รวมพลัง “ผู้นำ” ด้านยั่งยืน ขับเคลื่อน SDGs สู่เอเชีย-แปซิฟิก

ประชุมสัมมนา

ครั้งแรกของประเทศไทยกับการเป็นเจ้าภาพจัดงาน “UNGC Leaders Summit 2022 : Sustainability in ASEAN” ระหว่างสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (Global Compact Network Thailand : GCNT) คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (UN ESCAP) และทีมงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UN Country Team Thailand) เพื่อรวมพลังผู้นำจากภาคธุรกิจ ภาครัฐ และภาคประชาสังคม ด้านความยั่งยืนกว่า 10,000 คนทั่วโลก มาร่วมสร้างแรงบันดาลใจ และกระตุ้นการแก้ปัญหาระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาค เพื่อการฟื้นตัวหลังโควิด-19

โดยการประชุมปีนี้ชู 3 วาระสำคัญ ได้แก่ ภาวะฉุกเฉินด้านสภาพอากาศ, ความหลากหลายทางชีวภาพ และการพัฒนาทางสังคม รวมทั้งการยกระดับ SMEs ร่วมขับเคลื่อนเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) สู่อาเซียนและขยายผลไปยังภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

ดร.อาร์มิดา ซัลเซีย อาลีเชียบานา
ดร.อาร์มิดา ซัลเซีย อาลีเชียบานา

“ดร.อาร์มิดา ซัลเซีย อาลีเชียบานา” รองเลขาธิการสหประชาชาติ และเลขาธิการบริหาร UN ESCAP กล่าวเปิดการประชุมว่า เครือข่ายธุรกิจเพื่อความยั่งยืนแห่งคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESBN) ประกอบด้วยผู้นำจากภาคธุรกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกได้ร่วมกันรับรองปฏิญญาความร่วมมือเพื่อปฏิรูป “ธุรกิจสีเขียวแห่งเอเชีย-แปซิฟิก” เพื่อนำสู่แผนปฏิบัติการของภาคธุรกิจในการจะเป็นผู้นำในการเร่งสร้างเศรษฐกิจและสังคมสีเขียวให้แก่ภูมิภาคนี้

การประชุมครั้งนี้จะช่วยตอกย้ำว่าภูมิภาคอาเซียนจะผลักดันการขยายผลความยั่งยืนไปยังภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในวงกว้าง โดยการประชุมครั้งนี้มีทั้งการพูดคุยถึงความสําคัญและคุณค่าของการกําหนดและบูรณาการ SDGs ผ่านการปฏิบัติการในห่วงโซ่อุปทาน

โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจากสถานการณ์โควิด-19 แผนงานต่าง ๆ เพื่อบรรลุเป้าหมาย net zero จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยี การลงทุน การร่วมมือ และคำมั่นสัญญาจากผู้บริหารระดับสูง

นพปฎล เดชอุดม
นพปฎล เดชอุดม

“นพปฎล เดชอุดม” เลขาธิการ GCNT และประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า UN Global Compact ก่อตั้งขึ้นเพื่อแสดงถึงบทบาทของภาคธุรกิจที่ต้องมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืน เพราะทุกคนทุกภาคส่วนเป็นส่วนหนึ่งของการก่อปัญหาในมิติต่าง ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความหลากหลายทางชีวภาพ มลพิษทางอากาศ และทางน้ำ

รวมถึงความเหลื่อมล้ำ และการละเมิดสิทธิมนุษยชน ดังนั้น ผู้นำต้องแสดงความรับผิดชอบในการจัดการผลกระทบจากธุรกิจของตนเองต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยต้องคิดใหม่ว่าการผลิตสินค้าจะทำอย่างไรให้ลดการปล่อยคาร์บอนไปสู่บรรยากาศ และนำนวัตกรรมต่าง ๆ มาช่วย

“ปีนี้อาเซียนและภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาหลายเรื่องพร้อม ๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นการระบาดของโควิด-19 ความขัดแย้งในยูเครน ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น แต่สถานการณ์เหล่านี้เป็นโอกาสให้ได้ทบทวนการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ ตลอดจนบทบาทและความรับผิดชอบของภาคธุรกิจในการกำหนดวาระความยั่งยืนระดับโลก”

นับเป็นสัญญาณที่ดีที่หลายภาคส่วนร่วมประชุม UNGC Leaders Summit 2022 ทั้งยังมีการขับเคลื่อน SDGs ทั้ง 17 ข้อมากขึ้น ทำให้มีความคืบหน้าในหลายเรื่อง เช่น การลดขยะพลาสติก ซึ่งไทยเคยติดอันดับปล่อยขยะพลาสติกลงสู่ทะเลอันดับ 6 ของโลก ขณะนี้ลดอันดับลงมาเป็นอันดับ 9

อย่างไรก็ตาม ยังมีงานอีกมากที่ต้องทำ เพราะยังไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิของโลกต่ำกว่า 2 องศาได้ และยังคงยากที่จะไปถึงเป้าหมายการลดอุณหภูมิต่ำกว่า 1.5 องศา

“ภาคธุรกิจต้องเพิ่มความพยายามในการปรับกลยุทธ์ แบ่งปันการเรียนรู้ และวิธีการแก้ปัญหา รวมทั้งสร้างพันธมิตรเพื่อการทำงานร่วมกันทั้งในอาเซียนและทั่วโลก เพื่อหาทางออกร่วมกันในการไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนครบทุกมิติ”

รื่นวดี สุวรรณมงคล
รื่นวดี สุวรรณมงคล

“รื่นวดี สุวรรณมงคล” เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กล่าวว่า ก.ล.ต.มีแผนที่จะเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการธุรกิจ ด้วยการส่งเสริมการมีส่วนร่วม ความไว้วางใจ และความเชื่อมั่นในตลาดทุนไทย เผยแพร่ความรู้และเสริมสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของเป้าหมาย SDGs ร่วมกัน

“เรามุ่งมั่นส่งเสริมบรรยากาศการลงทุนที่ยั่งยืน และพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ รวมทั้งผลักดันให้ตลาดทุนไทยเป็นกลไกสำคัญในการปรับโครงสร้างสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน และทำให้เศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล สามารถปรับตัวเข้ากับภูมิทัศน์ของโลกในปัจจุบัน และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล”

กลอยตา ณ ถลาง
กลอยตา ณ ถลาง

“กลอยตา ณ ถลาง” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เป็นโอกาสดีที่ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และเรียนรู้เกี่ยวกับเป้าหมายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนกับผู้นำธุรกิจจากประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียน ในการประชุม UNGC Leaders Summit 2022 ครั้งนี้

โดยสิ่งที่ทุกคนเห็นพ้องกันคือต้องมีการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน ทำได้จริง ให้ความสำคัญและทำความเข้าใจกับเรื่องนี้ตั้งแต่ระดับกรรมการ ผู้บริหาร จนถึงพนักงาน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางธุรกิจ

“UNGC มี SDG Ambition Guide และ SDG Tools เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้สามารถตั้งเป้าหมายได้ชัดเจนติดตามผลได้ง่ายขึ้น และความร่วมมือกับพันธมิตรต่าง ๆ ก็เป็นสิ่งสำคัญ กลุ่มบางจากได้ตั้งเป้า carbon neutrality ในปี 2030 และ net zero ในปี 2050 ซึ่งไม่สามารถบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ได้ด้วยตนเอง จึงใช้หลักการ leading inclusively นำพาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนไปสู่เป้าหมายนี้ด้วยกัน”

พีรพงศ์ กรินชัย
พีรพงศ์ กรินชัย

“พีรพงศ์ กรินชัย” รองกรรมการผู้จัดการบริหาร สำนักวิศวกรรมกลาง ในฐานะประธานคณะทำงานด้านการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ น้ำ และของเสีย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ซีพีเอฟมุ่งสู่การหมุนเวียนทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่าตลอดห่วงโซ่คุณค่า และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ โดยมีการพัฒนามาตรฐานการจัดหาวัตถุดิอย่างยั่งยืน

“เรากำหนดเป้าหมายว่าในปี 2030 การจัดซื้อวัตถุดิบทางการเกษตรหลักที่สำคัญ 100% จะต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ และมาจากพื้นที่ที่ไม่ตัดไม้ทำลายป่าและไม่ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งนี้ ซีพีเอฟยังได้ยกระดับการจัดการข้อมูลให้เชื่อมต่อสู่กระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน เพื่อทำให้การตรวจสอบย้อนกลับแม่นยำและรวดเร็วยิ่งขึ้น”

นับว่าภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนความมุ่งหมายในการลดโลกร้อน หยุดความหลากหลายทางชีวภาพ และเพิ่มการส่งเสริมพัฒนาสังคม