เกษตรแฟร์ ตลาดนัด เฟสติวัลของคนรุ่นใหม่

เกษตรแฟร์
ผู้เขียน : ชัชพงศ์ ชาวบ้านไร่
ภาพ : รุ่งนภา พิมมะศรี

เกษตรแฟร์ มาจากการริเริ่มของ หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในขณะนั้น เพื่อส่งเสริมให้พี่น้องประชาชนมีความสนใจต่อการเกษตร และเผยแพร่ผลงานความก้าวหน้าทางวิชาการเกษตรสาขาต่าง ๆ มหาวิทยาลัยจึงร่วมมือกับกระทรวงเกษตราธิการ จัดงานขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 3-4 มกราคม 2491 ในชื่อ “ตลาดนัดเกษตรกลางบางเขน” พร้อมกับนำผลิตผลทางการเกษตรออกจำหน่าย

ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า วัตถุประสงค์หลักของการจัดงานเกษตรแฟร์ คือ ต้องการนำองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัยไปถ่ายทอดสู่สังคม เป็นการฝึกนิสิตให้เรียนรู้นอกห้องเรียน และฝึกให้เป็นผู้ประกอบการ

โดยเฉพาะร้านค้าสโมสรนิสิตที่จะมีเด็กมาช่วยกันตั้งแต่ 100-500 คน โดยคาดว่าจะมีนิสิตมากถึง 4,000 คนที่ได้ฝึกฝนทักษะในด้านนี้ นอกจากนี้ยังเป็นการเปิดพื้นที่ให้เกษตรกรและผู้ประกอบการภายนอกนำสินค้ามาจำหน่ายกัน

จากการประเมินของคณะเศรษฐศาสตร์ คาดว่า เกษตรแฟร์ 2566 จะมีผู้เข้าชมงานตลอด 9 วัน กว่า 1 ล้านคน และสร้างเม็ดเงินสะพัดถึง 5 พันล้านบาท ทั้งจากทางตรง คือ การค้าขาย และทางอ้อมจากระบบขนส่ง รวมถึงสิ่งสนับสนุนรอบพื้นที่ ซึ่งเป็นการกระจายรายได้สู่ประชาชนและชุมชนโดยตรง

“เราอยากจะให้งานเกษตรแฟร์ เป็นงานระดับนานาชาติ เพื่อสร้างความโดดเด่นของประเทศไทยในแง่ของการเกษตร อาหาร และเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว”

เกษตรแฟร์ที่ปรับตัวไปตามยุคสมัย

เกษตรแฟร์ในปัจจุบันดูจะแตกต่างจากยุคเริ่มแรกพอสมควร แม้จะยังคงการนำเสนอนวัตกรรมทางการเกษตรไว้ แต่ผู้คนส่วนใหญ่เลือกที่จะมาเที่ยวงานนี้ในเหตุผลที่ต่างกันออกไป โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ที่เกษตรแฟร์ดูจะเป็นอีกคอมมิวนิตี้หนึ่งในการพบปะสังสรรค์ ซึ่งไม่แพ้งานลอยกระทงของเกษตรเลยที่ผู้คนพากันมาอย่างแน่นขนัด

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สิทธารถ ศรีโคตร รองหัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และในฐานะนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงการเปลี่ยนผ่านของงานเกษตรแฟร์จากอดีตกับคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันว่า หลายคนอาจลืมไปแล้วหรือไม่เคยรู้เลยด้วยซ้ำว่า เกษตรแฟร์ คืองานที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบการก่อตั้งมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2486 งานจึงจัดขึ้นในช่วงนี้ของทุกปี

ที่ตั้งของมหาวิทยาลัยเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งต่อการจัดงานเกษตรแฟร์ เพราะสามารถเข้าถึงได้สะดวกด้วยรถไฟฟ้า 2 สาย ทั้งทางประตูพหลโยธินและวิภาวดีรังสิต ยิ่งโซนด้านหน้าตรงประตูพหลโยธินที่ลงมาจากรถไฟฟ้า BTS สายสีเขียวก็สามารถเข้างานได้เลย

มีคนจำนวนไม่น้อยที่เลือกเดินเฉพาะโซนนี้ ไม่ได้เข้าไปถึงตรงกลางมหาวิทยาลัย ส่วนมากจะเป็นคนวัยทำงานที่มาเลือกซื้ออาหารเย็นก่อนกลับบ้าน เนื่องจากไม่ได้มีเวลาและพลังงานมากพอที่จะเดินทั่วทั้งงาน ซึ่งก็เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของคนเมืองที่ใช้รถไฟฟ้า

