บริหารจัดการเมือง 2 นักวิชาการชี้ กทม.เสี่ยงจมน้ำ

(ซ้าย) รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ - ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์(ขวา)

สถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่จากพายุเตี้ยนหมู่ตลอดช่วงผ่านมา และทำท่าว่าจะมีพายุไลออนร็อกอีกลูกที่กำลังจะตามมาในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ น่าจะทำให้เกิดอุทกภัยเพิ่มขึ้นอีกในหลายจังหวัด

ผลเช่นนี้ จึงทำให้นักวิชาการหลากหลายสาขาต่างวิพากษ์วิจารณ์การแก้ไขสถานการณ์น้ำท่วมของรัฐบาลที่ช้ากว่ามวลน้ำอยู่มาก

คำถามคือท่วมแล้วจะจัดการอย่างไร ?

รวมไปถึงการวางกลยุทธ์ด้านการบริหารจัดการน้ำในอนาคตของประเทศจะเป็นอย่างไร ?

คำถามดังกล่าวจึงกลายเป็นเวทีพูดคุยอย่างกันเอง ผ่านรายการคนตัวเอ้ ของ “ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์” อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และผู้เชี่ยวชาญน้ำระดับโลกอย่าง “รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์” ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต

น้ำท่วมระเบิดเวลาลูกใหม่

เบื้องต้น “ดร.สุชัชวีร์” ย้อนมองไปในสถานการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่เมื่อปี 2554 พร้อมตั้งคำถามต่อไปว่า จากวันนั้นจนถึงวันนี้ประเทศไทยเรียนรู้เรื่องอะไรบ้างจากวิกฤตครั้งนั้น ซึ่งหากในวันนี้ยังไม่ลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหา อนาคตทั้งประเทศจะต้องเผชิญปัญหาน้ำท่วมต่อไป

ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์
ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)

“เดิมทีนั้นคิดว่าประเทศไทยมีระเบิดเวลาอยู่ 2 ลูก คือ 1.คุณภาพการศึกษา เพราะจะเป็นเครื่องชี้ชะตาของคนในอนาคต หากตั้งแต่เด็กเล็กไม่ได้รับการเรียนที่มีคุณภาพ และชีวิตคนไทยก็ยังไม่มีคุณภาพที่จะแข็งแรงมากพอให้แข่งขันกับประเทศอื่นได้ 2.คุณภาพระบบสาธารณสุข เพราะตั้งแต่โควิด-19 เข้ามา จะเห็นภาพชัดเจนมากขึ้น ไม่ว่าจะมีทีมแพทย์ และพยาบาลที่เก่งแค่ไหนก็ตาม แต่ข้อจำกัดสำคัญคือประเทศยังไม่สามารถสร้างเครื่องมือทางการแพทย์ รวมไปจนถึงยาที่ต้องนำเข้าเกือบทั้งหมด และเมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์น้ำที่เกิดขึ้น ต้องยอมรับว่าภัยพิบัติทางธรรมชาติคือ ระเบิดลูกที่ 3 ของประเทศ”

นอกเหนือจากนี้ ยังอธิบายพื้นฐานของเขื่อนในประเทศว่า เขื่อนเจ้าพระยาพื้นที่จังหวัดชัยนาทนั้น ในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน ซึ่งมีหน้าที่หลักในการการันตีว่าคนไทยจะมีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ และที่สำคัญคือ ใช้เพื่อรักษาจุดแข็งของประเทศ คือ ภาคเกษตรกรรม

ที่เห็นภาพคลองชลประทานกระจายตัวตามเส้นทางต่าง ๆ นั้น มีลักษณะเฉพาะตัวคือ จุดเริ่มต้นต้องใหญ่ ปลายต้องแคบ เพื่อกระจายน้ำไปให้ทั่วถึงมากที่สุด แต่หากจะแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ลักษณะของเขื่อนจะต้องมีจุดเริ่มต้นที่ใหญ่มาก และปลายทางก็ต้องขนาดใหญ่ไปเรื่อย ๆ

“ลักษณะของเขื่อนทดน้ำเป็นความท้าทายของประเทศ เพราะจะทำอย่างไรให้เขื่อนทดน้ำที่นอกจากจะใช้ประโยชน์ทางด้านชลประทานแล้วนั้น ยังต้องเพิ่มหน้าที่การระบายน้ำให้เร็วที่สุด เพื่อช่วยป้องกันน้ำท่วมได้ด้วย สิ่งที่กังวลตามมาคือเส้นทางน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา ด้านขวาไล่ลงมาคือ คลองชัยนาท-ป่าสัก จนมาถึงคลองประเวศ ผ่านคลองสำโรง และไหลออกสู่ทะเล แต่ระหว่างทางก็กระจายเพื่อการชลประทานด้วย นั่นหมายถึงว่าพื้นที่กรุงเทพฯเสี่ยงน้ำท่วมแน่นอน”

ภัยคุกคามฝนเพิ่ม น้ำเพิ่ม

ขณะที่ “รศ.ดร.เสรี” ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำระดับโลกระบุว่า จากหลายปัจจัยที่เกิดขึ้นทำให้มองว่ากรุงเทพฯมีความเสี่ยงน้ำท่วมอย่างมาก ปัจจัยแรกคืออุณหภูมิของโลกในวันนี้ที่เพิ่มขึ้นทุกปีนั้น ทำให้น้ำระเหยเพิ่มขึ้นเช่นกัน อีกทั้งยังมีการสะสมน้ำไว้ในอากาศจำนวนมาก ทันทีที่เข้าสู่ฤดูมรสุมความร้อนปะทะความเย็น ทำให้เกิดเป็นไอน้ำ และตกลงมาเป็นฝน

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์
รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต

“ดังนั้น ทุก ๆ 1 องศาเซลเซียสที่เพิ่มขึ้นมีการยืนยันทางวิทยาศาสตร์แล้วว่า ปริมาณน้ำในอากาศจะเพิ่มขึ้น 7-10% ฉะนั้น อนาคตข้างหน้าในฤดูมรสุมฝนจะตกมากกว่าปกติ 1-3 เท่า ขณะเดียวกันในช่วงฤดูแล้งก็จะแล้ง 3-4 เท่า เหมือนการต้มน้ำในมหาสมุทร ถือเป็นภัยคุกคามที่ต้องหาคำตอบแล้วว่าเราจะอยู่กันอย่างไร”

ผลตรงนี้ จึงทำให้ “ดร.สุชัชวีร์” แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า ปัญหาน้ำครั้งนี้ยังไม่รวมปัจจัยน้ำทะเลหนุน จึงเป็นอีกประเด็นที่สำคัญ

สำหรับประเด็นนี้ “รศ.ดร.เสรี” บอกว่า การพยากรณ์สภาพอากาศเป็นเรื่องที่ “ยากมาก” ต้องใช้หลากหลายโมเดลคาดการณ์ แต่สิ่งที่ต้องมีคือ “ค่าเฉลี่ย” ของระดับน้ำ นับจากนี้ไปอีก 10 ปีข้างหน้ามีการประเมินกันว่าจะมีปริมาณน้ำสูงขึ้นราว 10 เซนติเมตร ในอีก 50 ปีข้างหน้าจะสูงขึ้นอีก 30 เซนติเมตร และในอีก 80 ปีจะสูงขึ้นอีก 80 เซนติเมตร

สิ่งที่ต้องเรากังวลหลังจากพายุเตี้ยนหมู่ผ่านไปคือเพราะอะไร ? ทำไม ? เตี้ยนหมู่ถึงมีอิทธิฤทธิ์มาก และหอบน้ำมามากกว่าทุกครั้ง

เตี้ยนหมู่เทียบครึ่งเขื่อนป่าสักฯ

นอกจากนั้นยังมีการคาดการณ์จากผู้เชี่ยวชาญว่า ในอนาคตพายุจะมีความรุนแรงมากขึ้น จากพายุโซนร้อนก็จะกลายเป็นไต้ฝุ่น จากไต้ฝุ่นก็จะกลายเป็นซูเปอร์ไต้ฝุ่น และพบว่าพายุเตี้ยนหมู่ที่เกิดขึ้นนั้น ช่วงแรกคิดว่าไม่น่ามีความรุนแรงมาก แต่ปริมาณน้ำในวันนั้นวันเดียวมีปริมาณมากกว่าที่คิดไว้

ดังนั้น ถ้าจะเปรียบเทียบพายุเตี้ยนหมู่เทียบเท่ากับการเอาน้ำ “ครึ่งเขื่อนป่าสักฯ” มาเทลงเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ส่งผลให้เขื่อนเจ้าพระยาต้องเร่งระบายน้ำออก เพื่อรับกับสถานการณ์พายุลูกใหม่ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 8-9 ตุลาคมนี้ อีกทั้งแบบจำลองที่ทำไว้ก็ชี้ชัดว่าโอกาสที่ กทม.จะจมน้ำมีสูงมาก

“ผมตกใจมาก เมื่อมองย้อนคิดกลับไปว่าเหมือนสิ่งที่เกิดขึ้นในปี’54 เนื่องจากบริเวณนั้นเป็นที่ค่อนข้างสูง และมีการรายงานตัวเลขปล่อยน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ 2,800 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ก่อนหน้านี้ ผมเคยให้ข้อมูลภาครัฐว่า เรื่องน้ำไม่ได้ดูกันเพียงแค่ปริมาณ หรือปริมาตรเท่านั้น คน กทม.อาจจะเข้าใจว่าน้ำเหนือมาน้อย แต่น้ำเหนือที่มานั้น ยอดสูงเท่ากับปี’54 ทีเดียว”

“รศ.ดร.เสรี” ขยายความปริมาณน้ำสูงเท่ากับปี’54 ว่า ตอนนี้ระดับน้ำเหลือเพียง 1 เมตร ก็จะแตะระดับเท่ากับปี 2554 ซึ่งตอนนี้เหลือเพียงแค่ 1 เมตรเท่านั้น หากระดับน้ำแตะถึงระดับปี’54 ในเชิงวิศวกรรม ระดับที่น้ำจะแตะนั้นหมายถึงว่า “แรงดันจะเท่ากัน” แต่จะพิจารณาแค่เพียงจำนวนปริมาตรไม่ได้ ต้องดูที่ “ความสูง” ของน้ำด้วย

