อนกัน แต่มีหลักเดียวกันคือกระจายกำลังกันไปช่วยเหลือหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ในวงที่กว้างขึ้น เช่น หน่วยงานด้านสาธารณสุขของภาครัฐในการชี้เป้าว่าจุดไหนที่มีความสำคัญ และต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน และแต่ละบริษัทจะใช้ทรัพยากรที่มี โดยเฉพาะมิตรผลที่มีธุรกิจในต่างประเทศ ก็ได้รับความร่วมมือกับเครือข่ายในต่างประเทศ เข้ามาสนับสนุนความช่วยเหลือต่าง ๆ ด้วย

บรรเทิง ว่องกุศลกิจ
บรรเทิง ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการ กลุ่มมิตรผล

“อย่างเช่น เครื่อง CT Scan, ห้องตรวจเชื้อความดันลบ-บวก, เครื่องช่วยหายใจ หรือแม้แต่หน้ากาก N95 ที่เมื่อปีก่อนขาดแคลนหนักมาก รวมถึงชุด PPE และแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย ทั้งแพทย์ พยาบาล อาสาสมัครสาธารณสุข ทหาร ตำรวจ หน่วยงานราชการต่าง ๆ ทั้งในระดับจังหวัดและท้องถิ่น รวมถึงชุมชน และเกษตรกรชาวไร่

เนื่องจากกลุ่มมิตรผลมีเครือข่ายอยู่หลายจังหวัด จึงได้ลงไปช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรในอุปกรณ์ป้องกันที่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นหน้ากาก เจลแอลกอฮอล์ มีการบริการทำความสะอาดสถานที่ต่าง ๆ โดยรวมความช่วยเหลือทั้งสิ้น 215 หน่วยงาน ครอบคลุม 35 จังหวัด”

อย่างไรก็ตาม ตลอดปีที่ผ่านมามีการสนับสนุนไปแล้วกว่า 270 ล้านบาท คิดเป็น 54% ของเงินกองทุนทั้งหมด ทำให้ขณะนี้เหลืองบประมาณกว่า 230 ล้านบาท โดยทิศทางหลังจากนี้ กองทุนจะยังคงสานต่อภารกิจในการอยู่เคียงข้างคนไทย ด้วยการทำงานเชิงรุกเพื่อประเมินสถานการณ์ และประสานข้อมูลกับทั้งหน่วยงานส่วนกลาง และหน่วยงานที่ต้องให้ความช่วยเหลือประชาชนที่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือโดยตรง เพื่อให้กองทุนสามารถส่งมอบความช่วยเหลืออย่างรวดเร็วที่สุด

ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการเลือกว่าจะเน้นให้ความช่วยเหลือไปที่การตรวจ หรือการรักษาผู้ป่วยหนัก เช่น ซื้อเครื่องช่วยหายใจ ซึ่งมีหลายประเภท ถ้าอย่างดีมากก็ราคามากกว่า 4-5 แสนบาท ขนาดกลางประมาณ 2 แสนบาท ก็มีหลายราคา แต่ทั้งนีต้องดูความจำเป็นเร่งด่วน เพราะมีข้อมูลจากหลายแหล่งมาก ต้องพิจารณาว่าเข้าไปช่วยตรงไหนเกิดผลดีมากกว่า

ถึงตรงนี้ “ชนินท์” กล่าวเสริมว่าจากการสอบถามโรงพยาบาล และสาธารณสุขหลายจังหวัด ส่วนใหญ่ยังมีความพร้อมในการรับมือผู้ป่วย หลายจังหวัดเตียงในโรงพยาบาลยังเพียงพอ เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อลดลง นี่คือสัญญาณที่ดี แต่เมื่อขาดเหลือสิ่งใด เขาบอกว่าจะติดต่อเข้ามาเอง

“ผมมองว่าสิ่งที่หลายจังหวัดหรือโรงพยาบาลต้องการมากที่สุด คาดว่าน่าจะเป็นอุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการดูแลคนไข้ประจำวัน อย่าง PPE ที่บางแห่งใช้มากกว่า 3,000 ชุดต่อวัน ซึ่งเราก็ยังเฝ้าดูอยู่ คิดว่าเหตุการณ์ไม่จบง่าย ๆ และเหตุการณ์มีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอด ฉะนั้น ความช่วยเหลือของเราจะเป็นไปตามสถานการณ์แต่ละวัน เบื้องต้นจะใช้งบประมาณที่เหลือก่อน หากสถานการณ์แย่ อาจจะมีการหารือระดมทุนเพิ่มเติมในภายหลัง”

