พลังสหประชาชาติ ปกป้องชั้นโอโซนเพื่อลดโลกร้อน

พลังสหประชาชาติ

โอโซนเป็นก๊าซในชั้นบรรยากาศที่ช่วยกรองรังสีจากดวงอาทิตย์ไม่ให้เข้าสู่โลก จึงทำให้สิ่งมีชีวิตอยู่อาศัยโดยไม่เป็นอันตราย แต่ว่าการมีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากขึ้น และการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มากขึ้นเรื่อย ๆ กลับส่งผลให้ชั้นบรรยากาศถูกปกคลุมด้วยแก๊สพิษ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะโลกร้อน และระบบนิเวศเสียสมดุล

ดังนั้น เพื่อเตือนให้มนุษย์ตระหนักรู้ และร่วมกันปกป้องโอโซน เมื่อปี 2538 สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติจึงประกาศให้ วันที่ 16 กันยายนของทุกปีเป็นวันพิทักษ์โอโซนสากล หรือ Ozone Day และนับเป็นวันที่รำลึกถึงพิธีสารมอนทรีออล (Montreal Protocol) พิธีลงนามว่าด้วยการเลิกใช้สารทำลายชั้นโอโซน ที่มีขึ้นเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2530 ซึ่งมีนานาประเทศร่วมลงนามในวันดังกล่าว ส่วนประเทศไทยร่วมลงนามในพิธีสารนี้เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2531

ด้วยเหตุนี้ สหประชาชาติ โดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme : UNEP) และองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization : UNESCO) จึงร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดตัวการประกวดออกแบบศิลปะเพื่อปกป้องชั้นโอโซน และสภาพภูมิอากาศ ระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Regional Ozone2Climate Art Contest)

โดยมีผู้บริหารและบุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมมาร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลสำคัญ เพื่อเตือนชาวโลกให้ตระหนักถึงปัญหาชั้นโอโซนในบรรยากาศที่ถูกทำลายและภัยโลกร้อน

ห่วงโซ่ระบบความเย็นยั่งยืน

“เมกูมิ เซกิ” เลขาธิการสำนักงานโอโซน โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า จากการที่นานาประเทศร่วมลงนามในพิธีสารมอนทรีออลมากว่า 30 ปี จนมีส่วนช่วยให้เลิกใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนถึง 99% โดยอีก 1% ยังมีการใช้เหลืออยู่เป็นสารจำพวก HFCs ซึ่งมีปริมาณการใช้ทั่วโลกเหลือเพียง 12,000 ตันเท่านั้น

เมกูมิ เซกิ
เมกูมิ เซกิ เลขาธิการสำนักงานโอโซน โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ

อย่างไรก็ตาม พิธีสารมอนทรีออลยังมีภารกิจที่รออยู่ข้างหน้า โดยพิธีสารมอนทรีออลฉบับแก้ไข ณ กรุงคิกาลี (Kigali Amendment) มุ่งลดการใช้สาร HFCs เพื่อหลีกเลี่ยงการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้ได้ถึง 0.4 องศาเซลเซียส ภายในสิ้นศตวรรษ หรือปี 2100

สำหรับธีมของ Ozone Day ปีนี้คือ Montreal Protocol : Keeping Us, Our Food and Vaccines Cool โดยมุ่งเป้าไปที่การเดินตามแนวทางพิธีสารมอนทรีออล เพื่อชะลอการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืน เพื่อผลักดันภาคอุตสาหกรรมระบบทำความเย็นให้พัฒนาโซลูชั่นความเย็นที่งดการใช้สาร HFCs ซึ่งเป็นต้นเหตุของการทำลายโอโซน และพัฒนาระบบความเย็นที่ใช้พลังงานไฟฟ้าน้อยลง เพื่อไม่เพิ่มผลกระทบต่อสภาพอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา

“การสร้างห่วงโซ่ความเย็นที่มีประสิทธิภาพ และเป็นมิตรกับสภาพอากาศจะช่วยก่อให้เกิดความมั่นคงด้านอาหาร ทำให้ประชากรทั่วโลกมีสุขภาพดี เพราะเกษตรกร และผู้ให้บริการสามารถเข้าถึงระบบทำความเย็น เช่น รถขนส่งที่มีระบบความเย็นที่ทำให้ผลิตภัณฑ์อาหาร และวัคซีนส่งถึงผู้คนอย่างปลอดภัย และอยู่ในสภาพดี”

