เคทีซี ตั้งทีม SD ขับเคลื่อน ESG สู่ความยั่งยืน

KTC ความยั่งยืน
ทักษิณา พุ่มประพันธ์, ชุติเดช ชยุติ, ดวงกมล อินทรพราหมณ์, วราภรณ์ ขันธประโยชน์

น่าสังเกตว่าแนวคิดเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน ส่งผลให้องค์กรธุรกิจหลายแห่งสามารถสร้างผลกำไรให้เติบโตขึ้น เพราะจากรายงาน “Innovating for a Sustainable Future” ที่จัดทำขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างเอ็นทีที และ ThoughtLab สำรวจความยั่งยืนขององค์กรกว่า 500 แห่งทั่วโลก เพื่อเสนอแนวทางการดำเนินธุรกิจที่มีประสิทธิภาพสูงสุดต่อการก้าวสู่เป้าหมายด้านความยั่งยืน

ผลสำรวจพบว่า 44% ขององค์กรธุรกิจสร้างผลกำไรเพิ่มขึ้นจากแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ 69% ของผู้บริหารทั่วโลกยอมรับว่า นวัตกรรมดิจิทัลเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้องค์กรบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ซึ่งเหมือนกับ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “เคทีซี” ผู้นำธุรกิจบัตรเครดิต ตลอดจนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจบัตรเครดิต ธุรกิจร้านค้ารับบัตร การให้บริการรับชำระเงินแทน และธุรกิจสินเชื่อบุคคล (personal loan) ก็ได้ตั้งเป้าหมายว่า

นับตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนแบบจริงจัง และทำให้แนวคิดนี้อยู่ในดีเอ็นเอของพนักงานทุกสายงาน พร้อมกันนั้น ยังเปิดตัวทีม Sustainability Development-SD เข้ามาช่วยขับเคลื่อนอีกด้วย

“ชุติเดช ชยุติ” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส เคทีซี กล่าวว่า เคทีซีนำแนวคิดด้านความยั่งยืน หรือการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงในมิติสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance-ESG) มาบูรณาการกับการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบ

พร้อมทั้งพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่องภายใต้แนวคิด “Sustainable Development by Spirit” เพื่อตอบโจทย์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสร้างธุรกิจภาคการเงินที่เข้มแข็งไปสู่การขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน

“ต้องบอกว่าเราเป็นน้องใหม่ของการทำเรื่อง ESG โดยเฉพาะเรื่องของ E (Environmental) เพราะธุรกิจของเราเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมน้อยมาก เมื่อเทียบกับธุรกิจน้ำมัน โรงงานอุตสาหกรรม และอื่น ๆ แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่ให้ความสำคัญเลย เพราะผ่านมาเรามุ่งเน้นสู่ดิจิทัลมากขึ้น มีแอปพลิเคชั่นอำนวยความสะดวกลูกค้าในการดำเนินธุรกรรมต่าง ๆ

โดยไม่ต้องเดินทางมายังเคาน์เตอร์ของเคทีซี เช่น การแจ้งยอดค่าใช้บริการส่งผ่านทางอีเมล์ หรือลูกค้าสามารถเช็กผ่านแอปได้ ตรงนี้เป็นการช่วยลดกระดาษ หรือแม้แต่การชำระค่าบริการแอปของเคทีซีเชื่อมกับธนาคารกรุงไทย ทำให้ลูกค้าสามารถชำระผ่านแอปได้”

การดำเนินการในรูปแบบนี้ช่วยลดปริมาณกระดาษ ทั้งยังช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกด้วย นอกจากนั้น เคทีซียังร่วมกับโครงการ Care the Bear ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อให้ช่วยคำนวณปริมาณการลดกระดาษให้ โดยผลลัพธ์ที่ได้สามารถปลูกต้นไม้ได้หลายพันต้น เทียบเท่ากับปลูกต้นไม้ได้มากกว่า 10 สนามฟุตบอล

