เที่ยวญี่ปุ่นในมุมมองใหม่ไปกับ “Lovable Japan เมืองนี้ที่(คน)รัก”

ญี่ปุ่น
ผู้เขียน : ปนัดดา ฤทธิมัต

“ญี่ปุ่น” เป็นหนึ่งในประเทศที่ใครหลายคนใฝ่ฝันว่าจะต้องไปเยือนสักครั้งในชีวิต เนื่องจากมีสถานที่ท่องเที่ยวและวัฒนธรรมอันงดงาม อีกทั้งความมีระเบียบวินัยของผู้คนก็นับว่าเป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ดึงดูดนักเดินทางได้เป็นอย่างดี

“ประชาชาติธุรกิจ” พร้อมพาทุกคนตกหลุมรักดินแดนอาทิตย์อุทัยไปกับหนังสือ “Lovable Japan เมืองนี้ที่(คน)รัก” ที่จะพาคุณไปสัมผัสญี่ปุ่นในแง่มุมที่แตกต่างจากการแค่บอกเล่าที่มาและความงดงามของสถานที่ ผ่านการสัมภาษณ์ คุณโบ๊ท-ปริพนธ์ นำพบสันติ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้

หลังจาก “Livable Japan ใส่ใจไว้ในเมือง” หนังสือที่บอกเล่าประสบการณ์ที่ได้พบเจอสิ่งต่าง ๆ ในญี่ปุ่นในมุมมองของนักท่องเที่ยว ซึ่งเปิดตัวไปเมื่อช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้รับกระแสตอบรับดีเกินคาด คุณโบ๊ทจึงกลับมาอีกครั้งเพื่อนำเสนอญี่ปุ่นในมุมมองที่น่าสนใจใหม่ ๆ โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาเมือง ผ่านหนังสือ “Lovable Japan เมืองนี้ที่(คน)รัก”

โดยหนังสือเล่มนี้จะพาผู้อ่านไปรู้ให้กว้างขึ้นและมองให้ลึกลงไปอีกระดับว่า การที่ญี่ปุ่นจะเป็นเมืองที่ดีได้ย่อมต้องเข้าใจ “ผู้คน” เป็นสำคัญ การพัฒนาออกแบบและการวางรากฐาน หรือแม้กระทั่งการอนุรักษ์ไว้ซึ่งวัฒนธรรมดั้งเดิม จึงจำเป็นต้องเกิดความร่วมมือจากทุกฝ่าย

ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน หรือแม้กระทั่งคนตัวเล็กตัวน้อยอย่างภาคประชาชนเองก็ตาม การผสมผสานระหว่างความเข้าใจกับความร่วมมือ ทำให้เมืองในญี่ปุ่นกลายเป็นแหล่งรวมชีวิตที่มีชีวาของผู้คน จนกลายเป็นเมืองที่รักและน่าชื่นชมของคนทั่วไป

ทั้งนี้ หนังสือแบ่งออกเป็นทั้งหมด 8 บท แต่ละบทสามารถอ่านแยกเรื่องได้ หากแต่เมื่ออ่านแล้วจะสามารถเห็นภาพรวมของเนื้อหาว่าสามารถเชื่อมโยงกันได้อย่างลงตัว

“ตอนที่เขียนเล่มแรกเราคิดไว้อยู่เเล้วว่าจะต้องมีมากกว่าหนึ่งเล่ม เพราะไม่สามารถเล่าเรื่องเมืองให้จบได้ใน (หนังสือ) เล่มเดียว ซึ่งเล่มที่สองนี้เปรียบเสมือนองค์ประกอบที่มาช่วยเติมเต็ม ถ้าอ่านเล่มที่หนึ่งจบแล้วก็อาจจะอยากอ่านเล่มที่สองต่อ หรือถ้าใครเริ่มอ่านเล่มที่สองเลย เมื่ออ่านจบก็อาจจะอยากอ่านรายละเอียดในเล่มแรกด้วย”

ทำไมต้องเป็นญี่ปุ่น

คุณโบ๊ทเล่าว่า มีโอกาสได้ไปท่องเที่ยวที่ญี่ปุ่นครั้งแรกตอนอายุ 19 ปี แล้วได้สัมผัสประสบการณ์ที่ดี จึงรู้สึกชอบและประทับใจตั้งแต่นั้นมา หลังจากนั้นก็ได้เดินทางไปญี่ปุ่นอยู่เรื่อย ๆ ซึ่งเมื่อโตขึ้นก็เริ่มมีความสนใจเรื่องการพัฒนาเมือง