นอกจากนี้ภายในงานแถลงข่าวยังมีการเสวนา “หนทางฝ่าวิกฤตโควิด-19 ระลอกใหม่ ผ่านมุมมองของบุคลากรทางการแพทย์” โดยเฉพาะ “ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา” คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การระบาดระลอก 3 ครั้งนี้ ผมมองว่ายังมีความโชคดี ตรงที่เรามีบทเรียนจากปีที่ผ่านมาบุคลากรทางการแพทย์มีความรู้ความเข้าใจเรื่องโควิดมากขึ้น รวมถึงเข้าใจลักษณะการเปลี่ยนแปลงพยาธิสภาพและรูปแบบการรักษาที่ได้ผลเป็นอย่างดี

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

รวมถึงการได้รับความสนับสนุนจากหลายหน่วยงาน ทำให้เรามีเครื่องมือที่เพียงพอ และมีเครื่องมือใหม่ ๆ อย่างเช่นตอนนี้เรามีเครื่องไฮโฟลว์ออกซิเจน นำมาใช้กับผู้ป่วยอาการหนักแล้ว โดยประโยชน์ของเครื่องนี้จะช่วยลดทั้งอัตราการใช้เครื่องช่วยหายใจ อัตราการเสียชีวิตและจำนวนวันนอนไอซียู”

“ไม่เพียงเท่านี้ เรายังมีความรู้เรื่องยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) มากขึ้น สามารถให้ผู้ป่วยได้ตั้งแต่ยังไม่แสดงอาการหรือเริ่มมีอาการไม่มาก ซึ่งช่วยลดอัตราความรุนแรงของอาการได้ ตอนนี้หน่วยวิจัยทางด้านไวรัสวิทยาของศิริราช ได้ทำการศึกษา ทำการเพาะเชื้อของไวรัสกับยาฟาวิพิราเวียร์ จนได้ผลออกมาว่ายายังคงมีประสิทธิภาพได้ผลกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่ หรือสายพันธุ์อังกฤษ

ที่สำคัญการให้ยาผู้ป่วย ต้องให้เร็ว อย่ารอจนอาการหนักมาก ๆ แล้วค่อยให้ ทุกวันนี้มีการใช้ยาวันละประมาณ 50,000 เม็ด และมีการสั่งยาเข้ามาในสต๊อกเรื่อย ๆ จากจีน และญี่ปุ่น เพราะยังผลิตในไทยไม่ได้ คาดว่าองค์การเภสัชกรรมน่าจะผลิตได้เองประมาณเดือนตุลาคม เป็นต้นไป รัฐบาลก็เร่งผลิตให้เร็วขึ้น”

“นพ.ชัยวัฒน์ เตชะไพฑูรย์” ผู้อำนวยการศูนย์สนับสนุนนักรบเสื้อขาวสู้ภัยโควิด-19 กล่าวเสริมว่า ที่น่ากังวลคือจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องรับมือวิกฤตในครั้งนี้ มีบางส่วนติดเชื้อ และบางส่วนที่ต้องกักตัวเฝ้าระวัง ทำให้แพทย์ที่มีอยู่ต้องรับภาระหนักขึ้น

“หากประชาชน และทุกภาคส่วนปฏิบัติตามมาตรการที่หน่วยงานภาครัฐกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด โดยป้องกันตนเอง และปรับวิธีคิด จนทำให้ทุกคนตระหนักว่าทุกสถานที่ และบุคคลที่พบเจอมีโอกาสมีเชื้อ ก็จะช่วยควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นได้ อีกทั้งขอย้ำว่าการฉีดวัคซีน เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำ ซึ่งจะช่วยให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยคลี่คลาย และกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาฟื้นตัวได้ในระยะเวลาอันสั้น”

นับว่าทุกเรื่องมีความสำคัญอย่างยิ่ง