วันศิลปินแห่งชาติ 2566 ร่วมเชิดชูผู้สร้างงานศิลปะของชาติ

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช
หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็น 1 ใน 4 ศิลปินแห่งชาติรุ่นแรก ปี 2528 (ภาพพลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช จากเฟซบุ๊ก สถาบันคึกฤทธิ์ Kukrit Institute)

วันศิลปินแห่งชาติ 2566 ร่วมเชิดชูศิลปินผู้สร้างงานศิลปะของชาติ พร้อมรำลึกถึง 4 ศิลปินแห่งชาติรุ่นแรกในประวัติศาสตร์

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 คณะรัฐมนตรีในสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้มีมติกำหนดให้วันที่ 24 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็นวันศิลปินแห่งชาติ เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2528 โดยนับเอาวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 พระปฐมบรมศิลปินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ทรงมีพระปรีชาสามารถด้านศิลปกรรมต่าง ๆ ทั้งด้านวรรณศิลป์ ทัศนศิลป์และศิลปะการแสดง

โดยคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติจะคัดเลือกผู้ที่มีผลงานศิลปะชั้นเยี่ยม มาประกาศยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติเป็นประจำทุกปี เพื่อรำลึกและเทิดพระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รวมทั้งเชิดชูศิลปินไทย ผู้เป็นทรัพยากรบุคคลสำคัญที่สร้างงานศิลปะให้กับประเทศชาติ

คุณสมบัติของศิลปินแห่งชาติ

  1. เป็นผู้มีสัญชาติไทยและยังมีชีวิตอยู่ในวันตัดสิน
  2. เป็นผู้ที่มีความสามารถ มีความเชี่ยวชาญ และมีผลงานดีเด่น เป็นที่ยอมรับของวงการศิลปินแขนงนั้น
  3. เป็นผู้สร้างสรรค์และพัฒนาศิลปะแขนงนั้นจนถึงปัจจุบัน
  4. เป็นผู้ผดุงและถ่ายทอดศิลปะแขนงนั้น
  5. เป็นผู้ปฏิบัติงานศิลปะแขนงนั้นอยู่ในปัจจุบัน
  6. เป็นผู้มีคุณธรรมและมีความรักในวิชาชีพของตน
  7. เป็นผู้มีผลงานที่ยังประโยชน์ต่อสังคมและมนุษยชาติ

สาขาศิลปินแห่งชาติ

สำหรับสาขาศิลปินแห่งชาติ สามารถจำแนกได้ 4 สาขา ดังนี้

1.สาขาทัศนศิลป์ ได้แก่ จิตรกรรม, ประติมากรรม, ภาพพิมพ์, ภาพถ่าย และสื่อประสม

2.สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม ได้แก่ งานออกแบบ หรืองานออกแบบและงานก่อสร้างอาคาร ซึ่งมีคุณค่าทางศิลปะและมีวิทยาการ แสดงภูมิปัญญาของผู้ออกแบบอย่างโดดเด่น

3.สาขาวรรณศิลป์ ได้แก่ บทประพันธ์ต่าง ๆ อาทิ กวีนิพนธ์ เรื่องสั้น นวนิยาย บันเทิงคดี ที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่อย่างกว้างขวาง

4.สาขาศิลปะการแสดง หมายถึง ศิลปะที่เกี่ยวข้องกับการแสดง ซึ่งเป็นได้ทั้งแบบดั้งเดิมหรือพัฒนาขึ้นใหม่ ได้แก่

1) การละคร ประกอบด้วย ละครรำ เช่น โนห์รา ชาตรี ฯลฯ ละครร้อง โขน ลิเก ระบำ (ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่) รำ (ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่) ฟ้อน (ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่) เซิ้ง (ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่) หุ่น เช่น หุ่นละครเล็ก หุ่นกระบอก หนังใหญ่ หนังตะลุง การเขียนบทร้องหรือบทละครรำ (เพื่อการแสดง)

2) การดนตรี แบ่งออกเป็นดนตรีไทย และดนตรีสากล ได้แก่

2.1) นักดนตรี ต้องเป็นนักดนตรีเด่นเฉพาะเครื่องมือ
2.2) นักร้อง ต้องมีความสามารถทั้งร้องส่งและร้องรับในการแสดงต่าง ๆ และสามารถแหล่ทำนองต่าง ๆ ได้ (แหล่เฉพาะแบบดั้งเดิม)
2.3) นักประพันธ์เพลง ต้องประพันธ์ ทั้งทางร้องและทางดนตรี
2.4) ผู้อำนวยเพลง ต้องเป็นผู้อำนวยเพลงดีเด่น
2.5) ผู้ผลิตเครื่องดนตรี

3) การแสดงพื้นบ้าน ประกอบด้วย หมอลำ ซอ ลำตัด เพลงฉ่อย เพลงอีแซว เพลงบอก สวดคฤหัสถ์ ฯลฯ

สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ

ผู้ที่ได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติจะได้รับสิทธิประโยชน์ตอบแทนจากกองทุนส่งเสริมวัฒนธรรม ดังนี้

1.ค่าตอบแทนรายเดือนตลอดระยะเวลาที่มีชีวิตอยู่ 25,000 บาทต่อเดือน

2.ค่ารักษาพยาบาลว่าด้วยเงินสวัสดิการ (เว้นแต่มีสิทธิเบิกจากหน่วยงานอื่นโดยให้เบิกจากหน่วยงานนั้นก่อน ถ้าเบิกจากหน่วยงานนั้นได้ต่ำกว่าสิทธิตามพระราชกฤษฎีกาให้มีสิทธิเบิกในส่วนที่ยังขาดอยู่ได้อีกภายในวงเงินไม่เกิน 100,000 บาทต่อปีงบประมาณ)

3.ค่าช่วยเหลือเมื่อประสบภัยเท่าที่เสียหายจริง ไม่เกิน 50,000 บาทต่อครั้ง

4.ค่าของเยี่ยมในยามเจ็บป่วยหรือโอกาสสำคัญเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 3,000 บาทต่อครั้ง

5.เงินช่วยเหลือเมื่อเสียชีวิตเพื่อร่วมบำเพ็ญกุศลศพ 20,000 บาท

6.เงินช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 150,000 บาท

นอกจากนี้ ยังได้รับเข็มศิลปินแห่งชาติ ซึ่งมีลักษณะเป็นเหรียญกลม ภายในจัดองค์ประกอบเป็นภาพดอกบัวเรียงกันสามดอก มีแพรแถบรองรับต่อเนื่องอ้อมรัดแถบริ้วธงชาติไทยตามแนวโค้งขอบเหรียญ

ภายในผ้าจารึกคำว่า “ศิลปินแห่งชาติ” และได้อัญเชิญพระมหาพิชัยมงกุฎเปล่งรัศมี ประดิษฐานไว้เหนือกลมโดยมีผ้าโบพันรอบคทาไม้ชัยพฤกษ์ หัวเม็ดทรงมัณฑ์เชื่อมประสานระหว่างกัน

โดยเข็มศิลปินแห่งชาติแสดงถึงความเป็นปราชญ์ในทางความรู้ ความสามารถของศิลปินที่ได้อุตสาหะ อุทิศตน สร้างสรรค์ผลงานในด้านศิลปะไว้มากมาย จนเป็นมรดกอันล้ำค่าทางวัฒนธรรมของชาติ

ศิลปินแห่งชาติรุ่นแรกของไทย

รายชื่อศิลปินแห่งชาติรุ่นแรก ปี 2528 มีทั้งหมด 4 ท่าน ดังนี้

1.นายเฟื้อ หริพิทักษ์
นายเฟื้อ หริพิทักษ์ ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ เป็นอาจารย์สอนศิลปะรุ่นแรกของมหาวิทยาลัยศิลปากร และเป็นประธานโครงการลอกจิตกรรมฝาผนัง อุโบสถวัดประดู่ทรงธรรม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