เมื่อย้อนกลับมามองประเทศไทย ก็พบความคอนทราสกันอย่างชัดเจน คือเราอยู่ในประเทศที่กำลังพัฒนา และพอเราได้เดินทางไปยังประเทศที่พัฒนาแล้ว เราจะเห็นว่าทุกอย่างแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ทำให้เราฉุกคิด และตั้งคำถามมากมายกับตัวเอง

ประกอบกับช่วงปี 2558 คุณโบ๊ทได้ทำเฟซบุ๊กแฟนเพจชื่อว่า JapanPerspective โดยในระยะแรกลักษณะคอนเทนต์ยังไม่ได้มีการเจาะจงเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง กระทั่งวันหนึ่งคุณโบ๊ทได้ทำคอนเทนต์เรื่อง ทำไมฟุตปาทในญี่ปุ่นจึงเดินได้อย่างสบายใจ ซึ่งคอนเทนต์นี้กลายเป็นไวรัลที่มีการแชร์มากถึงหลักหมื่น

ในตอนนั้นเองจึงได้รู้ว่ามีคนสนใจเรื่องการพัฒนาเมืองจำนวนมาก ทำให้คุณโบ๊ททำคอนเทนต์เกี่ยวกับการสร้างเมืองตั้งแต่นั้นมา โดยคุณโบ๊ทจะสืบค้นข้อมูลก่อนนำมาเผยแพร่เสมอ

ทำให้จากเดิมที่ชื่นชอบเรื่องการออกแบบเมืองอยู่แล้ว พอได้ศึกษาเรื่องนี้จนมีความรู้มากขึ้น เมื่อถึงจุดหนึ่งจึงเริ่มมาเขียนหนังสือ นอกจากนี้ เนื่องจากคุณโบ๊ทชอบอ่านหนังสือทั้งของไทยและต่างประเทศอยู่แล้ว ซึ่งการอ่านในแต่ละครั้งช่วยเปลี่ยนความคิดของเราได้ คุณโบ๊ทจึงค้นพบว่า “อิมแพ็กต์ที่สุดของการเขียนหนังสือสักเล่ม คือการมีอิทธิพลต่อความคิดของผู้อ่าน”

“กระแสตอบรับจากหนังสือเล่มแรกคือ ผู้อ่านขอบคุณเราที่เขียนถึงประเทศญี่ปุ่นในมุมของการสร้างเมือง เพราะปกติแล้วจะพบการเล่าเรื่องในมุมของการท่องเที่ยวเป็นส่วนมาก รวมถึงได้เปิดมุมมองใหม่ ๆ ที่ผู้อ่านบางคนไม่เคยรู้มาก่อน ทำให้ไปเที่ยวแล้วรู้สึกสนุกขึ้น หรือบางคนก็คิดว่าหากได้กลับไปญี่ปุ่นอีกครั้งก็จะมีมุมมองที่แตกต่างไปจากเดิม”

ความเหมือนและต่างของเมืองไทย-ญี่ปุ่น

คุณโบ๊ทยกตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายว่า ในส่วนของเมืองระหว่างไทยกับญี่ปุ่นจะมีตรอกซอกซอยแยกออกไปจากถนนเส้นหลักเหมือนกัน ซึ่งเมื่อเทียบกับนิวยอร์กแล้วจะพบว่า ผังเมืองมีลักษณะเป็นตารางหมากรุก 100% ไม่มีซอยแยกย่อยออกไป หรือร้านสะดวกซื้อในญี่ปุ่นกับไทยที่มีการเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง และมีแคแร็กเตอร์ใกล้เคียงกัน

ทั้งนี้ เข้าใจว่าอาจเพราะอยู่ในทวีปเอเชียเหมือนกัน ทำให้วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของผู้คนมีความคล้ายคลึงกัน ส่งผลให้มีบางอย่างที่ไทยกับญี่ปุ่นเป็นแบบเดียวกัน

