ILO คาดปี’65 ตกงานทั่วโลก 205 ล้านคน ทางแก้ต้องเร่งฉีดวัคซีนโควิด

ที่มาภาพ: ILO/Giorgio Tarasch

ILO คาดการณ์คนว่างงานทั่วโลก 205 ล้านคนปี 2565 ทุกประเทศต้องเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพื่อการฟื้นตัว รวมถึงจัดการความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจและสังคม และให้การช่วยเหลือคนในกลุ่มเปราะบางมากขึ้น

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ไอแอลโอ (International Labour Organization – ILO) จัดทำ World Employment and Social Outlook – Trends (WESO Trends) ปี 2564 รายงานแนวโน้มการจ้างงานและประเด็นทางด้านสังคมทั่วโลก โดยคาดการณ์ว่า วิกฤตตลาดแรงงานที่เกิดขึ้นจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ยังคงดำเนินไปต่อเนื่อง ถึงแม้จะมีการเติบโตของการจ้างงานอยู่บ้าง แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะชดเชยความสูญเสียที่ได้เกิดขึ้น และอาจต้องใช้เวลาถึงปี 2566 เป็นอย่างน้อย

ปีหน้าว่างงาน 205 ล้านคนทั่วโลก

ไอแอลโอระบุว่า “ตำแหน่งงานขาดแคลน” เนื่องจากวิกฤตโลกจะสูงถึง 75 ล้านตำแหน่งในปี 2564 ก่อนจะลดลงสู่ 23 ล้านตำแหน่งในปี 2565 ขณะที่ช่องว่างที่เกี่ยวกับชั่วโมงการทำงาน ซึ่งรวมถึงการว่างงานและชั่วโมงการทำงานที่ลดลง มีจำนวนเทียบเท่ากับการจ้างงานเต็มเวลา 100 ล้านตำแหน่งในปี 2564 และ 26 ล้านตำแหน่งในปี 2565

นอกจากนั้น คาดการณ์ว่าจะมี “คน” ว่างงานทั่วโลก 205 ล้านคนในปี 2565 สูงกว่าปี 2562 ที่มีคนว่างงานจำนวน 187 ล้านคน ซึ่งสอดคล้องกับอัตราการว่างงานร้อยละ 5.7 และหากตัดเหตุผลด้านโควิด-19 ออกไป เท่ากับว่าการว่างงานในอัตราดังกล่าวเกิดขึ้นครั้งสุดท้ายในปี 2556

ส่วนภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบที่มากที่สุดในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 ได้แก่ ลาตินอเมริกาและแคริบเบียน ยุโรปและเอเชียกลาง ภูมิภาคดังกล่าวมีการสูญเสียชั่วโมงการทำงานโดยประมาณสูงกว่าร้อยละ 8 ในช่วงไตรมาสแรก และร้อยละ 6 ในช่วงไตรมาสที่สอง เมื่อเปรียบเทียบกับการสูญเสียชั่วโมงการทำงาน “ระดับโลก” ในอัตราร้อยละ 4.8 และ 4.4 ในช่วงไตรมาสแรก และไตรมาสที่สองตามลำดับ

วัคซีนช่วยคนมีงานทำ

ไอแอลโอคาดการณ์ว่า การฟื้นตัวของการจ้างงานทั่วโลกจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 หากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 โดยรวมไม่เลวร้ายลงไปกว่านี้

อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของการจ้างงานในแต่ละประเทศอาจไม่เท่ากัน เนื่องจากความไม่เท่าเทียมในการการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโควิด-19 และศักยภาพที่จำกัดของประเทศที่กำลังพัฒนาและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ในการใช้มาตราการกระตุ้นทางการคลังที่เข้มแข็ง นอกจากนี้คุณภาพของงานที่สร้างขึ้นใหม่มีแนวโน้มที่จะลดต่ำลงในประเทศเหล่านั้น

สำหรับปี 2564 คาดว่าการเติบโตของการจ้างงานจะอยู่ที่ 100 ล้านตำแหน่ง ตกลงมาที่ 80 ล้านตำแหน่งในปี 2565 อย่างไรก็ตาม การเติบโตของการจ้างงานดังกล่าวยังไม่เพียงพอที่จะชดเชยความสูญเสียที่เกิดขึ้นก่อนหน้า

