อาจารย์ ม.เกษตร แต่งชุดคอสเพลย์ สอนประวัติศาสตร์

ผู้เขียน : ชัชพงศ์ ชาวบ้านไร่
ช่างภาพ : สมจิตร์ ใจชื่น

อาจารย์บูม หรือ พี่บูม เป็นชื่อที่นิสิตใช้เรียก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สิทธารถ ศรีโคตร รองหัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ที่ชอบแต่งกายย้อนอดีต สู่แรงบันดาลใจเป็นอาจารย์แต่งชุดคอสเพลย์สอนประวัติศาสตร์ เหมือนตัวละครที่หลุดออกมาจากหนังสือ

ไม่อยากเลือก จุดเริ่มต้นแต่งคอสเพลย์สอนหนังสือ

“ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สิทธารถ ศรีโคตร” หรือ อาจารย์บูม เผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จุดเริ่มต้นการแต่งคอสเพลย์ คือ ความชอบ และจริง ๆ ก็ไม่เคยคิดมาก่อนว่าในชีวิตจะได้เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ชอบเช่นกัน คนทั่วไปมักมองว่าในฐานะครูอาจารย์ การแต่งคอสเพลย์อาจดูไม่เหมาะสม

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมไทย ที่มองว่าอาชีพนี้เป็นปูชนียบุคคล ดังนั้นการเป็นอาจารย์ทำให้ต้องละทิ้งการแต่งคอสเพลย์ด้วยหรือไม่ นี่คือสิ่งที่ชั่งใจในตอนแรก ซึ่งเราไม่อยากเลือก

การแต่งคอสเพลย์และการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยดูจะขัดแย้งกันในสังคมที่ประกอบสร้างกรอบนี้ขึ้นมา เราจึงพยายามผสมผสานสองอย่างนี้เข้าด้วยกัน ทำให้การแต่งกายของตนเองมีประโยชน์สำหรับการเรียนการสอน ไม่จำเป็นต้องทิ้งไป นำมันมาส่งเสริมและสร้างองค์ความรู้ให้นิสิตที่เราสอนน่าจะดีกว่า ดังนั้น เลยตัดสินใจว่า “เอาวะ ลองดู”

หากมั่นใจว่าสิ่งที่ทำไม่เบียดเบียนตัวเองและผู้อื่น ทั้งยังสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นด้วย ก็น่าจะทำต่อไป ดีกว่าที่จะทิ้งมันจนสูญเสียความเป็นตนเอง นี่คือสิ่งที่อาจารย์ผู้นี้ยึดมั่น

อาจารย์บูมเผยต่อว่า ไม่ได้อยากให้ใครมากราบไหว้ แน่นอนว่าสิ่งที่ทำไม่ถึงขั้นผิดศีลธรรมของสังคม แต่อาจถูกติเตียน ช่วงแรก ๆ ที่แต่งชุดคอสมาสอน ตนถูกปรามาสด้วยคำว่า ทำตัวไม่เหมาะสมกับครูบาอาจารย์ แต่งตัวส่งเสริมความรุนแรง จนถึงขั้นเป็นพวกทหารนิยม (militarism) เลยก็มี แม้เตรียมใจมาระดับหนึ่ง แต่ก็ฉุกคิดว่าควรทำอย่างไรต่อ

“เราคิดว่าเขาตัดสินหนังสือจากปกไปหน่อย มีเหตุผลมากมายที่คนคนหนึ่งจะแต่งตัวไม่เหมือนคนอื่น ในทางกลับกัน ทำไมพวกคุณถึงแต่งตัวเหมือน ๆ กัน ทำไมเราต้องถูกบังคับด้วยกรอบสังคม ทั้ง ๆ ที่การแต่งตัวเพื่อบอกว่าเราเป็นคนแบบไหนคือเรื่องปกติมากในสังคมอื่น สังคมนี้ค่อนข้างชื่นชมการทำอะไรที่ไม่แหกขนบ ซึ่งมันจารีตมาก ๆ”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สิทธารถ ศรีโคตร
ภาพจากเฟซบุ๊ก Sitthard Srikotr (สิทธารถ ศรีโคตร)