“ชุติเดช” กล่าวต่อว่า ในส่วนของเศรษฐกิจ สังคม ด้วยธุรกิจของเราเกี่ยวข้องกับการเงิน เราจึงอยากให้คุณภาพชีวิตของคนไทยดีขึ้น ฉะนั้น ผลิตภัณฑ์หรือบริการของเราที่ออกมาจึงต้องตอบโจทย์การช่วยคนในสังคม เพื่อให้เขาได้ใช้ประโยชน์กับผลิตภัณฑ์ของเราให้ดีที่สุดโดยชีวิตตนเองต้องไม่เดือดร้อน

ถึงแม้ว่าธุรกิจจะอยู่ได้ด้วยดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม แต่เคทีซีไม่มีแนวคิดอยากให้คนเป็นหนี้ หรือใช้เงินเกินตัว เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นก็หมายความว่า เศรษฐกิจ สังคมไทยไม่ดีขึ้น ดังนั้นจึงต้องไม่เอาเปรียบลูกค้า ต้องคิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมให้เป็นธรรมที่สุด

“ผมและผู้บริหารหลายท่านอยากเห็นบริษัทเติบโตอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะ 10-20 ปีข้างหน้า แต่การที่จะไปถึงตรงนั้นได้ พนักงานทุกคนต้องเข้าใจในมิติความยั่งยืนว่าอะไร คือปัจจัยที่จะทำให้องค์กรเติบโตได้ระยะยาว

ฉะนั้น การจะดำเนินโครงการ หรือสินค้าอะไรออกมา ต้องคำนึงถึงบริบทสังคม สิ่งแวดล้อม เพราะสุดท้ายผลลัพธ์จะกลับมาสู่องค์กร ตรงนี้จึงเป็นเหตุผลที่เคทีซี ตั้งทีม Sustainability Development (SD) ขึ้นมาช่วยขับเคลื่อนโดยเฉพาะ”

“ชุติเดช” กล่าวอีกว่า สำหรับทีม SD จะเป็นทีมหลัก บทบาทของพวกเขาคือช่วยสอดส่องเทรนด์ต่าง ๆ และทำหน้าที่สื่อสารกับพนักงานในแต่ละสายงาน และดึงตัวแทนจากแต่ละสายงานเข้ามามีส่วนร่วมเทรนด์คอร์สเรียนต่าง ๆ จากนั้นจะนำสิ่งที่ได้กลับไปสื่อสารกับพนักงานในสายงานตนเอง ที่สำคัญ SD จะมีส่วนร่วมในการวางแผนงานของสายงานต่าง ๆ ด้วยว่าควรวางแผนระยะยาวอย่างไรบ้าง ? มีความยั่งยืนไหม ?

“เพราะเคทีซีไม่อยากให้งานทุกงานเป็นงานที่หวังผลระยะสั้น ทำแล้วจบ ไม่ต่อยอด จริง ๆ แล้วก่อนที่เราจะออกสินค้า หรือผลิตภัณฑ์อะไรก็ตาม เรามองระยะยาวอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องช่วยเสริมให้ทีมเข้มแข็งขึ้น ฉะนั้น ทีม SD ต้องนำเรื่องความยั่งยืนเข้าไปอยู่ในสายเลือดของคนเคทีซีให้ได้ เพราะถ้าหากแต่ละสายงานมีความเข้าใจ และแข็งแกร่งขึ้นเรื่อย ๆ คิดว่าจะทำให้ทีม SD เบาแรงลงได้อย่างแน่นอน”

“ดวงกมล อินทรพราหมณ์” ผู้อำนวยการหน่วยงานบริหารเงินและการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน (Treasury & Sustainability) กล่าวเสริมว่า ถือเป็นความภาคภูมิใจที่ผู้บริหารทุกคนไว้วางใจให้ดิฉัน และทีม SD เข้ามาศึกษาเรื่องนี้ ซึ่งเดิมทีดิฉันดูแลด้านการเงินในบริษัท แต่เมื่อมารับผิดชอบ SD ควบคู่กัน จึงมองว่าไม่ใช่เรื่องไกลตัว เพราะปัจจุบันการทำธุรกิจจะมุ่งเน้นแต่เรื่องผลกำไรไม่ได้แล้ว ต้องให้ความสำคัญกับสิ่งรอบตัวด้วย

