โควิดสายพันธุ์อินเดียพุ่ง 661 ราย กทม. เจออีก 87 ราย

กรมวิทย์พบโควิดสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) เพิ่ม 168 รายในสัปดาห์เดียว กทม.เจออีก 87 ราย ทำยอดสะสมพุ่ง 661 ราย ด้านหมอยง ห่วงเข้ามาแทนที่สายพันธุ์อังกฤษ ต้องปรับกลยุทธ์ให้วัคซีน ฉีดเข็ม 3 สกัดทุกสายพันธุ์ ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาความปลอดภัย และการสลับยี่ห้อฉีด แนะหากจะเปิดประเทศต้องชะลอการระบาดของเชื้อให้ได้ก่อน

วันที่ 22 มิถุนายน 2564 กระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าว “Update สายพันธุ์ Delta (อินเดีย) และจะมีผลกระทบต่อการได้รับวัคซีนหรือไม่” โดย นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทย์ มีการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิดทุกสัปดาห์ โดยเก็บตัวอย่างเชื้อมาตรวจจากหลายแห่ง แต่หลัก ๆ จะเก็บมาจากพื้นที่กรุงเทพฯ และพื้นที่เฝ้าระวัง

ล่าสุด จํานวนผู้ติดเชื้อที่พบจำแนกตามสายพันธุ์ในรอบวันที่ 14-20 มิถุนายน 2564 พบว่า

  • สายพันธุ์อัลฟ่า (อังกฤษ) ยังเป็นสายพันธุ์ที่มากสุดในไทย จากเดิมมี 4,528 ราย ล่าสุดพบเพิ่มอีก 1,113 ราย มากที่สุดอยู่ใน กทม. 387 ราย ทำให้ยอดสุ่มตรวจตั้งแต่การระบาดระลอกเมษายน 2564 สะสมแล้ว 5,641 ราย หรือคิดเป็น 88.93%
  • สายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) จากเดิมมี 493 ราย พบเพิ่มอีก 168 ราย อยู่ในเขตสุขภาพที่ 4 (สระบุรี นนทบุรี ลพบุรี อ่างทอง นครนายก สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี) จากเดิม 40 ราย เพิ่มอีก 65 ราย รวม 105 ราย

และมากสุดในเขต 13 (กทม.) จากเดิม 404 ราย เพิ่มอีก 87 ราย รวมเป็น 491 ราย และเขตอื่น ๆ ทำให้ยอดสะสมสุ่มตรวจตั้งแต่การระบาดระลอกเดือนเมษายนถึงปัจจุบันพบสายพันธุ์เดลต้าแล้วทั้งสิ้น 661 ราย คิดเป็น 10.47% ซึ่งจะเห็นว่าสายพันธุ์นี้เริ่มมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น

  • สายพันธุ์เบต้า (แอฟริกา) จากมี 31 ราย พบเพิ่มอีก 7 ราย ในพื้นที่ภาคใต้ แบ่งเป็น 2 ราย ที่ภูเก็ต เป็นนักเรียนที่กลับมาจากโรงเรียนมัรกัส จ.ยะลา และที่ จ.ปัตตานี 4 ราย จ.ยะลา 1 ราย รวมยอดสะสมแล้ว 38 ราย หรือคิดเป็น 0.60%

แต่ทั้งหมดเข้าสู่กระบวนการรักษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งสายพันธุ์นี้ยังอยู่ในภาคใต้ กำลังเร่งติดตามว่ามีแพร่กระจายไปที่อื่นหรือไม่ เชื้อตัวนี้จะแพร่ช้ากว่าเดลต้าและอัลฟ่า หากพื้นที่คุมโรคได้เร็ว หยุดการแพร่ระบาดได้เชื้อก็จะไม่ไปที่อื่น

ด้าน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สายพันธุ์เดลต้า หรือสายพันธุ์อินเดีย แพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์อังกฤษประมาณ 1.4 เท่า ไม่แปลกที่สายพันธุ์เดลต้าจะเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว และในอีก 3-4 เดือนข้างหน้า สายพันธุ์เดลต้าก็จะเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดเกือบทั่วโลก ในอนาคตก็อาจจะมีสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้น โดยวัฏจักรแล้วจะใช้เวลาประมาณ 4 เดือน ฉะนั้นไทยก็ต้องควบคุมโรคให้ได้มากที่สุด

ส่วนความรุนแรงไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ไหนไม่ได้เพิ่มขึ้นสูงมากกว่ากัน แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ประสิทธิภาพของวัคซีน เพราะวัคซีนทุกบริษัทในโลกถูกพัฒนามาจากเชื้อไวรัสดั้งเดิมจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน แต่เมื่อเจอสายพันธุ์ที่เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ก็เป็นไปได้ที่ประสิทธิภาพวัคซีนจะลดลง จนกว่าจะมีการพัฒนาวัคซีนที่ล้ำหน้าขึ้นไปอีก

“การฉีดวัคซีน หลายบริษัทก็กำลังพัฒนาวัคซีนรุ่นต่อไปเพื่อตอบสนองเชื้อกลายพันธุ์ ส่วนประเทศไทยขณะนี้ส่วนใหญ่ยังเป็นสายพันธุ์อัลฟ่า และมีแนวโน้มที่จะเกิดสายพันธุ์เดลต้าเข้ามาแทนที่ สิ่งที่เราจะทำได้ก็คงจะต้องช่วยกันชะลอสายพันธุ์เดลต้าให้ระบาดในประเทศไทยช้าที่สุด น้อยที่สุด และปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการให้วัคซีน เพื่อควบคุมโรคในอนาคตให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดตามทรัพยากรที่มีอยู่

แนะนำว่าผู้ที่ฉีดแอสตร้าเซนเนก้า ให้ฉีดเข็ม 2 เร็วขึ้น ส่วนวัคซีนของจีนไม่ว่าจะซิโนแวค หรือซิโนฟาร์ม เมื่อฉีดครบ 2 เข็มแล้ว ภูมิต้านทานอาจจะยังต่ำอยู่ อาจกระตุ้นเข็ม 3 ลงไป ตอนนี้กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาเข็ม 3 ถึงความปลอดภัยของประชาชน รวมถึงความเป็นไปได้ในการสลับยี่ห้อวัคซีน ต้องดูผลข้างเคียง และศึกษาว่าเข็ม 3 ควรฉีดหลังเข็ม 2 ภายในกี่เดือน ควรจะ 3 เดือน หรือ 6 เดือนถัดไป คาดว่าข้อมูลจะออกมาเร็ว ๆ นี้”

เมื่อถามว่า จะสามารถชะลอสายพันธุ์เดลต้า ทันก่อนเปิดประเทศ 120 วันได้หรือไม่ ? ศ.นพ.ยงกล่าวว่า ตอนนี้ยังตอบไม่ได้ ขึ้นกับว่าเราต้องช่วยกันลดระบาด คุมจำนวนติดเชื้อให้ได้วันละหลักสิบ หรือหลักหน่วย และมีคนเสียชีวิตแค่ 1-2 คนเท่านั้น ถึงเวลานั้นอาจเปิดประเทศได้ แต่ถ้าเปิดประเทศในช่วงที่ยังมีคนติดเชื้อหลักพันคน ถึงเปิดไปก็คงไม่มีใครมา ดังนั้นเราต้องช่วยกัน ลดตัวเลขพร้อมกับไปฉีดวัคซีน ตอนนี้มีวัคซีนอะไรก็ขอให้ปูพรมฉีดให้เร็วที่สุด