บริหารจัดการอุตฯทำความเย็น

“เจมส์ เอส เคอร์ลิน” หัวหน้าฝ่าย OzoneAction โครงการสิ่งแวดล้อมสหประชาชาติ กล่าวว่า การประกวดออกแบบศิลปะเพื่อปกป้องชั้นโอโซน และสภาพภูมิอากาศ ระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก “Ozone2Climate” สะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างโอโซนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในด้านต่าง ๆ เช่น วิทยาศาสตร์, เทคโนโลยี และการบริหารจัดการ

รวมทั้งมีเป้าหมายมุ่งสู่การสร้างโลกในอนาคตที่มีเทคโนโลยีทำความเย็นที่เป็นมิตรกับชั้นโอโซน และสภาพอากาศ เพราะภาคอุตสาหกรรมระบบทำความเย็น เช่น ตู้เย็นเติบโตอย่างรวดเร็ว และการเติบโตนี้นำไปสู่ความต้องการตู้เย็นเพิ่มขึ้น และอาจส่งผลให้มีการใช้พลังงานมากขึ้นหากไม่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม

เจมส์ เอส เคอร์ลิน
เจมส์ เอส เคอร์ลิน หัวหน้าฝ่าย OzoneAction โครงการสิ่งแวดล้อมสหประชาชาติ

“ระบบทำความเย็นที่ยั่งยืนเอื้อประโยชน์ต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือแม้กระทั่งการขจัดความยากจน สร้างความมั่นคงด้านอาหาร และการรักษาสุขภาพของประชาชน แต่กระบวนการสร้างความยั่งยืนไม่เพียงเกี่ยวข้องกับผู้ผลิตระบบทำความเย็น และรัฐบาลเท่านั้น แต่ยังรวมถึงช่างเทคนิคและผู้บริโภคด้วย”

“ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่นานาประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก 30 ประเทศ จะร่วมส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดออกแบบศิลปะเพื่อปกป้องชั้นโอโซน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่แยกกันจัดในแต่ละประเทศ เพื่อสร้างความตื่นตัว และร่วมกันแก้ไขปัญหาในเรื่องของโลกร่วมกัน”

สนับสนุนเยาวชนรักษ์สิ่งแวดล้อม

“รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์” คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเสริมว่า ข้อมูลสภาพอากาศทั่วโลกในช่วงหลายสิบปีผ่านมา ยิ่งเฉพาะในปี 2564 มีวันที่อุณหภูมิจะสูงเกิน 50 อาศาเซลเซียส ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าของ 40 ปีก่อน เพราะจากเดิมในช่วงปี 2523-2552 มีวันที่ร้อนจัดเกิน 50 องศา จำนวน 14 วันต่อปี แต่ระหว่างปี 2553-2562 มีวันอากาศร้อนจัดเพิ่มเป็น 26 วันต่อปี

รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์
รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

นอกจากนั้น สมัยก่อนอุณหภูมิที่สูงเกิน 50 องศาจะกระจุกตัวอยู่ในแถบตะวันออกกลาง และอ่าวเปอร์เซีย แต่ในช่วงไม่กี่ปีผ่านมาพบว่าอุณหภูมิที่สูงเกิน 50 องศากระจายไปหลายพื้นที่ทั่วโลก

“ยิ่งปัจจุบันจะเห็นว่าปัญหาสิ่งแวดล้อม และภัยธรรมชาตินับวันจะรุนแรง และเกิดบ่อยขึ้น ทั้งยังเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต เช่น น้ำท่วม, ภัยแล้ง, แผ่นดินไหว, ไฟป่า คลื่นความร้อน โดยเฉพาะคลื่นความร้อนที่ก่อปัญหาอื่นตามมา เช่น โครงสร้างพื้นฐาน, อาคารบ้านเรือน, ถนน, ระบบไฟฟ้า เป็นต้น