“ดิฉันเริ่มต้นจากการเรียนรู้ แล้วค่อยนำสิ่งที่ได้รับมาคิดต่อว่าจะนำไปต่อยอดในแต่ละสายงานได้อย่างไรบ้าง หรือเวลาพูดถึงเรื่องความยั่งยืน จะต้องสื่อสารอย่างไรกับแต่ละสายงาน เช่น สายงานพัฒนาผลิตภัณฑ์ เมื่อนำเสนอบริการก็ต้องรับฟังความคิดเห็นของลูกค้า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

ดูว่า ณ ปัจจุบันมีเทรนด์อะไรเกิดขึ้นบ้าง ต้องเสริมจุดแข็งด้านไหน หรือเติมช่องว่างที่ขาดหายไปตรงไหน สิ่งที่ทำตอบสนองความต้องการลูกค้าได้มากน้อยเพียงใด ต้องคิดในมุมกว้างขึ้น และพยายามจะสื่อสารกับเพื่อนพนักงานทุกคนว่าเรื่องความยั่งยืนไม่ใช่งานเพิ่ม แต่เป็นตัวช่วยให้งานของเขามีความชัดเจนมากขึ้น”

“ดิฉัน และทีม SD มองว่าเรื่องความยั่งยืนไม่ใช่เรื่องยาก ด้วยความที่เราเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้อยู่แล้ว แต่สิ่งที่ยากคือเป็นเรื่องค่อนข้างใหญ่ และมีรายละเอียดเยอะ เราจึงต้องเลือกนำมาปรับใช้ในองค์กรของเรา ซึ่งเป็นเรื่องที่องค์กรจะปฏิเสธไม่ได้แล้ว เพราะโลกเปลี่ยนไปหลายมุม ธุรกิจต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น”

“ชุติเดช” กล่าวด้วยว่า เราทำเรื่องความยั่งยืนมาหลายปี แต่เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา คะแนนเริ่มดีขึ้นเรื่อย ๆ ที่สำคัญ เคทีซียังได้รับคัดเลือกให้อยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืนของ THSI (Thailand Sustainability Investment) เป็นปีที่ 3 และติดอันดับ ESG 100 ตั้งแต่ปี 2559 อีกทั้งยังได้รับ MSCI ESG Rating ประจำปี 2564 ระดับ AA ซึ่งถ้าเทียบกับบริษัทระดับโลก

ถือว่าเราอยู่ในเรตติ้งเดียวกันกับ American Express และยังได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนระดับโลก “FTSE4Good Index Series” โดยล่าสุดได้รับเลือกให้เข้าอยู่ในทำเนียบ “The Sustainability Yearbook 2022” ของ S&P Global

“สำหรับความท้าทายต่อไป ผมคิดว่าโลกกำลังให้ความสำคัญกับ net zero ซึ่งเป็นเรื่องที่เราต้องจับตามอง และต้องมาพิจารณาว่าธุรกิจเคทีซีจะเชื่อมโยงตรงไหนได้บ้าง ส่วนในเรื่องสังคม เศรษฐกิจ ผมว่าในช่วง 1-2 ปีผ่านมา เราเริ่มทำมากขึ้นตั้งแต่ภายในองค์กร จนไปสู่ภายนอกองค์กร

เช่น การสนับสนุนความเท่าเทียม เพราะพนักงานในองค์กรเคทีซีมีความหลากหลายสูงมาก ทั้งเจเนอเรชั่น มีคนรุ่นใหม่ คนรุ่นเก่า ทำงานด้วยกัน เพศสภาพ ศาสนา ความคิด พูดง่าย ๆ เราเปิดกว้างมาหลายปีแล้ว”


ส่วนภายนอกองค์กรก็ดำเนินโครงการร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น การให้ลูกค้าบริจาคคะแนนสะสมในบัตรเครดิตให้กับองค์กรเพื่อสังคม ไม่ว่าจะเป็นสภากาชาดไทย โครงการจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ โครงการเพื่อผู้ป่วยมะเร็ง มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ.เพื่อเด็กและเยาวชน ฯลฯ