เศรษฐา ทวีสิน มุมมองเศรษฐกิจ-สังคม หลักบริหารธุรกิจ-จัดการชีวิต ไม่มีสีเทา มีแต่ขาวกับดำ

เศรษฐา ทวีสิน
เศรษฐา ทวีสิน / © ประชาชาติธุรกิจ, บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน)

เศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กำลังอยู่ในสปอตไลต์ทั้งด้านธุรกิจและการเมือง ขณะที่ด้านการเมืองกำลังถูกจับตามองว่าจะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทยจริงหรือไม่ ในด้านธุรกิจ แสนสิริก็กำลังเติบโตอย่างแข็งแกร่ง 

ล่าสุดแสนสิริแถลงข่าวเปิดตัวโครงการใหม่ 52 โครงการ มูลค่าทุบสถิติ 75,000 ล้านบาท และประกาศยอดขายปี 2565 ทะลุ 50,000 ล้านบาท โต 49% พร้อมกับทำกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ (all-time high)

ในห้วงเวลาที่แสงไฟสาดส่อง-หลายสายตาจับจ้องว่านักธุรกิจคนนี้มีโอกาสจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปของประเทศไทยหรือไม่ “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ เศรษฐา ทวีสิน ทั้งเรื่องการบริหารธุรกิจ บริหารคน มุมมองต่อเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ผู้อ่านได้รู้จักเขามากขึ้น

Q : การบริหารธุรกิจสไตล์เศรษฐา ทวีสิน เป็นอย่างไร

ผมเน้นความรวดเร็ว ธุรกิจสมัยนี้ต้องอาศัยความรวดเร็ว ถ้าคุณตัดสินใจช้าไปหน่อยนึงมันก็เจ๊ง ในช่วงโควิด-19 เราตัดสินใจเร็ว ลดราคาเร็ว เราขายของเร็ว เรามีกระแสเงินสด 20,000 ล้านบาท กำไรเราต่ำเหลือ 3% แค่พันกว่าล้านบาท แต่เราต้องมีกระแสเงินสดที่ดีให้เราสามารถใช้ประโยชน์จากกระแสเงินสดได้ เราต้องรวดเร็ว ฉับพลัน ทันเวลา ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าจะเอาไปใช้ในสถานการณ์อื่นหรือในสังคมอื่น ๆ แล้วจะใช้ได้ บางทีมันก็มีเรื่องอะไรหลาย ๆ อย่าง แต่ธุรกิจมันเป็นเรื่องที่ต้องรวดเร็ว ฉับพลัน ทันเวลา 

Q : แบบไหนเรียกว่าช้า แบบไหนเรียกว่าเร็ว

มันแล้วแต่เรื่อง เรื่องที่ช้าคือบางทีมันยังไม่สุก อย่างสมมติว่าคุณเดินเข้ามาขายที่ดินให้ผมวันนี้ ไร่ละ 10 ล้านบาท แต่คุณบอกว่ามันไม่ใช่ของคุณคนเดียว คุณมีพี่น้องอีกสามคน ผมจะไม่พูดว่าจะซื้อ เพราะผมเชื่อว่ามันยังไม่สุก หมายความว่า คุณคิดว่าคุณจะขาย 10 ล้าน ผมไม่เอา ผมจะไปเช็กดูก่อนว่ามีคนบุกรุกที่หรือเปล่า ถ้ามีคนบุกรุก คุณให้ผมเป็นคนไล่ ผมก็ต้องเสียเงินอีก มันจะเป็น 10 ล้านบวก ๆ หรือเปล่า บางทีมันแล้วแต่สถานการณ์ เพราะฉะนั้นประสบการณ์ในการทำงานมีส่วนสำคัญมากในการที่จะตัดสินใจได้ช้าหรือเร็ว แต่ถ้าองค์ประกอบข้อมูลพร้อม ผมเชื่อว่าต้องตัดสินใจเร็ว ต้องทำให้เร็ว หลาย ๆ อย่างมันต้องชัดเจน   

Q : ถ้าตัดสินใจเร็วแล้วผิดพลาด จะทำยังไง

การตัดสินใจเร็วต้องมั่นใจว่าถ้าตัดสินใจผิดเรื่องนี้มันไม่ฉิบหาย อย่างเช่นการตัดสินใจขายสินค้าเร็วไป ถ้าตัดสินใจผิดที่ขาย ผลคือกำไรน้อย รู้งี้เก็บไว้บ้าง ถ้าตัดสินใจถูกคืออยู่รอด แต่ถ้าตัดสินใจผิดไม่กล้าขายคือเสียหายเยอะ 

เวลาผมเทรนลูกน้อง ผมไม่มีทางเห็นด้วยกับเขาร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าผมคิดว่าเขาผิด แต่เขาอยากทำ ผมให้เขาทำนะ เพราะว่าถ้าเขาทำแล้วผิด ความผิดมันเล็ก ๆ มันจำกัดวง และไม่ได้เสียหายหนัก แต่ถ้าเขาถูกขึ้นมา มัน win-win นะ เขามั่นใจขึ้นมาเลย ส่วนผมก็ได้เห็นจากคนรุ่นใหม่ว่าที่เราคิดมันผิด

เศรษฐา ทวีสิน

Q : เรื่องไหนต้องตัดสินใจเอง เรื่องไหนปล่อยให้คนอื่นตัดสินใจ

ซีอีโอแต่ละคนก็มีขั้นตอนต่างกันไป ผมอาจจะเป็นซีอีโอที่เข้าถึงได้ อาจจะเป็นซีอีโอที่ลงรายละเอียด อาจจะเป็นซีอีโอที่ให้อิสรภาพในการทำงานหลาย ๆ เรื่อง แต่บางเรื่องอย่างเช่นเรื่องแบรนดิ้ง ซึ่งผมเชื่อว่าทุกคนยอมรับว่าแสนสิริมีแบรนดิ้งที่แข็งแกร่ง มีโฆษณาที่ดูแล้วเก๋เท่ และมีความสง่างาม เรื่องนี้ผมดูเอง โปสเตอร์ผมดูเอง บิลบอร์ดผมดูเอง โฆษณาผมก็ดูเอง 

ผมไม่ได้เคลมว่าผมมีรสนิยมดีกว่า แต่มันต้องมีคนตัดสินเรื่องภาพลักษณ์เรื่องความสวยงาม ผมถือว่าผมสูงสุด ผมตัดสิน อันนี้มันคือหน้าตาของผม ผมอยากหน้าตาแบบนี้ บ้านราคาแพงของแสนสิริต้องเป็นแบบนี้ แต่ถ้าเป็นเรื่องอัตราดอกเบี้ย มันโกหกกันไม่ได้ รู้อยู่แล้วว่าเรากู้มาเท่าไหร่ อันนี้ก็ให้อิสระเขาทำ มันแล้วแต่ซีอีโอแต่ละคนเขาเห็นว่าเรื่องอะไรสำคัญ   

Q : บริหารธุรกิจมากี่ปีแล้ว

30 ปีแล้ว ทำมาตั้งแต่เริ่มต้นพนักงาน 7 คน ทำจนกลายเป็น 4,000 คนแล้ว แต่ถ้าจะพูดเทียบจากธุรกิจเป็นการเมือง มันต่างกันหลายอย่าง คุณสั่งพนักงานในบริษัท มันไม่เหมือนกับที่คุณไปสั่งข้าราชการ ฉะนั้นก็มีหลาย ๆ อย่างที่ไม่ง่าย ไม่ใช่ว่าเราประสบความสำเร็จในวงการธุรกิจแล้วเราจะเป็นนักการเมืองที่ประสบความสำเร็จได้ ฉะนั้นคนที่เขาปรามาสเรามา เราก็ต้องฟัง แต่จริง ๆ ไม่ต้องเตือน ผมรู้อยู่แล้ว 

Q : บริหารธุรกิจยังไงให้จ่ายโบนัสพนักงานได้ถึง 20 เดือน 

สูงสุด 50 เดือน เราก็ต้องมีกำไร ซึ่งกำไรถูกซัพพอร์ตด้วยสามสี่อย่าง หนึ่ง-ลูกค้า ถ้าคุณกำไรเยอะมากเกินไปลูกค้าคุณอาจจะไม่แฮปปี้ เพราะคุณให้ของที่คุณภาพไม่ดี สอง-พนักงาน คุณมีกำไรเพราะพนักงานทำงานดี คุณก็ต้องแบ่งกำไรมาสู่พนักงาน สาม-สังคม คุณต้องแบ่งปันให้สังคม อาจจะบริจาคเพื่อการศึกษา หรืออะไรต่าง ๆ และสุดท้ายคือ ผู้ถือหุ้น ต้องมีเงินปันผล 

หน้าที่ซีอีโอที่หนักใจที่สุดคือการบาลานซ์ระหว่างสังคม ผู้ถือหุ้น ลูกค้า และพนักงาน ท่องอยู่ตลอดเวลา ช่วงโควิดผู้ถือหุ้นเหนื่อยสุด ส่วนลูกค้า พนักงาน สังคม อาจจะดีหน่อย เราช่วยเหลือเยอะ กำไรเหลือน้อย ผู้ถือหุ้นก็เหลือเงินปันผลน้อย มันก็เป็นบางช่วงบางเวลา พอดีช่วงนี้กำไรเยอะ ทุกคนก็ได้เยอะ น่าจะแฮปปี้กันหมด 

Q : ระหว่างความเป็นมืออาชีพกับเจ้าของ ให้ความสำคัญกับอะไร หรือบาลานซ์อย่างไร

ผมให้ความสำคัญกับความเป็นมืออาชีพน้อยมาก ผมไม่เชื่อ มืออาชีพ ภาษาอังกฤษคือ professional มีผู้ใหญ่คนหนึ่งบอกว่า ความหมายของ professional คือ me first ตัวกูมาก่อน คุณอยู่ที่นี่คุณเป็นมืออาชีพอยู่แล้ว ไม่งั้นผมไม่จ้างคุณ แต่ผมต้องการหล่อหลอมให้คุณมีวิญญาณความเป็นเจ้าสัว มีความเป็นเถ้าแก่ เข้าใจหัวอกของกันและกันว่าคนเป็นผู้ถือหุ้น คนเป็นเจ้าของเขาต้องการอะไร 

ผมไม่เน้นคำว่า professional ผมเน้นอีกแบบ ผมโปรโมตเรื่องความเป็นเจ้าสัว ผมจะถามตลอด เช่น “จะทำ customer survey งบ 900,000 บาท ถ้าเป็นเงินคุณ คุณจ่ายไหม” ถามคำถามนี้ดีกว่า   

เศรษฐา ทวีสิน

Q : ในปี 2566 มีอะไรบ้างที่จะ “ทำทันที ไม่ต้องรอ” ทั้งเรื่องการเมืองและธุรกิจ

การเมืองทำเลยไม่ต้องรอ ผมว่าแน่นอนเรื่องปากท้อง เรื่องปากท้องเป็นวาระแห่งชาติของพรรคการเมืองทุกพรรคอยู่แล้ว จะเรียกนโยบายอะไรก็ตามที มันก็ต้องทำ ผมค่อนข้างมั่นใจว่านโยบายเศรษฐกิจของทุกพรรคน่าจะมาช่วยเหลือเรื่องเอาเงินใส่กระเป๋าคน หรือให้เงินออกจากกระเป๋าน้อยลง 

ผมเป็นห่วงอยู่สองสามเรื่อง คือ geopolitics (ภูมิรัฐศาสตร์) เรื่องนี้คนไม่ค่อยให้ความสำคัญเท่าไหร่ และเรื่องสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคความเท่าเทียม เรื่อง LGBTQ เพศสภาพ คนไม่ให้ความสำคัญเรื่องนี้เท่าไหร่ คนเรามันไม่ได้อยู่ได้ด้วยเงินในกระเป๋าอย่างเดียว ต้องสบายใจด้วยถึงจะอยู่ในสังคมได้ บางคนเขามีเงินในกระเป๋าพอสมควร แต่เขามีความคับใจหลายเรื่อง เรื่องนโยบายรัฐบาล เรื่องการลดการปล่อยคาร์บอน เรื่องเพศสภาพ สมรสเท่าเทียม เรื่องทุนใหญ่กินรวบ เรื่องการเกณฑ์ทหาร เรื่องความไม่มีสิทธิเสรีภาพ เรื่องอิสรภาพในโรงเรียน เรื่องการบูลลี่กัน เรื่องกฎกติกา เรื่องพวกนี้นโยบายของพรรคการเมืองชัดเจนหรือเปล่า หรือพูดไปเฉย ๆ ไม่ได้มาทำอย่างเป็นจริงเป็นจัง 

เรื่องภูมิรัฐศาสตร์จริง ๆ แล้วที่ไม่มีใครพูดถึงเรื่องนี้เยอะ เพราะประเทศไทยไม่มีที่ยืนในเวทีโลกมา 8 ปี ประชุมเอเปคที่เพิ่งผ่านไป เราเป็นเจ้าภาพก็เพราะว่ามันถึงรอบที่เวียนมา แน่นอนว่าเราก็ต้องเป็นเจ้าภาพที่สง่างาม แต่จริง ๆ แล้ว การค้าขายหรือการที่เราจะไปต่อรองเรื่องกฎกติกาการอยู่ร่วมกันในโลก มันไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในการประชุมเอเปคหรืออาเซียนเท่านั้น เราเป็นประเทศที่ค่อนข้างเล็ก เราต้องประเมินน้ำหนักตัวเอง เราจะคอยให้สหรัฐหรือให้จีนเข้ามาหาเรา มันคงลำบาก เราต้องทำตัวให้เขารู้ว่าเราก็มีดีเหมือนกัน ผมไปหาก็ได้ในฐานะที่ผมเป็นน้องเล็ก คุณต้องบินไปหาเขา เรื่องความสามารถทางภาษาไม่ใช่ประเด็น ล่ามเก่ง ๆ มีเยอะ 