รูปแบบของงานเกษตรแฟร์ในปัจจุบันสามารถดึงดูดนิสิต ประชาชน และคนรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี เดิมทีงานนี้เป็นการแสดงผลผลิตของคณะและมหาวิทยาลัยดังกล่าวไป แต่นั่นคือเมื่อสมัยที่มหาวิทยาลัยยังมีเพียงคณะที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรเท่านั้น

เกษตรแฟร์สมัยหลังและปีนี้ที่มีระยะทางกว่า 4.9 กิโลเมตร มีบูทที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร นวัตกรรม และต้นไม้ เพียงไม่กี่บูทเท่านั้น มีโซนใหม่เกิดขึ้นมามากมาย ทั้งโซนตลาดน้ำ โซนนิสิต ซึ่งล้วนตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ ทั้งไลฟ์สไตล์ ของซื้อของขาย ก็ถูกปรับให้เข้ากับสภาพสังคมปัจจุบันมากขึ้น

เฟสติวัลของคนรุ่นใหม่ อาหารและโซนนิสิตคือจุดดึงดูด

ดร.จงรัก กล่าวว่า สำหรับเกษตรแฟร์กับคนรุ่นใหม่ เด็ก ๆ เกิดความสนุกจากกิจกรรมที่หลากหลายในงาน ได้ออกนอกสถานที่ ออกนอกระบบออนไลน์ เพื่อมาพบเจอเพื่อนฝูงกับการทานอาหารที่ราคาไม่แพงนัก ทั้งอาหารที่อยู่ในเทรนด์อย่างอาหารเกาหลี อาหารญี่ปุ่น และอาหารไทยประยุกต์

โซนนิสิตที่ให้เด็ก ๆ มาออกร้าน นอกจากเป็นการฝึกฝนทักษะผู้ประกอบการแล้ว ยังช่วยเพิ่มบรรยากาศของเพื่อนฝูง ทั้งในและต่างมหาวิทยาลัยที่มาให้กำลังใจและช่วยซื้อกัน

ที่สำคัญคือการประชาสัมพันธ์ผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งส่งข่าวสารถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้โดยตรง ทำให้เด็ก ๆ มาเที่ยวกันเนื่องจากเป็นอีเวนต์ใหญ่ของประเทศที่จัดเพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น

ผศ.สิทธารถ เล่าความประทับใจเกี่ยวกับโซนนิสิตว่า เป็นข้อดีหลายประการ นิสิตได้เรียนรู้ทักษะและการวางแผนในแต่ละขั้นตอนของการทำธุรกิจ ซึ่งปลายทางที่สำคัญคือการหารายได้ระหว่างเรียน

“บรรดาอาจารย์มักพูดกันตลก ๆ ว่า อย่าได้เดินผ่านไปโซนนิสิต เนื่องจากเด็ก ๆ จะเร่เข้ามาขายของและอ้อนให้ซื้อกัน จะทำอาจารย์จนเอาได้ ซึ่งก็เป็นสีสันหนึ่งที่น่ารักในโซนนี้”

“ประชาชาติธุรกิจ” ลงสำรวจพื้นที่และสอบถามนิสิตในประเด็นดังกล่าวก็ให้ความเห็นที่ไปในทิศทางเดียวกันว่า สาเหตุหลักที่มา คือ อาหารต่าง ๆ มีให้เลือกมากมาย และความน่าสนใจอยู่ที่โซนนิสิต ซึ่งของราคาไม่แพง อีกทั้งยังมีการเรียกลูกค้าและคอนเซ็ปต์ในการตกแต่งร้านที่ดึงดูด

“เกษตรแฟร์ให้อารมณ์คล้าย ๆ งานวัด หรือเป็นเฟสติวัลประจำปี มีของให้เลือกหลากหลาย และไม่ได้จัดขึ้นบ่อย ๆ ในกรุงเทพมหานคร อีกทั้งยังเดินทางได้สะดวก และเป็นการรวมตัวกับกลุ่มเพื่อนด้วย”

สุดท้ายนี้หลายคนอาจมองว่า งานเกษตรแฟร์ไม่เหมือนเดิมและสูญเสียอัตลักษณ์ไปแล้ว ซึ่งก็ไม่ผิดนัก แต่การปรับเพื่อรองรับคนรุ่นใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องแย่ สินค้าเกษตร ผลงานทางวิชาการ หรือการแสดงนวัตกรรมยังคงมีอยู่ และถูกผลักดันเผยแพร่สู่สาธารณชนอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เกษตรแฟร์จึงถูกจัดขึ้นเพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย