แกก็กลับมาอ่านกับเราดิ : สนพ.มติชนมุ่งสร้างพื้นที่ให้นักอ่านแชร์หนังสือร่วมกัน

มหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 27

สำนักพิมพ์มติชน เปิดเวทีพูดคุย #แกก็กลับมาอ่านกับเราดิ ดึงบรรดานักอ่านและนักเขียน แนะนำหนังสือที่งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 27

วันที่ 13 ตุลาคม 2565 ภายในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 27 สำนักพิมพ์มติชนเปิดเวทีพูดคุย #แกก็กลับมาอ่านกับเราดิ ออนกราวน์ นำบรรดานักอ่านและนักเขียนแนะนำหนังสือน่าอ่านหลากหลายแนว นำโดย ภาณุ ตรัยเวช นักเขียนนักอ่านเจ้าของเพจ “Our History : เรื่อง เล่า เรา โลก” แอดมินซาร่า ตัวแทนจากสมาคมป้ายยาหนังสือ บ.ก.แบงก์-ปกรณ์เกียรติ ดีโรจนวานิช หัวหน้ากองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม ฉบับพิเศษ สำนักพิมพ์มติชน และแรปเปอร์สาวสุดเท่ วีร์ ศรีวราธนบูลย์ หรือ Badbitchbkk ที่จะร่วมพาทุกคนมาอ่านหนังสือไปด้วยกันในบรรยากาศพูดคุยที่สนุกสนาน พร้อมด้วย บ.ก.ออยล์-ชนมน วังทิพย์ หัวหน้ากองบรรณาธิการหนังสือภาษาไทย สำนักพิมพ์มติชน เป็นผู้ดำเนินรายการ

โดย บ.ก.ออยล์-ชนมน กล่าวว่า แกก็กลับมาอ่านกับเราดิ เกิดจากความตั้งใจของสำนักพิมพ์มติชนที่จะสร้างคอมมิวนิตี้นักอ่านเล็ก ๆ บนโลกออนไลน์ที่จะมาชวนกันแบ่งปันหนังสือหรือเรื่องราวที่ชอบให้ทุกคนได้อ่านไปด้วยกัน

ในโอกาสพิเศษที่เราได้กลับมาจัดงานมหกรรมหนังสือที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์อีกครั้ง จึงพลาดไม่ได้เลยที่จะชวนบรรดานักอ่านมาป้ายยาหนังสือน่าอ่านแก่ผู้ร่วมงาน ซึ่งแต่ละท่านล้วนมาจากคอมมิวนิตี้ที่หลากหลายและยังเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลาย ๆ อีกด้วย บ.ก.ออยล์-ชนมน กล่าว

แอดมินซาร่า หนึ่งในตัวแทนจากสมาคมป้ายยาหนังสือที่มีผู้ติดตามบนโลกออนไลน์กว่าหนึ่งแสนคน กล่าวว่า สิ่งสำคัญในการสร้างคอมมิวนิตี้นักอ่านคือพลังขับเคลื่อนจากนักอ่านทุกคน ไม่ใช่แอดมินหรือเพจใดเพจหนึ่ง เรามีหน้าที่สนับสนุนนักอ่านและสำนักพิมพ์ เพื่อที่จะได้มีทุนในการจัดพิมพ์หนังสือต่อไป และช่วยขับเคลื่อนวงการนี้ให้มากขึ้น

ด้าน Badbitchbkk และ บ.ก.แบงก์-ปกรณ์เกียรติ กล่าวคล้ายกันว่า สภาพแวดล้อมและครอบครัวเป็นส่วนสำคัญที่หล่อหลอมให้เกิดความรักการอ่าน โดยทั้งสองเริ่มอ่านหนังสือตั้งแต่สมัยเด็ก เนื่องจากครอบครัวเป็นนักอ่านเช่นกัน และเมื่อโตขึ้นพอรู้ว่าหนังสือให้อะไรกับเราได้บ้าง ก็เริ่มอ่านเรื่องที่สนใจมากขึ้นจนต่อยอดพัฒนามาเป็นอาชีพในปัจจุบัน

แม้จะทำอาชีพที่ต่างกันมาก แต่การอ่านก็เป็นจุดร่วมของอาชีพทั้งสอง Badbitchbkk กล่าวว่าหนังสือคือความสบายใจเพียงไม่กี่อย่างในชีวิต และงานเพลงที่ทำนั้นได้รับอิทธิพลด้านภาษาโดยตรงมาจากหนังสือที่เคยอ่านมา ส่วน บ.ก.แบงก์ กล่าวว่า ความชอบในการอ่านหนังสือทำให้มีคลังของคำศัพท์ ซึ่งมีผลต่อการสร้างสรรค์งานของเราเป็นอย่างมาก ทำให้เกิดความสนุกสนานและน่าสนใจมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นไอเดียที่ทำให้เราอยากพัฒนางานให้น่าสนใจมากยิ่งขึ้นทั้งในฐานะการเป็น บ.ก. และนักอ่านคนหนึ่ง

ไฮไลต์สำคัญของการพูดคุยครั้งนี้คือการแนะนำหนังสือโดยบรรดานักเขียน ด้านภาณุ ตรัยเวช แนะนำหนังสือเรื่อง “ย้อนรอยโฮ่ง ตามรอยเหมียว” เรียบเรียงโดย Hu Chuan-an แปลโดย อารยา เทพสถิตย์ศิลป์ เรื่องราวของแมวและหมาในประวัติศาสตร์อารยธรรมมนุษย์ แม้เนื้อหาจะย้อนรอยไปถึงสองหมื่นปี ฟังแล้วอาจไกลตัว แต่ความน่าสนใจคือหลักฐานพี่พบนั้นคล้ายกับน้องหมาในปัจจุบันมาก มีเนื้อหนังหลงเหลืออยู่ ซึ่งน่าตื่นเต้นมาก อีกทั้งหนังสือเล่มนี้จะสะท้อนให้เห็นเป็นอย่างดีว่าคนเราผูกพันกับสัตว์เลี้ยงสองชนิดนี้มากขนาดไหน ภาณุ กล่าว

นอกจากนี้ภาณุยังแนะนำหนังสืออีกเล่มหนึ่ง คือ “เครื่องแบบ ทรงผม หน้าเสาธง ไม้เรียว” โดย ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ โดยกล่าวว่า เป็นการฉายภาพของประวัติศาสตร์การศึกษาที่สำคัญยิ่งในสังคมไทย

ด้านแอดมินซาร่าได้หยิบยกหนังสือ “เล่นแร่แปลภาพ” โดย นักรบ มูลมานัส ซึ่งมีความพิเศษ คือ เป็นการเล่าประวัติศาสตร์ผ่านภาพถ่าย และเป็นประวัติศาสตร์ที่อ่านสนุกด้วยเกร็ดความรู้ที่ถูกเขียนอธิบายในแต่ละภาพ

คนไทยในสมัยก่อนทำไมถึงไม่ยิ้มเวลาถ่ายภาพ หนังสือเล่มนี้ได้ให้คำตอบไว้ว่า เกิดจากความกลัวที่จะถูกนำภาพไปทำเรื่องไม่ดี และที่สำคัญการถ่ายภาพในสมัยก่อนนั้นใช้เวลานานมาก ทำให้ไม่สามารถยิ้มได้ นอกจากนี้ผู้ที่สามารถถ่ายภาพได้ในสมัยก่อนยังมีเฉพาะชนชั้นสูง จึงต้องสงวนท่าทีและกริยาให้สุภาพไว้ นอกจากนี้การถ่ายทอดภาษาของผู้เขียนยังทำได้น่าสนใจอีกด้วย

อีกเล่มหนึ่ง คือ “ลูกสาวจากดาววิปลาส” โดย จอมเทียน จันสมรัก ซึ่งแอดมินซาร่ากล่าวว่าเนื้อหาค่อนข้างน่ากลัว เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการถูกข่มขืน ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ควรปกปิด แต่ต้องบอกออกมาเพื่อให้ทุกคนได้รู้ ซึ่งสะท้อนภาพของสังคมได้เป็นอย่างดี แอดมินซาร่ากล่าว

ส่วน Badbitchbkk แนะนำเรื่อง “นายใน สมัยรัชกาลที่ ๖” ของชานันท์ ยอดหงษ์ ตอนแรกคิดว่าเป็นหนังสือประวัติศาสตร์อ่านแล้วจะน่าเบื่อ แต่พออ่านแล้วกลับวางไม่ได้เลย เพราะเล่าเรื่องได้อย่างละเอียดและใช้ภาษาบรรยายได้อย่างสวยงาม อีกเล่ม คือ “จารชนสามก๊ก” โดย เหอมู่ ซึ่งปกติสามก๊กจะเล่าถึงแต่ตัวละครหลัก แต่ฉบับนี้จะเล่าถึงคนตัวเล็ก ๆ ด้วยที่เป็นฟันเฟืองของสงครามที่เกิดขึ้น ทำให้เราสะท้อนว่าในสังคมที่เราอยู่เราก็เป็นฟันเฟืองที่สำคัญหนึ่งในสังคมเช่นกัน ถ้าทหารชั้นผู้น้อยสามารถส่งผลต่อสงครามได้ เราในฐานะประชาชนตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งก็มีพลังได้เหมือนกัน ซึ่งเป็นมุมมองจากสามก๊กที่เราไม่เคยได้รับ Badbitchbkk กล่าว

คนสุดท้าย บ.ก.แบงก์-ปกรณ์เกียรติ ที่เตรียมมาทั้งหมด 3 เล่ม เริ่มที่ “รัฐสยดสยอง” โดย ภัทรนิษฐ์ สุรรังสรรค์ หนังสือประวัติศาสตร์ที่พาผู้อ่านย้อนไปในช่วงรัชกาลที่ 5 ที่สยามพยายามปฏิรูปประเทศ หนังสือเล่มนี้จะย้อนกลับไปดูอารมณ์ความรู้สึกของคนในยุคนั้นว่ารู้สึกอย่างไรต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