นายเฟื้อเป็นผู้ช่ำชองจิตรกรรมไทยอย่างลึกซึ้ง อีกทั้งยังค้นหาแนวทางสร้างสรรค์ผลงานให้เหมาะกับการแสดงออกด้านจิตรกรรมที่มีลักษณะเฉพาะในการถ่ายทอดสภาพแวดล้อม บรรยากาศ แสง-เงา ประกอบกับความคิดคำนึงเรื่องสีสันที่เป็นลักษณะตามสายสกุลศิลปะยุโรป (อิตาลี) ใช้การสะบัดฝีแปรงที่รวดเร็ว จึงได้รับยกย่องเป็น “ครูใหญ่ในวงการศิลปะ” สร้างสรรค์ผลงานด้านจิตกรรมไว้มากมายจนเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง

2.นายมนตรี ตราโมท
นายมนตรี ตราโมท ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง จบการศึกษาระดับมัธยมตอนปลายที่โรงเรียนพรานหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ และเข้าศึกษาต่อที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ต่อมาได้รับพระราชทานปริญญาอักษรศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ปริญญาศิลปะศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

ต่อมา นายมนตรี รับราชการที่กรมพิณพาทย์หลวง กรมมหรสพ สมัยรัชกาลที่ 6 เกษียณอายุราชการในตำแหน่งศิลปินพิเศษ หัวหน้าแผนกดุริยางค์ไทย กรมศิลปากร หลังจากนั้นเข้าดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญดนตรีไทย กรมศิลปากรจนถึงแก่กรรม

นายมนตรีเป็นอัจฉริยศิลปินที่มีความรู้ความสามารถด้านดนตรี ทั้งด้านดุริยางค์ วรรณคดี ดนตรีปี่พาทย์ โดยเฉพาะระนาดทุ้ม ที่สำคัญคือเป็นผู้ถวายการครอบประสิทธิ์ประสาทวิชาดนตรีไทย และถวายความรู้ด้านดนตรีไทยแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

มีผลงานประพันธ์ไทยกว่า 200 เพลง เช่น เพลงโสมส่องแสง เพลงเถา เพลงม่านมงคล เพลงวันชาติ เพลงงามแสงเดือน นอกจากนี้ยังความรู้ด้านโน้ตสากลและดนตรีสากลอีกด้วย

นอกจากนี้ ยังมีผลงานการแต่งบทกวีนิพนธ์เรื่องสั้นเรื่องยาว บทโทรทัศน์ บทละคร แต่งตำราดุริยางคศิลป์ไทย การละเล่นของไทย ประวัติศาสตร์ดนตรีไทย การละครไทย ในการด้านศึกษายังสร้างหลักสูตรสาขาดนตรีและนาฏศิลป์ไทยให้แก่โรงเรียนนาฏศิลป์

3.ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี
ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง โดยหลังจากสำเร็จหลักสูตรการศึกษาวิชาสามัญจากโรงเรียนในวังสวนกุหลาบ เข้ารับราชการที่กรมศิลปากร เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีไทย ผู้อำนวยการฝึกซ้อมการแสดงนาฏศิลป์ไทย และเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับนาฏศิลป์ไทย

ท่านผู้หญิงแผ้วเชี่ยวชาญการฟ้อนรำ สามารถคิดค้นประดิษฐ์ลีลาท่ารำให้เหมาะสมกับยุคสมัย ผลงานที่โด่ดเด่น ได้แก่ การคิดค้นประดิษฐ์ท่ารำสุโขทัย ท่ารำที่ปรับปรุงมาจากการแสดงละครตอนหนึ่งในเรื่องอิเหนา นอกจากนี้ ยังมีผลงานการประพันธ์บทสำหรับแสดงทั้งโขนและละคร

4.พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช
พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ จบการศึกษาปริญญาตรีเกียรตินิยม สาขาปรัชญาการเมือง และเศรษฐศาสตร์ และจบการศึกษาระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ

ต่อมาเข้ารับราชการที่กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง ผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาลำปาง และเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี (2518-2519)

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ มีความรู้ความสามารถในการใช้ภาษาไทย ความรู้ด้านศิลปะ วรรณคดี วัฒนธรรม รวมทั้งนำเสนอปรัชญาทางศาสนาและการเมืองของตะวันออกและตะวันตกมาประกอบการเขียน มีผลงานที่โดดเด่น เช่น ไผ่แดง สี่แผ่นดิน บันเทิงเริงรมย์ สงครามเย็น คนรักหมา ฯลฯ