การประเมิน ESG สำคัญไฉน ?

ประกอบบทความ
CSR Talk

พิพัฒน์ ยอดพฤติการ
สถาบันไทยพัฒน์

จากข้อมูลของ SustainAbility ที่เผยแพร่ในเอกสาร Rate the Raters 2020 : Investor Survey and Interview Results ระบุว่าจำนวนของมาตรฐานและกรอบการดำเนินงาน ผู้ให้บริการข้อมูล ผู้ประเมินและจัดอันดับด้าน ESG (Environmental, Social and Governance) มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยหน่วยงานประเมินและจัดอันดับด้าน ESG มีอยู่มากกว่า 600 แห่งในปี ค.ศ. 2018

สำหรับแหล่งข้อมูลที่ผู้ลงทุนใช้ในการวิเคราะห์ผลการดำเนินงานด้าน ESG ของบริษัทที่ลงทุน มากสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ข้อมูลจากผู้ประเมิน ESG, ข้อมูลจากการสานสัมพันธ์โดยตรงกับบริษัท และข้อมูลจากการเปิดเผยรายงานแห่งความยั่งยืนของกิจการตามลำดับ

เหตุผลที่ผู้ลงทุนใช้ข้อมูลจากผู้ประเมิน ESG มากสุด เนื่องจากมีข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญต่อการสร้างผลตอบแทนการลงทุน และสามารถใช้เป็นข้อมูลเสริมเพิ่มเติมจากบทวิจัยอื่นในแง่ของผลการดำเนินงานและความเสี่ยงด้าน ESG ของกิจการ อีกทั้งยังเป็นข้อมูลซึ่งเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก รวมทั้งเป็นแหล่งที่ให้ข้อมูลการดำเนินงาน ESG ของกิจการที่มีคุณภาพและเป็นที่น่าเชื่อถือ

ปัจจุบันหน่วยงานประเมิน ESG มีวิธีการใช้ข้อมูลในการประเมินที่แตกต่างกัน โดยแบ่งออกเป็น 2 ค่ายใหญ่ ได้แก่ ค่ายที่ใช้วิธีการประเมินจากการรวบรวมข้อมูลสาธารณะ (Public Information) ที่เปิดเผยในแหล่งต่าง ๆ อาทิ Bloomberg, Thomson Reuters, MSCI กับค่ายที่ใช้วิธีการขอข้อมูล (requested information) จากกิจการ ผ่านแบบสำรวจหรือแบบสอบถามเพื่อทำการประเมิน อาทิ DJSI Index Family ของ S&P Global, CDP, JUST Capital

DJSI : หัวขบวนดัชนีหุ้นยั่งยืน

S&P Global ในฐานะผู้จัดทำดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices : DJSI) และดัชนี S&P ESG ได้มีการเชิญบริษัทจดทะเบียนทั่วโลกจำนวนกว่า 5,000 แห่ง ที่ผ่านเกณฑ์คัดเลือกของดัชนีดังกล่าว เข้าร่วมในการประเมินความยั่งยืนของกิจการ (CSA) ในรอบครึ่งปีแรก

ในปีนี้ S&P Global เปิดโอกาสให้บริษัทอื่น ๆ ที่อยู่ในความสนใจของชุมชนผู้ลงทุนวงกว้าง อีกจำนวนกว่า 5,000 แห่ง แสดงเจตจำนงที่จะเข้าร่วมในการประเมินความยั่งยืนของกิจการ (CSA) ในรอบครึ่งปีหลังเพิ่มเติมอีกด้วย

ในจำนวนนี้มีบริษัทจดทะเบียนไทยที่ผ่านเกณฑ์คัดเลือกของดัชนี DJSI (Group A) ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประเมินในปีนี้ จำนวน 37 แห่ง (ไม่ต่างจากปีก่อน ๆ นับตั้งแต่ปี’56) แต่ปีนี้ได้เพิ่มเติมบริษัทอีก 25 แห่ง ที่ผ่านเกณฑ์คัดเลือกของดัชนี S&P ESG (Group B) และอีก72 แห่งในรอบหลัง (ที่ไม่ผ่านเกณฑ์คัดเลือกของทั้ง 2 ดัชนี) รวมบริษัทไทยที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประเมินทั้งหมด 134 แห่ง

สำหรับในปี’64 นี้ บริษัทจดทะเบียนไทยที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าอยู่ในดัชนี DJSI มีจำนวน 24 แห่ง (ไม่นับรวม THBEV ที่มิได้เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย) เพิ่มขึ้นเป็นลำดับในห้วงเวลา 20 ปี นับตั้งแต่ที่มีบริษัทจดทะเบียนไทยได้รับคัดเลือกให้เข้าอยู่ในดัชนี DJSI เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2544

DJSI

ส่องผลตอบแทนดัชนี DJSI

เทียบกับดัชนี Thaipat ESG ในมุมมองของผู้ลงทุนโดยใช้ธีม ESG นอกจากการพิจารณาลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีการดำเนินงานโดยคำนึงถึงประเด็นสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลแล้ว การพิจารณาผลประกอบการในบรรทัดสุดท้าย (bottom line) ของกิจการ ยังคงเป็นไฟต์บังคับสำหรับนักลงทุนในการตัดสินใจลงทุน