ทั้งนี้ การลดลงของการจ้างงานและชั่วโมงการทำงานส่งผลต่อรายได้ของแรงงานที่ลดลงเป็นอย่างมาก และต่อปัญหาความยากจนที่เพิ่มขึ้นตามลำดับ โดยปี 2562 มีจำนวนแรงงานเพิ่มขึ้น 108 ล้านคนทั่วโลก ที่ปัจจุบันถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มคนยากจน หรือกลุ่มคนยากจนสุดขีด (หมายถึงแรงงานและสมาชิกในครอบครัวมีรายได้น้อยกว่า 3.20 ดอลล่าร์สหรัฐต่อคนต่อวัน) ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั้งยืนแห่งสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals – SDGs) ด้านขจัดความยากจน ภายในปี 2573 อาจเป็นเรื่องที่เลือนลางยิ่งขึ้น

จ้างงานผู้หญิงลดลง

รายงานยังพบด้วยว่า วิกฤตโควิด-19 ทำให้ความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ก่อนวิกฤตแย่ลงไปอีก ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงยิ่งขึ้นกับกลุ่มแรงงานที่มีความเปราะบาง และการขาดการคุ้มครองทางสังคมในวงกว้าง เช่น ในกลุ่มแรงงานนอกระบบจำนวน 2 พันล้านคนทั่วโลก และชี้ให้เห็นว่าภาวะชะงักงันของงานที่เกิดจากการระบาดโควิด-19 กลายเป็นหายนะที่ร้ายแรงต่อรายได้ของครอบครัวและการดำรงชีวิต

วิกฤตดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อผู้หญิงอย่างมาก โดยไอแอลโอพบว่า การจ้างงานของผู้หญิงลดลงร้อยละ 5 ในปี 2563 เมื่อเปรียบเทียบกับแรงงานชายที่การจ้างงานลดลงร้อยละ 3.9 นอกจากนั้น มีจำนวนผู้หญิงที่หลุดจากตลาดแรงงาน และกลายเป็นผู้ไม่อยู่ในกำลังแรงงานในสัดส่วนที่สูงขึ้นด้วย รวมถึงภาระหน้าที่ในงานบ้านที่เพิ่มขึ้นที่เกิดจากการปิดเมืองในช่วงวิกฤตยังก่อให้เกิดความเสี่ยงเกี่ยวกับบทบาททางเพศขึ้นมาอีกครั้ง

ส่วนการจ้างงานคนรุ่นใหม่ที่มีประสบการณ์ไม่มากลดลงร้อยละ 8.7 ในปี 2563 และการจ้างงานแรงงานผู้ใหญ่ลดลงร้อยละ 3.7 ซึ่งกรณีดังกล่าวพบมากที่สุดในประเทศรายได้ปานกลาง แนวโน้มเช่นนี้จะยังคงอยู่ต่อไปอีกหลายปี นอกจากนั้น ช่องว่างระหว่างเพศในตลาดแรงงานเยาวชนมีความชัดเจนมากขึ้นอีกด้วย

ยุทธศาสตร์ฟื้นตัวจากโควิด

“กาย ไรเดอร์” ผู้อำนวยการใหญ่ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ กล่าวว่า ต้องมียุทธศาสตร์ที่สอดคล้องและครอบคลุมรอบด้าน โดยมุ่งเน้นนโยบายที่ยึดคนเป็นศูนย์กลางและสนับสนุนโดยการลงมือทำและงบประมาณ และคงไม่มีการฟื้นตัวที่เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริงหากปราศจากการฟื้นตัวของงานที่มีคุณค่า

“การฟื้นตัวจากโควิด-19 ไม่ใช่แค่ประเด็นด้านสุขภาพเท่านั้น แต่เราจำเป็นต้องจัดการความเสียหายที่เกิดขึ้นกับด้านเศรษฐกิจและสังคมด้วย หากปราศจากความพยายามในการเร่งสร้างงานที่มีคุณค่า และให้การสนับสนุนช่วยเหลือสมาชิกของสังคมที่มีความเปราะบางมากที่สุด ก็จะทำให้ผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 อาจยังอยู่กับเราต่อไปอีกหลายปี ทั้งยังส่งผลให้เกิดการสูญเสียศักยภาพของมนุษย์ ความยากจน และความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มสูงขึ้น”

WESO Trends 2564 ยังมีข้อมูลการสรุปยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นตัวจากโควิด-19 ว่าต้องพิจารณาจากหลักการที่สำคัญ 4 ประการ คือ 1.การส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง และการสร้างการจ้างงานมุ่งเน้นผลิตภาพ 2.การสนับสนุนช่วยเหลือรายได้ครัวเรือน และการเปลี่ยนผ่านของตลาดแรงงาน 3.การเสริมสร้างรากฐานเชิงสถาบันที่เข้มแข็งที่จำเป็นต่อการเติบโต และการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม ยั่งยืน และสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้ดี 4.การนำการเจรจาทางสังคมมาใช้เพื่อพัฒนายุทธศาสตร์การฟื้นตัวที่ยึดคนเป็นศูนย์กลาง