แอสตร้าฯ ให้พนักงานชายลาเลี้ยงลูก 30 วัน หนุนความเท่าเทียม LGBTQIA+

แอสตร้าเซนเนก้า-ParternityLeave

แอสตร้าเซนเนก้า ให้พนักงานชายบิดาลาเลี้ยงดูบุตรแรกเกิด 30 วันโดยได้รับค่าจ้าง ชูแนวคิดส่งเสริมความหลายหลายและการยอมรับความแตกต่างของ LGBTQIA+

วันที่ 1 กรกฏาคม 2565 บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศความมุ่งมั่นผลักดันนโยบายด้านความหลากหลายและเท่าเทียมทางเพศในองค์กร พร้อมตอกย้ำการเป็นหนึ่งในสถานที่ทำงานที่ยอดเยี่ยม (Great Place to Work) ประจำประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ด้วยการประกาศนโยบายสนับสนุนสิทธิการลาของบิดาเพื่อเลี้ยงดูบุตรแรกเกิด (paternity leave) เป็นระยะเวลา 30 วันโดยได้รับค่าจ้าง

นอกจากนั้น ยังสนับสนุนชุมชน LGBTQIA+ เปิดรับความคิดเห็นที่แตกต่างของพนักงานทุกระดับ พร้อมมีการปรับรูปแบบการเลือกเพศสภาพสำหรับการระบุตัวตนของพนักงานในโปรไฟล์ ให้มีความหลากหลาย ได้แก่ ชาย หญิง นอน-ไบนารี (non-binary) และ ไม่ระบุเพศ รวมถึงการก่อตั้งกลุ่ม AZPride ซึ่งเป็นเครือข่ายของพนักงานจากทั่วโลก เพื่อส่งเสริมและสนันสนุนให้กลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ได้มีส่วนร่วมและแสดงศักยภาพสูงสุดในด้านการทำงานของตนเอง

โดย LGBTQIA+ ย่อมาจาก L เลสเบี้ยน (lesbian) เพศหญิงที่มีความสนใจในเพศหญิง, G เกย์ (gay) เพศชายที่มีความสนใจในเพศชาย, B ไบเซ็กซวล (bisexual) มีความสนใจทั้งเพศตรงข้าม และเพศเดียวกัน, T ทรานส์เจนเดอร์ (transgender) กลุ่มที่มีคนมีอัตลักษณ์ทางเพศ หรือการแสดงออกทางเพศที่แตกต่างจากเพศกำเนิด, Q เควียร์ (queer) กลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ อยู่นอกเหนือกฎเกณฑ์ใด ๆ ไม่จำกัดมีความสนใจว่าจะต้องชอบกับเพศใดเพศหนึ่งเท่านั้น รวมทั้งคนที่ยังไม่แน่ใจเกี่ยวกับความสนใจทางเพศ, I อินเตอร์เซ็กซ์ (intersex) เป็นกลุ่มคนที่เกิดมามีลักษณะทางกายภาพไม่สามารถระบุเพศชัดเจนได้ เช่น มีอวัยวะสืบพันธุ์ของทั้เพศหญิงและชาย มีปริมาณฮอร์โมนหรือโครโมโซมเพศผิดปกติ และ A อะเซ็กซวล (asexual) กลุ่มคนที่ไม่รู้สึกดึงดูดทางเพศ

นายเจมส์ ทีก ประธาน บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การยอมรับในความแตกต่างและการมีส่วนร่วมของพนักงาน (inclusion & diversity) ถือเป็นหนึ่งในพื้นฐานสู่ความสำเร็จของแอสตร้าเซนเนก้า เนื่องจากบริษัทเชื่อว่าพนักงานจะทำงานได้อย่างมีความสุขและสามารถดึงศักยภาพของตนมาใช้ในการทำงานได้อย่างสร้างสรรค์ หากได้ทำงานในสภาพแวดล้อมที่พวกเขาสามารถเป็นตัวของตัวเองและได้รับการยอมรับ

“แอสตร้าเซนเนก้ามีความโดดเด่นในด้านการสนับสนุนพนักงานผู้หญิงในอุตสาหกรรมยา โดยในปีที่ผ่านมา แอสตร้าเซนเนก้าเป็น 1 ใน 325 บริษัทชั้นนำระดับโลกที่ได้สนับสนุนให้เกิดความเสมอภาคทางเพศ จากรายงาน LP Gender-Equality Index 2021 ของสำนักข่าว Bloomberg เพราะมีการผลักดันให้จำนวนอัตราส่วนและการเลื่อนตำแหน่งของพนักงานผู้หญิงทัดเทียมกับพนักงานผู้ชาย นอกจากนั้น ติดอันดับ The Financial Times Stock Exchange 100 ที่ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางเพศด้วย

บริษัทได้ตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี 2568 สัดส่วนของผู้บริหารชายและหญิงตั้งแต่ระดับกลางขึ้นไปจะต้องมีจำนวนที่เท่าเทียมกัน ซึ่งปัจจุบันแอสตร้าเซนเนก้าในประเทศไทยมีพนักงานหญิงกว่า 71.6% และสมาชิกกว่า 50% ของทีมบริหารเป็นผู้หญิง

ล่าสุดในปีนี้ แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย ได้ร่วมลงนาม “คำมั่นว่าจะให้พนักงานผู้เป็นพ่อได้วันลาเลี้ยงดูบุตร ปี 2565” ซึ่งจัดขึ้นโดยสถานเอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย Business Sweden และหอการค้าไทย-สวีเดน ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งบริษัทที่เกี่ยวข้องกับสวีเดนกว่า 12 บริษัท1 อย่าง IKEA, Volvo, ABB, Electrolux, AstraZeneca, Foreo, Rapid Asia, Fitness24Seven, Capaciton, Wallander & Sson, Global Bugs และ Atlas Copco

เพื่อสนับสนุนสิทธิการลาของบิดาให้ได้วันลาเลี้ยงดูบุตรแรกเกิดโดยได้รับค่าจ้างเป็นเวลา 30 วัน และมุ่งเน้นให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของความร่วมมือในการสนับสนุนสังคมแห่งความเท่าเทียม พร้อมตอกย้ำจุดยืนในการส่งเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัว ให้บุคลากรสามารถบริหารทั้งหน้าที่การงานและบทบาทในครอบครัวได้อย่างเต็มที่”

นโยบายของบริษัทไม่เพียงมุ่งส่งเสริมการสร้างโอกาสที่เสมอภาคภายใน แต่ยังสนับสนุภายนอกองค์กรด้วย สอดคล้องกับค่านิยมของแอสตร้าเซนเนก้าที่ต้องการทำในสิ่งที่ถูกต้อง (Do The Right Thing) โดยในปี 2564 ที่ผ่านมา แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย ได้ร่วมกับร่วมกับ องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล จัดทำโครงการสร้างเสริมสุขภาพที่ดีในเด็กและเยาวชน หรือ Young Health Programme (YHP) ประเทศไทย

เพื่อร่วมสนับสนุนวันเด็กหญิงสากล (International Day of the Girl) ผ่านกิจกรรม #GirlsTakeOver ที่เป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ #GirlsBelongHere แคมเปญระดับสากลที่ดำเนินการพร้อมกันในหลายประเทศ เพื่อร่วมรณรงค์และขับเคลื่อนการยอมรับความแตกต่างในสังคม และสร้างความตระหนักและการรับมือเกี่ยวกับความท้าทายและการเลือกปฏิบัติที่ผู้หญิงจะต้องประสบในอุตสาหกรรมการทำงานแวดวงวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม เทคโนโลยี และการพัฒนาอีกด้วย