งานหนังสือ “ศูนย์สิริกิติ์” จัดถึงวันไหนเป็นวันสุดท้าย สรุปกิจกรรม-บูธน่าสนใจ

งานหนังสือ 2565 มหกรรมหนังสือระดับชาติ

งานหนังสือ หรือ มหกรรมหนังสือระดับชาติ 2565 กลับมาจัดงานที่ศูนย์สิริกิติ์แล้ว เริ่มวันไหน มีกิจกรรมอะไรน่าสนใจบ้าง

เวลาของมหกรรมสำหรับหนอนหนังสือ นักอ่าน นักเขียนทุกคน ได้เดินทางมาบรรจบอีกครั้งหนึ่งแล้ว เมื่อสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) จัดงาน มหกรรมหนังสือระดับชาติ ประจำปี 2565 ซึ่งเป็นการจัดงานครั้งที่ 27 ภายใต้แนวคิด “BOOKTOPIA มหานครนักอ่าน เพราะการอ่านคือจุดเริ่มต้นของการสร้างเมือง”

การจัดงานมหกรรมหนังสือระดับชาติในครั้งนี้ กลับมาจัดงานที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์แล้ว หลังจากศูนย์สิริกิติ์ ปิดสถานที่เพื่อปรับปรุงโฉมใหม่นานถึง 3 ปี และเริ่มเปิดต้อนรับผู้จัดมหกรรม งานแสดงสินค้าและนิทรรศการต่าง ๆ อีกครั้ง เมื่อ 12 กันยายนที่ผ่านมา

นอกจากเป็นการกลับมาจัดงานในสถานที่ที่ทุกคนคุ้นเคย กับบรรยากาศที่ใหม่ และกว้างขวางมากขึ้นแล้ว กิจกรรมในครั้งนี้ยังอัดแน่น และจัดเต็ม ทั้งบูทจากสำนักพิมพ์และพาร์ตเนอร์การจัดงานมากกว่า 300 บูท กิจกรรมสัมมนา กิจกรรมบนเวที และกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย ทั่วพื้นที่ Exhibition Hall ชั้น LG ตั้งแต่ Hall 5-7 ต่อเนื่องตลอด 12 วัน ตั้งแต่ 12-23 ตุลาคม 2565

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมความน่าสนใจในงานมหกรรมหนังสือฯ มาให้ทุกคนได้เตรียมตัวกัน

8 ไฮไลต์กิจกรรมน่าสนใจ

Landmark บูท H26

พื้นที่ชวนนักอ่านใช้เวลาในงานให้นานขึ้น ด้วยการหย่อนใจกับพื้นที่เล่นระดับ ให้ได้นั่งพัก เดินเล่น ถ่ายรูปเช็กอิน ใช้เป็นจุดนัดพบ และซุ่มมองบูทสำนักพิมพ์ในมุมมอง Bird Eye View แบบ 360 องศา เพื่อให้ได้เห็นภาพรวมของงาน อันจะละลานตาไปด้วยหนังสือนับร้อยล้านเล่ม และผู้คนนับหมื่นนับแสนที่รักหนังสือ คล้ายการได้เฝ้ามองเมืองหนังสือจำลอง

ถนนนักอ่าน (Reader Road) บูท F27 โดย PUBAT X สมาคมป้ายยาหนังสือ

กิจกรรมที่รวบรวมการป้ายยาหนังสือน่าสนใจ ทั้งการจัดกิจกรรม Envelope letters on the wall เขียนความในใจใส่ซองจดหมายติดไว้บนกำแพงในบูท Book Blind Date แลกเปลี่ยนหนังสือ โดยห่อหนังสือและเขียนแค่คำโปรย Book Playlist จัดลิสต์หนังสือตามหัวข้อและอารมณ์ที่พร้อมจะส่งต่อให้นักอ่านคนอื่น ๆ ได้อ่านตาม และล้อมวงเข้ามาป้ายยาหนังสือกัน

ถนนห้องสมุด (Reading Road) บูท I28 โดย PUBAT X HomePro

หนึ่งในกิจกรรมไฮไลต์ของงาน นำเสนอดีไซน์ห้องสมุดแบบต่าง ๆ เพื่อเป็นไอเดียให้นักอ่านนำไปทำห้องสมุดของตัวเอง รวมถึงเป็นจุดถ่ายภาพ เช็กอินภายในงาน

