Save the Tigers 10 ปี บี.กริม ปกป้องเสือโคร่งให้ผืนป่า

เสือโคร่ง

กล่าวกันว่า เมื่อต้นปี 2566 ผ่านมา ภาพของเสือโคร่งเยื้องย่างอวดโฉมบริเวณสันเขื่อนศรีนครินทร์ อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี จากกล้องวงจรปิดได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้คนจำนวนมาก ส่วนหนึ่งเพราะอยู่ในพื้นที่ให้บริการนักท่องเที่ยว จึงมีการปิดทางขึ้นลงสันเขื่อนป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น

ในทางตรงกันข้าม การปรากฏตัวของเสือโคร่งกลับเป็นสัญญาณดี เพราะบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าที่ครอบคลุมพื้นที่บริเวณป่ารอยต่อระหว่างอุทยานแห่งชาติเอราวัณ, อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จังหวัดกาญจนบุรี

ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปเมื่อกว่า 100 ปีผ่านมา ประชากรเสือโคร่งทั่วโลกมีจำนวนกว่า 100,000 ตัว แต่ปัจจุบันลดลงกว่าร้อยละ 95 เหลืออยู่เพียงไม่ถึง 3,200 ตัว โดยพบในป่าธรรมชาติของ 13 ประเทศเท่านั้น สูญพันธุ์ไปแล้ว 3 สายพันธุ์ ได้แก่ เสือบาหลี, เสือชวา และเสือแคสเปียน

แม้แต่ประเทศอินเดีย ซึ่งมีประชากรเสือมากที่สุดในโลกยังยอมรับว่าอาจมีประชากรเสือเหลือไม่ถึง 14,000 ตัว

ดังนั้น 13 ประเทศที่ยังพบเสืออยู่ในป่าธรรมชาติ รวมทั้งประเทศไทย จึงมีการทำปฏิญญาร่วมกันในการอนุรักษ์เสือโคร่ง ทั้งยังมีแผนฟื้นฟูตามศักยภาพของพื้นที่ที่รองรับ โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มจำนวนประชากรเสือมากขึ้นเป็น 2 เท่าตัว

ดร.ฮาราลด์ ลิงค์
ดร.ฮาราลด์ ลิงค์

ผลเช่นนี้ จึงทำให้ “ดร.ฮาราลด์ ลิงค์” ประธาน บี.กริม เข้ามาทำโครงการอนุรักษ์ และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง (Save the Tigers) โดยเขาบอกว่า บี.กริม เป็นบริษัทเอกชนรายแรก และรายเดียวในประเทศไทย ที่ให้ความสำคัญ และสนับสนุนการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งให้กับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ภายใต้หลักธรรมาภิบาล ตลอดจนการบริหารห่วงโซ่คุณค่า (value chain) อย่างรับผิดชอบ

“โดยคำนึงถึงผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นไปตามวิสัยทัศน์ในการสร้างพลังให้กับสังคมโลกด้วยความโอบอ้อมอารี (empowering the world compassionately) ทั้งยังมุ่งมั่นฟื้นฟูธรรมชาติของผืนป่าตะวันตกของประเทศไทยต่อเนื่องยาวนานกว่า 10 ปีที่ผ่านมา

นอกจากนั้น บี.กริม ยังสนับสนุนการเพิ่มจำนวนประชากรเสือโคร่ง พร้อมปกป้องถิ่นที่อยู่อาศัยของเสือโคร่งจากการรุกล้ำและลักลอบล่าสัตว์ และยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูเสือโคร่งอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน”

นอกจากสนับสนุนระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (smart patrol system) ยังมีการเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัย จนนำไปสู่การวางแผนการปฏิบัติงานลาดตระเวนอย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพ

ที่สำคัญ บี.กริม ยังสนับสนุนการปรับปรุง ศูนย์ควบคุมมาตรฐานการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (SMART Patrol Monitoring Center) และอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานพิทักษ์ป่า อาทิ กล้องดักถ่ายภาพ (camera trap) ระบบเสารับส่งสัญญาณวิทยุ (radio tower and portable 2-way radio) เพื่อเชื่อมโยงระบบป้องกันรักษาป่า ฯลฯ