คำว่าสยดสยองนั้นสื่อถึงความกลัวอันน่าขนลุกที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยยุคจารีต พิธีกรรมเก่า ๆ เช่น การประหารชีวิต การเผาศพ หรือการทรมานในที่สาธารณะ ต้องถูกทำให้หมดไป เนื่องจากชนชั้นนำสยามต้องการพาประเทศให้เป็นศิวิไลซ์ รัฐจึงต้องกำจัดความสยดสยองดังกล่าวออกไป แต่ก็ไม่สามารถทำได้เนื่องจากรัฐสร้างความสยดสยองต่อราษฎรที่ไม่ยอมเชื่อฟังคำสั่งเสียเอง

เราไม่ได้ทำให้ศิวิไลซ์ทั้งหมด แต่เลือกเก็บบางอย่างจากยุคจารีตไว้เพื่อคงประโยชน์ต่อชนชั้นนำ บ.ก.แบงก์ กล่าว

เล่มถัดมา คือ “รสไทย(ไม่)แท้” โดย อาสา คำภา ที่เกิดจากการตั้งคำถามง่าย ๆ ว่าอาหารไทยคืออะไร ซึ่งล้วนเต็มไปด้วยการเมืองและวัฒนธรรมที่สอดแทรกอยู่ รวมถึงมีการผูกขาดถึงรสชาติด้วยว่าความอร่อยของอาหารไทยควรเป็นแบบใด ผู้เขียนจึงพาย้อนไปดูอาหารไทยในซึ่งเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันกับการเมืองและสังคมในสมัยนั้น ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เล่มสุดท้าย คือ “เทพเจ้าจีนในกรุงเทพฯ” ผลงานเล่มล่าสุดของอชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช พาผู้อ่านไปสำรวจความเชื่อของชาวจีน นอกจากนี้เทพเจ้าจีนในกรุงเทพฯ ยังมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวจากการผสมผสานความระหว่างความเชื่อและศิลปกรรมแบบไทยและจีนด้วย

ด้าน บ.ก.ออยล์ ก็ร่วมป้ายยาอีกหนึ่งเล่ม “Laziness does not Exist ผ่อนชีวิต บิดขี้เกียจ” ผลงานโดย Devon Price แปลโดย พรรษรัตน์ พลสุวรรณา การศึกษาค้นคว้าเพื่อทำความเข้าใจถึงความขี้เกียจลวงหรือที่คนในสังคมสร้างขึ้นเพื่อกดทับคนที่ทำงานจนทำลายพื้นที่ส่วนตัวไป หนังสือเล่มนี้จะพาไปสำรวจคนที่ดูเหมือนขี้เกียจและไม่ประสบความสำเร็จตามแบบเเผนของสังคม และพาไปดูคนบ้างานจนสุดท้ายลงเอยด้วยการเป็นโรคร้ายหรือความสัมพันธ์ในชีวิตที่พังลง

สุดท้ายนี้ผู้ร่วมพูดคุยทุกคนยังกล่าวถึงมหานครแห่งการอ่านในฝันในทรรศนะของแต่ละคน

บ.ก.แบงก์-ปกรณ์เกียรติ กล่าวว่า อยากให้ทุกคนได้อ่านหนังสือ ไม่จำเป็นต้องเป็นตัวเล่มก็ได้ เป็นแบบออนไลน์ก็ได้ แต่อยากให้อ่านแล้วมีความสุข ไม่ใช่ว่าโดนบังคับให้อ่านหรืออ่านตามเทรนด์ อยากให้อ่าน เพราะเราอยากจะอ่าน และอยากจะรู้เรื่องนั้นจริง ๆ

ด้านภาณุ ตรัยเวช กล่าวว่า วัฒนธรรมการอ่านจะเติบโตได้ต้องเติบโตคู่กันกับวัฒนธรรมการวิจารณ์ในแง่ร้าย ต้องมีการเปิดพื้นที่และพูดคุยในข้อด้อยหรือความไม่ชอบนั้นได้ ซึ่งจะทำให้เห็นอีกมุมหนึ่งมากขึ้น

แอดมินซาร่าเสริมว่า ใครใคร่อ่านก็อ่าน ใครใคร่เขียนก็เขียน เป็นพื้นที่อิสระไม่ว่าใครจะอ่านหรือเขียนอะไรก็ได้ ซึ่งเป็นเมืองหนังสือในฝันที่ทุกคนมีความสุขและความเศร้าจากการอ่านรวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์ร่วมกัน แต่ทุกคนต้องได้ทำอย่างเต็มที่

และสุดท้าย Badbitchbkk กล่าวว่า เชื่อว่าสักวันหนึ่งการมีหนังสือเป็นเล่มจะกลายเป็นความหรูหราเปรียบเหมือนการมีผลงานศิลปะติดอยู่ที่บ้าน นอกจากจะเป็นความภูมิใจของผู้สะสมแล้ว หนังสือสมัยนี้ยังออกแบบได้สวยงามและจะแสดงถึงตัวตนของคนที่อยู่ในบ้านได้อีกด้วย