คุณต้องดูเปรียบเทียบอินโดนีเซียกับเวียดนาม เขาได้เปรียบแน่นอนเพราะประชากรอินโดฯมี 200 ล้านคน เวียดนามมี 100 กว่าล้านคน เขาขยันกว่า และผู้นำถ่อมตัว บินออกไปขายของ บินออกไปชวนให้คนมาลงทุน ประธานาธิบดีอินโดนีเซียบินไปยูเครน บินไปรัสเซีย บอกว่าจะบินไปเจรจาสันติภาพ แต่แฝงไปด้วยการค้าทั้งนั้น ไปซื้อปุ๋ยมาจากรัสเซีย ซื้อข้าวสาลีจากยูเครน ไปเอาโรงกลั่นน้ำมันมา ไปเมืองจีนไปเจรจาให้จีนมาสร้างฐานการผลิตรถไฟฟ้าที่อินโดฯ ส่วนประเทศไทยส่งผู้แทนการค้าไป ขณะที่ประเทศอื่นเขาส่งเบอร์ 1 ไป

เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ผมคิดว่าประเทศไทยยังให้ความสำคัญไม่พอ เรื่อง geopolitics อย่าเห็นว่าเป็นเรื่องเล็ก เพราะเราไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก เหตุผลที่เอสเอ็มอีไทยไม่มีตลาดไปก็เพราะว่าเราไม่เคยไปเปิดตลาดใหม่ การเปิดตลาดใหม่ใครต้องไป ทูตพาณิชย์ก็เป็นไปได้ แต่ประเทศอื่นผู้นำเขาไปเอง ประเทศที่ขนาดใกล้เคียงกับเรา ผู้นำเขาไปเอง มันต่างกันมาก เราจะพึ่งเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องพึ่งการลงทุนจากต่างประเทศ ต้องทำให้เขามาลงทุน 

เราไม่ได้ take advantage (แสวงหาประโยชน์) จากการที่จีนกับสหรัฐมีปัญหากัน โรงงานผลิตสินค้าของสหรัฐหลาย ๆ โรงงานเขาย้ายออกจากจีน แต่เราไม่ไปเจอผู้นำทางเศรษฐกิจของสหรัฐเลย แล้วเขาก็ย้ายไปอินโดนีเซีย ไปเวียดนาม อินเดีย นี่คือที่มาที่ไปว่าทำไมประเทศไทยไม่มีที่ยืนในเวทีโลก 

ส่วนเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องของบริษัท แน่นอน speed to market เรื่องความรวดเร็วในการตัดสินใจเป็นเรื่องสำคัญ เรื่องการบริหารต้นทุนสำคัญ เพราะว่ามีเรื่องเงินเฟ้อ จะบริหารสินค้ายังไงให้ประชาชนเข้าถึงได้ เพราะว่ากำลังซื้อเขาหด หนี้ครัวเรือนสูง ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น อันนี้ก็เป็นประเด็นสำคัญ 

Q : เรื่องการดึงดูดการลงทุน มีปัจจัยข้อหนึ่งที่ต่างชาติพิจารณาในการจะเข้าไปลงทุนในประเทศไหน คือ คุณภาพสถาบัน (กฎหมาย องค์กรกำกับดูแล การบังคับใช้กฎหมาย) มีความเห็นต่อปัจจัยเรื่องนี้ของไทยไหม

มีครับ เพราะว่าจริง ๆ แล้วเราก็รู้ว่าเราแข่งกับใครอยู่ เราแข่งกับอินโดนีเซียกับเวียดนามในแง่ของฐานการผลิต ส่วนในแง่ของคอมเมอร์เชียลออฟฟิศ ดิจิทัลออฟฟิศ เราแข่งกับสิงคโปร์ ฮ่องกง เพราะฉะนั้นเรื่องภาษีสำคัญ หรือเรื่องการถือครองที่ดิน เรื่องนี้มันเซนซิทีฟ แต่ก็สามารถที่จะเข้าไปอยู่ใน BOI ได้ มันมีกฎหมายอยู่แล้ว ไม่ใช่ประเด็นใหญ่  

แต่เรื่อง Ease of Doing Business หรือความง่ายในการทำธุรกิจ เรายังเป็นรองต่างประเทศอยู่ ตรงนี้ถ้าพรรคไหนเข้าไปเป็นรัฐบาลต้องทำ ซึ่งผมก็ให้คำปรึกษาเขาอยู่ว่าเวลาต่างชาติจะมาลงทุนในประเทศไทยเขาจะต้องเจออะไรบ้าง พอเขาเจออะไรแล้วเขารู้สึกอย่างไร 