เมื่อดูผลตอบแทนราคาของดัชนี DJSI World ในรอบปีที่ผ่านมา (ข้อมูล ณ 16 พ.ย. 64) พบว่า มีตัวเลขผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี อยู่ที่ 22.06% ขณะที่ผลตอบแทนราคาของดัชนี DJSI Emerging อยู่ที่ 18.95% เมื่อเทียบกับดัชนี Thaipat ESG Index ซึ่งเป็นดัชนีที่ประกอบขึ้นจากหลักทรัพย์ ESG100 ที่ทำการประเมินโดยสถาบันไทยพัฒน์ พบว่า มีผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี อยู่ที่ 25.73% โดยให้ผลตอบแทนเหนือดัชนี DJSI World (ต่างกัน 3.67%) และ DJSI Emerging (ต่างกัน 6.78%)

4 หมวดที่ควรเพิ่มในตลาดทุน

มอร์นิ่งสตาร์ได้ทำการสำรวจมูลค่ากองทุนยั่งยืนในประเทศไทยพบว่า มีอัตราการเติบโตเกือบเท่าตัวจากสิ้นปี ค.ศ. 2020 โดยมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 5.6 หมื่นล้านบาท แต่มูลค่าทรัพย์สินเกือบทั้งหมดเป็นการลงทุนในต่างประเทศ คิดเป็นมูลค่ารวม 5.5 หมื่นล้านบาท หรือราว 97% ของมูลค่าการลงทุนที่ยั่งยืนในประเทศไทย ในขณะที่การลงทุนในประเทศมีมูลค่ารวมเพียง 1.5 พันล้านบาท (ข้อมูล ณ 31 พ.ค. 64)

การเพิ่มโปรดักต์ในตลาดทุน เพื่อให้ผู้ลงทุนมีตัวเลือกสำหรับการลงทุนที่ยั่งยืน จึงเป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ แม้จะมีข้อเท็จจริงว่าผู้ประกอบธุรกิจในหมวดเหล่านี้ยังมีจำนวนไม่มาก เข้าทำนองว่าไก่กับไข่อะไรเกิดก่อน แต่ถ้ารอถึงเวลานั้น ก็อาจจะสายเกินไปต่อการเล่นบทผู้นำตลาดทุน (ที่ยั่งยืน) ในภูมิภาค

การเพิ่มหมวดธุรกิจใหม่สำหรับการเข้าจดทะเบียน เป็นรูปธรรมหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้การลงทุนที่ยั่งยืนในประเทศไทยมีการเติบโตที่เพิ่มขึ้น โดย 4 หมวดธุรกิจใหม่ที่ควรพิจารณา ได้แก่ หมวดธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนประกอบ (ในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม) ที่สอดรับกับแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคขนส่ง

และร่วมผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก ตามนโยบาย 30/30 คือการตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (zero emission vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ. 2030

หมวดธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ในกลุ่มธุรกิจการเงิน) ที่ยังไม่ต้องถึงขั้นแบบไร้ตัวกลาง (DeFi) แต่เป็นการเงินแบบหลากหลาย (diversified finance) ที่ไม่ได้มีเพียงธนาคาร เงินทุนและหลักทรัพย์ หรือธุรกิจประกัน เพราะธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังอยู่ระหว่างศึกษาการออกใช้สกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางในระดับรายย่อย (retail CBDC) เพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชนในการใช้จ่ายและชำระเงินที่ปลอดภัย ลดต้นทุนต่อหน่วยของการใช้เงินสดในระบบ เอื้อประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยรวม

อีกทั้งได้เริ่มมีผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งที่เป็นศูนย์ซื้อขาย (exchange) นายหน้า (broker) ผู้ค้า (dealer) ที่ปรึกษา (advisor) และผู้จัดการเงินทุน (fund manager) ดำเนินการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจที่ ก.ล.ต. เพิ่มมาเป็นประเภทธุรกิจใหม่ภายใต้การกำกับดูแลในปัจจุบัน

หมวดธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพ (ในกลุ่มเทคโนโลยี) ที่จะไปเสริมหนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ (BCG Economy) ที่ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาเสริมสร้างจุดแข็งของประเทศไทย อาทิ พันธุวิศวกรรม (การดัดแปลงยีน) การผลิตสารเวชภัณฑ์ (เช่น ยา วัคซีน โปรตีนเพื่อการบําบัด) การผลิตชุดตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์

การเกษตร อาหาร และสิ่งแวดล้อม การผลิตที่ใช้เซลล์จุลินทรีย์ เซลล์พืช และเซลล์สัตว์ในการผลิตสารชีวโมเลกุล สารออกฤทธิ์ชีวภาพ การผลิตวัตถุดิบและ/หรือวัสดุจำเป็นที่ใช้ในการทดลองหรือทดสอบด้านชีววิทยาระดับโมเลกุล รวมทั้งบริการตรวจวิเคราะห์และ/หรือสังเคราะห์สารชีวภาพ

หมวดธุรกิจทรัพยากรหมุนเวียนและพลังงานทางเลือก (ในกลุ่มทรัพยากร) ที่สอดรับกับแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงาน เช่น การใช้เชื้อเพลิงสะอาด การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า และการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน สำหรับรองรับการยกระดับการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ

ตามที่ประเทศไทยประกาศในเวทีประชุม World Leaders Summit ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (UNFCCC COP26) ที่จะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายใน ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายใน ค.ศ. 2065


การส่งเสริมให้กิจการรายใหม่มีการจดทะเบียนในหมวดดังกล่าว ด้วยการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการเข้าจดทะเบียนในตลาด เป็นหนึ่งในมาตรการจูงใจที่สามารถช่วยกระตุ้นให้เกิดอุปทานในยุค ESG สำหรับการลงทุนที่ยั่งยืนได้