ผศ.สิทธารถมองมุมบวกว่า แรงเสียดทานตรงนี้เป็นโอกาสให้อธิบายว่าตนกำลังทำอะไรอยู่ อย่ารีบด่วนตัดสินใจ หากได้ฟังตนสอน ได้เรียนรู้กัน ก็จะรู้ถึงตัวตน ดังนั้น “การพิสูจน์ให้เห็นคือวิธีการรับมือ ก็เราเป็นแบบนี้ เป็นอย่างอื่นก็คงไม่ใช่สิทธารถ”

ต่อเมื่ออาจารย์ผู้นี้เริ่มมีชื่อเสียง ได้ออกสื่อ และผู้คนเริ่มรู้จัก สิ่งที่ทำจึงถูกยอมรับกลาย ๆ คนส่วนใหญ่ตลอดจนผู้บริหารก็เห็นว่า สิ่งที่ทำ ไม่ได้มีอะไรแย่ กลับกันยังสร้างสีสันให้คณะและมหาวิทยาลัยอีกด้วย

ผศ.สิทธารถ เริ่มเป็นอาจารย์ตั้งแต่ปี 2555 ขณะนั้นชุดคอสเพลย์และอุปกรณ์แต่งตัวหายากพอสมควร ไม่สามารถแต่งได้ทุกวันเหมือนปัจจุบันแม้จะอยากแต่ง แต่สมัยนั้นการแต่งแค่ชุดทหารญี่ปุ่นครึ่งท่อนก็ดูเก๋และดึงดูดสายตาแล้ว

ประวัติศาสตร์เดินออกมาจากหนังสือสู่หน้าชั้นเรียน

การแต่งคอสเพลย์ทำให้การเรียนการสอนไม่น่าเบื่อ ที่สำคัญชุดคอสยังทำหน้าที่เป็นสื่อการสอนในหลาย ๆ ครั้ง วิชาที่ได้ใช้มากที่สุด คือ การศึกษาประวัติศาสตร์จากภาพยนตร์ อาจารย์บูมก็จะแต่งกายเหมือนในภาพยนตร์ไปสอนนิสิต เช่น เรื่องไททานิค ทั้งหมวก นาฬิกา หรือเนกไท

ตลอดจนภาพยนตร์ที่ต้องใช้ชุดทหาร เครื่องแบบ ชุดเกราะ อาวุธ และเข็มตราในเรื่องมีความหมายว่าอย่างไร ก็สามารถถอดจากอกให้นิสิตดูได้เลย นอกจากนี้ยังมีวิชาเครื่องแต่งกายในประวัติศาสตร์โลกที่กำลังจะเปิดสอนในการปรับหลักสูตรครั้งต่อไป ซึ่งใช้ประโยชน์จากชุดคอสอย่างตรงจุด

เสื้อผ้าจึงไม่ใช่แค่การนุ่งห่มเพื่อปกปิดร่างกายหรือกันร้อนกันหนาวเท่านั้น แต่คือการสะท้อนวิถีชีวิต วิธีคิดทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และอะไรหลาย ๆ อย่าง “บางคนบอกว่าเหมือนเราเดินออกมาจากหนังสือประวัติศาสตร์ นั่นคือความประทับใจและการมีส่วนร่วมของผู้เรียนที่ผมเชื่อว่ามีประโยชน์มากกว่าการพร่ำบ่นอยู่บนกระดาน”

การแต่งชุดคอสสอนหนังสือยังเกิดประโยชน์โดยบังเอิญที่แม้แต่อาจารย์เองก็ไม่ได้ตั้งใจ ผศ.สิทธารถเผยว่า เคยมีนิสิตคนหนึ่งมาคุยด้วย เขาภูมิใจในตัวเรามาก เรางงว่าภูมิใจอะไร เขาตอบว่าอาจารย์เป็นไอดอลของเขา