แต่เราโฟกัสเรื่องดี ๆ บ้างก็ได้ อย่างเช่น การแพทย์ การสาธารณสุขไทย ประเทศที่เป็นคู่แข่งเรา เขาสู้เราไม่ได้เลย โรงพยาบาลเราดี ระบบเฮลท์แคร์เราเวิลด์คลาส โรงเรียนนานาชาติ ซึ่งบางคนอาจจะเห็นว่าไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญ แต่ผมว่าการที่ชาวต่างชาติเขาจะมา อย่างแรกที่เขาดูคือครอบครัวเขาจะไปไหน ลูกเขาอายุเจ็ดแปดขวบจะเรียนที่ไหน มีโรงเรียนอินเตอร์หรือเปล่า ซึ่งเรามีเยอะแยะ ระดับใช้ได้ทั้งนั้น

ปัจจัยเหล่านี้เมืองไทยดึงดูดได้แน่นอน มันมีหลาย ๆ ประเด็นที่ไทยยังเป็นต่ออยู่ สนามบินเราก็ใช้ได้ อินเทอร์เน็ตเราก็ดีระดับโลก มันก็ต้องค่อย ๆ สร้างกันไป แต่ว่าเรามีคนออกไปพูดหรือเปล่า ในการที่เราออกไปพูด เราก็ได้เสียงสะท้อนกลับมาว่าต่างชาติเขาต้องการอะไร กฎหมายข้อไหนที่เขาไม่เห็นด้วย และเราพอที่จะเอื้อเขาได้หรือเปล่า ในขณะเดียวกันเราก็ได้ไปขายจุดขายของเรา 

ผมว่าเราต้องมีโอกาสที่จะไปขายตัวเอง ไม่ใช่อยู่แค่ในที่ของตัวเอง คุณต้องพีอาร์ประเทศ จริง ๆ แล้วนายกต้องเป็นเซลส์แมน และไม่ใช่ไปแค่สหรัฐ ไม่ใช่ไปแค่จีน คุณต้องไปญี่ปุ่น คุณต้องไปอียู คุณต้องไปเปิดตลาดใหม่ อินเดีย บราซิล ไนจีเรีย ซึ่งอีก 10 ปีเศรษฐกิจจะเป็นท็อป 7 ของโลก แอฟริกา ที่มีทั้งเหมืองแร่ มีอะไรหลาย ๆ อย่าง ซึ่งเราสามารถเอาแรงงานเอาอาหารไปแลก ความมั่นคงทางอาหารของเราดีระดับโลก 

เรามีจุดแข็งเยอะแยะ อย่าโฟกัสที่จุดอ่อนอย่างเดียว … ประเทศไทยมีอนาคต ผมว่าไม่ยากเลย ผมยังเสียดายโอกาสที่ในหลาย ๆ ปีที่ผ่านมาเราไม่ได้ทำเรื่องพวกนี้ 

เศรษฐา ทวีสิน

Q : เรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น ตอนนี้มีโซเชียลมีเดียของชาวจีนที่บอกว่าจ่ายเงินแค่นี้ก็ได้อภิสิทธิ์ มีความคิดเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร

เรื่องนี้ผมว่าเป็นเรื่องเซนซิทีฟมากและเป็นอะไรที่น่าตกใจกับปริมาณของคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้น มันแพร่ขยายไปทุก ๆ วงการ ผมคิดว่ามันมากขึ้นเพราะว่าเศรษฐกิจไม่ดี คนก็เดือดร้อน หาเช้ากินค่ำ ชักหน้าไม่ถึงหลัง ก็ต้องโกง ต้องหาวิธีการทำธุรกิจสีเทา หรืออะไรที่มันหมิ่นเหม่ต่อกฎหมายบ้าง  

มันเป็นเรื่องที่อาจจะเกิดจากเศรษฐกิจตกต่ำ เงินในกระเป๋าไม่เพียงพอ ทำให้คนพึ่งอาชีพสุจริตไม่ได้ ก็หาทางเอาเงินเข้ากระเป๋าโดยผิดวิธี จุดแรกในการบังคับใช้กฎหมาย ผู้บังคับใช้กฎหมายก็คือตำรวจ มีข้อครหาเต็มไปหมด เกิดปัญหาคอรัปชั่นขึ้นเยอะมาก Corruption Index ก็ขึ้นมาสูง ก็ไม่รู้จะพูดยังไง เดี๋ยวหาว่าไปยุ่งเรื่องการเมืองอีก มีคนบอกว่าชอบพลเอกประยุทธ์เพราะไม่คอร์รัปชั่น แต่ว่า Corruption Index มันขึ้น 

Q : ปฏิรูปตำรวจกับปฏิรูปทหาร ทำอะไรก่อนดี

ไม่จำเป็นต้องทำอะไรก่อนอะไรหลัง ทำได้พร้อมกัน แต่คำว่า “ปฏิรูป” ไม่มีใครชอบหรอก ถ้าบอกว่า “ปฏิรูปเศรษฐา” แสดงว่าเราห่วยฉิบหายจะมาปฏิรูปเรา ผมคิดว่าควรใช้คำพูดอื่นที่คนยอมรับได้ “พัฒนา ปรับปรุง เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของทหาร” ก็ได้ ใจเขาใจเราเหมือนกันนะ ทุกสังคมมีคนดีคนไม่ดี ผมว่าเราเก่งเรื่องภาษาไทยกันมโหฬารนะ ตั้งคำผวนกันสนุกสนาน แต่ทำไมใช้คำที่มันรู้สึกไม่ดี “บัตรคนจน” นี่เรียกกันอยู่ได้ ใครจะอยากถูกเรียกว่าเป็นคนจนบ้าง 

คุณอาจจะไม่จำเป็นต้องใช้คำว่า “ปฏิรูปทหาร” แต่คุณพูดเลยว่าต่อไปนี้ยกเลิกการเกณฑ์ทหารได้ไหม ผมไม่รู้ว่าจุดยืนของพรรคเพื่อไทยต่อเรื่องนี้คืออะไร หรือจุดยืนของใครคืออะไร แต่ผมเชื่อใน freedom of choice ผมควรมีเสรีภาพในการเลือกว่าผมจะทำอะไร อย่าลืมว่าทุกวันนี้ถ้าคุณไม่ให้เสรีภาพในการเลือก คุณบังคับเขา คนรุ่นใหม่เขาหนีไปอยู่ต่างประเทศเลย คนที่หนีไปอยู่ต่างประเทศมันไม่ใช่เรื่องตังค์อย่างเดียว แต่มันเป็นเรื่องฟรีดอม เรื่องอะไรหลาย ๆ อย่าง 

ถ้าบอกว่าไม่อยากเป็นทหารแปลว่าไม่รักชาติ มันไม่เกี่ยว ทำไมต้องเป็นทหารอย่างเดียวถึงจะรักชาติได้ ผมไม่เห็นด้วย ที่สหรัฐเขาก็มีให้เลือก สมัยที่ผมเรียนอยู่เมื่อ 40 ปีที่แล้ว มันจะมีโฆษณาตลอดว่า “Be all you can be” เขาโฆษณาว่ามันมีทหารบทบาทหน้าที่ต่าง ๆ อย่างหมอ อย่างวิศวกร คือเขาจะบอกว่าการเป็นทหารมันมีอาชีพที่ดีให้กับคุณ ทหารก็เหมือนกับบริษัทที่จะต้องต่อสู้เพื่อจะแย่งบัณฑิตที่มีความสามารถเข้าไปอยู่ในองค์กรเขา การที่องค์กรคุณทำให้คนอยากเข้าไปทำงานได้หรือไม่ได้ ตรงนั้นจะเป็นตัวบ่งชี้ว่า คุณต้องปฏิรูปหรือไม่ต้องปฏิรูป  

จริงๆ แล้วการที่คุณให้คนมีเสรีภาพในการเลือกนี่แหละคือจุดเริ่มต้นในการพัฒนาให้ทหารดีขึ้น มั่นคงขึ้น และเป็นสถาบันที่มีเกียรติ โดยไม่ไปด้อยค่าเขา ไม่จำเป็นต้องไปพูดเลยว่าเป็นทหารแล้วไปรับใช้ เป็นคนสวน เราอย่าไปพูด

เศรษฐา ทวีสิน

Q : อะไรทำให้คุณเข้าใจความต้องการของคนรุ่นใหม่

ผมว่าไม่ยากเลย ใจเขาใจเรา ถ้าคุณมีลูกชายมีน้องชาย เขาอยากเป็นทหารหรือเปล่า มีความเป็นไปได้ที่เขาอาจจะอยากเป็น แต่อย่างน้อยทุกคนอยากจะมี choice ในการเลือก คุณก็อยากเลือกที่จะเป็น Journalist ไม่ได้อยากเป็นพยาบาล คุณไม่ได้อยากเป็นวิศวกร  

ถ้าบอกว่า ไม่อยากเป็นทหารไปเรียน ร.ด. สิ เอาเวลานั้นไปเรียนเรื่องเทคโนโลยีดีกว่า เพราะทุกวันนี้โลกมันเปลี่ยนแปลงไปเยอะ ทำไมคุณต้องไปเรียนถือปืนตากแดด คลาน มันไม่จำเป็น โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว วันนี้การรบแทบจะไม่มี มันรบกันด้วยสมอง รบด้วยการเจรจา มันคือสงครามการค้า มันคือสงครามการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน

Q : ในฐานะคนที่เข้าสู่การเมือง คนไทยจะได้อะไรจากการเข้าสู่การเมืองของคุณ

ผมไม่ได้เข้าสู่การเมือง ผมเป็นแค่สมาชิกพรรคเพื่อไทย ผมยังไม่ได้เป็นแคนดิเดตนายกฯพรรคเพื่อไทย เพราะฉะนั้นผมไม่ได้เข้าสู่การเมือง ผมไม่ได้บริจาคสตางค์ ยกเว้นเสียค่าสมาชิกพรรคตลอดชีพ 2,000 บาทแค่นั้นเอง 

ผมพูดอะไรไป คุณหมอชลน่านจะฟังหรือไม่ฟังก็ได้ ผมมีแต่ความปรารถนาดี ผมอาจจะผิดก็ได้ในสิ่งที่ผมเสนอไป ผมก็น้อมรับ เพราะว่าผมไม่ได้เข้าใจการเมืองหมด เพราะว่าการบริหารบริษัทกับการบริหารจัดการบ้านเมืองมันต่างกันเยอะ สังคมรอบข้างมันก็ต่างกันเยอะ ผมอาจจะไม่รู้จริงก็ได้ เราก็ต้องยอมรับตรงนี้ 

Q : จะทำอย่างไรให้คนในพื้นที่เศรษฐกิจกับคนในพื้นที่ชนบท ยกระดับขึ้นมาเท่ากันได้

ลดความเหลื่อมล้ำไง คุณต้องลดความเหลื่อมล้ำให้ได้ ความเหลื่อมล้ำทางด้านความคิด ความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจ เศรษฐฐานะ ความเหลื่อมล้ำทางด้านความคิดมันชัดเจนอยู่แล้ว นักการเมืองสมัยโบราณยังดูถูกว่ากูประชาชนโง่ในการเลือก ส.ส. อยู่เลย มันใช้ไม่ได้ อันนี้เป็นการด้อยค่าคนต่างจังหวัด เลือกตั้งครั้งต่อไปผมถือว่าเป็นวาระพิเศษที่ประเทศถึงจุดเปลี่ยนที่เราต้องช่วยกันออกมาเลือกตั้ง เป็นวันที่ทุกคนควรจะภาคภูมิใจว่าคนรวยหรือคนจนก็มีหนึ่งเสียงเท่ากัน อันนี้สำคัญมาก 

ผมพูดตลอดเวลาว่าคนเราเกิดมามีสิทธิกับมีหน้าที่ ผมมีหน้าที่ 99 มีสิทธิแค่ 1 สิทธิของผมคือสิทธิในการไปเลือกตั้ง อีก 99 คือหน้าที่ หน้าที่ดูแลคุณแม่ หน้าที่ดูแลพนักงาน หน้าที่ทำประโยชน์ให้สังคม หน้าที่ต่อครอบครัว หน้าที่ต่อญาติมิตร หน้าที่ต่อลูกค้า หน้าที่ต่อซัพพลายเออร์ หน้าที่ต่อน้อง ๆ เพื่อนฝูงในการที่จะต้องไปงานแต่งงาน ไปงานศพ ไม่ใช่มีสิทธิที่จะไม่ไปเพราะว่าวันนี้อยากเตะบอล 

ผมพยายามทำให้มันเป็นขาวกับดำ มันเกี่ยวข้องวิธีการดำรงชีวิต ถ้าเกิดว่าทุกอย่างเป็นสีเทา ไม่ขาว ไม่ดำ คุณจะไม่กล้าตัดสินใจ ผมนี่ชัดเจน สิทธิของผมมีอยู่อย่างเดียวคือวันเลือกตั้งทุก 4 ปี ใครเอาสิทธินั้นผมออกไป ผมจะโกรธมาก ส่วนหน้าที่ผมมีทุกวัน วันนี้ผมมีหน้าที่ต่อสังคม ผมต้องให้สัมภาษณ์ประชาชาติธุรกิจเพราะเขาเห็นว่าวิธีการบริหารจัดการของผมเป็นประโยชน์ต่อสังคม มันเป็นหน้าที่ที่ผมจะต้องมาพูด ผมพยายามคิดให้มันง่าย จะได้ไม่ต้องตัดสินใจยาก มันกลับไปที่เรื่องแรกคือ speed to market ในการตัดสินใจ 

