13 มีนาคม วันช้างไทย ถึง ‘ไพลิน’ ภาพสะท้อนช้างในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

ช้าง
ภาพจาก มูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่าประเทศไทย

เปิดที่มา วันช้างไทย 13 มีนาคม ถึง ‘ไพลิน’ ช้างที่พิการเพราะแบกนักท่องเที่ยว สู่การรณรงค์ไม่สนับสนุนความบันเทิงจากสัตว์

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ระบุว่า ด้วยความมุ่งหมายให้ประชาชนไทยหันมาสนใจ รักช้าง หวงแหนช้าง และให้ความสำคัญต่อการช่วยเหลืออนุรักษ์ช้างมากขึ้น คณะอนุกรรมการประสานงานการอนุรักษ์ช้างไทย ภายใต้คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จึงเล็งเห็นถึงการสถาปนาวันช้างไทยขึ้นในปี 2541

จากการพิจารณาหาวันที่เหมาะสม ครั้งแรกได้เลือกวันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทำยุทธหัตถีมีชัยเหนือพระมหาอุปราชา แต่วันดังกล่าวถูกใช้เป็นวันกองทัพไทยแล้ว 

การพิจารณาครั้งใหม่เห็นวันที่ 13 มีนาคม มีความเหมาะสม เนื่องจากเป็นวันที่คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติคัดเลือกสัตว์ประจำชาติ และมีมติให้ช้างเผือกเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย 

คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2541 เห็นชอบให้ วันที่ 13 มีนาคม ของทุกปี เป็น “วันช้างไทย” และได้ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2541 

การมีวันช้างไทยจึงถือเป็นการยกย่องและให้ความสำคัญกับสัตว์ชนิดนี้อีกครั้ง นอกเหนือจากเกียรติที่ช้างเคยได้รับในอดีต ไม่ว่าจะในฐานะช้างเผือกบนธงชาติ สัญลักษณ์ของประเทศ หรือสัตว์คู่พระบารมีของพระมหากษัตริย์

แม้จะมีการสถาปนาวันช้างไทยขึ้นตั้งแต่ปี 2541 แต่ในปัจจุบันปัญหาและสภาพความเป็นอยู่ของช้างเลี้ยงรวมถึงช้างป่ายังคงปรากฏให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง

ช้าง
ภาพจาก มูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่าประเทศไทย

ไพลิน ภาพสะท้อนช้างในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

มูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่าประเทศไทย (Wildlife Friends Foundation Thailand) เผยภาพและบทความเกี่ยวกับร่างกายของช้างที่ได้รับความเสียหายจากการแบกนักท่องเที่ยวมาเป็นระยะเวลานาน 

“ไพลิน” เป็นภาพสะท้อนของช้างที่ทำหน้าที่แบกนักท่องเที่ยวมานานกว่า 25 ปี ในอุตสาหกรรมการเดินป่าและความบันเทิงเกี่ยวกับสัตว์ป่า โดยช้างเพศเมียเชือกนี้เคยถูกบังคับให้แบกนักท่องเที่ยวสูงสุดถึง 6 คนต่อครั้ง

กระดูกสันหลังของไพลินที่ควรจะโค้งมนและยกขึ้นตามธรรมชาตินั้นยุบและจมลงไปจากงานที่ทำในช่วงเวลาที่ผ่านมา ซึ่งความผิดปกติทางร่างกายเหล่านี้พบได้ทั่วไปในช้างที่ใช้ขี่ท่องเที่ยว

ช้างที่ทำงานในลักษณะนี้จะใช้เวลาทั้งวันแบกน้ำหนักของควาญช้าง กลุ่มนักท่องเที่ยว และสัปคับ (ที่นั่งบนหลังช้าง) ซึ่งมีน้ำหนักมหาศาล แรงกดบนร่างกายอย่างต่อเนื่องจะทำให้เนื้อเยื่อและกระดูกบนหลังช้างเสื่อมลง ทำให้กระดูกสันหลังเสียหายอย่างถาวร แม้เวลาจะผ่านไปแผ่นหลังของ ไพลิน ก็ยังคงมีรอยแผลเป็นจากการกดทับที่จุดเดิม ๆ อยู่ 

“ทอม เทย์เลอร์” ผู้อำนวยการโครงการของ WFFT กล่าวว่า แม้ช้างจะเป็นสัตว์ใหญ่และขึ้นชื่อเรื่องพละกำลัง แต่หลังของพวกมันไม่ได้ถูกออกแบบมาให้รับน้ำหนัก เนื่องจากกระดูกสันหลังของพวกมันยืดสูงขึ้น การกดทับที่กระดูกสันหลังอย่างต่อเนื่องจากนักท่องเที่ยวอาจส่งผลให้ร่างกายเสียหายถาวร ซึ่งไพลินเป็นภาพสะท้อนได้อย่างดี

ตอนนี้ ไพลิน ในวัย 71 ปี และช้างที่ถูกช่วยเหลืออีก 22 เชือก ได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในพื้นที่ธรรมชาติของมูลนิธิฯ ซึ่งส่วนใหญ่เคยประสบกับการถูกทารุณกรรมมานานหลายทศวรรษ แม้ว่าทุกคนจะไม่มีวันเข้าใจความเจ็บปวดที่สัตว์เหล่านี้ต้องเผชิญในอดีต แต่อย่างน้อยตอนนี้พวกมันก็สามารถใช้ชีวิตที่เหลืออยู่อย่างสงบสุข โดยปราศจากการล่ามโซ่ และสามารถเดินไปไหนมาไหนได้อย่างอิสระตามพฤติกรรมทางธรรมชาติของมัน

ช้าง
ภาพจาก pixabay

ช้างป่าในไทย จำนวนเพิ่ม ถิ่นอาศัยลด

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร เผยว่า ช้างเป็นสิ่งมีชีวิตที่เป็นเป้าหมายหลักในการอนุรักษ์ หากอนุรักษ์ช้างได้ สัตว์ชนิดอื่น ๆ ก็จะได้รับประโยชน์ไปด้วยเนื่องจากต้องพึ่งพาสัตว์ป่าชนิดนี้ เพราะช้างถือเป็นร่มเงาในป่าแก่สิ่งมีชีวิตอื่น

แม้จะพบว่าช้างป่าในประเทศไทยมีประชากรเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ตรงกันข้ามกับพื้นที่ที่อยู่อาศัยที่ลดลงจากการทำลายป่า การขยายตัวของชุมชน ตลอดจนการสร้างเขื่อน นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าในพื้นที่ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องได้รับการแก้ไข โดยปัจจุบันช้างป่าในประเทศไทยมีจำนวนอยู่ที่ 3,126 ถึง 3,341 ตัว