ดังนั้น ภาคการศึกษาจึงมีส่วนสำคัญยิ่งในการเผยแพร่ความรู้ เปิดโลกทัศน์ให้เยาวชนตั้งแต่ระดับประถม มัธยม จนถึงคนรุ่นใหม่ระดับอุดมศึกษา ซึ่งเป็นพลังสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในอนาคตเข้าใจถึงสาเหตุของปัญหา และมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาชั้นโอโซน รวมทั้งเน้นย้ำให้เห็นว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลกนั้นมีผลกระทบต่อทุกคน”

ดังนั้น คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงมีบทบาทส่งเสริมงานวิจัยพัฒนาและงานกิจกรรมเพื่อความรับผิดชอบต่อสังคม (ESR) โดยมุ่งด้านสุขภาวะ และสิ่งแวดล้อมโลกเป็นหนึ่งในประเด็นหลักมาโดยตลอด

และล่าสุดผนึกความร่วมมือกับสหประชาชาติ จัดโครงการประกวด Asia-Pacific Regional Ozone2Climate Art Contest ซึ่งจะเดินหน้าพร้อมภาคีพันธมิตรสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เพื่อขยายพลังสร้างสรรค์ด้านสิ่งแวดล้อมไปยังเยาวชนทั่วประเทศและภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

ทั้งนั้นเพื่อให้ตระหนัก และเข้าใจถึงความเชื่อมโยงระหว่างวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการบริหารของภาครัฐตลอดมา ช่วยกันชี้นำให้เห็นความสำคัญของความร่วมมือในมาตรการแก้ปัญหาชั้นโอโซนและสภาพภูมิอากาศโลก ตามพิธีสารมอนทรีออล และ Kigali Agreement

ศิลปะเพื่อปกป้องชั้นโอโซน

“ริกะ โยโรสึ” หัวหน้าสำนักงาน UNESCO สำนักงานกรุงเทพฯ กล่าวว่า การเสื่อมโทรมของชั้นโอโซนเกี่ยวข้องโดยตรงกับกิจกรรมของมนุษย์ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่ง UNESCO มีเครือข่ายที่เป็นสถาบันการศึกษาทั่วโลก UNESCO’s Associated Schools Network (ASPnet) ในภูมิภาคแปซิฟิกกว่า 2,600 แห่ง ทั้งยังมีสถาบันฝึกอบรมครู เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายร่วมกันสร้างการปกป้องสันติภาพ และคุณค่าจิตใจเด็กและเยาวชน

ริกะ โยโรสึ
ริกะ โยโรสึ หัวหน้าสำนักงาน UNESCO สำนักงานกรุงเทพฯ

“กิจกรรมการประกวดออกแบบศิลปะเรื่องการปกป้องชั้นโอโซน และสภาพภูมิอากาศระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีในการสนับสนุนความคิดสร้างสรรค์เกี่ยวกับสันติภาพและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นภารกิจหลักของ UNESCO อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนเรียนรู้ข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ คิดวิเคราะห์ และใช้ทักษะการแสดงออกเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับเยาวชนรุ่นใหม่”

“แต่ทั้งนั้นต้องเชื่อมโยงกับธีมของวันโอโซนโลก 2021 ที่ว่า Montreal Protocol-Keeping Us, Our Food and Vaccines Coolหรือเชื่อมโยงกับความสำเร็จ ปฏิบัติการ หรือประโยชน์ที่ได้รับจากการพิธีสารมอนทรีออล อย่างใดอย่างหนึ่ง โดย UNESCO จะเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การประกวดนี้ผ่านทางเครือข่ายของหน่วยงานในภูมิภาค พร้อมทั้งเชิญชวนให้เยาวชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพศหญิงเข้าร่วมการประกวด”

นับว่าความเชื่อมโยงของชั้นโอโซน และปัญหาสภาพภูมิอากาศกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป็นความท้าทายของภาคอุตสาหกรรมเครื่องเย็น และเครื่องปรับอากาศในภูมิภาค เพื่อส่งเสริมเยาวชนให้มีส่วนร่วมในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม อันเป็นวาระสำคัญต่อการฟื้นฟูโลกในอนาคต