นอกจากนี้ ในเวลาที่น้ำเคลื่อนตัวจะมีปริมาณที่ผ่านไปแต่ละวัน ปริมาตรภายใต้กราฟระฆังคือปริมาตรน้ำที่จะเข้ามา ยกตัวอย่างปี’54 ปริมาตรฐานค่อนข้างกว้าง แต่ปีนี้ “ฐานแคบแต่ยอดแตะ” ฉะนั้น ระดับน้ำยิ่งสูง พลังของน้ำจะเพิ่มเป็นทวีคูณ อันเป็นเหตุให้คันดินเขื่อนป่าโมกแตก

ภาวนาพายุลูกใหม่มาไวไปไว

ที่สำคัญ “พายุลูกใหม่” เป็นเครื่องชี้ชะตาว่าจะเสี่ยงน้ำท่วมหรือไม่ โดยทั่วไปเมื่อเกิดน้ำท่วมจากพายุ กราฟระดับน้ำจะสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่อาจจะไปเร็วก็มีความเป็นไปได้ ยกตัวอย่าง พายุเตี้ยนหมู่มา ก็พาน้ำมาตู้มเดียวอย่างแรง ทำให้แรงดันสูง และอาจจะใช้เวลาไม่นานน้ำก็จะหายไป แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในปี’54 นั้น พายุมันเทน้ำแล้ว เทน้ำอีก จึงใช้เวลาในการระบายน้ำที่มากกว่า

สำหรับพายุลูกใหม่มีการคาดการณ์ว่าจะพาดผ่านในวันที่ 8-9 ตุลาคมนี้ เรื่องแรกที่ควรทำคือต้องประเมินสถานการณ์ เพราะเหลือเวลาไม่ถึง 1 สัปดาห์แล้ว “รศ.ดร.เสรี” เน้นย้ำให้เห็นภาพชัดขึ้นว่า อย่าประเมินจากข้อมูลของระดับน้ำเท่านั้น ยกตัวอย่าง กรณีพื้นที่ จ.สุโขทัย หากใส่ใจแค่ว่าน้ำเหนือต้องมีปริมาณเท่าไหร่ถึงจะท่วมจังหวัดสุโขทัยได้ แต่น้ำเหนือในปีนี้กลับแห้ง เพราะน้ำเป็นเรื่องซับซ้อน

อีก 1 เมตรน้ำแตะระดับปี’54

แม้ว่าในปัจจุบันยังไม่มีแบบจำลองใดที่แม่นยำที่สุด เพราะมีเพียงผู้เชี่ยวชาญทางด้านวิศวกรรมเท่านั้นที่ออกมาพูดถึงการบริหารความเสี่ยง เช่น ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันคือค่าเฉลี่ยระดับน้ำกรณีสถานการณ์เลวร้าย หรือสถานการณ์ที่ต้องเฝ้าระวัง

“ตอนนี้ GAP เหลือแค่ 1 เมตรจะเท่ากับปี’54 ตรงนี้ชี้ให้เห็นว่าเรื่องปริมาณน้ำไม่ใช่ข้อกังวลมากนักเมื่อเทียบกับระดับน้ำ เมื่อน้ำยกระดับสูงขึ้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือจะมีคันน้ำแตก ระบบสาธารณูปโภคจะเสียหาย เพราะว่าเราเคยเรียนรู้สิ่งเหล่านี้มาแล้วตั้งแต่ปี’54 ที่พายุมาเป็นลูก ๆ มานิ่ง ๆ ผ่านทะเลจีนใต้ พร้อมน้ำก้อนโตแล้วเทลงตูมเดียวที่ภาคกลาง”

ในช่วงท้าย ทั้ง 2 นักวิชาการทางด้านวิศวกรรม และด้านน้ำ ระบุว่า ที่ต้องติดตามคือกรุงเทพฯ เพราะเป็นพื้นที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลที่ 0.5-1.5 เมตร แต่เมื่อเทียบกับอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลถึง 8 เมตร แต่กลับตั้งรับเรื่องน้ำท่วมอย่างไม่มีปัญหา

ฉะนั้น หากกรุงเทพฯจะบริหารจัดการเสียตั้งแต่ตอนนี้ก็ยังดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย เพราะมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศเนเธอร์แลนด์ศึกษามาแล้วว่าในกรณีที่ไม่มีมาตรการ หรือแผนการบริหารจัดการน้ำที่ดี จะทำให้เกิดความเสียหายราว 20,000 ล้านบาทต่อปี ในอีก 30 ปีข้างหน้าจะเสียหายเพิ่มเป็น 140,000 ล้านบาทต่อปี และในอีก 50 ปีข้างหน้าจะเพิ่มความเสียหายมากกว่าล้านล้านบาทต่อปี

ทั้งนั้น อยู่ที่ว่าจะเลือกแบบไหน ?