ในขณะเดียวกัน ความแตกต่างระหว่างสองประเทศที่เราเห็นได้ชัดคือ ระเบียบวินัย ซึ่งญี่ปุ่นเป็นที่เลื่องลือในเรื่องนี้มาก ด้วยการถูกปลูกฝังอย่างจริงจัง และการบังคับใช้กฎเกณฑ์และกฎหมายอย่างเคร่งครัด จนทำให้ระเบียบวินัยกลายเป็น DNA รวมถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เมืองของเขาได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ ในหนังสือ Lovable Japan เมืองนี้ที่(คน)รัก ได้พูดถึงการกระจายอำนาจของภาครัฐไปยังเมืองต่าง ๆ ทำให้แม้ต่างจังหวัดในญี่ปุ่นจะยังเจริญไม่เท่าเมืองหลวงอย่างโตเกียว แต่หลาย ๆ อย่างก็ได้รับการพัฒนาเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนมีชีวิตดี ๆ ที่ลงตัว

เช่น มีรถโดยสารประจำทางที่ออกแบบตามหลัก universal design รองรับวีลแชร์ได้ แตกต่างจากไทยที่ความเจริญกระจุกอยู่แต่ในเมืองหลวงหรือบางเมืองเท่านั้น ยกตัวอย่างเดียวกันคือขนส่งสาธารณะ ที่ในต่างจังหวัดจะมีแค่รถโดยสารหรือรถสองแถวที่ให้บริการเป็นรอบ ๆ ไม่ได้วิ่งตลอดเหมือนในกรุงเทพฯ ซึ่งปัจจุบันเหลือน้อยลง หรือบางจังหวัดก็ไม่มีแล้ว

ความร่วมมือคือกุญแจสำคัญ

แน่นอนว่าทุกประเทศมีฝ่ายบริหารทำหน้าที่บริหารจัดการและพัฒนาประเทศ อย่างไรก็ตาม เมืองจะดีได้ก็ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคน ซึ่งในหนังสือคุณโบ๊ทได้กล่าวถึงการที่ประชาชนของญี่ปุ่นมีส่วนร่วมในการตัดสินใจว่าจะเปลี่ยนแปลงชุมชนของตัวเองได้อย่างไรบ้าง ไม่ได้เป็นความคิดหรือโปรเจ็กต์จากส่วนกลางเพียงอย่างเดียว

ความร่วมมือเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้เราเผชิญปัญหาที่รายล้อมอยู่ได้ เช่นเดียวกันกับเรื่อง “เมือง” ที่จำเป็นต้องถูกวางแผนและออกแบบมาอย่างเข้าใจในวิถีชีวิตของผู้คน

เมืองไทยก็น่า (ตกหลุม) รัก

จากที่พูดมาดูเหมือนเราจะชื่นชมญี่ปุ่นอยู่ฝ่ายเดียว แต่จริง ๆ แล้วไทยก็น่าตกหลุมรักได้ไม่แพ้ญี่ปุ่นเลย เพราะแต่ละประเทศแต่ละเมืองล้วนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แตกต่างกัน แต่หากบางเรื่องเราสามารถนำมาปรับใช้ได้ อย่างเรื่องระเบียบวินัย เมืองของเราก็จะยิ่งน่าตกหลุมรักมากขึ้นกว่าเดิมอีกหลายเท่า

เที่ยวอย่างฉุกคิด

สำหรับหนังสือ Lovable Japan เมืองนี้ที่(คน)รัก จะช่วยเปิดมุมมองของผู้อ่านให้มากกว่าแค่การไปเที่ยว คือทำให้เรารู้จักสังเกตมากขึ้น ไปเที่ยวสนุกขึ้นเพราะไม่ใช่แค่ชมสถานที่ แต่มองลึกลงไปถึงการพัฒนาเมือง พร้อมกับฉุกคิดและตั้งคำถาม แล้วย้อนกลับมามองเมืองของตัวเอง เพื่อหาคำตอบว่าทำไมญี่ปุ่นจึงน่าตกหลุมรัก แล้วมาร่วมกันเปลี่ยนแปลงเมืองของเราให้ดีขึ้นเท่าที่จะสามารถทำได้

ร่วมเปิดประสบการณ์เที่ยวญี่ปุ่นในมุมมองใหม่ไปกับ “Lovable Japan เมืองนี้ที่(คน)รัก” ได้ที่บูทสำนักพิมพ์มติชน M49 ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 51 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 21 ซึ่งจัดที่ฮอลล์ 5-7 ชั้น LG ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตั้งแต่วันนี้-9 เมษายน 2566