อาจารย์กล้ายืนหยัดในสิ่งที่ตัวเองชอบได้ขนาดนี้ เขาจะเอาเราเป็นแบบอย่างในอนาคต ทั้ง ๆ ที่เราไม่ได้คิดว่า สิ่งที่ทำคือความกล้าหาญอะไร ก็แค่ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ แต่มันกลับเป็นแรงบันดาลใจให้นิสิตได้ นั่นคือความสุข

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สิทธารถ ศรีโคตร
ภาพจากเฟซบุ๊ก Sitthard Srikotr (สิทธารถ ศรีโคตร)

การเรียนการสอนประวัติศาสตร์เหมือนโลก 2 ใบ

เมื่อถามถึงการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ในปัจจุบันของประเทศไทย ผศ.สิทธารถกล่าวว่า เหมือน 2 โลก ใบแรกตั้งแต่ระดับประถมถึงมัธยม และอีกใบคือการศึกษาที่เหนือกว่านั้น กล่าวคือ การเรียนการสอนประวัติศาสตร์ในระดับประถมและมัธยม อยู่ในกรอบความเป็นรัฐชาติ ซึ่งก็ไม่แปลก ชาติรอบ ๆ บ้านเราก็เขียนแบบนี้

กลายเป็นว่าพอตนมาเป็นอาจารย์ ก่อนที่จะให้ความรู้และวิธีวิเคราะห์วิพากษ์ในเชิงประวัติศาสตร์ ต้องปรับพื้นความรู้เดิมให้นิสิตเยอะพอสมควร เนื่องจากสิ่งที่เรียนมานั้นไม่ใช่ และต้องบอกเหตุผลกับนิสิตด้วย จากนั้นจึงทยอยให้สิ่งใหม่ไปว่าที่ควรจะเป็น อาจารย์ย้ำคำว่า “ควรจะเป็น” นั้นมีอะไร อย่างไรบ้าง

วันนี้หมดยุคท่องรายชื่อบุคคลสำคัญ ท่องปี หรือบอกเด็กว่าประวัติศาสตร์เป็นอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว สิ่งที่ต้องบอกนิสิต คือ ประวัติศาสตร์สามารถเป็นไปได้กี่แบบในเรื่องนั้น ๆ และถูกประกอบสร้างมาด้วยหลักฐานอะไร ตลอดจนหลักฐานนั้นน่าเชื่อถือหรือไม่ อย่างไร

ส่วนนิสิตจะให้น้ำหนักกับสตอรี่แบบใดเป็นเรื่องของผู้เรียน อาจารย์มีหน้าที่เพียงบอกว่าการประกอบสร้างเรื่องราวในหัวข้อหนึ่งต้องผ่านอะไรมาบ้าง

“คุณอาจจะสร้างประวัติศาสตร์ในแบบของคุณก็ได้ แต่คุณต้องพร้อมจะอธิบายนะ ถ้าคนถาม คุณต้องบอกได้ว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ประวัติศาสตร์อยู่ที่การถกเถียง อธิบาย ไม่ใช่การฟันธง”

แม้จะไม่ค่อยชอบคำนี้ก็ตาม แต่ต้องกล่าวว่า แน่นอนเราเกิดไม่ทัน ดังนั้น ประวัติศาสตร์จึงไม่ได้ศึกษาความจริง แต่เรียนเรื่องการแสวงหาข้อเท็จจริง นั่นหมายถึง ข้อเท็จ และ ข้อจริง เพื่อพิสูจน์ว่าเรื่องราวหนึ่ง ๆ น่าเชื่อถือหรือไม่ เพราะเหตุใด สิ่งนี้คือแก่นสาร

สิ่งที่ต้องมีและผมให้นิสิตมาตลอด คือ วิธีคิด ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ แต่เป็นเรื่องรอบตัว เอาแค่สื่อและสิ่งที่เขาต้องเจอจากโลกโซเชียลทุกวันนี้ เขาจะมีภูมิคุ้มกันกับข้อมูลที่เสพ