“ที่สำคัญ เรามองเห็นถึงความยากลำบากของการทำหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่าของเจ้าหน้าที่ทุกคน ซึ่งโดยเฉลี่ยเจ้าหน้าที่หนึ่งคนต้องดูแลพื้นที่ป่าคนละ 1 หมื่นไร่ จึงมีการจัดทำประกันสุขภาพให้แก่เจ้าหน้าที่ทุกคน ตลอดจนสนับสนุนทุนการศึกษาแก่บุตรหลาน เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงาน

นอกจากนี้ บี.กริม ยังสนับสนุนไปถึงต้นธาร ด้วยการสร้างศูนย์การเรียนรู้ ส.เสือวิทยา ณ โรงเรียนอนุบาลคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร เพื่อให้นักเรียนและชุมชนในท้องถิ่นเรียนรู้เกี่ยวกับเสือ และสัตว์ป่าในพื้นที่ของตนและประเทศไทย รวมถึงสร้างจิตสำนึกให้เกิดการอนุรักษ์ธรรมชาติ เพื่อรักษาฝืนป่าและระบบนิเวศอย่างยั่งยืน”

ทั้งนั้นเพราะภาพจำของ “เสือโคร่ง” อาจดูไม่น่าวางใจในความรู้สึกของคนทั่วไป แต่เมื่อพิจารณาถึงบริบทการมีอยู่ของเสือโคร่งในฐานะสมาชิกร่วมโลกใบนี้ จึงไม่อาจปฏิเสธได้ถึงภาวะวิกฤตของประชากรเสือโคร่งที่ลดน้อยลง อันส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและโลกของเรา เพราะเสือโคร่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562

ขณะที่องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature) หรือ (IUCN) จัดสถานะให้อยู่ในประเภทสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ สาเหตุหลักมาจากการบุกรุกพื้นที่ป่า การลักลอบล่า และค้าสัตว์ป่า ฯลฯ รวมไปถึงความเชื่อผิด ๆ ว่าชิ้นส่วนอวัยวะของเสือโคร่งเป็นยาบำรุงกำลังชั้นเยี่ยม

สำหรับประเทศไทย ซึ่งเป็นถิ่นอาศัยของเสือมากเป็นอันดับ 2 ของโลก ทั้งยังเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีจำนวนเสือโคร่งในธรรมชาติ โดยกระจายตัวอยู่ในป่าอนุรักษ์ที่สำคัญ ๆ เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร, อุทยานแห่งชาติทับลาน และอุทยานแห่งชาติปางสีดา ซึ่งผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่เท่านั้น

ล่าสุด มีรายงานจำนวนประชากรเสือในธรรมชาติ 177 ตัว เพิ่มขึ้นจากปี 2563 จำนวน 17 ตัว ด้วยแผนปฏิบัติการสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกันของหน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการใช้องค์ความรู้ทางวิชาการ ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น การใช้ระบบการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ smart patrol ในทุกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ การจัดตั้งศูนย์ควบคุมมาตรฐานการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ จนทำให้ผืนป่าของไทยมีจำนวนประชากรเสือโคร่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ฯลฯ

เนื่องจากเสือโคร่งเป็นสัตว์ “ผู้ล่า” ที่อยู่สูงสุดของห่วงโซ่อาหาร มีหน้าที่ควบคุมประชากรสัตว์กินพืชในป่า ได้แก่ เก้ง กวาง หมูป่า และกระทิง ไม่ให้มีจำนวนมากเกินไป ดังนั้น หากผืนป่าใดมีเสือโคร่งอาศัยอยู่ ผืนป่าแห่งนั้นย่อมมีสัตว์ที่เป็นอาหารของเสือโคร่งมาก เพราะเสือโคร่งจะช่วยทำให้ระบบนิเวศมีความสมดุล ทั้งยังนับเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าอย่างชัดเจนอีกด้วย

“ดร.ฮาราลด์ ลิงค์” กล่าวในช่วงสุดท้ายว่า…เพราะมีความโอบอ้อมอารี ธุรกิจจึงสามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติ และชุมชนได้ จนที่สุด จึงเกิดโครงการอนุรักษ์ และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง (Save the Tigers) ขึ้นมา