Q : ในบริษัทมีความแตกต่างเยอะไหม จัดการบริหารความแตกต่างอย่างไร 

เยอะครับ ผมว่ามันไม่ง่ายหรอก เรามีนโยบายอย่างเช่นไม่มียูนิฟอร์ม อยากใส่อะไรมาก็ใส่ ชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่นก็มีให้ มีวิธีการทำงานที่หลากหลายกันไป คนรุ่นใหม่เขาอาจจะไม่ชอบอะไรที่มันเป็นแบบเจ้าขุนมูลนาย บางบริษัทเข้าห้องผู้บริหารต้องถอดรองเท้าด้วยซ้ำ บางบริษัทคุกเขาก็มีนะครับ บางบริษัทนั่งอยู่ด้วยกันผู้บริหารกินน้ำอีกยี่ห้อ เก้าอี้ก็ต่างกันชัดเจน แต่ผมนั่งตัวไหนก็ได้ สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ผมว่าคนรุ่นใหม่เขาก็ดู เขาก็สังเกต เขาก็อยากให้สังคมมันลดความเหลื่อมล้ำลง 

เรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่างต่างจังหวัดกับกรุงเทพฯ สิ่งที่มันชัดเจนที่สุดก็คือเรื่องรายได้ ชีวิตความเป็นอยู่ มันจะแก้ได้ยังไง ไม่ง่ายหรอกครับ การที่คุณจะลดความเหลื่อมล้ำได้ก็ต้องใช้เงิน แล้วเงินจะมาจากไหน ก็คือภาษี วันนี้ทุกคนก็อยากลดความเหลื่อมล้ำ แต่สมมุติว่าผมเป็นนายกฯ ผมบอกว่าผมจะแก้ความเหลื่อมล้ำด้วยการขึ้นภาษีมรดก นักธุรกิจอยู่ในพรรคก็จะเอ่อ… พี่… คือ… 

การพูดมันพูดง่ายครับ แต่คำพูดมีต้นทุน แล้วมันจะลดได้ยังไง ทุกคนชอบเรื่องลดความเหลื่อมล้ำ แต่พอเข้ากระเป๋าตัวเองปั๊บ คุณก็ไม่ให้ทำหรอก คุณบอกว่าคุณเห็นใจคนต่างจังหวัด แต่พอคุณเศรษฐาจะเก็บภาษีคนกรุงเทพมากขึ้น ก็ไม่เอาแล้ว แต่ว่า (ผู้นำ) ก็ต้องตัดสินใจ 

Q : เรื่องผู้สืบทอดตำแหน่งในบริษัท มองไว้หรือยัง

มีที่ดูอยู่ประมาณ 10 คน ก็ต้องมี ต้องเอามาคุยให้รู้เรื่อง บางคนขึ้นไปแล้วมือไม่ถึงก็มี เพราะฉะนั้นต้องเปลี่ยนความคิดให้ได้ สำคัญที่สุด ปัญหาใหญ่ของคนที่อยู่มานานคือ ชอบอธิบายให้ฟังว่าทำไมถึงทำไม่ได้ อธิบายความผิด อธิบายความไม่เพอร์เฟ็กต์ อธิบายว่าทำไมมันถึงไม่ดีกว่านี้ ผมก็พูดหยาบ ๆ ว่า “เฮ้ยกูไม่ได้จ้างมึงมาให้อธิบายว่าทำไมถึงทำไม่ได้ ถ้างั้นกูไม่ต้องจ้างมึงมาดีกว่า” นี่คือโรงเรียนเศรษฐาเป็นแบบนี้ อธิบายนิดเดียวพอ แล้วเสนอว่ามีทางแก้ไข คิดว่าควรจะแก้อย่างนี้ ๆ จะอ้างอะไรก็ตาม มันขว้างงูไม่พ้นคอหรอก มาโฟกัสที่ทางแก้ดีกว่า ผมไม่ได้มาด่าคุณ แต่ผมมาหาทางแก้ไข บอกเหตุผลว่าทำไมมันถึงเกิดขึ้นนิดเดียวพอ แล้วบอกทางแก้มา   

Q : การเมืองเป็น Passion ของคุณหรือเปล่า

ผมไม่ได้บอกว่าอะไรเป็น passion ของผมบ้าง แต่ถ้าผมจะทำอะไรผมต้องมี passion ไม่งั้นผมไม่ทำ เล่นฟุตบอล ผมก็มี passion จะทำให้มันดีเหมาะสมกับการที่เราลงไปทำในสิ่งนั้น ๆ ทำเรื่องเด็ก เรื่องฟุตบอลเด็กก็ต้องมี passion ผมให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้ ทำเรื่องกรีน เรื่องความยั่งยืน ทำเรื่อง LGBTQ เราก็ต้องให้ความสำคัญจริง ๆ ถ้าไม่มี passion ไม่ทำดีกว่า เรื่องไหนไม่สนใจ ไม่ทำ ไม่ได้หมายความว่าเรื่องเหล่านั้นไม่สำคัญ แต่คนเรามันทำทุกอย่างไม่ได้ ถ้าจะไปทำงานการเมืองก็ต้องทำเพื่อประเทศชาติเป็นหลัก