Book Factory บูท C27 โดย PUBAT X โรงพิมพ์ภาพพิมพ์

จำลองพื้นที่โรงพิมพ์ จัดวางสิ่งของเหลือใช้และเศษกระดาษต่าง ๆ ให้เสมือนว่าได้เดินสำรวจอยู่ภายในโรงพิมพ์ เห็นสิ่งละอันพันละน้อยที่ตกค้างหลงเหลือจากกระบวนการพิมพ์ในแต่ละขั้นตอนที่กว่าจะเป็นหนังสือแต่ละเล่ม เพื่อส่งเสริมให้เกิดความตระหนักต่อการใช้ทรัพยาการให้คุ้มค่าและมีส่วนร่วมสร้างเมืองในฝันไปด้วยกันกับนักอ่าน

กิจกรรมในพื้นที่ดังกล่าว จะชวนทุกคนมาออกแบบสมุดโน้ตรูปแบบต่าง ๆ จากกระดาษเหลือใช้ในกระบวนการพิมพ์ และจำหน่ายในราคาพิเศษ กิโลกรัมละ 100 บาท เกินนิดหน่อยก็แถม ๆ ได้

นิทรรศการ Booktopia เมืองในฝันของนักอ่าน (ด้านหน้าระหว่างฮอลล์ 6 และฮอลล์ 7)

นิทรรศการจากความว่างเปล่าเพื่อเปิดพื้นที่ให้กับความคิดสร้างสรรค์และพลังของการมีส่วนร่วม ที่จะเชิญชวนนักอ่านร่วมแชร์ แบ่งปัน และเติมเต็มไอเดียของภาพเมืองในฝันของแต่ละคน ลงบนกระดาษโพสต์อิตหลากสีแปะลงในบอร์ดนิทรรศการ เพื่อส่งต่อแนวคิดและส่งต่อให้หน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบ เพื่อผลักดันให้เป็นนโยบายสาธารณะที่นำไปสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นจริง

โดยในพิธีเปิดจะมีการชวนประธานในพิธีเปิด กรรมการสมาคม เพื่อนสำนักพิมพ์ คนทำหนังสือ นักเขียน คนอ่าน และคนดังมาร่วมกันเติมแต่ง เริ่มคนละไอเดีย จากวันแรกจนถึงวันสุดท้ายจนกลายเป็นนิทรรศการที่สมบูรณ์

Live-Brary บูท A01 โดย PUBAT x ธนาคารจิตอาสา x กางใจ

รวบรวมกิจกรรมจากสายงานทำสื่อสิ่งพิมพ์ในหลายมิติ ได้แก่ กิจกรรมอ่านมนุษย์ หรือห้องสมุดมนุษย์ (Human Library) รวบรวม “หนังสือมนุษย์ : Human Book” จากหลากหลายอาชีพ ผู้ที่มีเรื่องราวในชีวิตที่น่าสนใจกว่า 10 เล่ม (คน) มาให้นักอ่านได้อ่านผ่านการถ่ายทอดเรื่องราว ความรู้ ความคิด และประสบการณ์ เพื่อเห็นมุมมองที่กว้างและเข้าใจตัวเองและผู้อื่นมากขึ้น

กิจกรรม Book Club เปิดให้ได้ล้อมวงนั่งคุยกันแบบสบาย ๆ กับนักเขียนเจ้าของหนังสือ อาทิ ปราปต์ ผู้เขียนกาหลมหรทึกและคาธ/เวิร์กช็อปวาดภาพกับมุนินและสะอาด หรือจะเรียนรู้การออกแบบปกหนังสือกับ Kanda Studio และ The Uni_form Studio และร่วมตอบคำถามสนุก ๆ กับร้านหนังสืออิสระ Fathom Bookspace กิจกรรม Horror & Murders โดยเพจ pigabook และสำนักพิมพ์ผู้สร้างสรรค์หนังสือแนว Horror & Murders ต้อนรับเดือนแห่งความหลอนกับเทศกาลฮัลโลวีน

มูลนิธิหนึ่งอ่านล้านตื่น บูท A26

เชิญชวนร่วมบริจาคเพื่อหนังสือดีให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียน ชุมชน ห้องสมุด ผู้สูงวัย และผู้พิการ ในพื้นที่ขาดแคลน และการมอบทุนให้ผู้ชนะการประกวด “อ่านได้ เล่าสนุก ปลุกไอเดีย ครั้งที่ 2” โดยได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี เป็นประธาน ในวันที่ 16 ตุลาคม 2565 เวลา 15.00-16.00 น. ณ เวทีกลาง

Drawing Story ให้ลายเส้นเล่าเรื่อง บูท J39

นิทรรศการจัดแสดงผลงานที่รังสรรค์โดยศิลปินนักวาดชาวไทย เช่น นักวาดหนังสือการ์ตูน Comics, นักวาดภาพปกหรือภาพประกอบ (Illustration) และนักเขียนนิยายภาพ (กราฟิกโนเวล) ซึ่งเป็นการถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ ของหนังสือผ่านทางลายเส้นด้วยฝีมือของศิลปินชาวไทย เพื่อนำเสนอผลงานภาพวาดและลายเส้นของศิลปินไทยที่หลากหลาย

และคัดเลือกศิลปินที่มีผลงานโด่งดังจัดเป็น Hall of Fame ของธีม Drawing Story นอกจากนี้ยังได้นำเสนอตัวอย่างคอลเล็กชั่นหนังสือที่ได้รับคัดเลือกให้อยู่ใน Thai Book Archive ในประเภทของหนังสือที่ได้มีการต่อยอดไปยังสื่อประเภทอื่น ๆ เช่น ละคร ภาพยนตร์ เกม ฯลฯ

กิจกรรมบนเวทีที่น่าสนใจ

นอกจากกิจกรรมไฮไลต์ทั้ง 8 พื้นที่แล้ว ตลอด 12 วันของการจัดงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ รวบรวมกิจกรรมการพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และการเปิดตัวหนังสือต่าง ๆ ไว้มากมายตลอด 12 วัน อาทิ

12 ตุลาคม 2565

  • เวลา 13.00-14.00 น. ยิ่งอ่าน ยิ่งสร้าง แรงบันดาลใจ ขับเคลื่อน E-library ห้องสมุดโรงเรียน โดย รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ คุณทิพย์สุดา สินชวาลวัฒน์ และคุณสุดรัก ชัมพุนพงศ์
  • เวลา 19.00-20.00 น. เปิดตัวหนังสือ ทักษิณ ชินวัตร Thought and Theory โดย คุณธีรัตถ์ รัตนเสวี คุณแพทองธาร ชินวัตร คุณพินทองทา คุณากรวงศ์ และคุณพานทองแท้ ชินวัตร

13 ตุลาคม 2565

  • เวลา 14.00-15.00 น. แกก็กลับมาอ่านกับเราดิ ออนกราวด์ จากสำนักพิมพ์มติชน (บมจ.มติชน) โดยชาวมหานครนักอ่าน ft.Badbitchbkk

14 ตุลาคม 2565

  • เวลา 14.00-15.00 น. เสวนาหนังสือเล่ม Ways of seeing “มอง” ไม่ได้แปลว่า ”เห็น” โดย นักรบ มูลมานัส ดำเนินการเสวนาโดย ผ้าป่าน สิริมา จากเพจ Ground Control

15 ตุลาคม 2565

  • เวลา 17.00-18.00 น. ล้านนาใต้เงามังกร จากสำนักพิมพ์มติชน (บมจ.มติชน) โดย สมฤทธิ์ ลือชัย และสมชาย แซ่จิว

16 ตุลาคม 2565

  • เวลา 11.00-12.00 น. เสวนากับนักแสดงและผู้กำกับซีรีส์ และเปิดตัวหนังสือเรื่อง “เพื่อนายแค่หนึ่งเดียว” จาก GMMTV นำทีมโดย ผู้กำกับ ทิชากร ภูเขาทอง (โจ้) และนักแสดง ปอนด์ และภูวินทร์
  • เวลา 16.00-17.00 น. read 2 the moon : พิชิตพันล้าน ผ่านการลงทุน (ยุคใหม่) โดย ปิยะพันธ์ วงศ์ยะรา CEO Stock2morrow x 2read

17 ตุลาคม 2565

  • เวลา 12.00-13.00 น. สมรรถนะการนิเทศเชิงรุก ชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ โดย ศูนย์หนังสือจุฬาฯ

18 ตุลาคม 2565

  • เวลา 12.00-13.00 น. อ่านออก แปลเข้าใจ แต่ทำไมทำข้อสอบไม่ได้ โดย ครูเจี๊ยบ OpenDurian
  • เวลา 14.00-15.00 น. เทคนิคใช้ภาษาให้สุภาพ เพิ่มเสน่ห์ให้คุณได้ โดย ศูนย์หนังสือจุฬาฯ

19 ตุลาคม 2565

  • เวลา 15.00-16.00 น. คำสารภาพสุดท้ายของนักโทษประหาร โดย คุณยุทธ บางขวาง

20 ตุลาคม 2565

  • เวลา 16.00-17.00 น. “ปรับ” เมื่อโลก “เปลี่ยน” กับบทเรียนจากเศรษฐกิจโลกหมื่นปี จากสำนักพิมพ์มติชน (บมจ.มติชน) โดย ผศ.ดร.ธร ปีติดล
  • เวลา 19.00-20.00 น. Talk with Tim Pita โดย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พรรคก้าวไกล

21 ตุลาคม 2565

  • เวลา 16.00-17.00 น. เปิดตัวหนังสือ DREAMOCRACY ประชาธิปไตยไม่ใช่ฝัน โดย พริษฐ์ วัชรสินธุ (ไอติม)
  • เวลา 19.00-20.00 น. รู้แค่นี้ประหยัดภาษีหลักล้าน โดย อ.นวลวรรณ ถนอมดิษฐ์สกุล Tax Expert

22 ตุลาคม 2565

  • เวลา 11.00-12.00 น. เส้นทางสู่การเป็นนักแปลรุ่นใหม่สายญี่ปุ่น โดย สกล วนสุนทรี, วรดา แย้มผะอบ, พรพิทักษ์ นิ่มอนงค์ และโฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
  • เวลา 19.00-20.00 น. เสวนาหนังสือ “ฝันให้ไกล ไปให้ถึงดวงจันทร์” โดย พิชชานันท์ มหาโชติ หญิงไทยคนแรก ที่พิชิตสนามเทรลระดับโลก

23 ตุลาคม 2565

  • เวลา 15.00-16.00 น. เสวนาหนังสือ “INTO THE METAVERSE” โดย ท๊อป-จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้ง Bitkub
  • เวลา 18.00-19.00 น. Talk with Thanathorn โดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ มูลนิธิคณะก้าวหน้า
  • เวลา 19.00-20.00 น. 50 ปี 14 ตุลา กับอนาคตประเทศไทย โดย คุณวิทยากร เชียงกูล คุณพีรพล ตริยะเกษม และคุณสุนีย์ ไชยรส

BNK48-CGM48 ร่วมเติมสีสัน งานหนังสือ

นอกจากไฮไลต์กิจกรรมบนเวทีจากหลากหลายสำนักพิมพ์แล้ว แฟน ๆ ของวงไอดอลดัง BNK48 และ CGM48 จะได้พบกิจกรรมบนเวทีจากเหล่าเมมเบอร์วงดังกล่าว อีก 5 วัน

  • 13 ตุลาคม 2565 เวลา 10.00-12.00 น. พบกับเนย (Noey) และน้ำหนึ่ง (Namnueng)
  • 17 ตุลาคม 2565 เวลา 18.00-20.00 น. พบกับวี (Wee) และฟ้อนด์ (Fond)
  • 18 ตุลาคม 2565 เวลา 16.00-18.00 น. พบกับปัญ (Pun) และเจนนิษฐ์ (Jennis)
  • 19 ตุลาคม 2565 เวลา 18.00-20.00 น. พบกับแก้ว (Kaew)
  • 20 ตุลาคม 2565 เวลา 10.00-12.00 น. พบกับคนิ้ง (Kaning) และมามิ้งค์ (Marmink)
  • 20 ตุลาคม 2565 เวลา 17.00-19.00 น. พบกับอร (Orn)

ไฮไลต์สำคัญคือ Orn BNK48 จะเปิดตัว “orn and on” พ็อกเกตบุ๊กเล่มใหม่ล่าสุด หลังเคยฝากผลงานหนังสือเล่มแรกในชีวิต ในชื่อ “ORN The Way”

3 วัน 6 สัมมนาน่าสนใจ

นอกจากกิจกรรมบนเวทีตลอด 12 วันแล้ว ยังมี กิจกรรมอบรมสัมมนา ที่ MEETING ROOM ชั้น 2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ วันที่ 15, 18 และ 22 ตุลาคม 2565 อาทิ สัมมนาวิชาการเชิงปฏิบัติการ “ระบบการจัดการ E-Sport ในสถานศึกษา” โดย คุณสันติ โหลทอง (นายกสมาคมอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย) และ meb x Money Coach จักรพงษ์ เมษพันธุ์ เตรียมให้พร้อม ถ้าอยากเริ่มต้นการเงินที่ดีในปี’66 โดย กิตติศักดิ์ คงคา เจ้าของเพจ ลงทุนศาสตร์ และ Money Coach จักรพงษ์ เมษพันธุ์ เป็นต้น

เดินทางมาร่วมงานยังไง

งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 27 จะจัดขึ้นในวันที่ 12-23 ตุลาคม 2565 ตั้งแต่ 10.00-21.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยสามารถเดินทางได้ด้วยรถส่วนตัว และจอดรถที่ศูนย์สิริกิติ์ได้ทันที ไม่มีค่าที่จอดรถ และเดินทางด้วยรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ลงสถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เดินมาที่ทางออก 3 เข้าสู่อาคารศูนย์สิริกิติ์ได้ทันที

นอกจากนี้ งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ เปิดช่องทางออนไลน์สำหรับผู้ที่สนใจหนังสือ แต่ไม่สะดวกเดินทางไปที่งาน สามารถสั่งซื้อหนังสือจากงานดังกล่าวผ่านทางออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ thaibookfair.com, Shopee, Lazada และ LINE MAN MART