วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก 2566 เปิดรายชื่อสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์

วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก
ภาพจาก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก 2566 เปิดรายชื่อสัตว์ป่าที่อาจจะสูญพันธุ์ พร้อมร่วมกันอนุรักษ์และต่อต้านการกระทำที่ผิดกฎหมาย

วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก” (World Wildlife Day) เกิดขึ้นจากที่ประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือ CITES ครั้งที่ 16 เมื่อวันที่ 3-14 มีนาคม 2556 ที่กรุงเทพมหานคร ที่ประชุมได้มีมติที่ Conf. 16.1 เห็นชอบข้อเสนอของประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพ ให้วันที่ 3 มีนาคม ของทุกปีเป็น วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก ซึ่งตรงกับวาระครบรอบ 40 ปี วันลงนามรับรองอนุสัญญา CITES ที่กรุงวอชิงตัน ดี ซี สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2516 พอดี

วันสำคัญดังกล่าวมีขึ้นเพื่อความจำเป็นเร่งด่วนในการต่อสู้กับอาชญากรรมด้านสัตว์ป่าและพืชป่าที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม ให้สาธารณชนได้ตระหนักถึงคุณค่าตลอดจนเฉลิมฉลองในความสวยงามและความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์ป่าและพืชป่า

ไม่เช่นนั้นแล้ว การสูญพันธุ์และระบบนิเวศที่ถูกทำลายลงอย่างต่อเนื่องจะส่งผลกระทบอันเลวร้ายกลับมาสู่มนุษยชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากความหลากหลายทางชีวภาพจำเป็นอย่างยิ่งกับการผลิตอาหาร เชื้อเพลิง ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม และที่อยู่อาศัย

ถัดมา วันที่ 20 ธันวาคม 2556  ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 68 ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ได้มีมติที่ A/RES/68/205 อย่างเป็นทางการ ให้วันที่ 3 มีนาคม ของทุกปี เป็น “วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลกภายใต้องค์การสหประชาชาติ” (United Nations World Wildlife Day) พร้อมเชิญชวนให้รัฐสมาชิกและองค์กรที่เกี่ยวข้องร่วมจัดกิจกรรมภายใต้แนวคิดหลักที่จะถูกคิดขึ้นใหม่ทุกปีหลังจากนั้น

สำหรับประเทศไทย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในฐานะหน่วยงานกลางระดับประเทศของอนุสัญญา CITES ก็ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามมติดังกล่าว โดยจัดงาน วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลกขึ้น เป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 2557

วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก
ภาพจาก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

แนวคิดหลักปี 2566

ในปี 2566 ตรงกับวาระครบรอบ 50 ปี ของการรับรองอนุสัญญา CITES พอดี แนวคิดหลักในการรณรงค์ วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก จึงได้แก่ “Partnerships for Wildlife Conservation” เพื่อมุ่งเน้นถึงความร่วมมือของหน่วยงานหลายภาคส่วน ทั้งรัฐ เอกชน และองค์กรต่าง ๆ ที่ร่วมกันขับเคลื่อนและปฏิบัติตาม CITES  ตลอดมา

เชื่อมโยงทุกภาคส่วนด้วยจุดหมายเดียวกันรวมทั้งเปิดโอกาสให้คนที่อยากสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกใบนี้ ได้มีส่วนร่วม ด้วยการทำให้ชนิดพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์ยังคงอยู่ต่อไป ผ่านการอนุรักษ์ ใช้ประโยชน์จากสัตว์ป่าและพืชป่าอย่างยั่งยืน รวมถึงต่อต้านการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าที่ผิดกฎหมาย ตลาดจนพยายามหยุดการลดลงของประชากรสัตว์ป่าและพืชป่า

กระซู่-แรดสุมาตรา
ภาพจาก มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

8 สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ สะท้อนธรรมชาติวิกฤต

บัญชีแดงไอยูซีเอ็น (IUCN หรือ International Union for Conservation of Nature Red List of Threatened Species) สถาบันหลักที่มีอำนาจในการระบุฐานะสถานภาพต่าง ๆ ของสปีชีส์พืชและสัตว์ทั่วโลก ระบุว่า สัตว์ป่าและพืชป่ามากกว่า 8,400 สายพันธุ์ อยู่ในสถานะกำลังใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง และอีกกว่า 30,000 สายพันธุ์ กำลังใกล้สูญพันธุ์หรือมีความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ ทำให้อาจมีพืชและสัตว์ที่กำลังถูกคุกคามจากการสูญพันธุ์มากกว่า 1 ล้านชนิดพันธุ์

BBC Thai ระบุว่า มีการประกาศจะคุ้มครองผืนดิน พื้นที่ชายฝั่งทะเล และแหล่งน้ำจำนวน 1 ใน 3 ของทั้งโลกให้ได้ภายในสิ้นทศวรรษนี้ จากการประชุมว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของสหประชาชาติ (UN Biodiversity Conference หรือ COP15) เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2565 ที่ผ่านมา สะท้อนถึงความเสื่อมโทรมของธรรมชาติและมีสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในขั้นวิกฤตได้เป็นอย่างดี ขนาดที่ว่าบางชนิดมีจำนวนไม่ถึง 20 ตัวในธรรมชาติด้วยซ้ำ

วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก
ภาพจาก WWF

“กอริลลาครอสริเวอร์” เคยเชื่อกันว่ามันสูญพันธุ์ไปแล้วในธรรมชาติก่อนจะปรากฎให้พบเห็นอีกครั้ง ปัจจุบันลิงชนิดนี้มีประชากรอยู่เพียง 300 ตัวเท่านั้นและกระจัดกระจายกันเป็นกลุ่ม โดยอาศัยอยู่บนภูเขาสูงของไนจีเรียและแคเมอรูน ซึ่งถิ่นที่อยู่กำลังถูกคุกคามอย่างหนัก

“หมาป่าแดง” เดิมทีสุนัขพื้นเมืองแห่งทวีปอเมริกาเหนือชนิดนี้ถูกจัดให้สูญพันธุ์ไปแล้วในธรรมชาติตั้งแต่ปี 1980 แต่ในปี 2011 พวกมันกลับมาเพิ่มจำนวนถึง 130 ตัว จากโครงการของนักอนุรักษ์ที่เพาะขยายพันธุ์หมาป่าแดงเลี้ยง คืนสู่ธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันพวกมันมีจำนวนเหลือเพียง 20 ตัวในรัฐนอร์ทแคโรไลนาเท่านั้น เนื่องจากการพัฒนาเขตเมือง รวมทั้งเจ้าของที่ดินและเกษตรกรที่ยิงพวกมันเพื่อคุ้มครองปศุสัตว์ของตนเอง

วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก
ภาพจาก pixabay

“เสือดาวอามูร์” ได้รับการประเมินจาก IUCN ว่ามีประชากรเหลืออยู่ประมาณ 85 ตัวเท่านั้น เนื่องจากประชากรลดลงอย่างมากตั้งแต่ทศวรรษ 1970 จนกระทั่งถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มสัตว์ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งนับตั้งแต่ปี 1996 เนื่องจากถิ่นอาศัยในตะวันออกไกลของรัสเซีย จีน และคาบสมุทรเกาหลี ลดลง

“แรดสุมาตรา” ได้รับการประเมินว่าเหลืออยู่ไม่ถึง 80 ตัว แม้จำนวนจะมากกว่าแรดชวา แต่จำนวนไม่ได้เป็นข้อบ่งชี้ถึงการเสี่ยงสูญพันธุ์เสมอไป เนื่องจากการสูญเสียที่อยู่อาศัยและประชากรที่อยู่กันกระจัดกระจาย ทำให้ตัวผู้และตัวเมียพบกันได้ยาก เมื่อตัวเมียไม่ได้รับการผสมพันธุ์เป็นเวลานาน มดลูกและรังไข่ก็จะมีปัญหาในที่สุด

“โลมาวากีตา” ถิ่นอาศัยอยู่ที่อ่าวแคลิฟอร์เนียในเม็กซิโก พวกมันถูกคุกคามจากการทำประมงผิดกฎหมาย และถูกล่าเพราะความต้อวการเอากระเพาไปทำเป็นยาแผนโบราณของจีน ส่งผลให้ปัจจุบันมีเหลือเพียง 10 ตัวเท่านั้น หลังจาก 5 ปีก่อน ที่พบอยู่เพียง 30 ตัว แม้จะมีการพยายามผสมพันธ์ปลาชนิดนี้แต่ก็ยังล้มเหลว

วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก
ภาพจาก WWF

“ซาวลา” หรือ วัวหวูกวาง สัตว์ชนิดนี้ได้รับฉายาว่าเป็น ยูนิคอร์นแห่งเอเชีย ถูกพบครั้งแรกในช่วงทศวรรษ 1990 แต่หลังจากนั้นร่วม 30 ปีแล้ว มีการพบเห็นพวกมันอีกเพียง 4 ครั้งเท่านั้น ยิ่งที่อยู่อาศัยในบริเวณป่าของเวียดนามและลาวที่มีการล่าสัตว์ผิดกฎหมายจำนวนมาก ทำให้คาดว่าพวกมันอาจสูญพันธุ์ไปแล้ว

“แมลงวันดอกไม้ยุโรป” การทำเกษตรกรรมในยุโรปทำให้แมลงวันดอกไม้มีจำนวนลดลง โดย 40% ของสายพันธุ์ต่าง ๆ เสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ และมีถึง 5 สายพันธุ์ที่อยู่ในระดับใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง

แมลงวันดอกไม้ยุโรปรวมถึงแมลงต่าง ๆ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบนิเวศในการช่วยผสมเกษรและขยายพันธุ์พืช IUCN จึงต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้ภาคเกษตรกรรมเกิดการเปลี่ยนแปลงและไม่ทำให้แมลงวันดอกไม้ยุโรปสูญพันธุ์

“นกสเตรสแมนน์บริสเติบฟรอนต์” สัตว์พื้นถิ่นในป่าแอตแลนติกที่บราซิล นกชนิดนี้ถูกคาดการณ์ว่าเหลืออยู่เพียง 10-15 ตัว ในปี 2011 แต่ไฟไหม่ใหญ่ในถิ่นที่อยู่อาศัยของพวกมันทางตะวันออกเฉียงเหนือของบราซิล ทำให้ในปี 2015 มีการพบเห็นนกชนิดนี้เพียงตัวเดียวเท่านั้น และไม่มีใครพบเห็นมันอีกเลยนับตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา